SCB EIC ชี้ ส่งออกปลาทูน่ากระป๋องยังสดใส

ในช่วง 5 เดือนแรกที่ผ่านมา มูลค่าการส่งออกทูน่ากระป๋องของไทยขยายตัว 4.2% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เป็นผลจากปริมาณการส่งออกที่ขยายตัว6.5%YOY ซึ่งส่วนหนึ่งได้รับอานิสงส์จากการเร่งนำเข้าของคู่ค้าฝั่งสหรัฐฯ ซึ่งเป็นตลาดส่งออกอันดับ 1 ของไทย เพื่อกักตุนสินค้าก่อนครบกำหนดเส้นตายปรับขึ้นอัตราภาษีตอบโต้เต็มรูปแบบในวันที่ 8 กรกฎาคม 2025 หลังจากที่ก่อนหน้านี้ได้มีการชะลอออกไปอีก 90 วัน นอกจากนี้ ยังได้รับปัจจัยหนุนจากการส่งออกทูน่ากระป๋องไปยังหลายประเทศในกลุ่มตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือ (MENA) ที่เพิ่มขึ้นค่อนข้างมากในช่วงที่ผ่านมา ท่ามกลางสถานการณ์ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ภายในภูมิภาคที่มีแนวโน้มทวีความรุนแรงมากขึ้นทุกขณะ
สำหรับแนวโน้มการส่งออกทูน่ากระป๋องในช่วงที่เหลือของปีนี้ คาดว่าจะยังขยายตัวได้ต่อเนื่องแม้อาจจะชะลอลงบ้างในช่วงครึ่งหลังของปีหลังการบังคับใช้ภาษีตอบโต้เต็มรูปแบบ ซึ่งจะทำให้มูลค่าการส่งออกทูน่ากระป๋องในปี 2025 เติบโตได้ที่ราว 4%YOY โดยคาดว่าแนวโน้มการส่งออกจะยังได้รับปัจจัยหนุนจากความต้องการบริโภคอาหารประเภทโปรตีนที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูงแต่มีราคาที่จับต้องได้ท่ามกลางกำลังซื้อของผู้บริโภคที่อ่อนแอ รวมทั้งอานิสงส์จากความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ที่ยังคงยืดเยื้อและมีแนวโน้มทวีความรุนแรงมากขึ้น ซึ่งสถานการณ์ดังกล่าวจะมีส่วนช่วยให้หลายประเทศ โดยเฉพาะประเทศในภูมิภาคตะวันออกกลางมีความต้องการกักตุนสินค้าอาหารที่สามารถเก็บไว้บริโภคได้นาน เช่น ทูน่ากระป๋อง เพิ่มสูงขึ้นตามไปด้วย
ประเด็นสำคัญที่ต้องจับตาในระยะต่อไปคือ การแข่งขันในตลาดโลกที่มีแนวโน้มรุนแรงขึ้นโดยเฉพาะจากคู่แข่งสำคัญอย่างเอกวาดอร์และจีน ทั้งนี้กำแพงภาษีที่สูงขึ้นจากนโยบายภาษีทรัมป์จะทำให้คู่แข่งหลักของไทยในตลาดสหรัฐฯ อย่างเอกวาดอร์ มีแต้มต่อที่ดีขึ้น เนื่องจากมีแนวโน้มโดนเก็บภาษีตอบโต้ในอัตราที่ต่ำกว่าไทย ซึ่งปัจจัยดังกล่าวอาจมีผลให้คู่ค้าบางส่วนหันไปนำเข้าทูน่ากระป๋องจากเอกวาดอร์เพิ่มขึ้นแทน ขณะที่คู่แข่งอีกรายที่จะมองข้ามไม่ได้คือ จีน ซึ่งมีการพัฒนาอุตสาหกรรมทูน่ากระป๋องให้เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วโดยใช้นวัตกรรมเป็นตัวขับเคลื่อน ดังนั้น เพื่อรับมือกับความท้าทายดังกล่าว ผู้ประกอบการไทยจะต้องเร่งยกระดับมาตรฐานและประสิทธิภาพการผลิต วิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ตรงกับความต้องการของตลาดและสร้างความแตกต่างจากคู่แข่ง เพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันด้านราคา พร้อม ๆ ไปกับขยายการส่งออกไปยังตลาดผู้บริโภคที่มีศักยภาพ เช่น ภูมิภาคตะวันออกกลาง เพื่อลดความเสี่ยงจากการพึ่งพาตลาดใดตลาดหนึ่งมากเกินไป
ขณะเดียวกัน ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมยังต้องเตรียมรับมือกับความท้าทายจากมาตรการกีดกันทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษี (NTBs) ที่มีแนวโน้มเข้มงวดมากขึ้นอีกด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการค้ามนุษย์ในอุตสาหกรรมประมง และการทำประมงอย่างยั่งยืน (Sustainable fishing) เพื่อตอบโจทย์เทรนด์ ESG รวมถึงความท้าทายจากการปรับโมเดลธุรกิจและกลยุทธ์การเติบโตให้สอดรับกับเมกะเทรนด์สำคัญของโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเทรนด์รักสุขภาพ รวมทั้งต้องให้ความสำคัญกับการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมต่าง ๆ ที่ทันสมัยมาปรับใช้ในการดำเนินธุรกิจเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและเพิ่มศักยภาพการแข่งขันในตลาดโลก
Industry overview
อุตสาหกรรมทูน่ากระป๋องมีห่วงโซ่มูลค่าเพิ่ม (Value chain) ที่ค่อนข้างยาว โดยเริ่มต้นตั้งแต่การจัดหาวัตถุดิบ ซึ่งไทยจำเป็นต้องนำเข้าจากต่างประเทศทั้งในรูปปลาทูน่าสด แช่เย็นและแช่แข็ง มากถึงกว่า 90% ของปริมาณความต้องการใช้ทั้งหมดภายในประเทศ โดยแหล่งนำเข้าหลัก 3 อันดับแรกคือ ไต้หวัน, ไมโครนีเซีย และเกาหลีใต้ ซึ่งล้วนเป็นประเทศที่ตั้งอยู่ในบริเวณมหาสมุทรแปซิฟิก ส่วนที่เหลืออีกราว 10% ได้จากการทำประมงในบริเวณอ่าวไทยและทะเลอันดามัน ซึ่งจะเป็นกลุ่มปลาโอผิวน้ำเป็นหลัก จากนั้นก็จะนำวัตถุดิบเข้าสู่กระบวนการผลิตและแปรรูปต่อไป ซึ่งเกือบทั้งหมดคือราว 97% จะถูกนำไปแปรรูปเป็นทูน่ากระป๋องเพื่อส่งออกไปจำหน่ายยังต่างประเทศ โดยในปี 2024 ตลาดส่งออกหลัก 5 อันดับแรกของไทย ได้แก่ สหรัฐฯ, ลิเบีย, ออสเตรเลีย, ญี่ปุ่น และซาอุดีอาระเบีย มีส่วนแบ่งตลาดรวมกันราวครึ่งนึงของมูลค่าการส่งออกทูน่ากระป๋องทั้งหมดของไทย

อนึ่ง จากข้อมูลของสมาคมอุตสาหกรรมทูน่าไทยพบว่า ปัจจุบันมีจำนวนผู้ประกอบการที่อยู่ในอุตสาหกรรมการผลิตทูน่ากระป๋องและแปรรูปรวมทั้งสิ้น 46 ราย โดยส่วนใหญ่จะตั้งอยู่ในจังหวัดทางภาคใต้และบริเวณรอบ ๆ อ่าวไทย ซึ่งเป็นทำเลที่ใกล้บริเวณท่าเรือที่มีการนำเข้าวัตถุดิบทูน่าจากต่างประเทศหรือใกล้กับแหล่งทำประมงในประเทศ เพื่อลดต้นทุนการขนส่งวัตถุดิบไปยังโรงงานแปรรูป อีกทั้ง ยังพบว่า เกือบทั้งหมดเป็นผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดใหญ่ ซึ่งมีทั้งกลุ่มที่ผลิตผลิตภัณฑ์ทูน่าจำหน่ายภายใต้เครื่องหมายการค้าของบริษัทตัวเอง (Own brand) และกลุ่มที่รับจ้างผลิตภายใต้เครื่องหมายการค้าของลูกค้า (OEM)
ไทยครองแชมป์ผู้ส่งออกทูน่ากระป๋องในตลาดโลกมาอย่างยาวนาน โดยในปี 2024 มีส่วนแบ่งตลาดอยู่ที่ 25.5%
ในปีที่ผ่านมา (2024) ไทยยังคงครองแชมป์ผู้ส่งออกทูน่ากระป๋องอันดับ 1 ของโลก มูลค่าการส่งออกอยู่ที่ 2,344.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยมีส่วนแบ่งตลาดราว 1 ใน 4 ของมูลค่าการส่งออกทูน่ากระป๋องทั้งหมดในตลาดโลก ซึ่งความสำเร็จดังกล่าว นอกจากจะเป็นผลจากการที่ผู้เล่นไทยปักหมุดอยู่ในอุตสาหกรรมนี้อย่างยาวนาน จนทำให้มีความพร้อมด้านเทคโนโลยีการผลิตและทักษะฝีมือแรงงาน รวมทั้งมีอุตสาหกรรมต่อเนื่องที่แข็งแกร่งและครบวงจรแล้ว ประเทศไทยยังมีความได้เปรียบในด้านทำเลที่ตั้งในการรับซื้อวัตถุดิบทูน่าจากแหล่งต่าง ๆ ยิ่งไปกว่านั้น สินค้าทูน่ากระป๋องของไทยยังมีคุณภาพและมาตรฐานเป็นที่ยอมรับในระดับสากลอีกด้วย

Industry outlook and trend
ในช่วง 5เดือนแรกของปี 2025 มูลค่าการส่งออกทูน่ากระป๋องของไทยขยายตัว 4.2% YOY
ในช่วง ม.ค.-พ.ค. 2025 มูลค่าการส่งออกทูน่ากระป๋องของไทยอยู่ที่ 945.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือขยายตัว 4.2% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เป็นผลจากปริมาณการส่งออกที่ขยายตัว 6.5%YOY สอดคล้องกับการส่งออกไปยังตลาดหลัก 3 อันดับแรกของไทย ได้แก่ สหรัฐฯ,ลิเบีย และออสเตรเลีย ที่เติบโตสูงขึ้นในทุกตลาด โดยมีอัตราการขยายตัวในช่วง 5 เดือนแรกของปีนี้ที่ 22.7%YOY, 16.1%YOY และ 2.5%YOY ตามลำดับ ทั้งนี้มูลค่าการส่งออกที่เติบโตสูงขึ้นดังกล่าว ส่วนหนึ่งได้รับอานิสงส์จากการเร่งนำเข้าสินค้า (Frontloading) ของคู่ค้าฝั่งสหรัฐฯ ก่อนครบกำหนดเส้นตายการชะลอการจัดเก็บภาษีตอบโต้เต็มรูปแบบ 90 วัน ในวันที่ 8 กรกฎาคม ภายหลังผู้นำสหรัฐฯ ได้ส่งสัญญาณที่ค่อนข้างชัดเจนว่าจะปรับขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากทั่วโลกเพื่อลดการขาดดุลการค้าของสหรัฐฯ รวมไปถึงการส่งออกทูน่ากระป๋องไปประเทศในภูมิภาคตะวันออกกลาง อาทิ อียิปต์, จอร์แดน, เยเมน และซีเรีย ที่ขยายตัวสูงขึ้นค่อนข้างมาก ท่ามกลางสถานการณ์ความขัดแย้งและตึงเครียดในภูมิภาคตะวันออกกลางที่คุกรุ่นมากขึ้น จนทำให้เกิดความกังวลว่าสถานการณ์ดังกล่าวอาจลุกลามบานปลายจนกลายเป็นสงครามระดับภูมิภาคในอนาคตได้

มูลค่าการส่งออกทูน่ากระป๋องในปี 2025 มีแนวโน้มขยายตัวที่ราว 4%YOY แต่ชะลอลงมากจากปี 2024
สำหรับปี 2025 อุตสาหกรรมทูน่ายังมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่องจากปีที่ผ่านมา โดยคาดว่ามูลค่าการส่งออกทูน่ากระป๋องจะเติบโตได้ที่ราว 4%YOY แต่เป็นอัตราการเติบโตที่ชะลอลงจากคาดการณ์ก่อนหน้า ณ ช่วงปลายปี 2024 ที่ราว 6%YOY จากผลกระทบของนโยบายภาษีตอบโต้ (Reciprocal tariffs) ของประธานาธิบดีทรัมป์ที่ส่งผลให้ภาพรวมเศรษฐกิจและการค้าโลกซบเซาลง อย่างไรก็ดี เราเชื่อว่าแนวโน้มการส่งออกทูน่ากระป๋องในช่วงที่เหลือของปี จะยังคงได้รับปัจจัยหนุนจากความต้องการบริโภคโปรตีนที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูงแต่ราคาที่จับต้องได้ท่ามกลางกำลังซื้อของผู้บริโภคที่เปราะบาง รวมทั้งอานิสงส์จากความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ (Geopolitical risks) และความกังวลต่อสถานการณ์ความขัดแย้งในภูมิภาคตะวันออกกลาง โดยเฉพาะอย่างยิ่งสงครามระหว่างอิสราเอลและอิหร่าน และการโจมตีในฉนวนกาซาที่ยังมีอยู่อย่างต่อเนื่อง ซึ่งสถานการณ์ดังกล่าวมีส่วนทำให้หลายประเทศมีความต้องการกักตุนผลิตภัณฑ์อาหารที่สามารถเก็บไว้บริโภคได้นานโดยเฉพาะอาหารกระป๋องเพิ่มสูงขึ้นตามไปด้วย เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับความไม่แน่นอนต่าง ๆ ในอนาคต
หากมองไปข้างหน้า ภูมิภาคตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือ (MENA) คือตลาดส่งออกทูน่ากระป๋องที่มีศักยภาพและน่าสนใจ เนื่องจากอุปสงค์มีแนวโน้มเติบโตดีต่อเนื่อง ในปีที่ผ่านมา (2024) ไทยส่งออกทูน่ากระป๋องไปยังภูมิภาคนี้มากถึงราว 1 ใน 3 ของมูลค่าการส่งออกทูน่ากระป๋องทั้งหมด โดยมีตลาดส่งออกสำคัญ ได้แก่ ลิเบีย, ซาอุดีอาระเบีย, สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์, อิสราเอล และอียิปต์ ซึ่งมีปัจจัยหนุนจากความต้องการบริโภคอาหารฮาลาลที่เพิ่มสูงขึ้น รวมทั้งความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ (Geopolitical risks) และความกังวลต่อสถานการณ์ความขัดแย้งในภูมิภาคตะวันออกกลางที่ทวีความรุนแรงมากขึ้นในปัจจุบัน ซึ่งปัจจัยดังกล่าวจะเอื้อให้มีความต้องการนำเข้าผลิตภัณฑ์อาหารที่สามารถเก็บไว้บริโภคได้นานเพิ่มสูงขึ้นตามไปด้วย นอกจากนี้ “ทูน่ากระป๋อง” ยังจัดเป็นสินค้าอาหารพื้นฐานที่ได้รับความนิยมและเข้าถึงผู้บริโภคในทุกระดับรายได้ จึงสามารถบริโภคทดแทนโปรตีนจากเนื้อไก่หรือเนื้อวัวที่มีราคาสูงกว่าได้ ด้วยปัจจัยหนุนต่าง ๆ เหล่านี้ ส่งผลให้ MENA กลายเป็นตลาดส่งออกที่มีศักยภาพเติบโตสูงและน่าจับตามอง สอดรับกับเป้าหมายของไทยในการเป็นมุ่งสู่การเป็นฮับอาหารฮาลาลของภูมิภาคอีกด้วย

Competitive landscape
สำหรับในระยะต่อไป กลยุทธ์การแข่งขันของผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมทูน่าจำเป็นต้องหันมาให้ความสำคัญกับการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนเพื่อตอบโจทย์เทรนด์ ESG มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการจัดหาวัตถุดิบทูน่าอย่างรับผิดชอบผ่านการทำประมงอย่างยั่งยืน (Sustainable fishing) รวมไปถึงการปฏิบัติต่อแรงงานในอุตสาหกรรมประมงอย่างเป็นธรรม (Fair labor practice) ซึ่งประเด็นเหล่านี้จะเป็นสิ่งที่ทวีความสำคัญมากขึ้นเรื่อย ๆ ในอนาคต ดังนั้น การปรับตัวให้สอดรับกับเมกะเทรนด์เหล่านี้จึงกลายเป็นทั้งทางรอดและโอกาสของธุรกิจ เพราะนอกจากจะเป็นการลดอุปสรรคจากมาตรการกีดกันทางการค้าที่มิใช่ภาษี (NTBs) ที่มีแนวโน้มเข้มงวดและซับซ้อนมากขึ้นแล้ว ยังเพิ่มโอกาสทางการค้าและยกระดับศักยภาพการแข่งขันของผู้เล่นไทยได้อีกด้วย
ทั้งนี้หนึ่งในประเด็นหลักที่กำลังถูกพูดถึงมากขึ้นในเวทีโลก คือการลด Carbon footprint ในห่วงโซ่การผลิตทูน่าอย่างครบวงจร เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน หรือ Carbon neutrality ภายในปี 2050 ซึ่งประเด็นดังกล่าวนี้เป็นสิ่งที่ผู้เล่นในอุตสาหกรรมทูน่าของไทยตระหนักถึงความสำคัญเช่นเดียวกันไม่ว่าจะเป็นการปรับเปลี่ยนการดำเนินธุรกิจและกระบวนการผลิตต่าง ๆ อาทิ การใช้เทคโนโลยีการผลิตและการจัดการของเสียที่สะอาดและมีประสิทธิภาพมากขึ้น หรือแม้แต่การปรับเปลี่ยนมาใช้พลังงานสะอาดเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกออกสู่ชั้นบรรยากาศ เป็นต้น
นอกจากนี้ ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมทูน่าควรมีการวิจัยและพัฒนาเพื่อต่อยอดสร้างมูลค่าเพิ่มจากส่วนสูญเสียของกระบวนการผลิต อาทิ การนำผลพลอยได้จากการผลิตทูน่ากระป๋อง (By-products) ไปผลิตเป็นอาหารสัตว์เลี้ยง โดยเฉพาะอย่างยิ่งอาหารเปียกสำหรับสุนัขและแมวที่ทำจากปลาชนิดต่าง ๆ รวมทั้งปลาทูน่า หรือแม้แต่การกลั่นและสกัดน้ำมันปลาทูน่าจากเนื้อปลาเพื่อออกผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ผู้บริโภคที่ใส่ใจสุขภาพ ซึ่งนอกจากจะเป็นการขยายไปสู่ธุรกิจที่มีแนวโน้มเติบโตดีและมีอัตรากำไรค่อนข้างสูงแล้ว ยังลดความเสี่ยงจากการพึ่งพารายได้จากธุรกิจหลัก (Core business) เพียงทางเดียว และหนุนบทบาทของไทยในฐานะผู้ส่งออกอาหารสุนัขและแมวอันดับต้น ๆ ของโลกอีกด้วย
พร้อม ๆ ไปกับการปรับกลยุทธ์การเติบโตของธุรกิจในอนาคต เพื่อรับมือกับความท้าทายจากปัจจัยเสี่ยงรอบด้าน ทั้งเรื่องความผันผวนของภาวะเศรษฐกิจโลก รสนิยมของผู้บริโภคในตลาดที่เปลี่ยนไป หรือแม้แต่ภาวะโลกร้อนและปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ซึ่งประเด็นเหล่านี้คือโจทย์ใหญ่ที่ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมทูน่าจะมองข้ามไม่ได้ ยิ่งไปกว่านั้น ผู้ประกอบการยังต้องเตรียมรับมือกับการแข่งขันในตลาดที่มีแนวโน้มรุนแรงมากขึ้นอีกด้วย ทั้งจากผู้เล่นในอุตสาหกรรมเดียวกันและจากสินค้านวัตกรรมทางเลือกใหม่ ๆ ในตลาด เช่น โปรตีนทางเลือกจากพืช (Plant-based products) หรือ Alternative protein ที่กำลังได้รับความนิยมจากผู้บริโภคทั่วโลกมากขึ้นอย่างต่อเนื่องในปัจจุบัน
ภาคผนวก
ภาพรวมผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนในกลุ่มผู้ผลิตและส่งออกผลิตภัณฑ์ทูน่ากระป๋องและทูน่าแปรรูป

* ผลประกอบการในตารางด้านบน ครอบคลุมการวิเคราะห์ผลประกอบการของกลุ่มบริษัทจดทะเบียนในหมวดธุรกิจอาหารและเครื่องดื่มที่ประกอบธุรกิจผลิตและส่งออกผลิตภัณฑ์
ทูน่ากระป๋องและทูน่าแปรรูป
** ผลจากฐานต่ำ (Low base effect) เนื่องจากผลประกอบการในปี 2023 ที่ติดลบ จากการบันทึกรายการด้อยค่าที่ไม่ใช่เงินสดครั้งเดียวของผู้เล่นรายใหญ่ในช่วงไตรมาส 4/2023
*** รายได้รวมและกำไรสุทธิที่หดตัวในช่วงไตรมาสแรกปี 2025 ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการลดลงของยอดขายผลิตภัณฑ์รับจ้างผลิต (OEM) ในยุโรป จากการที่ลูกค้ากลุ่มนี้ชะลอการสั่งซื้อสินค้าจากผลของราคาปลาทูน่าที่ปรับตัวสูงขึ้น รวมทั้งปัจจัยด้านอัตราแลกเปลี่ยนมีผลกระทบเชิงลบต่อผลการดำเนินงานโดยรวมในไตรมาสนี้เนื่องจากเงินบาทแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับทุกสกุลเงินหลัก โดยเฉพาะค่าเงินยูโร
ที่มา : การวิเคราะห์โดย SCB EIC จากข้อมูลของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
ข่าวที่เกี่ยวข้อง : SCB FM มองเงินบาทมีแนวโน้มแข็งค่า จับตาการเมือง-ภาษีทรัมป์