เปิดบัญชีดำ ศาลรัฐธรรมนูญ ติดเบรกนายกรัฐมนตรี พักงาน-ตกเก้าอี้
ชะตากรรมของ เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี คนที่ 30 แขวนอยู่บนเส้นด้าย หลังศาลรัฐธรรมนูญ รับคำร้อง 40 สว.ขอให้วินิจฉัยคุณสมบัติความเป็นรัฐมนตรี เงื่อนปมตั้งนายพิชิต ชื่นบาน รัฐมนตรีสายล่อฟ้า
15 วันอันตรายของนายเศรษฐายังไม่รู้อนาคตว่าจะออกหัวออกก้อยกลายเป็นสุญญากาศทางการเมือง-เขย่าตัวเลขให้เศรษฐกิจ เกิดความผันผวน-ไม่แน่นอน กระทบความเชื่อมั่นของนักลงทุนทั้งไทยและต่างประเทศทั้งกระดานตลาดเงิน-ตลาดทุน และตลาดอำนาจ ต้องเฟ้นหานายกรัฐมนตรีตัวตายตัวแทน รองรับหากเกิดอุบัติเหตุทางการเมืองนายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันมีอันเป็นไป ถ้าโดนศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้เศรษฐาพ้นจากเก้าอี้นายกรัฐมนตรี นายกรัฐมนตรีเบอร์ 2 – เบอร์ 3 ในตระกร้าพรรคการเมืองต้องพร้อมที่จะผลัดหน้าทาแป้งพร้อมที่จะแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีได้ทันท่วงที
เพื่อไทยระทึกแก้ข้อกล่าวหา 15 วัน
กลุ่ม 40 สว. ได้ยื่นคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยความเป็นรัฐมนตรีของนายเศรษฐา โดยมีเชื้อมูลมาจากคุณสมบัติความเป็นรัฐมนตรีของนายพิชิต เพราะเคยโดนจำคุกจากคำสั่งของศาลใน “คดีถุงขนมสองล้าน” ถือเป็นความผิดสำเร็จหรือไม่ หลังจากนำความกราบบังคมทูลฯ เพื่อโปรดเกล้าฯ โดยรู้ว่า ขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญฉบับปราบโกง มาตรา 160 (4) เรื่องความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ และ (5) ต้องไม่มีพฤติกรรมอันเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง
นายเศรษฐาอกสั่นขวัญแขวนอยู่ต่างประเทศ เมื่อศาลรัฐธรรมนูญลงมติด้วยเสียงข้างมาก 6 ต่อ 3 “รับคำร้อง” และให้นายเศรษฐา ชี้แจงข้อกล่าวหาภายใน 15 วัน นับจากรับสำเนาคำร้อง ส่วนคำร้องที่ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้นายเศรษฐา “หยุดปฏิบัติหน้าที่” นั้น ศาลมีมติเสียงข้างมากแบบเฉียดฉิว 5 ต่อ 4 ให้ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปได้ นายเศรษฐาเหมือนโดน “รับน้องใหม่” เพราะเพิ่งเป็นนั่งเก้าอี้นายกรัฐมนตรีได้เพียงแค่ 8 เดือน ก็ต้องเดินขึ้นศาลรัฐธรรมนูญเป็นครั้งแรกในชีวิต
นายกฯ ชินวัตร ตายตกตามกัน
นับเป็นวิบากกรรมของนายกรัฐมนตรีที่มีรากเหง้ามาจากพรรคไทยรักไทยของนายทักษิณ อย่างพรรคพลังประชาชนและพรรคเพื่อไทย เพราะที่ผ่านมาต้องเดินขึ้นศาลรัฐธรรมนูญทุกคน ไล่ตั้งแต่ตัวของนายทักษิณเอง ใน “คดีซุกหุ้นภาคแรก” ทั้งที่ยังไม่ได้เป็นนายกรัฐมนตรี ป.ป.ช.ได้ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัยฐานยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินเป็นเท็จ ขณะดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีในรัฐบาลพล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ แต่ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเสียงข้างมาก 8 ต่อ 7 “ยกคำร้อง” แบบต้องลุ้นตัวโก่งอีกเช่นเดียวกัน
คนต่อมา “สมัคร สุนทรเวช” นายกรัฐมนตรีคนที่ 25 แห่งพรรคพลังประชาชน โดน “นักร้อง” นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ สว.กับคณะรวม 29 คน และ กกต. ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญฉบับหลังรัฐประหารปี 49 หรือไม่ จากกรณีที่นายสมัครเป็นไป “พิธีกร” ในรายการ “ชิมไป บ่นไป” โดยยังได้รับค่าตอบแทน ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญลงมติเอกฉันท์ วินิจฉัยให้ความเป็นรัฐมนตรีของนายสมัครสิ้นสุดลงเฉพาะตัว และคนสุดท้ายน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ต้องเดินมาชนตออย่าง นายไพบูลย์ นิติตะวัน สว.และคณะรวม 28 คน ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญ กรณีโยกย้าย “ถวิล เปลี่ยนศรี” เลขาธิการ สมช. เข้ากรุ ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ฝ่ายข้าราชการประจำ ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญมีมติเอกฉันท์วินิจฉัยให้ความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลงเป็นการเฉพาะ
จาก ธนาธร ถึง พิธา “คดีหุ้นสื่อ”
มาถึงคิว “นายกฯสีส้ม” ที่โดนพิษ “หุ้นสื่อ” ตามหลอกหลอน เริ่มตั้งแต่ “ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ” หัวหอกพรรคอนาคตใหม่ โดน “เตะสกัด” ไม่ให้เข้าสภาตั้งแต่ไม่ทันได้ขึ้นชกบนเวทีนิติบัญยัติ ที่กกต.ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามการ สส. ใน “คดีถือหุ้นสื่อภาคแรก” โดยศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งรับคำร้องและสั่งให้ “หยุดปฏิบัติหน้าที่” ต่อมามีมติว่า นายธนาธรถือหุ้น บริษัท วี-ลัค มีเดีย จำกัด ซึ่งประกอบกิจการสื่อมวลชนอยู่ในวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 62 เป็นวันที่พรรคอนาคตใหม่ยื่นบัญชีรายชื่อรับเลือกตั้งเป็น สส. นายธนาธรจึงมีลักษณะต้องห้ามใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็น สส. ทำให้สมาชิกภาพ สส.สิ้นสุดลงนับตั้งแต่ศาลสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่
ส่วน “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” หัวหน้าพรรคก้าวไกล-ผู้นำพรรคสีส้ม รุ่นสอง ชะตากรรมไม่แตกต่างกัน ใน “คดีถือหุ้นสื่อภาคสอง” โดน กกต.ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ความเป็น สส.สิ้นสุดลงเฉพาะตัว กรณีถือหุ้นบริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) แต่หนักข้อกว่า เพราะโดนสกัด “ไม่ให้เข้าทำเนียบ” เพราะเป็น 1 ใน 2 เหตุผลที่เป็นเงื่อนไข-ข้ออ้างของ สว.ลากตั้ง ไม่ยกมือให้พิธาเป็นนายกฯ จนต้องเว้นวรรคสภา-หยุดปฏิบัติหน้าที่ผู้แทนราษฎรตั้งแต่วันที่ 19 ก.ค.66 แต่โชคยังเข้าข้าง-ไม่เข้าตากรรมการ ศาลสั่ง “ยกคำร้อง” เนื่องจาก “ไอทีวี” ไม่ได้ประกอบกิจการสื่อมวลชนแล้ว ปิดฉากขบวนการ “ปลุกผีไอทีวี” คืนฟื้น
ประยุทธ์ พักงาน 37 วัน
นอกจากผู้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของพรรคเพื่อไทยและพรรคก้าวไกลแล้ว พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา “นายกฯทหาร” จากพรรคพลังประชารัฐก็โดนสั่ง “พักงาน” วางมือทางอำนาจ ถึง 37 วัน หลังจากศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้ “หยุดปฏิบัติหน้าที่” กรณี “พรรคฝ่ายค้าน” ยื่นคำร้องการเป็นนายกรัฐมนตรี “เกินแปดปี” หรือไม่ ซึ่งมีความเห็นที่แตกต่างกันว่า การดำรงตำแหน่งของพล.อ.ประยุทธ์ เริ่มนับตั้งแต่วันใด ระหว่างวันที่พล.อ.ประยุทธ์เป็นายกรัฐมนตรีเมื่อปี 57 หรือ นับตั้งแต่วันที่รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันประกาศใช้เมื่อปี 60 หรือ นับตั้งแน่หลังการเลือกตั้งเมื่อปี 62
ศาลรัฐธรรมนูญได้พิจารณาแล้วเห็นว่า การดำรงตำแหน่งของพล.อ.ประยุทธ์ก่อนวันที่ 6 เมษายน 60 ซึ่งเป็นวันที่รัฐธรรมนูญฉบับปี 60 ประกาศใช้ เป็นการดำรงตำแหน่งตามบทเฉพาะกาลมาตรา 264 แต่หลังจากรัฐธรรมนูญประกาศบังคับใช้แล้ว พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกรัฐมนตรีตามมาตรา 158 วรรคสี่ ดังนั้นให้นับระยะเวลาการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของพล.อ.ประยุทธ์ตั้งแต่วันที่รัฐธรรมนูญประกาศใช้ ศาลรัฐธรรมนูญจึงลงมติด้วยเสียงข้างมากวินิจฉัยว่า ความเป็นนายกรัฐมนตรีของพล.อ.ประยุทธ์ไม่สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ เพราะยังเป็นนายกรัฐมนตรีไม่ถึง 8 ปี
ไม่ว่านายกรัฐมนตรีที่มาจากพลเรือนหรือมาจากทหารล้วนต้องเคยผ่านด่านสแกนคุณสมบัตินายกรัฐมนตรี – ติดเบรกผู้ถืออำนาจสูงสุดของฝ่ายบริหารไม่ให้ลุแก่อำนาจ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง : สนิมเนื้อใน รัฐบาลเศรษฐา วิกฤตผู้นำ-พรรคร่วมแตกคอ