ไทยพาณิชย์วิเคราะห์ธุรกิจสีทาอาคารรุ่งหรือร่วง

ในปี 2025 มูลค่าตลาดสีทาอาคารมีแนวโน้มฟื้นตัวมาอยู่ที่ราว 2.76 หมื่นล้านบาท(+2.2%YOY) ตามการก่อสร้างและปรับปรุงพื้นที่เชิงพาณิชย์ของภาคเอกชน อาทิ พื้นที่ค้าปลีก อาคารสำนักงาน โรงแรม แต่ยังคงมีความท้าทายจากตลาดที่อยู่อาศัยที่คาดว่าจะยังคงหดตัว ซึ่งจะกดดันการก่อสร้างโครงการที่อยู่อาศัยใหม่ในปี 2025 ขณะที่ราคาสีทาอาคารมีแนวโน้มปรับตัวลดลงตามต้นทุน ซึ่งเป็นผลมาจากแนวโน้มราคาน้ำมันที่คาดว่าจะปรับตัวลดลงในปี 2025
การแข่งขันในตลาดสีทาอาคารยังคงรุนแรงต่อเนื่อง ส่งผลให้จำเป็นต้องปรับกลยุทธ์ โดยเฉพาะการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และสุขภาพของผู้อยู่อาศัย โดยผู้ผลิตสีทาอาคารรายใหญ่ที่มีการผลิตปริมาณมากและก่อให้เกิดการประหยัดต่อขนาด จะเป็นผู้ได้เปรียบในการแข่งขันด้านราคา และยังสามารถรักษาอัตรากำไรได้ดีกว่าผู้ผลิตรายกลางและเล็กที่มีโครงสร้างต้นทุนสูงกว่า โดยแนวทางการปรับกลยุทธ์สำหรับผู้ประกอบการ อาจอยู่ในรูปแบบการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าเพิ่ม ที่สามารถกำหนดราคาและอัตรากำไรได้สูงกว่าสีทาอาคารทั่วไป อาทิ สีทาอาคารเกรดพรีเมียม หรือสีทาอาคารที่มีคุณสมบัติเป็นมิตรต่อสุขภาพของผู้อยู่อาศัยและสัตว์เลี้ยง เพื่อเจาะกลุ่มการใช้งานในส่วนของการก่อสร้างที่อยู่อาศัยใหม่ในระดับปานกลาง-บน การก่อสร้างอสังหาริมทรัพย์เชิงพาณิชย์ที่ได้การรับรองมาตรฐานอาคารที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ทั้งอาคารสำนักงาน และพื้นที่ค้าปลีก รวมถึงเจาะกลุ่มลูกค้าที่มีกำลังซื้อปานกลาง-สูง ที่มีความต้องการปรับปรุงที่อยู่อาศัยอีกด้วย นอกจากนี้ การเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานหมุนเวียนในกระบวนการผลิต จะยังช่วยลดต้นทุนด้านพลังงาน ซึ่งเป็นต้นทุนที่สำคัญของการผลิตสีทาอาคาร และช่วยรักษาระดับอัตรากำไรได้
Industry overview
อุตสาหกรรมสีทาอาคารในไทย ส่วนใหญ่ราว 95% ของมูลค่าตลาดเป็นการใช้งานในประเทศ ในขณะที่อีก 5% เป็นการส่งออกไปจำหน่ายยังกลุ่มประเทศCLMV คือ กัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม เป็นหลัก โดยปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อความต้องการใช้งานสีทาอาคาร ได้แก่ การขยายตัวของภาคอสังหาริมทรัพย์ ทั้งการพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัย และพื้นที่เชิงพาณิชย์ของภาคเอกชน รวมถึงภาคครัวเรือนที่มีความต้องการปรับปรุงและตกแต่งที่พักอาศัย ทั้งนี้อุตสาหกรรมสีทาอาคารในไทยประกอบด้วยผู้เล่นหลัก 8 ราย ทั้งผู้ผลิตสัญชาติไทย และผู้ผลิตต่างประเทศที่เข้ามาลงทุนตั้งโรงงานในไทยภายใต้แบรนด์ชั้นนำในระดับสากล โดยมีบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยจำนวน 2 ราย ได้แก่ บริษัท ทีโอเอ เพ้นท์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) (TOA) และบริษัท สีเดลต้า จำกัด (มหาชน) (DPAINT)
ตลาดสีทาอาคารในไทยมีการแข่งขันสูงระหว่างผู้ประกอบการหลักในอุตสาหกรรม ทั้งตลาดสีทาอาคารกลุ่มพรีเมียมและสีคุณภาพพิเศษ (Premium & Specialty) เช่น สีกันความร้อน สีต้านเชื้อรา สีปลอดสารพิษ ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ผู้อยู่อาศัย และสัตว์เลี้ยง ซึ่งมีราคาสูงกว่าสีทาอาคารทั่วไป และเน้นการแข่งขันด้านคุณภาพและนวัตกรรมการผลิต และตลาดสีกลุ่ม Standard & Economy ซึ่งเป็นตลาดทั่วไป ที่เน้นการแข่งขันด้านราคา และความคุ้มค่าเป็นหลัก
รูปที่ 1 : ห่วงโซ่อุปทานอุตสาหกรรมการผลิตสีทาอาคาร และบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

ที่มา : การวิเคราะห์โดย SCB EIC จากข้อมูลของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และเอกสารเผยแพร่ของผู้ประกอบการ
สำหรับโครงสร้างต้นทุนการผลิตสีทาอาคารส่วนใหญ่ราว 57% ของต้นทุนการผลิตโดยรวม เป็นต้นทุนวัตถุดิบ เช่น สารช่วยยึดและประสานสี (Binder) และเม็ดสี (Pigment) ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเคมีภัณฑ์ที่อาศัยการนำเข้าจากต่างประเทศเป็นหลัก และราคาวัตถุดิบดังกล่าวมักมีทิศทางเดียวกันกับการเคลื่อนไหวของราคาน้ำมันโลกที่มีความผันผวน ประกอบกับผู้ผลิตสีทาอาคารยังมีต้นทุนพลังงานอีกราว 24% ที่ใช้ในการขนส่ง และพลังงานไฟฟ้าในสายการผลิตสะท้อนความท้าทายในการบริหารจัดการต้นทุนของผู้ผลิตสีทาอาคารที่มีความผันผวนระดับสูง
ทั้งนี้ช่องทางการจำหน่ายหลักของสินค้าสีทาอาคารของผู้ผลิตราว 65% ของยอดขายรวม ยังคงเป็นร้านค้าปลีกหรือร้านขายวัสดุก่อสร้างทั่วไปที่เป็นตัวแทนจำหน่ายของบริษัทโดยตรง ที่มีการกระจายตัวทั่วประเทศ นอกจากนี้ เป็นการจำหน่ายผ่านร้านค้าปลีกสมัยใหม่ (Modern trade) คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 25% ของยอดขายรวม และอีกประมาณ 10% เป็นการจำหน่ายผ่านช่องทางการจำหน่ายอื่น ๆ อาทิ การจำหน่ายโดยตรงไปยังผู้รับเหมาก่อสร้าง และผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ตามความต้องการใช้งานในภาคก่อสร้าง การจำหน่ายผ่านช่องทาง E-commerce รวมไปถึงการส่งออกไปยังต่างประเทศ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นกลุ่มผู้ค้าส่งและผู้ค้าปลีกใน CLMV

Industry outlook and trend
ปี 2025 มูลค่าตลาดสีทาอาคารมีแนวโน้มฟื้นตัวมาอยู่ที่ 2.76 หมื่นล้านบาท ขยายตัว 2.2% ใกล้เคียงกับอัตราการขยายตัวโดยเฉลี่ยต่อปีในช่วงปี 2020-2024 จากแนวโน้มการใช้งานในโครงการก่อสร้างพื้นที่เชิงพาณิชย์ ขณะที่การก่อสร้างที่อยู่อาศัยใหม่ยังมีปัจจัยกดดันจากการหดตัวของตลาดที่อยู่อาศัย
ในปี 2024 ที่ผ่านมา ราคาสีทาอาคารปรับตัวลดลงจากปีก่อนหน้าประมาณ 6.5% และมีการแข่งขันค่อนข้างสูง โดยเฉพาะการแข่งขันด้านราคา ประกอบกับปริมาณการใช้งานก็ลดลงจากการหดตัวของตลาดที่อยู่อาศัย ส่งผลให้มูลค่าตลาดสีทาอาคารหดตัวประมาณ 3.6%YOY
สำหรับแนวโน้มของอุตสาหกรรมสีทาอาคารในปี 2025 แม้ราคาสีทาอาคารยังคงมีแนวโน้มปรับตัวลดลงตามต้นทุนวัตถุดิบสำคัญ ที่เป็นไปตามทิศทางราคาน้ำมันดิบที่ลดลง แต่ยังได้แรงหนุนจากปริมาณการใช้งานที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากปี 2024 ตามแนวโน้มการเพิ่มขึ้นของโครงการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์เชิงพาณิชย์ของภาคเอกชน ทั้งโครงการมิกซ์ยูสขนาดใหญ่ในทำเลใจกลางเมือง และย่านธุรกิจ พื้นที่สำนักงานให้เช่า รวมถึงการปรับปรุงพื้นที่ค้าปลีก และโรงแรม ประกอบกับความต้องการใช้งานสีทาอาคารของภาคครัวเรือนสำหรับการปรับปรุงตกแต่งที่พักอาศัย จะส่งผลให้มูลค่าตลาดสีทาอาคารขยายตัว+2.2%YOY แตะระดับ 2.76 หมื่นล้านบาท โดยเป็นระดับที่ใกล้เคียงกับอัตราการขยายตัวโดยเฉลี่ยต่อปีในช่วงปี 2020-2024 ซึ่งอยู่ที่ 2.9%
อย่างไรก็ตาม ตลาดสีทาอาคารในปี 2025 ยังคงเผชิญแรงกดดันจากตลาดที่อยู่อาศัยที่คาดว่าจะหดตัว จากหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง ราคาที่อยู่อาศัยใหม่ที่ปรับตัวสูงขึ้น และอุปสรรคในการเข้าถึงสินเชื่อ ซึ่งเป็นความท้าทายต่อการเปิดตัวโครงการที่อยู่อาศัยใหม่ โดยการเปิดตัวโครงการระดับราคาปานกลาง-ล่างของผู้ประกอบการพัฒนาที่อยู่อาศัยยังมีแนวโน้มเป็นไปอย่างระมัดระวัง และการเปิดตัวโครงการที่อยู่อาศัยใหม่ส่วนใหญ่ยังมีแนวโน้มอยู่ในกลุ่มระดับราคาสูง

SCB EIC มองว่า แม้ภาพรวมของตลาดสีทาอาคารในปี 2025 จะเผชิญความท้าทายจากการหดตัวของตลาดที่อยู่อาศัย แต่การพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ซึ่งเป็นโครงการขนาดใหญ่หลายโครงการ ครอบคลุมหลายพื้นที่ในทำเลที่มีศักยภาพ จะเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยให้ปริมาณการใช้งานสีทาอาคารเพิ่มขึ้น หนุนให้มูลค่าตลาดสีทาอาคารสามารถขยายตัวได้ นอกจากนี้ การเปิดตัวโครงการที่อยู่อาศัยใหม่ในกลุ่มระดับราคาสูง ยังเป็นโอกาสของผลิตภัณฑ์สีทาอาคารเกรดพรีเมียม อาทิ สีทาอาคารที่เพิ่มความทนทานต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาวะอากาศ มีชั้นเนื้อฟิล์มที่ยืดหยุ่นได้สำหรับปิดผิวแตกร้าว ทนต่อความชื้นสูง หรือเป็นผลิตภัณฑ์คุณภาพสูงที่ส่งเสริมความเป็นมิตรต่อสุขภาพของผู้อยู่อาศัย รวมถึงผลิตภัณฑ์ดังกล่าว ยังสามารถเจาะกลุ่มผู้บริโภคที่มีกำลังซื้อสูง ที่มีความต้องการปรับปรุงซ่อมแซมที่อยู่อาศัย และกลุ่มการก่อสร้างอสังหาริมทรัพย์เชิงพาณิชย์ที่ได้การรับรองมาตรฐานอาคารที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ทั้งอาคารสำนักงาน และพื้นที่ค้าปลีก ซึ่งผู้ผลิตสีทาอาคารสามารถกำหนดราคาขายผลิตภัณฑ์ดังกล่าวได้ในระดับสูง และมีอัตรากำไรที่สูงกว่าสีทาอาคารเกรดทั่วไป
Competitive landscape
การพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และสุขภาพของผู้อยู่อาศัย จะสร้างความสามารถในการแข่งขัน และเพิ่มโอกาสในการขยายตลาดสำหรับผู้ผลิตสีทาอาคาร
ผู้ผลิตสีทาอาคารในไทยประกอบด้วยผู้ผลิตหลายรายภายใต้แบรนด์ต่าง ๆ ที่มีการแข่งขันกันอย่างรุนแรง ทั้งในด้านราคา และการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีความหลากหลาย ครอบคลุมความต้องการใช้งานของกลุ่มลูกค้าที่แตกต่างกันโดยผู้ผลิตรายใหญ่ที่มีการผลิตปริมาณมากจนเกิดการประหยัดต่อขนาด จะมีความได้เปรียบในการแข่งขันด้านราคา และได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงต้นทุนน้อยกว่าผู้ผลิตรายกลางและเล็ก ทำให้ยังสามารถรักษาอัตรากำไรได้ดีกว่า ท่ามกลางภาวะต้นทุนวัตถุดิบ อาทิ เคมีภัณฑ์ เรซิน ยังคงผันผวน นอกจากนี้ การเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานหมุนเวียนในกระบวนการผลิต จะยังช่วยลดต้นทุนด้านพลังงาน ซึ่งเป็นต้นทุนที่สำคัญของการผลิตสีทาอาคาร และช่วยรักษาระดับอัตรากำไรได้
แม้ตัวแทนจำหน่ายตามร้านค้าปลีกแบบดั้งเดิมจะยังคงเป็นช่องทางหลักในการจำหน่ายสีทาอาคาร แต่ก็ยังมีโอกาสในการขยายการเข้าถึงผู้บริโภคผ่านช่องทางการจำหน่ายอื่น ๆ อาทิ ร้านโมเดิร์นเทรดที่มีบริการเครื่องผสมสีตามความต้องการของลูกค้าที่หลากหลาย และมีสต็อกสินค้ามากกว่า รวมถึงการจำหน่ายโดยตรงจากบริษัทผู้ผลิตไปยังผู้บริโภค ซึ่งกำลังเป็นที่นิยมมากขึ้นในปัจจุบัน อีกทั้ง แนวโน้มการจำหน่ายบนแพลตฟอร์ม E-commerce ที่ผู้บริโภคสามารถสร้างประสบการณ์การเลือกเฉดสีจากเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์(Artificial Intelligence : AI) และ Augmented Reality (AR) ช่วยทำให้เห็นภาพห้องหรืออาคารก่อนดำเนินการทาสีจริง
แนวโน้มการพัฒนาอาคารที่ได้การรับรองมาตรฐานอาคารที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะการกำหนดเกณฑ์มาตรฐานการออกแบบอาคารเพื่อการอนุรักษ์พลังงาน (Building Energy Code : BEC) ที่บังคับใช้กับอาคารขนาดใหญ่ ทั้งที่เป็นพื้นที่เชิงพาณิชย์ อาทิ โรงแรม ศูนย์การค้า อาคารสำนักงาน โรงพยาบาล สถานศึกษา รวมไปถึงพื้นที่อยู่อาศัยที่เป็นอาคารชุดขนาดใหญ่ตั้งแต่ 2,000 ตารางเมตรขึ้นไป จะเป็นปัจจัยหนุนความต้องการใช้งานสีทาอาคารที่ตอบโจทย์การอนุรักษ์พลังงานให้ขยายตัวเพิ่มมากขึ้นในระยะข้างหน้า อาทิ สีทาสะท้อนความร้อนและปรับอุณหภูมิภายในอาคารให้ต่ำกว่าการใช้สีทาอาคารทั่วไป ซึ่งจะช่วยลดการทำงานของเครื่องปรับอากาศ รวมถึงการใช้ผลิตภัณฑ์สีทาอาคารที่มีสารอินทรีย์ระเหยง่ายในปริมาณต่ำ (Low-VOCs) ซึ่งเป็นหลักเกณฑ์ด้านสุขภาวะที่สำคัญในการรับรองอาคารเขียวอย่าง LEED ที่เป็นมาตรฐานอาคารเขียวจากสหรัฐอเมริกา และ TREES ที่เป็นมาตรฐานอาคารเขียวของไทย
ทั้งนี้แนวโน้มการให้ความสำคัญกับการประหยัดพลังงาน รวมถึงสุขภาพของผู้อยู่อาศัยและสัตว์เลี้ยง ยังส่งผลให้ตลาดวัสดุก่อสร้างที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมได้รับความสนใจ และขยายตัวต่อเนื่องในระยะข้างหน้า โดยเฉพาะในกลุ่มผู้บริโภคที่มีกำลังซื้อสูง สะท้อนจากผลสำรวจ Residential real estate survey 2024 โดย SCB EIC ที่พบว่า ผู้บริโภคส่วนใหญ่ราว 50% มีความยินดีที่จะจ่ายเงินสำหรับซื้อวัสดุก่อสร้างประเภทดังกล่าวเพิ่มขึ้น 1-5% จากวัสดุก่อสร้างแบบดั้งเดิม โดยสีทาอาคารที่ผู้บริโภคมีแนวโน้มให้ความสนใจเพิ่มมากขึ้น ได้แก่ สีทาภายในแห้งไวที่ปราศจากสารระเหยอินทรีย์ (Zero-Volatile Organic Compounds : Zero-VOCs) ที่ไม่ทำลายระบบทางเดินหายใจ หรือสีทาอาคารที่สามารถล้างทำความสะอาดได้ง่าย สีทาอาคารสะท้อนความร้อน ลดอุณหภูมิภายในอาคาร ที่นำไปสู่การประหยัดค่าใช้จ่ายด้านพลังงานไฟฟ้าในที่พักอาศัยนอกจากนี้ ยังพบว่ากลุ่มผู้บริโภครุ่นใหม่ให้ความสนใจสีทาภายในที่ใช้งานง่าย สามารถทาเองได้โดยไม่ต้องจ้างช่างทาสี จากเทรนด์การตกแต่งบ้านด้วยตนเอง (Do It Yourself : DIY)
ภาคผนวก 1 : ผลประกอบการภาพรวมบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยกลุ่มผู้ผลิตสีทาอาคาร

หมายเหตุ : *คำนวณเฉพาะงบการเงินของธุรกิจสีทาอาคาร (Decorative paints) จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
ที่มา : การวิเคราะห์โดย SCB EIC จากข้อมูลของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และเอกสารเผยแพร่ของผู้ประกอบการ
ภาคผนวก 2 : ส่วนแบ่งตลาดสีทาอาคารปี 2023

ที่มา : การวิเคราะห์โดย SCB EIC จากข้อมูลของ BOL-Enlite

วรรณโกมล สุภาชาติ นักวิเคราะห์ ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ (SCB EIC)
ข่าวที่เกี่ยวข้อง : SCB EIC วิเคราะห์ เรื่อง Aftershock…ที่เริ่มสะเทือนถึงการท่องเที่ยวไทย