อัด 2.85 แสนล.สร้างภูมิฐานรากไทย
รัฐบาลซีกพลังประชารัฐ ดันโปรเจ็คต์ใหม่ “ประชารัฐสร้างไทยรวมพลังขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก” หวังลดปัญหาความเหลื่อมล้ำ จ่ออัดฉีดเงินกู้ 2.85 แสนล้านบาทใน 3 ปีจากนี้ ตั้งเป้าสร้างภูมิคุ้มกันให้ทั้งคนและชุมชนรากหญ้าทั่วประเทศ
หนึ่งในแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี มียุทธศาสตร์ด้าน “การสร้างโอกาสความเสมอภาคและเท่าเทียมกันทางสังคม” รวมอยู่ในแผนยุทธศาสตร์ทั้ง 6 ด้าน แต่ทว่าเป้าหมายที่รัฐบาลชุดปัจจุบัน คาดหวังจะลดปัญหาความเหลื่อมล้ำในทุกมิติของผู้คนทุกระดับในสังคมไทยนั้น จำต้องบูรณาการยุทธศาสตร์ด้านต่างๆ ที่เหลืออีก 5 ยุทธศาสตร์ เข้าไว้ด้วย
ไม่ว่าจะเป็นยุทธศาสตร์ด้าน…ด้านความมั่นคง, การสร้างความสามารถในการแข่งขัน, การพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพคน, ด้านการสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม หรือยุทธศาสตร์ด้านการปรับสมดุลและพัฒนาระบบการบริหารจัดการภาครัฐ
นั่นจึงอาจทำให้โอกาสที่ผลสัมฤทธิ์ของเป้าหมาย “ลดความเหลื่อมล้ำ” เข้าใกล้ความเป็นจริง
แต่เพราะชื่อ…โปรเจ็กต์ และคณะกรรมการชุดใหม่ที่เตรียมจะตั้งขึ้นมา ล้วนสัมพันธ์กับความเป็น “ประชารัฐสร้างไทย” ที่ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ซึ่งคุมกระทรวงสำคัญๆ อย่าง…กระทรวงการคลัง, กระทรวงการต่างประเทศ, กระทรวงอุตสาหกรรม และกระทรวงพลังงาน คาดหวังจะใช้ขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก ตามที่ประกาศบนเวทีประชุมนโยบาย “ประชารัฐสร้างไทย” เมื่อวันที่ 22 ก.ย.ที่ผ่านมานั้น
เห็นได้ชัดว่า…มีเพียงกระทรวงและหน่วยงานในกำกับของพรรคพลังประชารัฐเท่านั้น ที่เข้าร่วมในการขับเคลื่อนโปรเจ็คต์ใหม่นี้ แต่ไร้ร่างเงาของกระทรวงและหน่วยงานอื่นๆ ในกำกับดูแลของพรรคร่วมรัฐบาล ไม่ว่าจะเป็น…กระทรวงเกษตรและสหกรณ์, กระทรวงพาณิชย์, กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา, กระทรวงแรงงาน, กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ฯลฯ
ทั้งที่กระทรวงเหล่านั้น ล้วนสัมพันธ์กับนโยบายการ “ลดความเหลื่อมล้ำ” ชนิดแยกกันไม่ออกทีเดียว!
นายสมคิด ระบุว่า นโยบาย “ประชารัฐสร้างไทย” เป็นการทำงานร่วมกันของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย…กระทรวงคลัง กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงพลังงาน ในกำกับดูแลของเขา กับสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ อย่าง…ธนาคารออมสิน, ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.), ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.)หรือ SME D Bank, กองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง
ด้วยหวังจะใช้โอกาสที่เศรษฐกิจโลกชะลอตัว พุ่งเป้าไปที่การขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากอย่างยั่งยืน ผ่านการปฏิรูปโครงสร้างชุมชนให้เข้มแข็ง ด้วยความร่วมมือในรูปแบบประชารัฐ ทั้งภาครัฐ เอกชน ประชาชน เพื่อช่วยเหลือเกษตรกร ชุมชน ตลาดประชารัฐ การท่องเที่ยวขุมชนเข้มแข็ง นำแบงก์รัฐมาช่วยเหลือทั้งความรู้และการเติมทุน เพื่อร่วมพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากให้เข้มแข็งและพัฒนาครอบคลุมทุกด้าน
เป้าหมายของการขับเคลื่อนประชารัฐสร้างไทย จึงอยู่ที่ภาครัฐจะต้องร่วมกันยกระดับภาคเกษตร เพราะหากเศรษฐกิจดี สังคมจะดีตามไปด้วย
“เมื่อชุมชนแข็งแรงทุกอย่างจะดีขึ้น นำสมาทฟาร์มเมอร์ เป็นผู้นำในชุมชนภายใน 3 ปี ต้องพัฒนาให้ได้ 3 แสนรายทั่้วประเทศ สร้างตลาดออนไลน์ ดึงมหาวิทยาลัยเข้าไปช่วยเหลือ จะกลายเป็นหมู่บ้านทันสมัย กลายเป็นสมาทเนชั่น เมื่อต่างประเทศเข้ามาลงทุนจะเชื่อมโยงได้ถูกทาง” นั่นคือสิ่งที่ รองนายกรัฐมนตรี คาดหวังจะเห็น
ขณะที่ นายอุตตม สาวนายน รมว.คลัง กล่าวบนเวทีเดียวกันว่า กระทรวงการคลังจะดึงพันธมิตรเครือข่ายทุกหน่วยงานมาร่วมลงทุน สร้างภูมิคุ้มกันให้กับชุมชน มุ่งพัฒนาไปสู่ตลาดออนไลน์ยุคใหม่ การสร้างศูนย์กระจายสินค้าในชุมชน ไม่ว่าจะเป็น…
ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่จะต้องช่วยในเรื่องของการวิเคราะห์ภาพใหญ่ของระบบเศรษฐกิจ ขณะที่ กรมธนารักษ์ จะต้องกางแผนที่นำที่ราชพัสดุในส่วนที่ทำได้มาสร้างตลาดประชารัฐ เพื่อให้พ่อค้าแม่ค้านำสินค้าชุมชนมาจำหน่าย ส่วนแบงก์รัฐเอง ก็จะต้องเข้ามาเติมทุนให้ร้านค้า ผู้ประกอบการรายย่อย สำหรับกระทรวงการคลังอยู่ระหว่างพัฒนาระบบ BID DATA เพื่อบูรณาการข้อมูลนำไปสู่การพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก
“ข้อมูลผู้ลงทะเบียนคนจนกว่า 14 ล้านคน จะทำให้เรารู้ข้อมูลด้านการใช้จ่าย ทั้งจุดใช้จ่าย สินค้าที่ซื้อ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการสร้างวิสาหกิจชุมชน การสร้างตลาดการค้าชุมชนและการสร้างอำนาจการต่อรองในการซื้อสินค้าต่างๆ นอกจากนี้ ยังทำให้เรารู้ข้อมูลด้านแรงงาน เพื่อนำไปสู่การพัฒนาอาชีพอย่างเหมาะสมและยั่งยืน และจากข้อมูลของเวิลด์แบงก์ได้ทำการสำรวจฐานรากพบว่า 40% ของผู้ถูกสำรวจระบุว่า ความเป็นอยู่โดยรวมไม่ดีขึ้น ปัญหาความเหลื่อมล้ำยังมี นี่คือสิ่งที่เรากำลังเผชิญ ฉะนั้น เราต้องเลือกโมเดลการพัฒนาที่เป็นโมเดลใหม่ๆ คือ เน้นลงทุนไปที่ชุมชน เพื่อสร้างให้คนระดับฐานรากอยู่ดีกินดี ซึ่งจะเป็นฐานสำคัญในการเติบโตของจีดีพีประเทศ” รมว.คลัง ระบุ พร้อมกับเชิญชวนหน่วยงานอื่นๆ นอกเหนือจากการกำกับดูแลของ นายสมคิด เข้าร่วมโครงการนี้ ทำนอง…
รัฐบาลพร้อมอัดเงินเข้าสู่ระบบผ่านแบงก์รัฐ เพื่อนำเสนอสินเชื่อสนับสนุนประชาชนฐานรากด้วยวงเงินกว่า 285,000 ล้านบาท โดยสามารถปล่อยกู้เข้าสู่ระบบทันที ซึ่งหลังจากนี้ จะมีการจัดตั้ง “คณะกรรมการขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากประชารัฐสร้างไทย ระหว่างนี้ กำลังดูองค์ประกอบว่าจะมีหน่วยงานใดมาร่วมบ้าง โดยพร้อมจะเปิดรับหน่วยงานอื่นๆ เข้าร่วมในคณะกรรมการชุดนี้ ไม่ว่าจะเป็นกระทรวงคมนาคม กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ฯ และอื่นๆ
อย่างที่ AEC10NEWS ตั้งข้อสังเกตุเอาไว้…เป็นเพราะชื่อโครงการและคณะกรรมการชุดนี้ ที่โฟกัสไปยังความเป็น “ประชารัฐ” ชื่อเดียวกับพรรคพลังประชารัฐ หรือไม่? จึงทำให้หลายกระทรวง หลายหน่วยงาน ในกำกับดูแลของพรรคร่วมรัฐบาล โดยเฉพาะพรรคประชาธิปัตย์ และพรรคภูมิใจไทย ไม่อยากเข้าร่วมโครงการและคณะกรรมการฯ ด้วยเหตุผลในทางการเมืองเป็นสำคัญ
เพราะหากโครงการที่ใช้เงินของแบงก์รัฐกว่า 285,000 ล้านบาท และเครือข่ายหลักๆ ของกระทรวงที่เข้าร่วมโครงการฯ กระทั่ง เกิดผลสัมฤทธิ์เป็นรูปธรรมแล้ว “ความดี” ทั้งหลายทั้งปวง จะไหลไปสู่พรรคพลังประชารัฐ จนหมด…ชนิดไม่เหลือให้พรรคร่วมรัฐบาลอื่นๆ ได้ใช้ประโยชน์เพื่อการหาเสียงกับชาวบ้านในภายภาคหน้าแต่อย่างใด?
สำหรับรายละเอียดในส่วนที่เกี่ยวข้องกับแบงก์รัฐนั้น มีหลายเรื่องที่น่าสนใจ ลองไปสำรวจกันดู เริ่มจาก…
นายอภิรมย์ สุขประเสริฐ ผจก. ธ.ก.ส. ระบุว่า พร้อมนำนโยบายชุมชนอุดมสุขมาพัฒนาชุมชน กำหนดเป้าหมายดูแลเศรษฐกิจชุมชน ด้วยการสร้างรายได้สุทธิให้ชุมชนระดับฐานรากเพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่า 10% สร้างอัตราการออมเงินไม่น้อยกว่า 10% ของรายได้รวม จัดการเพิ่มมูลค่าผลผลิตหลักทางการเกษตรไม่น้อยกว่า 20% ของปริมาณผลผลิตรวม และมีองค์กรการเงินชุมชนที่ได้มาตรฐานภายในชุมชน
สำหรับมาตรการสินเชื่อ ประกอบด้วย 1.สินเชื่อ Smart Farmer สร้างไทย ดอกเบี้ย MRR เป้าหมายปล่อยสินเชื่อปี 62 ราว 10,000 ล้านบาท ผู้ประกอบการ 1 แสนราย, ปี 63 ปล่อยสินเชื่อ 20,000 ล้านบาท ผู้ประกอบการ 200,000 ราย และปี 64 ปล่อยสินเชื่อ 30,000 ล้านบาท ผู้ประกอบการ 300,000 ราย
2.สินเชื่อ SMAEs สร้างไทย ส่งเสริมผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเกษตร ดอกเบี้ย 4% เป้าหมายปี 62 ปล่อยสินเชื่อ 10,000 ล้านบาท ผู้ประกอบการ 10,000 ราย, ปี 63 ปล่อยสินเชื่อ 20,000 ล้านบาท ผู้ประกอบการ 20,000 ราย และปี 64 ปล่อยสินเชื่อ 30,000 ล้านบาท ผู้ประกอบการ 30,000 ราย
3.สินเชื่อวิสาหกิจชุมชนสร้างไทย ดอกเบี้ย 0.01% ป้าหมายปี 62 ปล่อยสินเชื่อ 10,000 ล้านบาท ให้วิสาหกิจชุมชน 10,000 กลุ่ม, ปี 63 ล่อยสินเชื่อ 20,000 ล้านบาท วิสาหกิจฯ 20,000 กลุ่ม และปี 64 จะปล่อยสินเชื่อ 40,000 ล้านบาท วิสาหกิจ 40,000 กลุ่ม
และ 4.สินเชื่อสหกรณ์การเกษตรสร้างไทย ดอกเบี้ย 0.01% เป้าหมายปี 62 ปล่อยสินเชื่อ 10,000 ล้านบาท สหกรณ์ 1,000 แห่ง, ปี 63 ปล่อยสินเชื่อ 20,000 ล้านบาท สหกรณ์ 1,200 แห่ง และปี 64 จะปล่อยสินเชื่อ 30,000 ล้านบาท สหกรณ์ 1,500 แห่ง
นอกจากนี้ ธ.ก.ส.ยังสนับสนุนเกษตรกรปลูกป่าต้นน้ำ 11 จังหวัดภาคเหนือ วงเงินกู้ 5,000 ล้านบาท เป้าหมายเกษตรกร 50,000 ราย พื้นที่ 500,000 ไร่ ด้วยการให้อัตราดอกเบี้ยต่ำในปีที่ 1-3 คิดดอกเบี้ย MRR-3 เพื่อนำเงินไปปลูกป่าในพื้นที่ที่กำหนด โดยมีระยะเวลากู้ไม่เกิน 15 ปี
ด้าน นายชาติชาย พยุหนาวีชัย ผอ.ธนาคารออมสิน ย้ำว่า ในส่วนของธนาคารออมสิน ได้เตรียมวงเงินสินเชื่อ1.5 แสนล้านบาท เพื่อสร้างโอกาสเข้าถึงแหล่งเงินทุน อัตราดอกเบี้ยต่ำ กำหนดกลุ่มเป้าหมายที่ 2 ล้านราย
กำหนดสินเชื่อเฉลี่ยรายละ 75,000 บาท อาทิ สินเชื่อหาบเร่แผงรอบ 4.0 เงื่อนไขผ่อนปรน เป้าหมาย 1 แสนราย วงเงิน 5,000 ล้านบาท, สินเชื่อสถาบันการเงินประชาชนปล่อยกู้รายละไม่เกิน 10 ล้านบาท, สินเชื่อ street food ปล่อยกู้ไม่เกิน 3 ล้านบาท
นอกจากนี้ ยังมีสินเชื่อแรงงาน เพื่อแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบและสร้างอาชีพเสริม, สินเชื่อบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ปล่อยกู้ไม่เกิน 50,000 บาทต่อราย รวมถึงสินเชื่ออื่นๆ ที่จะมีตามมาในอนาคตอันใกล้.