SCB EIC ชี้สงครามการค้ากดดันจีดีพีไทยเหลือ 1.5%

ความไม่แน่นอนจากสงครามการค้ายังสูง กดดันการส่งออกและการลงทุน คาดเศรษฐกิจไทยปีนี้ขยายตัวเพียง 1.5%
ทรัมป์ประกาศเลื่อนการขึ้นภาษีตอบโต้ออกไป 90 วัน เพื่อเปิดให้เจรจา แต่ความเสี่ยงใหญ่ของโลกยังคงอยู่

• ในวันที่ 9 เม.ย. ทรัมป์ประกาศเลื่อนการขึ้นภาษีศุลกากรตอบโต้รายประเทศ (Reciprocal tariff) ออกไปอีก 90 วัน เพื่อให้ประเทศต่าง ๆ มีโอกาสเจรจาปรับลดภาษี แต่ยังคงอัตราภาษีนำเข้าขั้นต่ำทุกประเทศที่10% ไว้ ขณะที่ทรัมป์ประกาศขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจีนอีกหลายรอบ รวมเป็น 145% หลังจีนประกาศขึ้นภาษีตอบโต้สหรัฐฯ ก่อนหน้านี้ นำไปสู่สงครามการค้าเต็มรูปแบบของสองเศรษฐกิจใหญ่ของโลก
• แม้สหรัฐฯ จะเปิดช่องให้เจรจาภาษีในช่วง 3 เดือนข้างหน้า แต่ SCB EIC มองว่า มาตรการภาษีนำเข้าชุดใหญ่ที่สหรัฐฯ ประกาศไว้เมื่อวันที่ 2 เม.ย. 2025 จะยังคงเป็นความเสี่ยงสำคัญที่สร้างความไม่แน่นอนกดดันการค้า การลงทุน และเศรษฐกิจโลกสูง
• อัตราภาษีนำเข้าที่สหรัฐฯ ตั้งให้สินค้าจากไทยที่ 36% นั้น ถือว่าอยู่ในเกณฑ์สูง สะท้อนสัดส่วนการเกินดุลการค้าของไทยกับสหรัฐฯ ที่สูงโดยอัตราภาษีตอบโต้ไทยสูงเป็นอันดับ 20 จาก 185 ประเทศคู่ค้าสหรัฐฯ และเป็นอันดับ 10 ของเอเชีย สูงกว่าค่าเฉลี่ยโลก (17%) และค่าเฉลี่ยเอเชีย (23%) จึงต้องจับตามองการเจรจาที่จะเกิดขึ้นว่าจะสามารถลดอัตราภาษีนำเข้านี้ได้มากน้อยอย่างไร
• ภายใต้การค้าโลกที่ชะลอลงและความไม่แน่นอนที่สูงขึ้น เศรษฐกิจไทยจะได้รับผลกระทบค่อนข้างมาก โดยเฉพาะการส่งออกสินค้า ทั้งผลทางตรงจากการที่ไทยส่งออกตลาดสหรัฐฯ สูงเป็นอันดับ 1 และผลทางอ้อมผ่านเศรษฐกิจคู่ค้าหลักชะลอตัว (เช่น จีน) การแข่งขันทางการค้ารุนแรงขึ้น และการลงทุนชะลอจากความไม่แน่นอนของนโยบายภาษีเพิ่มเติมในระยะข้างหน้า
• SCB EIC ประเมินว่า เศรษฐกิจไทยปี 2025 จะเติบโตชะลอลงเหลือ 1.5% (เดิม 2.4%)
จากทั้งสงครามการค้าและแผ่นดินไหว รวมทั้ง ประเมิน กนง. มีแนวโน้มลดดอกเบี้ยนโยบายเพิ่มอีก 3 ครั้งไปอยู่ที่ 1.25% ณ สิ้นปี 2025(เดิม 1.50%) เพื่อดูแลเศรษฐกิจ
ที่ชะลอลงมากภายใต้ความไม่แน่นอนสูง
• รัฐบาลควรเร่งเจรจาลดผลกระทบภาษีครั้งใหญ่นี้ โดยเน้นสิ่งที่สหรัฐฯ ให้ความสำคัญ 3 เรื่อง คือ ลดการเกินดุลการค้ากับสหรัฐฯ ลดมาตรการกีดกันการค้าที่ไม่ใช่ภาษี
และแก้ปัญหาสำคัญอื่น ๆ เช่น การละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา สิทธิเสรีภาพแรงงาน รัฐบาลควรเจรจาบนผลประโยชน์ในภาพรวมและมีกลไกดูแลผลกระทบของภาคส่วนต่าง ๆ อย่างเหมาะสม ควบคู่กับการเร่งสร้างความเข้มแข็งภายในประเทศทั้งในระยะสั้นและระยะยาว
สหรัฐฯ ประกาศขึ้นภาษีนำเข้าสูงกว่าคาดเยอะ เนื่องจากจะจัดเก็บทั้งภาษีขั้นต่ำและภาษีตอบโต้รายประเทศ นอกเหนือจากภาษีเฉพาะประเทศ/สินค้า
เมื่อวันที่ 2 เม.ย. 2025 ประธานาธิบดีทรัมป์ประกาศขึ้นภาษีนำเข้าสหรัฐฯ ครั้งใหญ่ โดยจะขึ้นภาษีนำเข้าขั้นต่ำจากทุกประเทศทุกสินค้า 10% (Universal tariffs) ยกเว้นเม็กซิโกและแคนาดา เริ่มใช้ 5 เม.ย. พร้อมขึ้นภาษีเพิ่มเติม (Reciprocal tariffs) กับ 60 ประเทศ/กลุ่มเศรษฐกิจที่เกินดุลการค้าสหรัฐฯ สูง ในอัตราต่างกัน ขึ้นกับดุลการค้าของสหรัฐฯ กับประเทศนั้น จะเริ่มใช้ 9 เม.ย.
แต่เมื่อวันที่ 9 เม.ย. ประธานาธิบดีทรัมป์กลับประกาศเลื่อนกำหนดปรับขึ้นภาษีศุลกากรตอบโต้รายประเทศ (Reciprocal tariffs) ออกไป 90 วัน เป็นเริ่มมีผล 8 ก.ค. แต่ยังเก็บภาษีขั้นต่ำทุกประเทศเพิ่ม 10% (Universal tariffs) โดยสหรัฐฯ จะให้เวลาประเทศต่าง ๆ 90 วัน เพื่อเจรจาต่อรองให้อัตราภาษี Reciprocal tariffs ลดลง สำหรับจีน ทรัมป์กลับประกาศขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจีนอีกหลายรอบ ทำให้กำแพงภาษี Reciprocal กับจีนอยู่ที่ 125% และภาษีเฉพาะเจาะจงที่ 20%รวมเป็น 145% เพื่อตอบโต้จีนที่ประกาศขึ้นภาษีตอบโต้กลับสหรัฐฯ ในช่วงสัปดาห์ก่อน
นอกจากชุดภาษี Universal และ Reciprocal tariffs นี้ ประธานาธิบดีทรัมป์ได้ประกาศขึ้นภาษีนำเข้าเฉพาะ (Specific tariffs) รายประเทศ/รายสินค้าหลายรายการตั้งแต่ต้นปี เพื่อลดการขาดดุลกับคู่ค้าใหญ่อันดับแรก ๆ ก่อน และปกป้องอุตสาหกรรมสำคัญในประเทศ ได้แก่ การขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจีน 20% ขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าเม็กซิโกและแคนาดา 25% (เฉพาะสินค้าที่ไม่เข้าเงื่อนไขตามสนธิสัญญาการค้า USMCA ร่วมกับสหรัฐฯ) รวมถึงการประกาศขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าเหล็กและอะลูมิเนียม และสินค้ายานยนต์ 25% จากคู่ค้าทุกประเทศ นอกจากนี้ สหรัฐฯ ยังมีแผนจะขึ้นภาษีเฉพาะบางสินค้าเพิ่มเติม เช่น เซมิคอนดักเตอร์ 25%,สินค้าเกษตร 25% และเวชภัณฑ์ 20% (รูปที่ 1)

รูปที่ 1 : ชุดมาตรการภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ ที่ Trump ประกาศใช้ในปัจจุบัน
ไทยโดนภาษีสหรัฐฯ สูงกว่าค่าเฉลี่ยโลก เอเชีย และอาเซียน แต่ยังต่ำกว่าจีน
หากสหรัฐฯ ตั้งกำแพงภาษีทั้งหมดตามที่ประกาศไว้ ภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ กับประเทศทั่วโลกจะเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 17% ขณะที่คู่ค้าเอเชียและอาเซียนโดนแรงกว่า ถ้าหากรวม Reciprocal tariffs, Universal tariffs และภาษีเฉพาะ (Specifics tariffs) ที่สหรัฐฯ เก็บภาษีสินค้าจีนเพิ่มขึ้นหลายครั้งตั้งแต่ต้นปีมานี้ จะพบว่า สหรัฐฯ ตั้งกำแพงภาษีนำเข้าทั่วโลกเฉลี่ย 17% แต่เศรษฐกิจเอเชียและอาเซียนถูกเก็บภาษีเฉลี่ยสูงกว่าอยู่ที่ 23% และ 33% ตามลำดับ สาเหตุหลักเพราะประเทศเอเชียส่วนใหญ่เกินดุลการค้าสหรัฐฯ มาก โดยเฉพาะอาเซียน (รูปที่ 2)
สหรัฐฯ ประกาศจะขึ้นภาษีตอบโต้สินค้าไทยในอัตรา 36% ติดอันดับ 20 จาก 185ประเทศคู่ค้า และเป็นอันดับ 10 ของเอเชีย (รูปที่ 2) เพราะสหรัฐฯ ขาดดุลการค้ากับไทยสูงกว่า นอกจากเรื่องนี้ สหรัฐฯ ยังระบุไว้ในรายงาน Foreign Trade Barriers 2025 ว่า ไทยตั้งกำแพงภาษีสินค้าสหรัฐฯ สูงเฉลี่ย 9.8% ขณะที่สหรัฐฯ เก็บภาษีนำเข้าสินค้าไทยเพียง 3.3% โดยเฉพาะสินค้าเกษตร (ไทยเก็บสหรัฐฯ 27%) นอกเหนือจากการใช้มาตรการกีดกันการค้าที่ไม่ใช่ภาษี อีกทั้ง สหรัฐฯ ยังกล่าวถึงการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา, มาตรการกีดกันการค้าในภาคบริการ และสิทธิเสรีภาพของแรงงานในไทยด้วย
รูปที่ 2 : ไทยจะโดนกำแพงภาษีตอบโต้ของสหรัฐฯ สูงกว่าค่าเฉลี่ยโลก เอเชีย และอาเซียน

แม้สหรัฐฯ จะเปิดช่อง 90 วันให้ทุกประเทศเจรจาข้อเสนอแลกเปลี่ยนการลดภาษีตอบโต้นี้ได้ แต่อัตราภาษีที่สหรัฐฯ จัดเก็บจริงน่าจะสูงขึ้นกว่าเดิมมาก SCB EIC ประเมินว่าหากสหรัฐฯ บังคับใช้ภาษีตามที่ประกาศไว้ทั้งหมด อัตราภาษีที่แท้จริง (Effective Tariff Rate : ETR) ของสหรัฐฯ จะเพิ่มขึ้นเฉลี่ยมากกว่า 20% อย่างไรก็ดี การขอเจรจาของประเทศต่าง ๆ อาจช่วยลดความรุนแรงของภาษีได้บ้าง แค่ในส่วน Reciprocal tariffs และ Specifics tariffs รายประเทศ แต่สำหรับ Universal tariffs และ Specifics tariffs รายสินค้า อาจเจรจาได้ยาก เพราะสหรัฐฯ มีวัตถุประสงค์ชัดเจนว่า ต้องการใช้เป็นอัตราภาษีขั้นต่ำส่วนเพิ่ม และปกป้องบางอุตสาหกรรมในประเทศ
เศรษฐกิจโลกจะยังชะลอตัวลงในปีนี้ แม้ทรัมป์เลื่อนเวลาขึ้นภาษีตอบโต้ชั่วคราวการประกาศกำแพงภาษีที่สูงของสหรัฐฯ ได้สร้างความไม่แน่นอนต่อการค้าและการลงทุนทั่วโลกไปแล้ว
SCB EIC ประเมินว่าเศรษฐกิจโลกปีนี้จะมีแนวโน้มเติบโตเหลือเพียง 2.2%(เทียบ 2.7% และ 2.8% ในปี 2024
และ 2023) และโลกมีความเสี่ยงสูงขึ้นเป็น 35 – 50% ที่อาจเข้าสู่ภาวะถดถอย (Recession) จากทั้งมาตรการกีดกันทางการค้าการลงทุน และความไม่แน่นอนทางนโยบายที่เกิดขึ้น ซึ่งจะทำให้ภาคเอกชนชะลอการลงทุนบางส่วนออกไป สำหรับเศรษฐกิจสหรัฐฯ อาจเติบโตต่ำลงมากเหลือเพียง 1.3% (ลดจาก 2.8% ปี 2024) ผลจากนโยบายกำแพงภาษีของตนเอง
ซึ่งจะโตต่ำกว่าศักยภาพที่ 2% สำหรับจีนมีแนวโน้มขยายตัว 4.1% (ลดจาก 5% ปี2024) ผลจากมาตรการกีดกันการค้า
ที่รุนแรงและปัญหาเชิงโครงสร้างในประเทศ (รูปที่ 3)
ผลคาดการณ์นี้คำนึงถึงนโยบายการเงินการคลังที่ประเทศต่าง ๆ จะออกมาพยุงเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นด้วยแล้ว เช่น การเพิ่มงบกลาโหมของยุโรป การขาดดุลการคลังเพิ่มขึ้นในจีนและเยอรมนี การลดดอกเบี้ยนโยบายเพิ่มเติมในสหรัฐฯ และยูโรโซน
รูปที่ 3 : เศรษฐกิจโลกปี 2025 มีแนวโน้มจะชะลอลงมาก หลังเจอภาษีทรัมป์ซ้ำเติม

ส่งออกไทยจะกระทบมาก เพราะพึ่งพาตลาดสหรัฐฯ เกือบ 1 ใน 5 และโดนภาษีตอบโต้สูง
การส่งออกไทยจะได้รับผลกระทบมาก เนื่องจากสหรัฐฯ เป็นตลาดส่งออกอันดับ 1 ของไทย คิดเป็นสัดส่วน 18.3% ในปี 2024 เพิ่มขึ้นมากจาก 12.7% ในปี 2019 หากคิดเป็นสัดส่วนของ GDP จะอยู่ที่ราว 10% ซึ่งค่อนข้างสูง เทียบประเทศเศรษฐกิจหลักและอาเซียน ขณะที่ไทยเองก็โดน Reciprocal rate สูงกว่าเช่นกัน (รูปที่ 4 ซ้าย) ไทยจึงได้รับผลกระทบสูง หากสหรัฐฯ ขึ้นภาษีนำเข้าไทย 36% จริง SCB EIC ประเมินว่า Nominal GDP ไทยอาจลดลงราว -3.3pp (ผลสะสมเฉลี่ยภายใน 3 ปี) ผ่านช่องทางการส่งออกสินค้าไทยที่ลดลง สาเหตุเพราะการส่งออกสินค้าไทยไปสหรัฐฯ มีบทบาทต่อ GDP ไทยสูง คิดในรูปของ Domestic Value Added (DVA) ต่อ GDP ไทยราว 7 – 8% (รูปที่ 4 ขวา)
รูป 4 : ไทยจะได้รับผลกระทบผ่านช่องทางการส่งออกสูง

SCB EIC มองผลกระทบทางตรงผ่าน 2 ช่องทาง (รูปที่ 5)
1. Income Effect : สหรัฐฯ อาจนำเข้าสินค้าไทยและคู่ค้าอื่น ๆ น้อยลง
• เศรษฐกิจสหรัฐฯ อาจชะลอลงมากจากนโยบายกำแพงภาษีของตัวเองครั้งนี้ รวมทั้งสินค้าส่งออกไทยกระจุกตัวอยู่ในสหรัฐฯ สูง กดดันให้ไทยเผชิญปัญหาการหาตลาดใหม่ จากแนวโน้มสินค้าล้นตลาดทั่วโลก
• Top-11 ของสินค้าส่งออกไทยไปสหรัฐฯ มีสัดส่วนรวมกันมากถึง 84% ของมูลค่าส่งออกไทยไปสหรัฐฯ ทั้งหมด และคิดเป็น 18% ของมูลค่าการส่งออกไทยทั้งหมด นอกจากนี้ 7 จาก Top-11 ที่สัดส่วนมูลค่าส่งออกไปสหรัฐฯ ต่อมูลค่าส่งออกสินค้านั้นทั้งหมดสูงกว่า 20%
• ข้อมูลนี้สะท้อนว่า สินค้าส่งออกไทยกระจุกตัวและพึ่งพาตลาดสหรัฐฯ สูง เช่น เครื่องจักรและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ และชิ้นส่วนประกอบ มีสัดส่วนต่อมูลค่าการส่งออกไทยทั้งหมดสูงถึง 7.7% และเน้นส่งออกไปสหรัฐฯ สูง คิดเป็น 45.1% ของมูลค่าส่งออกสินค้ากลุ่มนี้ทั้งหมด (รูปที่ 5 สีเหลือง)
2. Substitution Effect : สหรัฐฯ เก็บภาษีตอบโต้ไทยสูง 36% แต่คู่แข่งโดนภาษีน้อยกว่ามาก (ส่วนใหญ่ 10%)
• สหรัฐฯ อาจหันไปนําเข้าสินค้าจากประเทศคู่แข่งที่ขายถูกกว่าไทย หากประเมินจากกลุ่ม Top-11 สินค้าส่งออกไทยไปสหรัฐฯ พบว่า 9 ใน 11 สินค้าที่ไทยติด Top 5 ประเทศที่โดนอัตราภาษีสหรัฐฯ สูง (จาก Top-20 ประเทศส่งออกสินค้านั้น ๆ ไปสหรัฐฯ) (รูปที่ 5 สีแดง)
• สะท้อนการส่งออกไทยจะได้รับผลกระทบ Substitution Effect รุนแรงจากความสามารถในการแข่งขันด้านราคากับคู่แข่งในตลาดสหรัฐฯ ทั้งนี้สินค้ายานยนต์ และเหล็กอาจโดนผลกระทบจาก Substitution Effect จำกัด เพราะทุกประเทศโดนภาษีเฉพาะสินค้า 25% เท่ากัน (รูปที่ 5 สีเทา)
รูป 5 : การประเมินผลกระทบทางตรงของ Top-11 สินค้าส่งออกไทยไปสหรัฐฯ

ส่งออกไทยนอกตลาดสหรัฐฯ อาจเจอการแข่งขันสูงขึ้น
นอกจากไทยส่งออกไปสหรัฐฯ มีสัดส่วนสูงเกือบ 20% แล้ว การส่งออกไปตลาดอื่นก็กระจุกตัวในประเทศที่โดนภาษีสหรัฐฯ สูงเช่นกัน SCB EIC พบว่า Top-15 ตลาดคู่ค้าของไทยรองจากสหรัฐฯ มีสัดส่วนรวม 73.4% ของมูลค่าส่งออกไทยทั้งหมด โดย 12 จาก 15 ตลาดคู่ค้าไทยกลุ่มนี้ก็โดนกำแพงภาษีสหรัฐฯ สูงกว่าค่าเฉลี่ยโลกที่ 16% อีกด้วย (รูปที่ 6) จึงมีความเสี่ยงสูงที่เศรษฐกิจคู่ค้าหลักของไทยกลุ่มนี้อาจชะลอตัวลง นำไปสู่ผลกระทบทางอ้อมต่อความต้องการสินค้าส่งออกไทย ผ่านหลายช่องทาง
1) ความต้องการสินค้าขั้นปลายของไทยลดลง เช่น เศรษฐกิจจีน (ตลาดส่งออกอันดับ 2 ของไทย) คาดว่าจะชะลอตัวลงจากมาตรการกีดกันการค้ารอบนี้ ย่อมส่งผลให้ความต้องการนำเข้าสินค้าไทยลดลงตาม โดยเฉพาะสินค้าอุปโภคบริโภค เช่น ผักและผลไม้ อาหาร เครื่องดื่ม ซึ่งจีนเป็นผู้นำเข้าหลัก (เช่น ทุเรียนไทยส่งออกไปจีนในปี 2024
มากถึง 97.4% ของมูลค่าการส่งออกทุเรียนไทยทั้งหมด)
2) ความต้องการสินค้าขั้นต้นและขั้นกลางของไทยในห่วงโซ่การผลิตลดลง เช่น ไม้ยางพารา ยางพารา ยางสังเคราะห์ เม็ดพลาสติก (โดยเฉพาะกลุ่ม Styrene และ Ethylene) และอะลูมิเนียมรีด (สำหรับผลิตบรรจุภัณฑ์หรือกระป๋องเครื่องดื่ม) ซึ่งพึ่งพาการส่งออกไปตลาดจีนสูง อาจถูกกระทบหากจีนส่งออกไปสหรัฐฯ น้อยลง
3) การแข่งขันในตลาดส่งออกโลกสูงขึ้น บางประเทศอาจเผชิญปัญหาส่งออกไปตลาดสหรัฐฯ ได้น้อยลง แต่กำลังการผลิตในประเทศยังมีอยู่มาก ทำให้ต้องระบายสินค้าออกสู่ตลาดอื่น ๆ มากขึ้น
4) บางประเทศคู่ค้าอาจหันไปนำเข้าจากสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นเพื่อลดการเกินดุลการค้ากับสหรัฐฯ จึงอาจนำเข้าสินค้าไทยน้อยลง
China Flooding จะยิ่งรุนแรง กระทบภาคการผลิตไทยต่อเนื่อง
การส่งออกสินค้าของจีนไปสหรัฐฯ จะยากขึ้นมากหลังมาตรการกำแพงภาษีของสหรัฐฯ ที่รุนแรงมากกับจีนกว่าประเทศอื่น และจีนยังมีการผลิตมากเกินความต้องการในประเทศ (Overcapacity) จึงมีโอกาสที่สินค้าจีนจะถูกระบายเข้ามายังไทยมากขึ้น โดยเฉพาะการทะลักเข้ามาตีตลาดของกลุ่มสินค้าขั้นกลางน้ำและปลายน้ำจากจีน อาทิ คอมพิวเตอร์ ชิ้นส่วนและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้า รถยนต์ เหล็ก กระดาษ และเป็นปัจจัยกดดันการเติบโตของการผลิตสินค้าของไทย สะท้อนจากดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) ของไทยที่หดตัว ขณะที่มูลค่าการนำเข้าสินค้าจากจีนขยายตัวในหลายกลุ่มอุตสาหกรรม
นอกจากนี้ ยังมีความเสี่ยงที่นักลงทุนจากจีนจะเข้ามาลงทุนตั้งโรงงานผลิตสินค้าของจีนในไทยมากขึ้น เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาแหล่งกำเนิดสินค้าที่จะส่งไปขายยังสหรัฐฯ และประเทศอื่น ๆ ที่มีแนวโน้มดำเนินนโยบายในเชิงกีดกันสินค้าจากประเทศจีน ซึ่งจะส่งผลให้เกิดการพึ่งพาสินค้ากลุ่มกลางน้ำที่เป็นวัตถุดิบจากจีนมากขึ้นกว่าเดิม
SCB EIC มองว่าการเข้ามาตีตลาดของสินค้าจีนจะยังคงเป็นปัญหาต่อเนื่องในระยะข้างหน้าจากผลกระทบของนโยบายของ Trump 2.0 นอกจากนี้ อุตสาหกรรมการผลิตของไทยยังคงมีปัจจัยกดดันจากแนวโน้มการบริโภคสินค้าที่ยังอ่อนแอ ทั้งตลาดในประเทศและตลาดส่งออก
รูป 6 : ตลาดส่งออกหลักของไทยในปี 2024 และ US Tariffs ที่สหรัฐฯ ประกาศไว้ ณ 2 เม.ย.

เศรษฐกิจไทยปีนี้จะโตเหลือ 1.5% ภาษีทรัมป์จะกระทบส่งออกและลงทุนเป็นหลัก
SCB EIC ประเมินว่า เศรษฐกิจไทยปีนี้จะขยายตัวเหลือ 1.5%YOYจากการประกาศขึ้นภาษีชุดใหญ่ของสหรัฐฯ และเหตุการณ์แผ่นดินไหวล่าสุด (เดิม 2.4%YOY) โดย SCB EIC มองว่า เศรษฐกิจไทยในครึ่งปีหลังจะแผ่วลงอย่างมาก จากมาตรการภาษีตอบโต้ของสหรัฐฯ ที่จะเริ่มมีผลเดือน ก.ค. อย่างไรก็ดี การประกาศขึ้นภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ ที่เปลี่ยนไปมาเช่นนี้ จะมีผลให้ธุรกิจชะลอการลงทุนทันที เพื่อรอดูความชัดเจนของรัฐบาลสหรัฐฯ อีกครั้ง (รูปที่ 7)
ในการปรับคาดการณ์เศรษฐกิจลงครั้งนี้ ปัจจัยสำคัญมาจากการส่งออกสินค้าและการลงทุนเอกชนที่ปรับแย่ลง
• มูลค่าการส่งออกสินค้า (รวมทองคำ) คาดว่าจะหดตัว -0.7%YOY (เดิม 1.6%YOY) โดยจะมีแนวโน้มหดตัวตั้งแต่ไตรมาส 2 จากผลของภาษีตอบโต้ของสหรัฐฯ และเศรษฐกิจโลกชะลอตัว โดยเฉพาะหมวดอิเล็กทรอนิกส์ ชิ้นส่วนยานยนต์ และปิโตรเคมี
มูลค่าส่งออกไทยทั้งปีอาจดูหดตัวไม่มาก แม้ไทยจะได้รับผลกระทบรุนแรงจากมาตรการภาษีสหรัฐฯ สาเหตุหลักเพราะ (1) มูลค่าการส่งออกในช่วง 2 เดือนแรกของปีที่ออกมาแล้ว เติบโตดีเกือบ 14%YOY และ (2) มูลค่าการส่งออกทองขยายตัวสูงตามราคาทองคำ
• การลงทุนภาคเอกชน คาดว่าจะยังไม่ฟื้นในปีนี้ มองขยายตัวเพียง 0.3%YOY (เดิม 2.9%YOY) จากที่หดตัวในปีก่อน ผลจากความไม่แน่นอนของนโยบายสหรัฐฯ ที่สูงขึ้นมาก ธุรกิจต่างชาติอาจต้องรอดูท่าทีรัฐบาลสหรัฐฯ ต่ออาเซียนและไทย รวมถึงผลการเจรจาของรัฐบาลไทย
ความไม่แน่นอนเหล่านี้จะชะลอการลงทุนจากต่างประเทศ โดยเฉพาะจากจีน ที่เคยมองว่าจะเป็นแรงขับเคลื่อนการลงทุนภาคเอกชนที่สำคัญในปีนี้ขณะที่การลงทุนจากธุรกิจในประเทศ โดยเฉพาะการก่อสร้าง และการลงทุนในยานพาหนะเชิงพาณิชย์จะยังคงซบเซา ส่งผลให้การลงทุนภาคเอกชนไทยฟื้นตัวไม่ได้ในปีนี้
องค์ประกอบอื่น ๆ ของเศรษฐกิจไทยจะได้รับผลกระทบทางอ้อมจากมาตรการภาษีสหรัฐฯ เช่นกัน
• การท่องเที่ยว ปรับลดประมาณการจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติปีนี้ลง1.5 ล้านคนเหลือ 36.7 ล้านคน ตามเศรษฐกิจโลกที่ชะลอลง ส่งผลให้อุปสงค์การท่องเที่ยวไทยลดลงตาม
• การบริโภคภาคเอกชน คาดว่าจะขยายตัวเหลือ 2.2%YOY (เดิม2.6%YOY) ตามการปรับลดลงของรายได้ของลูกจ้างในธุรกิจที่จะได้รับผลกระทบจากมาตรการภาษีสหรัฐฯ รวมถึงความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่ปรับลดลง ภาพการบริโภคภาคเอกชนในปีนี้จะยังขยายตัวได้ระดับหนึ่งจากมาตรการกระตุ้นภาครัฐ ที่จะยังมีต่อเนื่อง
• มูลค่าการนำเข้าสินค้า คาดจะขยายตัวเหลือ 0.9%YOY แม้อุปสงค์ในประเทศจะปรับลดลง แต่มองว่าการทะลักเข้ามาของสินค้าจีน ทั้งวัตถุดิบ สินค้าขั้นกลาง และสินค้าบริโภคอาจรุนแรงขึ้น
ทั้งนี้เศรษฐกิจไทยจะเผชิญความไม่แน่นอนที่สูงขึ้นมากในระยะข้างหน้า โดยเฉพาะจากนโยบายภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ ที่อาจเปลี่ยนแปลงได้ตลอด ขึ้นอยู่กับความสำเร็จและระยะเวลาในการเจรจาต่อรองของรัฐบาลไทยเป็นหลัก
SCB EIC มอง กนง. จะปรับลดดอกเบี้ยเหลือ 1.25% ณ สิ้นปี 2025 หากเจรจาไม่สำเร็จ
นโยบายการเงินจำเป็นต้องช่วยพยุงเศรษฐกิจไทยมากขึ้น มาตรการภาษีทรัมป์ที่มากกว่าคาดมาก จะยิ่งซ้ำเติมเศรษฐกิจไทยที่เปราะบางอยู่แล้ว และทำให้เศรษฐกิจไทยเติบโตต่ำกว่าระดับศักยภาพอย่างมีนัย นโยบายการเงินจะมีบทบาทช่วยประคับประคองเศรษฐกิจไทยมากขึ้น และช่วยผ่อนคลายภาวะการเงินเพื่อบรรเทาผลกระทบต่อภาคธุรกิจและครัวเรือนได้
SCB EIC ประเมินว่า กนง. จะลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีก 3 ครั้ง เหลือ 1.25% ณ สิ้นปี 2025 อัตราดอกเบี้ยนโยบายคาดว่าจะกลับมาอยู่ในระดับต่ำกว่าช่วงปี 2018 – 2019 ซึ่งเป็นช่วงที่เกิดสงครามการค้าจีน-สหรัฐฯ รอบแรกที่ไทยไม่ได้รับผลกระทบโดยตรง
รูป 7 : เศรษฐกิจไทยปี 2025 อาจโตแค่ 1.5% ผลจากความไม่แน่นอนของมาตรการภาษีกดดันส่งออกและลงทุน

รัฐบาลควรเร่งเจรจากับสหรัฐฯ เริ่มจาก 3 ประเด็นหลักตามรายงานอุปสรรคทางการค้าระหว่างประเทศของสหรัฐฯ และเร่งสร้างความเข้มแข็งภายในประเทศควบคู่กันไป
ประเทศไทยจึงควรให้ความสำคัญเร่งเจรจาลดผลกระทบครั้งนี้ โดยอาจเน้นจาก 3 ประเด็นหลักของไทย ซึ่งสะท้อนได้จากรายงานอุปสรรคทางการค้าระหว่างประเทศของ United States Trade Representative (USTR) เผยแพร่เดือนมีนาคม 2025 ได้แก่
1) ลดการเกินดุลการค้ากับสหรัฐฯ โดยนำเข้าสินค้าบางประเภทจากสหรัฐฯ มากขึ้น หรือ ลดอัตราภาษีนำเข้าบางสินค้าของสหรัฐฯ
2) ลดมาตรการกีดกันการค้าที่ไม่ใช่ภาษี เช่น เกณฑ์ห้ามนำเข้าสินค้าบางชนิด เกณฑ์มาตรฐานสินค้าเกษตร
3) แก้ไขปัญหาอื่น ๆ ที่อาจเป็นประโยชน์ต่อสหรัฐฯ และไทยเองก็ได้ประโยชน์ด้วย เช่น การละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา สิทธิเสรีภาพของแรงงาน ตลอดจนการพิจารณาลงทุนเพิ่มเติมในสหรัฐฯ
อย่างไรก็ดี การเจรจาต้องคำนึงถึงประโยชน์โดยรวมของประเทศอย่างสมดุล นอกเหนือจากประเด็นจาก USTR ที่ระบุไว้ ไทยควรคำนึงถึงการสร้างความเข้มแข็งภายในประเทศควบคู่กัน โดยมีกลไกดูแลผลกระทบต่อผู้ผลิตและผู้ประกอบการในภาคส่วนต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นตามมา ทั้งการเตรียมตัวรับมือต่อการไหลเข้ามาของสินค้าจากต่างประเทศ ผ่านการบังคับใช้กฎหมายด้านคุณภาพสินค้า แนวทางป้องกันการทุ่มตลาดและการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรม รวมทั้งพิจารณาขยายความร่วมมือกับประเทศในภูมิภาคเพื่อขยายตลาดและโอกาสการค้า การลงทุน และการสร้างห่วงโซ่การผลิตใหม่ได้อย่างเข้มแข็ง
บทวิเคราะห์โดย… https://www.scbeic.com/th/detail/product/Reciprocal-tariff-100425
ผู้เขียนบทวิเคราะห์
ฝ่ายวิจัยเศรษฐกิจมหภาค, ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ (SCB EIC)
ข่าวที่เกี่ยวข้อง : SCB เผย ภาษีทรัมป์ภัยเศรษฐกิจไทยครั้งใหญ่