รู้จัก “กฎหมายส่งเสริมสุราชุมชน” ของเพื่อไทย หลังคว่ำ “สุราก้าวหน้า”
ทำความรู้จัก “กฎหมายส่งเสริมสุราชุมชน” ของพรรคเพื่อไทย หลังคว่ำ “สุราก้าวหน้า” ของพรรคประชาชน
ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร สัปดาห์ที่ผ่านมา ลงมติไม่รับหลักการ ร่างพระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. หรือ พรบ.สุราก้าวหน้า เสนอโดยเท่าพิภพ ลิ้มจิตรกร สส.กทม.พรรคประชาชน
แต่โหวตรับหลักการในร่างพระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต (ฉบับที่ ..) 2 ฉบับเสนอโดยพรรคร่วมรัฐบาล ได้แก่ นายชนินทร์ รุ่งธนเกียรติ สส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย และนางศิริวรรณ ปราศจากศัตรู สส.บัญชีรายชื่อ พรรครวมไทยสร้างชาติ โดยใช้พระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต ฉบับปี พ.ศ. …หรือ ร่างกฏหมายส่งเสริมสุราชุมชนของพรรคเพื่อไทย เป็นร่างหลักในการพิจารณาวาระที่ 2
มาทำความรู้จักร่างแก้ไขพระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต ฉบับปี พ.ศ. …หรือ ร่างกฏหมายส่งเสริมสุราชุมชนของพรรคเพื่อไทย โดยที่ ชนินทร์ รุ่งธนเกียรติ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย หลักการของร่าง คือ “เป็นการแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต พ.ศ.2560 มาตรา 153 เพื่อให้การขออนุญาตผลิตสุราหรือมีเครื่องกลั่นสุราไว้ในครอบครอง มีหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่เหมาะสมยิ่งขึ้น”
คำว่า “เหมาะสมยิ่งขึ้น” มีสาระสำคัญ 2 ประเด็นหลัก
- กฎกระทรวงที่ออกตาม พ.ร.บ.ฉบับนี้ ต้องมีสาระสำคัญในการส่งเสริมผู้ประกอบการรายย่อย ทั้งสถาบันเกษตรกรฯ SME วิสาหกิจชุมชน และบุคคลโดยทั่วไป สามารถเข้าถึงใบอนุญาตได้ โดยไม่สร้างภาระเกินความจำเป็น
- เงื่อนไขการพิจารณาให้ใบอนุญาตต่างๆ ต้องไม่นำเรื่องกำลังการผลิตและทุนจดทะเบียนมาเป็นเงื่อนไข แต่ควรให้ความสำคัญกับคุณภาพและความปลอดภัยเป็นหลัก
สร้างหลักประกันโอกาสทางธุรกิจให้ประชาชน
วัตถุประสงค์ของการยื่นร่างแก้ไขพระราชบัญญัติฉบับนี้
1.สร้างหลักประกันโอกาสทางธุรกิจให้ประชาชน ทั้งผู้ผลิตรายเล็กรายน้อย ภูมิปัญญาพื้นบ้าน วิสาหกิจชุมชน ไว้ในกฎหมายระดับ พ.ร.บ.ไม่ว่าใครจะเข้ามาเป็นรัฐบาล ต้องให้ความสำคัญเสมือนกัน
2.สามารถเปิดช่องให้มีการควบคุมมาตรฐานคุณภาพของสุราที่ผลิต เพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภค
ความแตกต่างของร่าง พ.ร.บ.สุราชุมชนของพรรคเพื่อไทย กับของพรรคประชาชน
1.ร่าง พ.ร.บ.สุราชุมชนของพรรคเพื่อไทย ไม่ได้ปรับแก้ให้ผู้ถือครองเครื่องกลั่นสุราที่ไม่ได้มีไว้เพื่อประโยชน์ทางการค้า “ไม่ต้องขออนุญาต” เหมือนหลักการของพรรคประชาชน
ซึ่งเท่ากับว่า “การผลิตเพื่อบริโภคกันเองในกลุ่มเพื่อน หรือในครัวเรือน อาจไม่ต้องขอใบอนุญาต หรือแจ้งให้หน่วยงานใดทราบ” เป็นหลักการเดิมในร่าง “สุราเสรี” ที่พรรคก้าวไกล หรือพรรคประชาชนในปัจจุบัน เคยยื่นในสมัยรัฐบาลที่แล้ว และในชั้นกรรมาธิการในตอนนั้นมีความเห็นร่วมกันไปแล้ว ว่า “การถือครองเครื่องกลั่นสุรา แม้เพื่อผลิตบริโภคเอง ก็ควรมีการแจ้งให้หน่วยงานรับทราบ เพื่อประโยชน์ในการประเมินติดตาม และควบคุมผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นต่อสังคมด้วย”
ชนินทร์ มองว่า การยกเลิกการขออนุญาตมีเครื่องกลั่นสำหรับผลิตสุราไว้ในครอบครอง เป็นเรื่องที่อันตราย เพราะจะยากในการควบคุม เพิ่มความเสี่ยงที่สุราใดๆที่ถูกผลิตขึ้นมาแบบไม่ได้มาตรฐาน เหมือนปัญหาเหล้าเถื่อนที่มีการเจือปนของสารเคมีที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพอย่างร้ายแรง เหมือนกรณีคลัสเตอร์เหล้าเถื่อนที่เกิดขึ้นก่อนหน้านี้
2.ปัจจุบัน กรมสรรพสามิต ออกกฎกระทรวงให้มีใบอนุญาตอีกประเภทหนึ่ง คือ “ใบอนุญาตผลิตสุราที่มิใช่เพื่อการค้า” เงื่อนไขการอนุญาต เป็นการแจ้งทราบเท่านั้น ที่สามารถจดแจ้งได้ง่าย และไม่เป็นภาระแก่ผู้ถือครองจนเกินไป
‘สุราชุมชน’ มาจากไทยรักไทย
ในรัฐบาลไทยรักไทยได้ดำเนินนโยบายส่งเสริมเศรษฐกิจชุมชน สนับสนุนการผลิตและจำหน่ายสุราแช่พื้นเมือง สุราผลไม้ และสุรากลั่น หรือ ‘สุราชุมชน’ ผู้ผลิตรายย่อยในท้องถิ่นสามารถผลิตสุราพื้นเมืองและจำหน่ายได้อย่างเสรี เป็นยุคที่สุราเสรีได้รับการส่งเสริมอย่างกว้างขวางเป็นครั้งแรก สิ่งที่ทำไปแล้วในตอนนั้น เช่น
1.ผู้ประกอบการติดต่อหน่วยงานเพื่อเสียภาษีให้รัฐ เอาแสตมป์อากรมาติดขวดสุราที่ผลิตอย่างภาคภูมิใจ
2.มีการจัดงาน “มหกรรมสุราไทย” กระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก ลดการนำเข้าสุราต่างชาติ สร้างรายได้
- ในขณะนััน มีการแก้ไขประกาศและหลักเกณฑ์ต่างๆ ให้ผ่อนปรนกฏระเบียบต่างๆ เพื่อทำให้การประกอบธุรกิจผลิตสุราให้ประชาชนเข้าถึงได้
4.เป็นอีกหนึ่งกลไกในการแปรรูปสินค้าเกษตร เพิ่มมูลค่า เพิ่มรายได้ให้พี่น้องเกษตรกร ช่วยบรรเทาปัญหาสินค้าเกษตรล้นตลาด ซึ่งที่ผ่านมา ช่วงของการระบาดโควิด19 ผลผลิตสินค้าเกษตรล้นตลาด โรงบ่มไวน์ชุมชน อ.พนมดงรัก จ.สุรินทร์ ช่วยรับซื้อผลผลิตของเกษตรกร ทั้งมะม่วง มังคุด ลำไย มาบ่มเป็นไวน์ผลไม้ แล้วนำไวน์ผลไม้มาแบ่งกัน ส่วนหนึ่งเก็บไว้ขายเอง ถือเป็นค่าแปรรูปผลไม้ ส่วนหนึ่งส่งคืนให้เกษตรกร
หัวใจสำคัญในร่างนี้
คือการวางกรอบหลักการของกฎหมาย มาตรา 153 แห่ง พ.ร.บ.สรรพสามิต ใหม่ เพื่อให้กรอบหลักการเดิมที่วางไว้กว้างๆ นั้น มีความใส่ใจกับผู้ผลิตรายย่อยมากยิ่งขึ้น
1.ส่งเสริมผู้ประกอบการรายย่อยให้สามารถประกอบอาชีพได้ โดยไม่สร้างเงื่อนไขหรือภาระให้แก่ผู้ขออนุญาตเกินความจําเป็น
2.เปิดโอกาสให้สถาบันเกษตรกรตามกฎหมายว่าด้วยการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม วิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดย่อม และวิสาหกิจชุมชน ได้เข้าถึงใบอนุญาตเช่นเดียวกับบุคคลทั่วไป
3.ส่งเสริมการขยายตัวของเศรษฐกิจฐานราก โดยต้องไม่กําหนดกําลังการผลิตและทุนจดทะเบียนขั้นต่ำ แต่ให้คํานึงถึงคุณภาพและความปลอดภัยของผู้บริโภคเป็นสําคัญ
ผลที่คาดว่าจะได้รับ
1.กลุ่มสหกรณ์การเกษตร วิสาหกิจชุมชน จากเดิมที่ไม่สามารถขออนุญาตผลิตสุรากลั่น ประเภท วิสกี้ บรั่นดี คอนยัค วอดก้า จิน รัม เพื่อการค้าได้ พวกเขาจะสามารถผลิตเพื่อการค้าได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย โดยไม่มีเงื่อนไขเรื่องกำลังการผลิตขั้นต่ำ 30,000 ลิตรต่อวันมาเป็นอุปสรรค และรัฐสามารถเข้าไปตรวจดูแลคุณภาพของสุราและจัดเก็บภาษีสุราได้ ตัวอย่างกลุ่มวิสาหกิจชุมชนแห่งหนึ่งในเชียงใหม่ มีความโดดเด่นในการใช้ข้าวหอมมะลิ ผลิตเป็นสุราขาวที่มีคุณภาพไม่ด้อยไปกว่าสินค้าจากแบรนด์ดังในต่างประเทศและที่ผ่านมาได้ออกร้าน ที่งาน THAIFEX – ANUGA ASIA 2024 ภายใต้การสนับสนุนของ สสว. นักธุรกิจชาวต่างชาติได้ลองชิม พบว่าได้รับความสนใจจากนักธุรกิจหลายประเทศ เช่น โซนตะวันออกกลาง ญี่ปุ่น เกาหลีใต้
- หากร่างกฎหมายนี้มีผลใช้บังคับ จะทำให้เกิดการทบทวนกฎกระทรวงเรื่องการผลิตสุราใหม่ และกฎ ระเบียบอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องใหม่ทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มสุรากลั่น (สุราขาว-สุราสี) สุราแช่ (สุราชุมชน-ไวน์-เบียร์)
เนื่องจากมีการวางกรอบเอาไว้ชัดเจนว่า ให้มีสาระสําคัญในการส่งเสริมผู้ประกอบการรายย่อยให้สามารถประกอบอาชีพของตนได้ เพื่อลดอุปสรรค และสนับสนุนความเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างชัดเจน