เปลี่ยนบัตรปลอดภัยจากการโจรกรรมดิจิตอล
เปลี่ยนใช้บัตรชิปการ์ดที่ ชี้ระดับความปลอดภัยสูงกว่าบัตรรูปแบบเก่า ปลอมแปลง-โจรกรรมข้อมูลยาก
สถิติข้อมูลภัยคุกคามไซเบอร์ ที่รวบรวมโดย “ไทยเซิร์ต” (ThaiCERT) ศูนย์ประสานการรักษาความมั่นคงปลอดภัยระบบคอมพิวเตอร์ประเทศไทย ภายใต้การกำกับดูแลของ “สพธอ.” สำนักพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) พบว่า 6 เดือนแรกของปี 2562 มีการแจ้งเหตุภัยคุกคามแล้ว 1,083 กรณี ซึ่งการหลอกลวงออนไลน์(fraud)สูงสุดม ที่ 389 กรณี ความพยายามจะบุกรุกเข้าระบบ (intrusion attempts) 330 กรณี เนื้อหาที่เป็นภัย (abusive content) อีก 112 กรณี เจาะระบบได้สำเร็จ (intrusions) อีก 105 กรณี การเข้าถึงหรือเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อมูลสำคัญโดยไม่ได้รับอนุญาต (information security) 83 กรณี การโจมตีด้วยมัลแวร์ 61 กรณี และอื่นๆ
น.ส.สิริธิดา พนมวัน ณ อยุธยา ผู้ช่วยผู้ว่าการสายนโยบายระบบการชำระเงินและเทคโนโลยีทางการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เผยว่า ธปท. ร่วมกับสถาบันการเงิน ผลักดันการเปลี่ยนบัตรเดบิต-บัตรเอทีเอ็มจากรูปแบบบัตรแถบแม่เหล็ก (megnetic card) ให้เป็นบัตรชิปการ์ด (chip card) เพื่อยกระดับความปลอดภัยในการใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์ ป้องกันการปลอมแปลงบัตร รวมถึงการโจรกรรมข้อมูลไปทำบัตรปลอม และใช้ทำธุรกรรมทางการเงินผ่านเครื่องเอทีเอ็ม โดยตั้งเป้าว่าจะเปลี่ยนบัตรได้ครบถ้วนภายในสิ้นปี 2562
ซึ่งสถาบันการเงินต่างๆ ได้ประชาสัมพันธ์และเปลี่ยนบัตรให้ประชาชนมาโดยตลอด ปัจจุบันพบว่ามีผู้เปลี่ยนบัตรเป็นชิปการ์ดไปแล้วราว 47 ล้านใบ และยังคงมีบัตรแถบแม่เหล็กคงเหลือที่ยังไม่ได้เปลี่ยนเป็นชิปการ์ด 20 ล้านใบ มีการกระจุกตัวอยู่ในพื้นที่กรุงเทพมหานครประมาณ 30% นอกเหนือจากนี้จะกระจายอยู่ในพื้นที่ภาคกลาง 19% ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 26% ภาคเหนือ 14% และภาคใต้ 12% โดยบัตรคงค้างของธนาคารพาณิชย์มีสัดส่วนสูงกว่าบัตรของธนาคารรัฐ อย่างไรก็ตาม แม้จะมีการผลักดันให้มาเปลี่ยนบัตรแถบแม่เหล็กเป็นบัตรชิปการด์ แต่คาดว่าจะยังมีบัตรบางส่วน เช่น บัตรเอทีเอ็มที่ไม่มีวันหมดอายุ หรือบัตรที่ไม่มีการใช้งานมานาน (Inactive) คงค้างอยู่ในระบบบ้าง โดยปัจจุบันบัตรประเภท Inactive มีจำนวนประมาณเป็น 30% ของบัตรทั้งหมด
จะเร่งสื่อสารและประชาสัมพันธ์ให้ผู้ที่ใช้บัตรเดบิต หรือบัตรเอทีเอ็มแบบแถบแม่เหล็ก ให้รีบติดต่อธนาคารที่ใช้บริการได้ทุุกสาขาเพื่อเปลี่ยนเป็นบัตรชิปการ์ดให้แล้วเสร็จโดยเร็ว และสามารถเปลี่ยนบัตรได้โดยไม่มีค่าใช้จ่าย ส่วนเอกสาร-หลักฐานที่ใช้ยื่นเปลี่ยนบัตรมีดังนี้
- บัตรประจำตัวประชาชน
- บัตรเดบิต หรือบัตรเอทีเอ็มใบเดิม
- สมุดบัญชีเงินฝาก
หากผู้ใช้บัตรเดบิตและบัตรเครดิตเดิมไม่สามารถดำเนินการเปลี่ยนบัตรได้ทันก่อนวันที่ 15 มกราคม 2563 ก็จะไม่สามารถใช้งานกับเครื่องเอทีเอ็ม หรือเครื่องรูดบัตรที่ร้านค้าได้ หากต้องการใช้เงินสด หรือโอนเงินสามารถเบิกถอนได้ที่สาขาธนาคาร หรือใช้ฟังก์ชั่นกดเงินไม่ใช้บัตรที่ตู้เอทีเอ็ม อีกทั้งสามารถโอนเงินผ่าน mobile banking และ internet banking แทนการใช้บัตร