“ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ” เส้นทางสู่ ที่ปรึกษาของ “นายกฯอิ๊งค์”
ประวัติ ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ เส้นทางการเมือง จากเริ่มต้น ถึงปัจจุบัน
ชื่อของ ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ กลับมาเป็นที่สนใจอีกครั้ง หลังได้รับการแต่งตั้งเป็นที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี แพทองธาร ชินวัตร
ท่ามกลางความสนใจนั้น แฝงไปด้วยเสียงวิพากษ์วิพากษ์ในการหวนสู่การเมืองอีกตั้งของเขา เพราะปีที่แล้ว ณัฐวุฒิ คนเดียวกันนี้ ป่าวประกาศว่า ไม่สามารถไปต่อกับรัฐบาลพรรคเพื่อไทยได้ เพราะถือว่าขัดต่อแนวทางการต่อสู้ของตนเอง ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน
ย้อนดูเส้นทางการเมืองของ ณัฐวุฒิ เขาจบปริญญาตรีนิเทศศาสตร์ สาขาวิทยุกระจายเสียงและโทรทัศน์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิต เริ่มเส้นทางการเมืองในนามพรรคชาติพัฒนา โดยลงสมัครรับเลือกตั้ง เมื่อปี 2544 จากการชักชวนของธีรศักดิ์ นาคแก้ว ผู้เป็นน้าชาย แต่ได้คะแนนเป็นอันดับสอง โดยพ่ายแพ้คู่แข่งจากพรรคประชาธิปัตย์เพียง 4,000 เสียง
กระทั่งต่อมา ณัฐวุฒิเข้าสังกัดพรรคไทยรักไทย โดยร่วมทีมปราศรัยล่วงหน้าของ ทักษิณ ชินวัตร และได้รับแต่งตั้งเป็นหนึ่งในคณะทำงานโฆษกพรรคไทยรักไทย ต่อมา พรรคคัดเลือกให้ลงสมัครรับเลือกตั้ง เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เมื่อปี 2549 และได้รับเลือกเป็น ส.ส. แต่เกิดการรัฐประหาร 19 กันยายนขึ้นเสียก่อน
หลังรัฐประหารปี 2549 ณัฐวุฒิ เปลี่ยนเส้นทางไปสู่การเมืองท้องถนน ร่วมกับวีระ มุสิกพงศ์ และจตุพร พรหมพันธุ์ แถลงข่าวต่อต้านการรัฐประหาร ต่อมาช่วงต้นปี 2550 ได้ร่วมกับหลายองค์กรประชาธิปไตย ภาคประชาชน จัดตั้งขึ้นเป็นองค์กรหลักภายใต้ชื่อ แนวร่วมประชาธิปไตยขับไล่เผด็จการ (นปก.) (ภายหลังเปลี่ยนเป็น นปช.) โดยณัฐวุฒิเข้ารับตำแหน่งเป็นแกนนำคนหนึ่ง และขึ้นปราศรัยต่อต้านคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ และรัฐบาลพลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ มาโดยตลอด
ราวกลางปี 2550 ณัฐวุฒิเข้าสังกัดพรรคพลังประชาชน พร้อมลงสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.ระบบสัดส่วน กลุ่มที่ 8 พื้นที่จังหวัดภาคใต้ตอนล่าง เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2551 แต่ไม่ได้รับการเลือกตั้ง จากนั้นจึงได้รับแต่งตั้งให้เป็น รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในรัฐบาลที่นำโดยสมัคร สุนทรเวช และหลังจากที่สมชาย วงศ์สวัสดิ์ ได้รับการแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี ณัฐวุฒิก็ได้รับการแต่งตั้งเป็น โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในรัฐบาลชุดนี้
การเมืองในช่วงเวลานั้น ไม่อะไรแน่นอน ไม่นานนัก รัฐบาลก็เปลี่ยนมือ โดยมีพรรคประชาธิปัตย์เป็๋นแกนนำ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกรัฐมนนตรี
ต่อมาเกิดเหตุการณ์ความไม่สงบทางการเมืองในประเทศไทย ช่วงเดือนเมษายน 2552 ในรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ซึ่งณัฐวุฒิถูกควบคุมตัว พร้อมกับวีระ มุสิกพงศ์ นายแพทย์เหวง โตจิราการ และแกนนำคนอื่นๆ ในข้อหาก่อการร้าย
กระทั่งมีการชุมนุมใหญ่ในปี 2553 ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ก็เป็นแกนนำหลักของ นปช.ชุมนุมขับไล่รัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ให้ยุบสภา แต่ไม่ประสบความสำเร็จ และมีการสลายการชุมนุมอย่างรุนแรง มีผู้เสียชีวิตกว่า 99 คน บาดเจ็บกว่า 2,000 คน
ในการเลือกตั้ง 2554 ณัฐวุฒิ ได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แบบบัญชีรายชื่อ ในสังกัดพรรคเพื่อไทย และณัฐวุฒิ ยังได้รับโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ในเดือนมกราคม 2555 แทนนายพรศักดิ์ เจริญประเสริฐ ต่อมาได้รับแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร (ครม.ยิ่งลักษณ์ 3) จนกระทั่งเกิดการรัฐประหารปี 2557
หลังการรัฐประหารของ คสช. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ใช้เวลาอยู่ในอำนาจยาวนาน กว่าจะเปิดให้มีการเลือกตั้ง โดยในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป 2562 ณัฐวุฒิได้ลงสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ สังกัดพรรคไทยรักษาชาติ ลำดับที่ 7 แต่พรรคไทยรักษาชาติ ถูกศาลรัฐธรรมนูญตัดสินยุบพรรคก่อนวันเลือกตั้ง
กระทั่งในปี 2565 เขาได้ย้ายกลับมาร่วมงานกับพรรคเพื่อไทย และได้รับตำแหน่งผู้อำนวยการครอบครัวเพื่อไทย โดยแพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าครอบครัว
จนล่าสุด ในวันที่ 4 ตุลาคม พ.ศ. 2567 แพทองธารในฐานะนายกรัฐมนตรี ก็ได้แต่งตั้งให้ณัฐวุฒิ ดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี พร้อมกับธีระพงษ์ วงศ์ศิวะวิลาส อดีตปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี