ฉากทัศน์ ก้าวไกลโดนยุบ ซื้อตัวงูเห่า-พรรคต่ำร้อย
12 มิ.ย. 2567 เป็นวันชี้ชะตา “ก้าวไกล” โดน “ยุบพรรค” หรือไม่ ในคดี “ล้มล้างการปกครองภาคต่อ” หลังจากยื้อเวลา-ขอขยายทำคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหา 3 ครั้ง ครั้งสุดท้ายสิ้นสุดเมื่อวันที่ 4 มิ.ย.67
ฉากทัศน์ หรือ “ซีนารีโอ” หลังคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ กรณีที่ ก้าวไกลโดน “ยุบพรรค” หากยังมีความหวังกับการเมืองลี้ลับ-ระบอบประชาธิปไตยที่มีเนื้อในจากการสืบทอดอำนาจ-รัฐประหารคงหนีไม่ออกที่จะต้อง “ขึ้นยานลำใหม่” ใส่เกียร์เดินหน้าในระบบรัฐสภา โดยมี “หมุดหมาย” การเลือกตั้งครั้งหน้า ไม่ว่ารัฐบาลจะอยู่ครบ 4 ปี หรือ เกิดอุบัติเหตุทางการเมืองระหว่างทาง แต่ทว่า หากสิ้นหวังกับการเมืองหลังม่าน-บนโต๊ะเจราจาต่อรองระหว่างชนชั้นนำ คงหนีไม่พ้นเช่นเดียวกันที่จะนำไปสู่การเมืองบนท้องถนน
ตั้งพรรคใหม่-สส.เหลือไม่เท่าเดิม
ซีนารีโอแรก ก้าวไกลตั้ง “พรรคใหม่” แม้จำนวน “สส.ไม่เท่าเดิม” เพราะโทษของการโดน “ยุบพรรค” จะส่งผลให้หัวหน้าพรรค-เลขาธิการพรรค และกรรมการบริหารพรรค สิ้นสภาพจากความเป็น สส.และตัดสิทธิทางการเมือง 10 ปี ทั้งคณะ แต่ สส.ที่ยังเหลืออยู่กันครบ เพียงพอที่จะเป็น “พรรคผู้นำฝ่ายค้าน” ในสภาผู้แทนราษฎร แต่พละกำลังในการผลักดันกฎหมายสำคัญ อาจจะไม่มีพลังเพียงพอที่จะ “เปลี่ยนใหญ่” เพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ เหมือนกับในช่วงที่พรรคมี สส.เกือบ 150 ที่นั่ง ซึ่งกว่าจะได้มาเลือดตาแทบกระเด็น หักปากกาเซียนทุกสำนัก
สำหรับกรรมการบริหารพรรคที่โดนตัดสิทธิทางการเมือง 10 ปี มีทั้งหมด 10 คน ได้แก่ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรค นายชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรค น.ส.ณธีภัสร์ กุลเศรษฐสิทธิ์ เหรัญญิกพรรค นายณกรณ์พงศ์ ศุภนิมิตรตระกูล นายทะเบียนสมาชิกพรรค กรรมการบริหารพรรค นายปดิพัทธ์ สันติภาดา (ปัจจุบันอยู่พรรคเป็นธรรม) นายสมชาย ฝั่งชลจิตร นางอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล นายอภิชาติ ศิริสุนทร น.ส.เบญจา แสงจันทร์ และนายสุเทพ อู่อ้น
จาก “พรรคเกินร้อย” สู่ “พรรคต่ำร้อย”
ซีนารีโอที่สอง ก้าวไกลตั้งพรรคใหม่ จำนวน สส.เหลือไม่เท่าเดิม และ สส.ที่เหลืออยู่ “ไม่ครบ” เพราะโดน “พรรคทุนหนา” ไล่ช้อน-ซื้อตัวจำนวนมาก จาก “พรรคเกินร้อย” กลายเป็น “พรรคต่ำร้อย” ถึงแม้จะยังคงสถานะเป็นพรรคที่ถือธงนำ “พรรคฝ่ายค้าน” ในสภา เพราะพรรคฝ่ายค้านอันดับสอง-ประชาธิปัตย์ มีเพียง 25 เสียง แต่จะเป็นพรรคฝ่ายค้านที่อ่อนแอ จนไม่สามารถยื่นญัตติขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจได้ เพราะต้องใช้เสียงถึง 1 ใน 5 หรือ 100 คน ของจำนวน สส.ทั้งหมด 500 คน แม้กระทั่งการขอเปิดอภิปรายทั่วไปแบบ “ไม่ลงมติ” ก็อาจจะทำได้ยาก เพราะต้องใช้เสียง 1 ใน 10 หรือ 50 คน จาก 500 คน
ยิ่งก้าวไกลต้องเจอ “ดาบสอง” นอกเหนือจากการตัดสิทธิทางการเมือง 10 ปี ของ 10 กรรมการบริหารพรรค ช็อตต่อไปหลังโดนยุบพรรค คือ “คำร้อง” ที่ “นักร้อง” ยื่น ป.ป.ช. ให้ไปจบที่ศาลฎีกา “ประหารชีวิตทางการเมือง” 44 สส.พรรคก้าวไกล ที่ร่วมกันลงชื่อเสนอร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 กรณีฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามจริยธรรมอย่างร้ายแรง ข้อ 5 ข้อ 6 และข้อ 27 วรรคหนึ่ง กลายเป็น “บ้านเลขที่ 44” ห้ามลงสมัครรับเลือกตั้ง-ห้ามดำรงตำแหน่งทางการเมืองตลอดไป เลวร้ายที่สุด คือ การตัดสิทธิเลือกตั้งตลอดชีวิต การเมืองในระบบรัฐสภาจะกลายเป็น “เดดล็อก” ระบบถ่วงดุลไม่ทำงาน
พลิกชีวิตเป็น “แกนนำม็อบ” ลงท้องถนน
ซีนารีโอที่สาม ก้าวไกล ไม่ตั้งพรรคใหม่ ล้มเลิกการต่อสู้ทางการเมืองในระบบรัฐสภา “ผันชีวิต” ตัวเองไปเป็น “แกนนำม็อบ” ลงบนท้องถนน คีย์แมน “พรรคสีส้ม” ส่วนใหญ่ล้วนคุ้นชินกับ “การเมืองมวลชน” ตั้งแต่เป็น “นักศึกษา” ที่พร้อมท้าชนกับนายทุน-ขุนศึก และโครงสร้างทางการเมืองที่เห็นว่า บิดเบี้ยว แต่สิ่งที่พร้อมจะตามมาด้วย “คดีความ” เป็นชนักปกหลัง และอาจจะหมดอนาคตทางการเมืองเหมือนกับ “แกนนำม็อบรุ่นพี่” ในยุคอดีตที่ผ่านมา
ที่ผ่านมา เมื่อระบอบประชาธิปไตยถึงทางตัน นักการเมืองที่ “เปลี่ยนชีวิต” จากที่นั่งบน “เก้าอี้ผู้ทรงเกียรติ” ต้องทิ้งเงินเดือน-เงินประจำตำแหน่ง และสิทธิประโยชน์มากกมาย มาเป็นแกนนำม็อบ ต่อสู้บนเวทีปราศรัย จนเกิดความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองครั้งสำคัญ ตลอดจนวิถีชีวิตที่เคยสุขสบายกลายเป็นผู้ต้องขังในเรือนจำ-ตกอยู่ในสถานะบุคคลล้มละลาย เช่น กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย หรือ “คนเสื้อเหลือ” กลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ “กลุ่มคนเสื้อแดง” คณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงปฏิรูปประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แบบอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือ “กลุ่ม กปปส.”
แผนสำรอง – แกนนำแถวสาม
next chapter ของพรรคก้าวไกล คือ การนำแผนฉุกเฉิน-แผนสำรอง แถวสาม-แถวสี่ ออกมาปัดฝุ่นอีกครั้ง โดยมีชื่อ “แคนดิเดตหัวหน้าพรรคสีส้มคนใหม่” อยู่ในลิสต์รายชื่อ เช่น ไหม-ศิริกัญญา ตันสกุล สส.บัญชีรายชื่อ รองหัวหน้าพรรคก้าวไกล “หัวหน้าทีมเศรษฐกิจ” ที่เป็น “มันสมอง” เรื่องเศรษฐกิจของก้าวไกล แม้กระทั่ง “วีระยุทธ กาญจน์ชูฉัตร” ทีมเศรษฐกิจพรรคก้าวไกล ที่ปรึกษาหัวหน้าพรรค ที่มีลำแสงโผล่ขึ้นมาในกระแสคดียุบพรรคก้าวไกลในช่วงโค้งสุดท้าย แม้กระทั่ง “พิจารณ์ เชาวพัฒวงศ์” รองหัวหน้าพรรคก้าวไกล มือทำงานที่อยู่ “หลังบ้าน” พรรคก้าวไกล อาจจะถึงเวลาขยับขึ้นมา “ยืนแถวหน้า”
ขณะที่ขุมกำลังในส่วนอื่น ๆ จะเป็นสูตรผสม สด+เก๋า เช่น “เดชรัต สุขกำเนิด” ผู้อำนวยการศูนย์นโยบายเพื่ออนาคต (Think Forward Center) ที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคก้าว และ “อภิสิทธิ์ ไล่สัตรูไกล” อดีตผู้อำนวยการศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ หรือ ทีซีดีซี สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ หรือ ซีอีเอ “วิโรจน์ ลักขณาอดิศร” และ “รังสิมันต์ โรม” เจ้าพ่อคราฟต์เบียร์ “เท่าพิภพ ลิ้มจิตรกร” และ “เชตะวัน เตือประโคน” คู่ปรับกองทัพ สนธิกำลังกับ “ไอติม-พริษฐ์ วัชรสินธุ” สส.บัญชีรายชื่อ โฆษกพรรคก้าวไกล “ดาวเด่นสภา”
พรรคก้าวไกลเดินมาถึงทางสอง-สามแพร่งอีกครั้ง แต่เป็นเส้นทางเดิมที่เคยผ่านมาแล้ว
ข่าวที่เกี่ยวข้อง : ก้าวไกล ระทึก ศาลรัฐธรรมนูญ นัดพิจารณาคดียุบพรรค 12 มิ.ย.นี้