ลุ้นระทึก! ขยับ 10 ล.คน รับสิทธิ์เพิ่มชิมช้อปใช้?
ปลื้มกันเกือบทั้ง ครม.! โดยเฉพาะในส่วนของพรรคแกนนำรัฐบาล อย่าง…พลังประชาชน
“โฟกัส” ไปที่กลุ่มของนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ไม่นับรวม “กลุ่มสามมิตร” กับปรากฏการณ์ “ล้านที่ 2…เร็วกว่าที่คิด” ไว้มาก
จากวันแรก ที่คลุกคลั่กกับคลื่นมหาชน แห่แหนแย่งกันลงทะเบียนเพื่อรับสิทธิ์ในเงิน 1,000 บาท จนระบบที่ธนาคารกรุงไทย ดีไซน์เอา…เกิดอาการรวน แม้ไม่ถึงกับล่ม! แต่ก็เกิดอาการ “หน่วง” กันจนผู้คนบ่นกับอุบทั้งเมือง
กระทั่ง ทุกฝ่าย…ไล่กันตั้งแต่ นายอุตตม สาวนายน รมว.คลัง, นายธนกร วังบุญคงชนะ เลขานุการ รมว.คลัง, นายลวรณ แสงสนิท ผอ.สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ในฐานะ “โฆษกกระทรวงการคลัง”, น.ส. สุทธิรัตน์ รัตนโชติ อธิบดีกรมบัญชีกลาง, นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาษ อธิบดีกรมสรรพากร ในฐานะประธานธนาคารกรุงไทย รวมถึง นายผยง ศรีวณิช กก.ผจก.ใหญ่ ธนาคารกรุงไทย
ต่างออกมาขอโทษ และถือโอกาสขอบคุณคนไทย ที่ให้ความสำคัญและสนใจกับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลในรอบนี้…อย่างอุ่นหน้าฝาคลั่ง สะท้อนภาพคนไทย “ถูกใจ” มาตรการ “ชิมช้อปใช้” ที่รัฐบาลแจกให้คนไทย 10 ล้านคน ได้เดินทางท่องเที่ยวกันทั่วไทย คนละ 1,000 บาท
จากเวลา 13.43 น. ในวันแรก (23 ก.ย.62) ที่คนไทยแย่งชิงกันลงทะเบียนขอรับสิทธิ์ฯ จนเต็ม 1 ล้านคนของวัน ขยับเป็นเวลา 08.11 น. ในวันที่ 2 (24 ก.ย.62) ของการเปิดรับลงทะเบียนในมาตรการฯดังกล่าว ถือว่า…ประสบผลสำเร็จอย่างมาก
ไม่แปลกใจ! หากสิ่งนี้…จะทำให้ “คนไกลบ้าน” อย่าง…พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ที่เดินทางไปเข้าร่วมการประชุมสมัชชาสหประชาชาติ สมัยสามัญ ครั้งที่ 74 ณ นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา…จะเกิดอาการปลื้มปีติสุดๆ
ล่าสุด “โฆษกกระทรวงการคลัง” นายลวรณ กล่าวว่า การเปิดลงทะเบียนรับสิทธิ์มาตรการ “ชิมช้อปใช้” ในวันที่ 24 ก.ย.62 มีผู้สนใจเข้าร่วมตามเป้าหมาย โดยเมื่อเวลา 8.11 น. มีผู้มาลงทะเบียนรับสิทธิ์ผ่าน www.ชิมช้อปใช้.com ครบ 1 ล้านคน ตามโควตาในแต่ละวันแล้ว ซึ่งรวดเร็วกว่าในวันแรก เนื่องจากได้มีการปรับปรุงทางเทคนิคให้ระบบการลงทะเบียนมีประสิทธิภาพมากขึ้น ในขณะที่ยังคงมาตรฐานความปลอดภัยและการปกป้องข้อมูลส่วนบุคคลอย่างครบถ้วน
นอกจากนี้ โฆษกกระทรวงการคลังยังได้ให้ความมั่นใจว่า มาตรการ “ชิมช้อปใช้” ประสบผลสำเร็จตามวัตถุประสงค์ เนื่องจากผู้สนใจลงทะเบียนจำนวนมากใน 2 วันแรก บวกกับจำนวนร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการเพียงพอและกระจายทั่วถึงในแต่ละจังหวัด โดยหลังจากปิดรับสมัครผู้ประกอบการร้านค้าเข้าร่วมโครงการ เมื่อวันที่ 20 ก.ย.62 พบว่ามีร้านค้าใหม่สมัครเข้าร่วมแล้ว 74,318 ร้านค้า รวมกับร้านค้าเดิมที่มีอยู่แล้วประมาณ 80,000 ร้านค้า
อีกทั้ง ยังมีร้านค้าติดต่อสอบถามและขอลงทะเบียนเพิ่มเติมอีกจำนวนมาก โดยกรมบัญชีกลางได้ขยายเวลาลงทะเบียนร้านค้าออกไปจนถึงวันที่ 15 ต.ค.62 คาดว่าจะมีจำนวนร้านค้าเข้าร่วมมาตรการเพิ่มขึ้นอีกราว 20,000 ร้านค้า โดยร้านค้าทั่วไปที่สนใจสามารถติดต่อขอสมัครเข้าร่วมมาตรการได้ที่กรมบัญชีกลางและสำนักงานคลังจังหวัดทุกแห่งทั่วประเทศ และประชาชนสามารถตรวจสอบรายชื่อร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการได้ที่ www.ชิมช้อปใช้.com
โดยการลงทะเบียนเข้าร่วมเป็นร้านค้าตามมาตรการ “ชิมช้อปใช้” ไม่เกี่ยวข้องกับการส่งข้อมูลให้กรมสรรพากร หรือการเรียกเก็บภาษีแต่อย่างใด โดยวัตถุประสงค์ของมาตรการนี้ ก็เพื่อจูงใจให้คนที่มีกำลังซื้อออกมาชิมช้อป และใช้ เพื่อการท่องเที่ยว พร้อมกับส่งเสริมการรับ-จ่ายผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ตามยุทธศาสตร์ National e-Payment ซึ่งจะเป็นการช่วยสนับสนุนการบริโภคภาคเอกชน กระตุ้นการจับจ่ายใช้สอยที่จะช่วยให้ภาคการท่องเที่ยวกลับมาคึกคัก ร้านค้าในชุมชนและผู้ประกอบการรายย่อยมีรายได้ พร้อมเป็นแรงส่งเสริมการขยายตัวของเศรษฐกิจในช่วงท้ายปี 62
ด้านนายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพากร ในฐานะประธานธนาคารกรุงไทย กล่าวว่า กรมสรรพากรไม่มีเป้าหมายทางด้านภาษี ทั้งการจัดเก็บข้อมูลรายได้ของร้านค้าที่เข้าร่วมมาตรการ และการจัดเก็บภาษีเงินได้ฯที่จะมีตามมา จากของมาตรการ “ชิมช้อปใช้” แต่ยอมรับว่า หากมาตรการข้างต้น ประสบผลสำเร็จอย่างที่ทุกฝ่ายคาดหวัง โดยมีคนไทย 10 ล้านคนเดินทางท่องเที่ยวในประเทศ และใช้จ่ายจากวงเงินที่ได้รับคนละ 1,000 บาท รวมกับเงินใช้จ่ายเพิ่มเติม ที่โอนจากบัญชีส่วนตัวเข้าแอปพลิเคชั่น “เป๋าตัง” และจะได้รับเงินคืน (Cash Back) 15% รวมกันไม่เกิน 4,500 บาท ก็น่าจะทำให้เกิดเม็ดเงินหมุนเวียนในช่วงปลายปีนี้อย่างมาก และทำให้กรมสรรพากรสามารถจัดเก็บรายได้จากภาษีมูลค่าเพิ่ม (Vat) 7% ตามปริมาณการใช้จ่ายจากซื้อขายสินค้าและบริการที่เกิดขึ้นจริง
“ยืนยันว่ามาตรการชิมช้อปใช้ ไม่มีเป้าหมายเรื่องข้อมูลหรือการจัดเก็บภาษี แต่ต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการท่องเที่ยวในประเทศของคนไทย ซึ่งแน่นอนว่าเมื่อมีคนจำนวนมากถึง 10 ล้านคน ออกมาท่องเที่ยว จับจ่ายใช้สอย โอกาสที่จัดเก็บรายได้จากภาษีมูลค่าเพิ่มก็ย่อมมีสูงขึ้น แต่การรับรู้รายได้ในส่วนนี้ก็จะเกิดขึ้นในช่วงไตรมาสแรกของปีงบประมาณ 63” อธิบดีกรมสรรพากร ระบุ
ถึงตรงนี้ ภาพความสำเร็จที่เกิดขึ้นจากการที่คนไทยแห่แหนและแย่งชิงสิทธิ์ ในวงเงิน 1,000 บาทจากรัฐบาล โดยได้เริ่มลงทะเบียน นับแต่เริ่มก้าวเข้าสู่เช้าวันใหม่ จนเต็มสิทธิ์ 1 ล้านคนของแต่ละวัน “เร็วกว่าที่คาดการณ์” และหากสถานการณ์ยังคงเป็นเช่นนี้ต่อไป…
เว็บไซต์ข่าว AEC10NEWS เชื่อว่า…แค่ช่วงสายของวันที่ 2 ต.ค.62 หรือวันที่ 10 ของการเปิดรับลงทะเบียนฯ ก็น่าจะได้จำนวนคนครบทั้ง 10 ล้านคน เต็มตามจำนวนที่รัฐบาลตั้งเป้าหมายเอาไว้ แต่ก็คงทำให้อีกหลายๆ คนที่ยังไม่ได้ลงทะเบียนฯ หมดโอกาสในสิทธิ์ที่ว่านี้
รัฐบาลและกระทรวงการคลัง “ต้นเรื่อง” ของมาตรการดังกล่าว คงต้องคิดหนักว่าควรจะขยายจำนวนผู้ได้รับสิทธิ์จากเดิม 10 ล้านคน ออกไปอีกหรือไม่? อย่างไร?
จะว่าไปแล้ว แค่สิทธิ์เดิมของคนไทยที่เข้าร่วมโครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ที่มีมากถึง 14.5 ล้านคน มันก็เกินจำนวนคน 10 ล้านคน ที่รัฐบาลได้ตั้งเป้าหมายเอาไว้กับมาตรการชิมช้อปใช้แล้ว เพราะแค่โยกเอาคนในกลุ่มบัตรสวัสดิการแห่งรัฐฯ มาใส่ในมาตรการชิมช้อปใช้ มันก็ยังไม่เพียงพอกับจำนวนคนที่มี
แล้วเมื่อมาตรการนี้…ครอบคลุมไปยังกลุ่มคนที่ไม่ได้อยู่ในโครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ จำนวนความต้องการในสิทธิ์ข้างต้น จึงน่าจะทะลักเกินเป้าหมาย 10 ล้านคนอย่างไม่ต้องสงสัย?
วานนี้ (23 ก.ย.) เป็น นายอุตตม สาวนายน รมว.คลัง ที่ตอบคำถามผู้สื่อข่าวเกี่ยวกับเรื่องนี้ ว่า ขอดูผลของการรับสมัครลงทะเบียนเพื่อขอรับสิทธิ์กันก่อน แล้วรัฐบาลและกระทรวงการคลัง ค่อยประเมินเพื่อตัดสินใจกันใหม่อีกครั้ง
มีความเป็นไปได้สูง หากจำนวนคนไทยตอบรับมาตรการชิมช้อปใช้ จนเต็มสิทธิ์ครบ 10 ล้านคน ใน 10 วันแรกของการเปิดรับลงทะเบียนฯ (วันที่ 2 ต.ค.) ขณะที่แผนงานเดิม จะเปิดรับลงทะเบียนจนถึงเที่ยงคืนของวันที่ 15 พ.ย.62 นั่นก็หมายความว่า…
คนไทยแห่งใช้สิทธิ์ จนเต็มจำนวน 10 ล้านคน เร็วกว่ากำหนดการเดิมถึง 44 วัน (วันที่ 3 ต.ค.-15 พ.ย.62)
ปัญหาคือ รัฐบาลและกระทรวงการคลัง จะทนรับมือกับกระแสเรียกร้องให้มีการเพิ่มจำนวนผู้ที่จะได้รับสิทธิ์ฯดังกล่าวได้มากน้อยและนานแค่ไหน?
หากจะเพิ่ม! ควรจะเพิ่มที่จำนวนเท่าไหร่? เพราะเอาเข้าจริง จาก 10 ล้านคน เป็น 20 ล้านคน ก็ไม่แน่ว่า…จะเพียงพอกับความต้องการของคนไทยยามนี้ได้ แต่ประเด็นปัญหาที่จะมีตามก็คือ รัฐบาลและกระทรวงการคลัง จะเอาเงินจากที่ไหน? มาจ่าย
เพราะทุกๆ 10 ล้านคนนั้น รัฐบาลจะต้องควักเงินจ่ายออกมาสูงถึง 10,000 ล้านบาท
20 ล้านคน ก็เป็นเงิน 20,000 ล้านบาท และหากเป็น 30 ล้านคน ก็จะต้องใช้เงินงบประมาณแผ่นดินสูงถึง 30,000 ล้านบาท ตรงนี้…มันจะคุ้มค่าหรือไม่? เมื่อเทียบกับการจัดเก็บรายได้ของกรมสรรพากร จากระบบภาษีมูลค่า และอาจรวมถึงภาษีเงินได้ฯ ที่จะมีตามมาในอนาคตอันใกล้
แต่หากรัฐบาลและกระทรวงการคลัง มองภาพที่ใหญ่กว่า…กล่าวคือ ความรู้สึกพึงพอใจของผู้คนในสังคมไทยที่มีต่อมาตรการชิมช้อปใช้ และความเชื่อมั่นที่มีต่อสถานการณ์เศรษฐกิจและสถานภาพของรัฐบาลชุดนี้ เพิ่มจากเดิมแล้ว
เว็บไซต์ข่าว AEC10NEWS เชื่อว่า…สิ่งนี้ มันมีค่าสูงกว่าความคุ้มค่าไหนๆ มารวมกันด้วยซ้ำไป!!!.