SCB EIC วิเคราะห์ เรื่อง Aftershock…ที่เริ่มสะเทือนถึงการท่องเที่ยวไทย

เหตุแผ่นดินไหวเมื่อวันที่ 28 มี.ค.ที่ผ่านมาเริ่มส่งผลกระทบต่อภาคการท่องเที่ยวไทย
จากตัวเลขเบื้องต้นในช่วง 2 วันแรกหลังเหตุการณ์ พบว่ามีการยกเลิกการจองห้องพักแล้วประมาณ 1,100 บุกกิงทั่วประเทศ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการยกเลิกห้องพักในพื้นที่กรุงเทพฯ อีกทั้ง การสำรวจยอดการจองห้องพักล่วงหน้าในช่วงสงกรานต์ (11-17 เมษายน 2025) ของสมาคมโรงแรมไทย ณ วันที่ 3 เมษายน 2025 ยังพบว่ายอดการจองห้องพักล่วงหน้าลดลงราว -25%YOY ด้วยนักท่องเที่ยวต่างชาติยังคงอยู่ในช่วงเฝ้าระวังสถานการณ์ในไทยอย่างใกล้ชิดก่อนตัดสินใจเดินทาง อีกทั้ง รัฐบาลในหลายประเทศออกประกาศแนะนำให้พลเมืองที่จะเดินทางมาไทยในช่วงนี้ให้ติดตามข่าวสารและปฏิบัติตามคำแนะนำของรัฐบาลไทยอย่างเคร่งครัด
SCB EIC ประเมินเบื้องต้นว่าภาคท่องเที่ยวจะได้รับผลกระทบค่อนข้างเร็วในระยะสั้น โดยนักท่องเที่ยวต่างชาติในปีนี้มีแนวโน้มลดลงราว 2 แสน – 7 แสนคนตลอดการฟื้นตัว
กรณีที่ 1 Better case : นักท่องเที่ยวต่างชาติในเดือนเมษายนลดลงราว -9%MOM และใช้เวลาฟื้นตัวราว 2 เดือน ส่งผลให้นักท่องเที่ยวต่างชาติปี 2025 ลดลงจากประมาณการเดิมราว 1.95 แสนคนตลอดระยะเวลาฟื้นตัว สูญเสียรายได้จากค่าใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวต่างชาติไปราว 9.53 พันล้านบาท
กรณีที่ 2 Base case : นักท่องเที่ยวต่างชาติในเดือนเมษายนลดลงราว -12%MOM และใช้เวลาฟื้นตัวราว 3 เดือน ส่งผลให้นักท่องเที่ยวต่างชาติปี 2025 ลดลงจากประมาณการเดิมราว 4.2 แสนคนตลอดระยะเวลาฟื้นตัว สูญเสียรายได้จากค่าใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวต่างชาติไปราว 2.06 หมื่นล้านบาท
กรณีที่ 3 Worse case : นักท่องเที่ยวต่างชาติในเดือนเมษายนลดลงราว -15%MOM และใช้เวลาฟื้นตัวราว 4 เดือน ส่งผลให้นักท่องเที่ยวต่างชาติปี 2025 ลดลงจากประมาณการเดิมราว 6.8 แสนคนตลอดระยะเวลาฟื้นตัว สูญเสียรายได้จากค่าใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวต่างชาติไปราว 3.30 หมื่นล้านบาท
อย่างไรก็ดี ภาคการท่องเที่ยวยังมีโอกาสฟื้นตัวได้เร็วขึ้น หากภาครัฐเร่งออกมาตรการเพื่อเรียกความเชื่อมั่นของนักท่องเที่ยวต่างชาติให้กลับคืนมาได้เร็วโดยประมาณการนักท่องเที่ยวต่างชาติในปีนี้เดิมที่ 38.2 ล้านคนจะถูกปรับหลังสถานการณ์ท่องเที่ยวมีความชัดเจนมากขึ้น
การเร่งสร้างความเชื่อมั่นด้านความปลอดภัยให้กับนักท่องเที่ยวต่างชาติ และการออกมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวในประเทศให้ทันต่อสถานการณ์จะช่วยให้ภาคการท่องเที่ยวไทยฟื้นตัวได้เร็วขึ้น
โดยภาครัฐควรเร่งสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักท่องเที่ยวต่างชาติไม่ว่าจะเป็นการเร่งตรวจสอบความปลอดภัยของโรงแรมและแหล่งท่องเที่ยวที่เป็นอาคารสูง พร้อมกับประชาสัมพันธ์เชิงรุกให้กับนักท่องเที่ยวต่างชาติในการเข้าถึงข้อมูลได้ง่ายขึ้น รวมถึงการเร่งพัฒนาระบบแจ้งเตือนภัยฉุกเฉินเพื่อให้นักท่องเที่ยวต่างชาติได้รับข่าวสารและเตรียมพร้อมรับมือกับเหตุฉุกเฉินที่อาจเกิดขึ้นได้อย่างเหมาะสม นอกจากนี้ การออกมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวในประเทศให้ทันต่อสถานการณ์อย่างโครงการเราเที่ยวด้วยกัน จะช่วยลดผลกระทบต่อภาคการท่องเที่ยวจากการชะลอตัวของนักท่องเที่ยวต่างชาติ อีกทั้ง ยังมีส่วนช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศได้อีกทางหนึ่ง
เหตุแผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นคาดว่าจะส่งผลกระทบต่อภาคการท่องเที่ยวไทยค่อนข้างเร็วในระยะสั้น
โดยมีแนวโน้มชะลอตัวในช่วงไตรมาส 2 และจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติในช่วงครึ่งหลังของปี
เหตุแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ขนาด 8.2 ริกเตอร์ที่มีศูนย์กลางอยู่ที่เมียนมาในช่วงบ่ายของวันที่ 28 มีนาคมที่ผ่านมา
ส่งแรงสั่นสะเทือนรุนแรงมายังหลายพื้นที่ในไทยให้ได้รับผลกระทบในวงกว้างซึ่งรวมถึงเชียงใหม่และกรุงเทพฯ ที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญของไทย โดยแม้ว่าสนามบินทั่วประเทศจะกลับมาใช้งานตามปกติโดยไม่มีนักท่องเที่ยวตกค้างหลังประกาศปิดให้บริการกว่า 1 ชั่วโมง รวมถึงนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ยังอยู่ในไทยส่วนใหญ่สามารถกลับเข้าที่พักได้หลังโรงแรมที่เป็นตึกสูงหลายแห่งได้รับการประเมินความปลอดภัยเบื้องต้นแล้ว แต่เหตุแผ่นดินไหวนี้ย่อมส่งผลต่อความเชื่อมั่นของนักท่องเที่ยวต่างชาติทันทีโดยเฉพาะในช่วง 2 สัปดาห์แรกหลังเกิดเหตุ
เหตุแผ่นดินไหวเริ่มส่งผลกระทบต่อภาคการท่องเที่ยวไทย สะท้อนจากตัวเลขการยกเลิกห้องพักในช่วง 2 วันหลังเหตุการณ์ของสมาคมโรงแรมไทยที่มีการยกเลิกห้องพักแล้วประมาณ 1,100 บุกกิงทั่วประเทศ โดยจากข้อมูลของผู้ประกอบการโรงแรม ห้องพักที่ถูกยกเลิกส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่กรุงเทพฯ อีกทั้งการสำรวจยอดการจองห้องพักล่วงหน้าในช่วงสงกรานต์ (11-17 เมษายน 2025) ของสมาชิกสมาคมโรงแรมไทย 52 แห่ง ณ วันที่ 3 เมษายน 2025 ยังพบว่ายอดการจองห้องพักลดลงราว -25%YOY โดยชลบุรีมีการจองห้องพักลดลงสูงสุดที่ราว -67%YOY ตามด้วยกรุงเทพฯ
-32%YOY สุราษฎร์ธานี -19%YOY และเชียงใหม่ -11%YOY ด้วยนักท่องเที่ยวต่างชาติยังคงอยู่ในช่วงเฝ้าระวังสถานการณ์ในไทยอย่างใกล้ชิดก่อนที่จะตัดสินใจเดินทาง ซึ่งส่วนหนึ่งอาจมาจากรัฐบาลหลายประเทศออกประกาศแนะนำให้พลเมืองที่จะเดินทางมาไทยให้ติดตามข่าวสารในไทยอย่างใกล้ชิดและปฏิบัติตามคำแนะนำของรัฐบาลไทยอย่างเคร่งครัด ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลของสหราชอาณาจักร, สิงคโปร์ และแคนาดา อีกทั้ง รัฐบาลบางประเทศอย่างรัฐบาลไอร์แลนด์ได้ยกระดับให้ไทยเป็น ‘High degree of caution’ , รัฐบาลออสเตรเลียยกระดับไทยเป็น ‘Level 2: Exercise a high degree of caution’ และรัฐบาลมาเก๊ายกระดับไทยเป็น ‘Level 1 Travel Alert’ เพื่อให้พลเมืองที่จะเดินทางมาไทยในช่วงนี้เพิ่มความระมัดระวังมากขึ้น
ในช่วงที่ผ่านมา เหตุแผ่นดินไหวในประเทศที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญในเอเชียและภัยธรรมชาติที่เคยเกิดในไทยส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยวในระยะสั้นไม่เกิน 3 เดือน อ้างอิงจากข้อมูลผลกระทบด้านการท่องเที่ยวจากเหตุแผ่นดินไหวที่มีขนาดใกล้เคียงกับไทยของประเทศในเอเชียที่ผ่านมา อย่างเช่น แผ่นดินไหวขนาด 6.6 ริกเตอร์ ในฮอกไกโดของญี่ปุ่นในช่วงกันยายน 2018 ส่งผลให้นักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางมาญี่ปุ่นลดลงกว่า 4.2 แสนคนในเดือนกันยายนหรือราว -16%MOM ซึ่งเป็นการลดลงที่สูงกว่าการลดลงเฉลี่ยของนักท่องเที่ยวตามฤดูกาล
ที่อยู่ที่ -8%MOM อย่างไรก็ดี เหตุแผ่นดินไหวครั้งนี้ จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติสามารถฟื้นตัวกลับมาเติบโตในระดับเดิมได้ภายใน 2 เดือนเนื่องจากแหล่งท่องเที่ยวสำคัญของญี่ปุ่นอย่างโตเกียว โอซากะ ไม่ได้รับผลกระทบจากเหตุแผ่นดินไหว ในขณะที่เหตุแผ่นดินไหวขนาด 7.4 ริกเตอร์ที่ไต้หวันในช่วงเมษายน 2024 ส่งผลให้นักท่องเที่ยวต่างชาติหายไปราว 2 แสนคนในเดือนเมษายนหรือลดลง -25%MOM ซึ่งเป็นการลดลงที่สูงกว่าการลดลงของนักท่องเที่ยว
ตามฤดูกาลที่อยู่ราว -13%MOM แต่เนื่องจากเหตุแผ่นดินไหวในไต้หวันรุนแรงกว่าในญี่ปุ่น อีกทั้ง จุดที่เกิดแผ่นดินไหวห่างจากเมืองหลวงอย่างไทเปเพียง 156 กิโลเมตรจึงใช้เวลาถึงราว 3 เดือนกว่านักท่องเที่ยวต่างชาติจะกลับมาเติบโต
ในระดับเดิมได้
สำหรับในไทย ภัยธรรมชาติที่เคยเกิดขึ้นอย่างเหตุการณ์สึนามิในช่วงปลายเดือนธันวาคม 2004 ที่สร้างผลกระทบ
ในพื้นที่ 6 จังหวัดภาคใต้ ได้แก่ ภูเก็ต พังงา ระนอง กระบี่ ตรัง และสตูล ได้ส่งผลให้นักท่องเที่ยวต่างชาติลดลงราว 2.9 แสนคนในเดือนมกราคม 2005 หรือราว -26%MOM ซึ่งสวนทางจากภาวะปกติที่นักท่องเที่ยวต่างชาติในเดือนมกราคมจะเติบโตราว 2%-4%MOM ซึ่งเหตุการณ์นี้นักท่องเที่ยวต่างชาติสามารถฟื้นตัวกลับมาเติบโตในระดับเดิมได้ภายใน 3 เดือน ส่วนเหตุอุทกภัยครั้งใหญ่ในช่วงปลายปี 2011 ซึ่งพื้นที่กรุงเทพฯ ก็ได้รับผลกระทบในครั้งนั้นด้วย
ส่งผลให้นักท่องเที่ยวต่างชาติลดลงราว 1.3 แสนคนในเดือนพฤศจิกายนหรือราว -9%MOM ซึ่งสวนทางจากภาวะปกติ
ที่นักท่องเที่ยวต่างชาติจะเติบโตราว 10%-12%MOM ด้วยเช่นกัน แต่เหตุอุทกภัยครั้งนี้นักท่องเที่ยวต่างชาติสามารถ
ฟื้นกลับมาเติบโตได้ภายในเวลา 2 เดือน
แม้ว่าเหตุแผ่นดินไหวในไทยจะไม่รุนแรงเท่ากับในฮอกไกโดและไต้หวัน หรือเหตุสึนามิที่ผ่านมา แต่คาดว่าจะส่งผลให้นักท่องเที่ยวต่างชาติในปีนี้ลดลงราว 2แสน – 7 แสนคนตลอดระยะเวลาฟื้นตัว โดยผลกระทบจะแตกต่างกันใน 3 กรณีซึ่งทาง SCB EIC ประเมินผลกระทบเบื้องต้นจากเหตุแผ่นดินไหวต่อภาคการท่องเที่ยวไทย ณ วันที่ 1 เมษายน 2025 ไว้ 3 กรณี ได้แก่ Better case, Base case และ Worse case โดยผลกระทบที่เกิดขึ้นในแต่ละกรณีจะประเมินภายใต้กรอบแนวทาง ดังนี้ 1. การลดลงของนักท่องเที่ยวต่างชาติในเดือนเมษายน 2025 ที่สูงกว่าการลดลงเฉลี่ยตามฤดูกาลท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวต่างชาติในเดือนเมษายนในช่วงปี 2023-2024 ซึ่งอยู่ที่ราว -6%MOM และ 2. ระยะเวลาการฟื้นตัวของนักท่องเที่ยวต่างชาติ ซึ่งจะส่งผลให้นักท่องเที่ยวต่างชาติในปี 2025 ลดลงจากประมาณการเดิมที่ 38.2 ล้านตามสมมติฐานในแต่ละกรณี อย่างไรก็ดี ภาคการท่องเที่ยวยังมีโอกาสฟื้นตัวได้เร็วขึ้นหากภาครัฐเร่งออกมาตรการเพื่อเรียกความเชื่อมั่นของนักท่องเที่ยวต่างชาติให้กลับคืนมาได้เร็ว โดยประมาณการนักท่องเที่ยวต่างชาติในปีนี้เดิมจะถูกปรับหลังสถานการณ์ท่องเที่ยวมีความชัดเจนมากขึ้น
กรณีที่ 1 Better case : นักท่องเที่ยวต่างชาติในเดือนเมษายนลดลงราว-9%MOM และใช้เวลาฟื้นตัวราว 2 เดือน ส่งผลให้นักท่องเที่ยวต่างชาติปี 2025 ลดลงจากประมาณการเดิมราว 1.95 แสนคนตลอดระยะเวลาฟื้นตัว สูญเสียรายได้จากค่าใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวต่างชาติไปราว 9.53 พันล้านบาท
กรณีที่ 2 Base case : นักท่องเที่ยวต่างชาติในเดือนเมษายนลดลงราว-12%MOM และใช้เวลาฟื้นตัวราว 3 เดือน ส่งผลให้นักท่องเที่ยวต่างชาติปี 2025 ลดลงจากประมาณการเดิมราว 4.2 แสนคนตลอดระยะเวลาฟื้นตัว สูญเสียรายได้จากค่าใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวต่างชาติไปราว 2.06 หมื่นล้านบาท
กรณีที่ 3 Worse case : นักท่องเที่ยวต่างชาติในเดือนเมษายนลดลงราว-15%MOM และใช้เวลาฟื้นตัวราว 4 เดือน ส่งผลให้นักท่องเที่ยวต่างชาติปี 2025 ลดลงจากประมาณการเดิมราว 6.8 แสนคนตลอดระยะเวลาฟื้นตัว สูญเสียรายได้จากค่าใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวต่างชาติไปราว 3.30 หมื่นล้านบาท
รูปที่ 1 : ประมาณการผลกระทบต่อจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติและแนวโน้มการฟื้นตัวในกรณีต่าง ๆ
ที่มา : การวิเคราะห์โดย SCB EIC จากข้อมูลของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา
การเร่งสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักท่องเที่ยวต่างชาติและการออกมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวหลังเหตุแผ่นดินไหวจะเป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยให้ภาคท่องเที่ยวกลับมาเติบโตในระดับปกติได้เร็ว
การเร่งสร้างความเชื่อมั่นด้านความปลอดภัยให้กับนักท่องเที่ยวต่างชาติจะช่วยให้นักท่องเที่ยวต่างชาติกลับมาท่องเที่ยวในไทยได้เร็วขึ้น โดยภาครัฐควรเร่งตรวจสอบความปลอดภัยของโรงแรมและแหล่งท่องเที่ยว
ที่เป็นอาคารสูงอย่างละเอียดไม่เพียงเฉพาะในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุแผ่นดินไหวอย่างกรุงเทพฯและเชียงใหม่ แต่ควรตรวจสอบความปลอดภัยของอาคารสูงทั่วประเทศ พร้อมกับการประชาสัมพันธ์เชิงรุกเพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจและความเชื่อมั่นให้นักท่องเที่ยวต่างชาติว่าอาคารสูงในประเทศไทยต้องผ่านมาตรฐานการออกแบบอาคารต้านทานแผ่นดินไหว (มยผ.1301/1302-61) ของกรมโยธาธิการและผังเมือง กระทรวงมหาดไทย ซึ่งมีศักยภาพรองรับแรงสั่นสะเทือน และมีมาตรฐานใกล้เคียงกับระดับสากล รวมถึงการเข้าถึงข้อมูลอาคารที่ผ่านการตรวจสอบความปลอดภัยแล้ว โดยภาครัฐอาจพิจารณาออกตราสัญลักษณ์หรือเครื่องหมายรับรองอาคารเพื่อช่วยในการสื่อสารข้อมูลให้กับนักท่องเที่ยวต่างชาติได้เข้าใจง่ายขึ้น นอกจากนี้ ภาครัฐควรเร่งพัฒนาระบบแจ้งเตือนภัยฉุกเฉินที่สามารถ
แจ้งเตือนเหตุกับนักท่องเที่ยวต่างชาติที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัยได้อย่างทันท่วงทีเพื่อให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเตรียมพร้อมรับมือกับเหตุฉุกเฉินที่อาจเกิดขึ้นได้อย่างเหมาะสมและยังสามารถเป็นอีกหนึ่งช่องทางสำคัญในการแจ้งข่าวสารให้นักท่องเที่ยวต่างชาติได้รับข้อมูลข่าวสารจากภาครัฐได้อย่างรวดเร็ว
นอกจากนี้ การออกมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวในประเทศจะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจการท่องเที่ยวให้เดินหน้าต่อไปได้ เนื่องจากการเรียกความเชื่อมั่นของนักท่องเที่ยวต่างชาติให้กลับคืนมาอาจจะต้องใช้เวลากว่านักท่องเที่ยวต่างชาติจะเติบโตได้ในระดับเดิม ดังนั้น การออกมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวในประเทศให้ทันต่อสถานการณ์ เช่น โครงการเราเที่ยวด้วยกัน จะช่วยลดผลกระทบต่อภาคการท่องเที่ยวจากการชะลอตัวของนักท่องเที่ยวต่างชาติ อีกทั้ง ยังมีส่วนช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศได้อีกทางหนึ่งด้วย
บทวิเคราะห์โดย… https://www.scbeic.com/th/detail/product/Earthquake-Tourism-080425
ข่าวที่เกี่ยวข้อง : SCB เผย ภาษีทรัมป์ภัยเศรษฐกิจไทยครั้งใหญ่