กรุงศรีวิเคราะห์เศรษฐกิจไทยเผชิญแรงกระแทกสองระลอก มีโอกาสปรับลดดอกเบี้ยนโยบาย

สงครามการค้าเพิ่มความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจโลกและอาจหนุนให้ธนาคารกลางหลายแห่งทยอยปรับลดดอกเบี้ยในปีนี้ ขณะที่จีนยังพึ่งมาตรการกระตุ้นภายในประเทศเป็นหลัก
เฟดส่งสัญญาณไม่รีบปรับลดดอกเบี้ย ท่ามกลางนโยบายการค้าที่มีความไม่แน่นอนสูง เฟดสาขาแอตแลนตา เปิดเผยแบบจำลองคาดการณ์ GDPNow ชี้ว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ อาจหดตัว 2.2% ในไตรมาสที่ 1 จากคาดการณ์เดิมขยายตัว 2.3% ขณะที่เฟดสาขาฟิลาเดลเฟียเผยดัชนีภาคการผลิตออกมาต่ำกว่าคาดในเดือนเมษายน โดยลดลงสู่ระดับ -26.4 จาก +12.5 ในเดือนก่อนหน้า
นายเจอโรม พาวเวล ประธานเฟดส่งสัญญาณไม่รีบปรับลดอัตราดอกเบี้ยแม้ข้อมูลบ่งชี้ว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ ชะลอตัวลงในไตรมาส 1 เช่นเดียวกับความเชื่อมั่นที่ปรับตัวลงเนื่องจากการเรียกเก็บภาษีศุลกากรอาจผลักดันให้เงินเฟ้อพุ่งขึ้นห่างออกจากเป้าหมายของเฟดที่ 2% ซึ่งส่งผลให้เฟดอาจต้องรอความชัดเจนมากขึ้นก่อนที่จะปรับจุดยืนด้านนโยบาย นอกจากนี้ การเลื่อนการขึ้นภาษีตอบโต้ (Reciprocal tariff) ออกไปอีก 90 วัน (ยกเว้นจีน) ช่วยลดความผันผวนของตลาดการเงิน สะท้อนจากแรงซื้อที่กลับเข้ามาในตลาดหุ้นและพันธบัตรหลังจากเผชิญแรงเทขายอย่างหนักก่อนหน้านี้ อย่างไรก็ตาม จากแนวโน้มการชะลอตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ วิจัยกรุงศรีประเมินว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) มีแนวโน้มเริ่มปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงตั้งแต่ช่วงกลางปีนี้สู่ระดับ 3.50-3.75% ในช่วงสิ้นปี

ยูโนโซน
ECB ปรับลดดอกเบี้ยนโยบายและมีแนวโน้มปรับลดต่อเนื่องจากสงครามการค้าฉุดรั้งการฟื้นตัวของเศรษฐกิจยูโรโซน ในเดือนเมษายน ดัชนีความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจ (ZEW) ปรับลดลงสู่ระดับ -18.5 ต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนธันวาคม 2565 ขณะที่อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือนมีนาคม ชะลอลงสู่ระดับ 2.2% YoY ส่วนอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานชะลอลงสู่ 2.4% ต่ำสุดในรอบ 41 เดือน
ความตึงเครียดและความไม่แน่นอนของสงครามการค้าเพิ่มความเสี่ยงขาลงต่อเศรษฐกิจยูโรโซน บ่งชี้จากระดับความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจและครัวเรือนที่ปรับลงแรง ภาคบริการที่ขยายตัวช้าลง รวมถึงภาคการผลิตและส่งออกที่ยังคงซบเซาต่อเนื่อง ซึ่งได้นำไปสู่การปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางยุโรป (ECB) ลง0.25% สู่ระดับ 2.25% ในการประชุมวันที่ 17 เมษายน นอกจากนี้ ภาษีสินค้านำเข้ากลุ่มยาและเวชภัณฑ์คาดว่าจะส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่ออุตสาหกรรมเทคโนโลยีทางการแพทย์ในยุโรป เนื่องจากสหรัฐฯ เป็นตลาดส่งออกผลิตภัณฑ์ยาและเวชภัณฑ์ที่สำคัญคิดเป็น 38.2% ของการส่งออกทั้งหมดนอกกลุ่มยุโรปในปี 2567อีกทั้งยังอาจนำไปสู่การย้ายฐานการลงทุนไปยังสหรัฐฯ อีกด้วย จากภาพความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจ วิจัยกรุงศรีประเมินว่า ECB มีแนวโน้มปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงอย่างค่อยเป็นค่อยไปสู่ระดับ 1.75% ณ สิ้นปี 2568 จากปัจจุบันที่ 2.25%

จีน
จีนยังได้แรงหนุนจากมาตรการกระตุ้น แต่สงครามการค้าที่ทวีความรุนแรงขึ้นอาจทำให้เศรษฐกิจชะลอลงในระยะข้างหน้า โดย GDP ของจีนในไตรมาสแรกขยายตัวถึง5.4% YoY ขณะที่การเติบโตของยอดค้าปลีกสูงขึ้นจาก 4% ในช่วงสองเดือนแรกเป็น5.9% ในเดือนมีนาคม ส่วนการส่งออกขยายตัวเร่งขึ้นจาก 2.3% เป็น 12.4% อย่างไรตาม ยอดขายบ้านใหม่พลิกกลับมาหดตัวอีกครั้งจาก 3.2% ในเดือนกุมภาพันธ์เป็น -11.4% ด้านสหรัฐฯ ขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนเพิ่มเป็น 145% (บังคับใช้วันที่ 10เมษายน) ขณะที่จีนขึ้นภาษีนำเข้าตอบโต้กลับสหรัฐฯ เป็น 125% (บังคับใช้วันที่ 12เมษายน)
เศรษฐกิจจีนในไตรมาสแรกยังขยายตัวได้ดี ส่วนหนึ่งเป็นผลจากมาตรการอุดหนุนการแลกซื้อสินค้าใหม่ แต่ในช่วงที่เหลือของปี จีนเผชิญความเสี่ยงจากการส่งออกที่มีแนวโน้มชะลอลง ซึ่งจะส่งผลต่อการจ้างงานและกำลังซื้อ โดยล่าสุด ความเชื่อมั่นผู้บริโภคและตลาดแรงงานยังอ่อนแอ อัตราการว่างงานของกลุ่มคนหนุ่มสาววัย 16-24 ปีสูงถึง 16.5% ในเดือนมีนาคม ดังนั้น รัฐบาลจึงอาจต้องเร่งออกมาตรการกระตุ้นรายได้ของประชาชนตามที่เคยประกาศไว้ เพื่อประคับประคองการเติบโตทางเศรษฐกิจให้ใกล้เคียงกับเป้าหมายที่ตั้งไว้ที่ราว 5%

เศรษฐกิจไทย
เศรษฐกิจไทยเผชิญแรงกระแทกสองระลอก มีโอกาสปรับลดดอกเบี้ยนโยบายเพิ่มเติมในปีนี้
ธปท.ประเมิน GDP ไทยปีนี้เสี่ยงโตต่ำกว่า 2.5% ด้านวิจัยกรุงศรีคาดกนง.อาจใช้แนวทาง wait-and-see ในเดือนนี้ เพื่อเตรียมเก็บกระสุนด้านดอกเบี้ยไว้ใช้ในช่วงครึ่งหลังของปี ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท) ระบุว่าในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง) ครั้งที่ผ่านมาในเดือนกุมภาพันธ์ ซึ่งได้ปรับลดดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% ภายใต้การคาดการณ์ว่าสหรัฐฯ จะขึ้นภาษีกับสินค้าไทยที่ 10%ทำให้คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวอยู่ที่ 2.5% แต่หากสหรัฐฯปรับขึ้นภาษีกับไทยมากกว่า 10% ผลกระทบอาจรุนแรงขึ้น และส่งผลให้ GDP ปีนี้มีแนวโน้มเติบโตต่ำกว่า 2.5%
วิจัยกรุงศรีประเมินผลกระทบจากปัจจัยคุกคามคู่ (Twin shocks) ทั้งจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวเมื่อปลายเดือนมีนาคม และการปรับขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าของสหรัฐฯ ย่อมส่งผลต่อเศรษฐกิจไทยอย่างหลีกเลี่ยงได้ยาก GDP ปีนี้มีแนวโน้มต่ำกว่าที่เคยคาดไว้ จึงเพิ่มความเป็นไปได้ที่กนง.อาจผ่อนคลายนโยบายการเงินในปีนี้ อย่างไรก็ตาม คาดว่ากนง.จะคงดอกเบี้ยในการประชุมวันที่ 30 เมษายนนี้ สะท้อนจาก Forward guidance ล่าสุดของธปท ที่ระบุว่า (i) แม้อัตราภาษีตอบโต้ที่สหรัฐฯเรียกเก็บกับไทยจะสูงกว่าที่คาดไว้ (36%) แต่ปัจจุบันมีการเลื่อนเก็บเป็นเวลา 90 วัน ผลกระทบจึงน่าจะเกิดขึ้นในช่วงครึ่งปีหลังและปีหน้า (ii) ในการประเมิน GDP ครั้งล่าสุดของ ธปท. ใช้สมมติฐานว่าอัตราภาษีตอบโต้จะอยู่ที่ 10% ตลอดทั้งปี ซึ่งเป็นสถานการณ์ปัจจุบันในช่วงระยะเวลาผ่อนผัน 90 วันนี้ (iii) ธปท.ประเมินว่ามีผลกระทบจำกัดเฉพาะในบางภาคเศรษฐกิจ โดยส่วนใหญ่จะกระทบด้านภาคการผลิต (Supply side) ซึ่งธปท. ย้ำเสมอว่าการใช้นโยบายการเงินไม่ใช่การแก้ปัญหาที่ตรงจุด ควรแก้ไขด้วยการปรับโครงสร้างหรือยกระดับภาคการผลิต และ (iv) แม้อัตราเงินเฟ้อจะอยู่ต่ำกว่ากรอบเป้าหมาย แต่ธปท. มองว่าเป็นผลจากปัจจัยด้านอุปทาน และจะทยอยปรับเข้าสู่กรอบในระยะปานกลาง จากการสื่อสารของธปท.ดังกล่าวส่งสัญญาณว่ากนง.อาจจับตาและรอดูสถานการณ์ความชัดเจน (wait-and-see stance) ในระยะนี้ เพื่อเตรียมเก็บกระสุนด้านดอกเบี้ยนโยบายที่มีอยู่อย่างจำกัดไว้ใช้ในช่วงครึ่งปีหลัง หากความเสี่ยงจากสงครามการค้ารุนแรงขึ้นและมีแนวโน้มส่งผลกระทบเป็นวงกว้างต่อเศรษฐกิจไทยโดยรวม

จับตาการเจรจาการค้าระหว่างไทยกับสหรัฐฯ กลางสัปดาห์นี้ เตรียมเสนอแผนลดการเกินดุลการค้ากับสหรัฐฯ นายกรัฐมนตรีเผยว่าทางสหรัฐฯ ได้ตอบรับการเจรจากับประเทศไทย โดยกำหนดขึ้นในวันที่ 23 เมษายนนี้ เบื้องต้นกำหนดแผนงานเจรจาภายใต้ 5 แนวทางหลัก ได้แก่ (i) ความร่วมมือในธุรกิจอาหารแปรรูปไทย-สหรัฐฯ (ii) เพิ่มการนำเข้าสินค้าจากสหรัฐ อาทิ พลังงาน เครื่องบิน และสินค (iii) เปิดตลาด ลดภาษีนำเข้า ลดอุปสรรคทางการค้า (iv) ตรวจสอบอย่างเข้มงวดเพื่อป้องกันการแอบอ้างถิ่นกำเนิดสินค้า (v) ส่งเสริมการลงทุนในสหรัฐฯ มากขึ้น (ดังตาราง)

การเจรจาการค้าระหว่างไทยกับสหรัฐฯ ในวันที่ 23 เมษายนนี้ นับเป็นก้าวแรกบนความหวังที่จะช่วยผ่อยคลายสถานการณ์ตึงเครียดทางการค้าลงได้บ้าง โดยฝ่ายไทยเตรียมเสนอแผนลดการเกินดุลการค้ากับสหรัฐฯ ลง 50% ภายใน 5 ปี ผ่าน 5 แนวทางหลักข้างต้น ทั้งนี้ หากการเจรจาดำเนินไปอย่างมีความคืบหน้า จะบรรเทาความเสี่ยงจากมาตรการภาษีตอบโต้ของสหรัฐฯ ที่อาจปรับขึ้นสูงถึง 36% ในระยะข้างหน้า อย่างไรก็ตาม หากไทยไม่สามารถสร้างผลลัพธ์เชิงรูปธรรมได้ ขณะที่ประเทศคู่แข่งสามารถเร่งสร้างความร่วมมือกับสหรัฐฯ ได้ก่อน ย่อมอาจส่งผลให้ไทยเสียเปรียบในการเข้าถึงตลาดสหรัฐฯ ซึ่งปัจจุบันคิดเป็นสัดส่วน 18.3% ของการส่งออกทั้งหมดของไทย
ข้อมูลเพิ่มเติม
วิจัยกรุงศรี: https://www.krungsri.com/th/research/home
อีเมล: krungsri.research@Krungsri.com
ข่าวที่เกี่ยวข้อง : อลิอันซ์ วิเคราะห์เศรษฐกิจโลกยังคงต้องเผชิญจากทรัมป์