ก้าวต่อไปของโมเดลพัฒนาเศรษฐกิจไทย ภายใต้โลกที่ไม่แน่นอน
GDP ไม่ใช่คำตอบเดียวของการพัฒนาเศรษฐกิจเพื่ออนาคต
การพัฒนาเศรษฐกิจในช่วงที่ผ่านมามุ่งเป้าไปที่ตัวเลขการเติบโตของ GDP เป็นสำคัญ แต่เมื่อบริบทโลกกำลังเปลี่ยนไปทั้งจากความไม่แน่นอนและความเสี่ยงรอบด้านมากขึ้น ก่อให้เกิดคำถามสำคัญว่าการพัฒนาเศรษฐกิจแบบมุ่งเน้นเชิง “ปริมาณ” ที่วัดจาก GDP มาตลอดยังคงเป็นคำตอบที่ถูกหรือไม่ ? ในการประชุมสภาเศรษฐกิจโลก (WEF) ณ เมืองดาวอส ในเดือน ม.ค. 2024 ประเทศต่าง ๆ เห็นพ้องกันว่า การเติบโตของ GDP อย่างเดียวไม่ใช่เป้าหมายที่แท้จริง แต่ต้องหันมาให้ความสำคัญกับ “คุณภาพ” การเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะยาวด้วย WEF จึงเสนอกรอบแนวคิดการเติบโตของเศรษฐกิจสำหรับอนาคต ด้วยการใช้เครื่องมือใหม่ประเมิน “คุณภาพ” ของการเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะยาวของแต่ละประเทศใน 4 เสาหลัก ได้แก่ นวัตกรรม (Innovativeness) ความทั่วถึง (Inclusiveness) ความยั่งยืน (Sustainability) และการล้มยากลุกเร็ว (Resilience)
เศรษฐกิจไทยกับมิติใหม่ของการเติบโตเชิงคุณภาพ
ผลการประเมิน “คุณภาพของการเติบโตในระยะยาวของเศรษฐกิจไทย” จากกรอบแนวคิด WEF พบว่า ไทยมีปัญหาการเติบโตเชิงคุณภาพมากที่สุดใน 2 เสาหลัก คือ Inclusiveness (คะแนนต่างกับกลุ่มประเทศรายได้สูงมากสุด) และ Sustainability (คะแนนน้อยสุด) หากพิจารณาบริบทเศรษฐกิจไทยในปัจจุบันด้วยแล้ว จะพบว่า (1) Inclusiveness สะท้อนจากรายได้ของคนไทยที่กระจุกตัวในกลุ่มคนมีฐานะ ขณะที่ผู้มีรายได้น้อยยังต้องเผชิญปัญหารายได้ไม่พอรายจ่าย และมีหนี้สูง ผลจากการเติบโตของเศรษฐกิจไทยที่ผ่านมายังไม่สามารถกระจายประโยชน์ได้ทั่วถึง ขณะที่ (2) Sustainability ของไทย สะท้อนจากการลงทุนในพลังงานหมุนเวียนและนวัตกรรมเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจสีเขียว (Green transition) ที่อยู่ในระดับต่ำ โดยเฉพาะการให้เงินทุนสนับสนุนการลงทุนด้านนี้
การเตรียมความพร้อมเชิงคุณภาพของไทย เพื่อรับมือโลกที่เปลี่ยนไป
การเติบโตของเศรษฐกิจไทยในเชิงปริมาณและคุณภาพในระยะข้างหน้า จะต้องเผชิญความท้าทายมากขึ้นจากบริบทเศรษฐกิจโลกที่จะเปลี่ยนไป SCB EIC ประเมินว่า การยกระดับการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยให้เติบโตอย่างมีคุณภาพสอดคล้องกับโมเดลใหม่ของการพัฒนาเศรษฐกิจนี้ ต้องอาศัยความร่วมมือภาครัฐและภาคเอกชนในการยกระดับระบบนิเวศ (Ecosystem) สำคัญ ตามความเร่งด่วน ดังนี้
1. การยกระดับระบบนิเวศทางการเงิน (Financial ecosystem) และระบบนิเวศทางเทคโนโลยี (Technology ecosystem) เป็นลำดับแรก ซึ่งสามารถทำได้ด้วยการนำเสนอเครื่องมือและบริการทางเงินที่ช่วยลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงแหล่งเงินทุน สร้างรายได้และกระจายประโยชน์ในระบบเศรษฐกิจให้ทั่วถึงขึ้น การให้เงินทุนสนับสนุนการลงทุนในพลังงานหมุนเวียน และการสนับสนุนนวัตกรรมใหม่ ๆ โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจสีเขียว ประกอบกับการเพิ่มแรงจูงใจในการแข่งขันและลดกฎระเบียบภาครัฐที่ซ้ำซ้อนจะเอื้อต่อการพัฒนานวัตกรรมใหม่ ๆ ของภาคเอกชน
2. การยกระดับระบบนิเวศทางทรัพยากรมนุษย์ (Talent ecosystem) เป็นลำดับต่อมา เพื่อเพิ่มผลิตภาพแรงงานและภาคการผลิตไทย รวมถึงการเพิ่มผลิตภาพการผลิตของภาคการผลิตไทยให้มีความยืดหยุ่นมากขึ้น สอดรับกับกระแสความยั่งยืน และสามารถเชื่อมโยงเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่อุปทานโลกใหม่ได้ทันบริบทโลกที่เปลี่ยนไป
หากปัญหาเชิงคุณภาพของระบบเศรษฐกิจได้รับการแก้ไขให้ถูกจุดแล้ว ย่อมส่งผลบวกกลับมาช่วยให้การเติบโตทางเศรษฐกิจในเชิงปริมาณที่วัดจาก “GDP” ของไทยสูงขึ้นได้ในเวลาเดียวกัน
สำหรับภาคธุรกิจไทยจะเป็นส่วนหนึ่งของโมเดลการพัฒนาเศรษฐกิจไทยที่เน้นการเติบโตเชิงคุณภาพ จึงควรเตรียมความพร้อมและทำความเข้าใจโจทย์ว่า ธุรกิจจะอยู่รอดและดำเนินธุรกิจได้อย่างยั่งยืนต่อไปได้อย่างไรภายใต้บริบทโลกใหม่ ผ่านการมองภาพใหญ่ว่าธุรกิจต้องการจะปรับตัวไปสู่อะไร ด้วยเหตุผลอะไร ซึ่งจะครอบคลุมขั้นตอนการวางกรอบความคิด ขั้นตอนการดำเนินงาน และขั้นตอนการขับเคลื่อนแผนให้เกิด New business model ได้จริง ผ่านการสร้าง “ความพร้อม 4 ด้าน” คือ ความพร้อมของแหล่งเงินทุน ความพร้อมของโมเดลปฏิบัติการ ความพร้อมทางเทคโนโลยีและข้อมูล ความพร้อมของวัฒนธรรมองค์กรและพนักงาน
โลกโตต่ำไม่แน่นอนสูง GDP อาจยังไม่ใช่คำตอบเดียวของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ
เศรษฐกิจโลกกำลังเผชิญความท้าทายจากปัญหาเชิงโครงสร้างที่กระทบการเติบโตระยะยาว และสภาพแวดล้อมในโลกที่เปลี่ยนแปลงไปอาจนำไปสู่วิกฤตซ้อน (Polycrisis) ได้ ในปี 2024 SCB EIC ประเมินว่าเศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มขยายตัว 2.6% ใกล้เคียงปีก่อน ซึ่งมีเทรนด์โตต่ำลงจากอดีต หากมองแนวโน้มระยะปานกลาง เศรษฐกิจโลกเติบโตต่ำลงจากค่าเฉลี่ย 3.8% ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมาเหลือ 3.1% ในช่วง 5 ปีข้างหน้า (ปี 2024 – 2028) (รูปที่ 1) การที่เศรษฐกิจโลกเติบโตในอัตราช้าลงเช่นนี้มีสาเหตุหลักมาจาก 2 ปัจจัย คือ
(1) ปัญหาเชิงโครงสร้างของโลก อาทิ กำลังแรงงานขยายตัวชะลอลง ผลิตภาพแรงงานต่ำลง การลงทุนยังต่ำกว่าช่วงก่อนเกิดวิกฤติโควิด การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศรุนแรงขึ้น และความร่วมมือระหว่างประเทศลดลงสวนทางโลกาภิวัตน์ในอดีต
(2) ความไม่แน่นอนและความเสี่ยงของโลกสูงขึ้นมากจนอาจทำให้เกิด Polycrisis ได้ ดัชนีความไม่แน่นอนของโลกมีทิศทางเพิ่มขึ้นมาตลอด 30 ปีและมีความผันผวนมากขึ้น ความไม่แน่นอนเพิ่มขึ้นทุกมิติ เช่น ภูมิรัฐศาสตร์และการเมืองระหว่างประเทศ การรับมือสภาพอากาศเปลี่ยนแปลง การใช้จ่ายและการก่อหนี้ของภาครัฐ ความไม่แน่นอนในตลาดการเงิน และความไม่แน่นอนของการค้าโลก (รูปที่ 2)
หากมองไปข้างหน้า โลกจะต้องเผชิญความเสี่ยงรอบด้าน ทั้งมิติเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม ภูมิรัฐศาสตร์ สังคม และเทคโนโลยี ความเสี่ยงแต่ละด้านอาจมีความสัมพันธ์และเชื่อมโยงกันจนอาจนำไปสู่ Polycrisis ได้ โดยเฉพาะด้านเทคโนโลยี เช่น ความปลอดภัยทางไซเบอร์และการเผยแพร่ข้อมูลเท็จหรือบิดเบือน ซึ่งกลายเป็นประเด็นความเสี่ยงก้าวกระโดดขึ้นมาเป็นอันดับต้น ๆ ในปีนี้ ขณะที่ความเสี่ยงในระยะยาวส่วนใหญ่เป็นมิติสิ่งแวดล้อม เช่น สภาพอากาศสุดขั้ว การเปลี่ยนแปลงขั้นวิกฤตต่อระบบโลก (เช่น น้ำทะเลสูงขึ้น กระแสน้ำในมหาสมุทรหยุดชะงัก) การสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพหรือการล่มสลายของระบบนิเวศ และการขาดแคลนทรัพยากรธรรมชาติ ซึ่งอาจสร้างผลกระทบรุนแรงต่อเศรษฐกิจโลกได้ในระยะข้างหน้า (รูปที่ 3)
ท่ามกลางบริบทโลกที่กำลังเปลี่ยนไปเช่นนี้ SCB EIC ชวนตั้งคำถามว่า การพัฒนาเศรษฐกิจแบบมุ่งเน้นการพัฒนา
เชิง “ปริมาณ” ที่วัดจาก GDP มาโดยตลอดนั้น ยังเป็นทิศทางที่ถูกหรือไม่ ? หรือที่ผ่านมาเราลืมเป้าหมายที่แท้จริงของการพัฒนาเศรษฐกิจที่ควรพัฒนาเชิง “คุณภาพ” ในระยะยาวควบคู่ไปด้วย ? เมื่อบริบทโลกกำลังเปลี่ยนไป เห็นได้จากทิศทางการเติบโตต่ำลง ความไม่แน่นอนสูงขึ้นและมีความเสี่ยงรอบด้านมากขึ้น การพัฒนาเศรษฐกิจที่สนใจมุ่งแข่งขันวัดกันที่ตัวเลข GDP ซึ่งเป็นปัจจัยเชิง “ปริมาณ” ไม่สามารถสะท้อนปัจจัยแวดล้อมอื่นของสังคมและความเป็นอยู่ของประชาชนได้ครบถ้วน ส่งผลให้มีปัญหาเศรษฐกิจและสังคมด้านอื่นอีกมากที่ยังไม่ได้รับการแก้ไขอย่างที่ควรจะเป็น เช่น ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคม การรักษาทรัพยากรธรรมชาติ การพัฒนาทุนมนุษย์ ความเท่าเทียมทางเพศ
ถึงแม้ว่ารัฐบาลจะมีแนวทางและมาตรการแก้ปัญหาเหล่านี้อย่างต่อเนื่อง แต่การแก้ปัญหาต้องใช้เวลา ประกอบกับความไม่แน่นอนของโลกที่เพิ่มขึ้น ทำให้ “สิ่งที่เห็น” และ “สิ่งที่ควรจะเป็น” ยังแตกต่างกันมาก ยิ่งทำให้คนเริ่มสูญเสีย “ความเชื่อมั่น (Trust)” ในภาครัฐแต่ละประเทศ ส่งผลให้ความร่วมมือที่จะช่วยผลักดันให้นโยบายภาครัฐสัมฤทธิ์ผลลดลง ท่ามกลางความเสี่ยงรอบด้านในโลกที่ต้องการให้แต่ละประเทศหันหน้ามาร่วมมือกันแก้ปัญหา
ความเสี่ยงใหญ่ในโลกที่สร้างความไม่แน่นอนและกัดกร่อนความเชื่อมั่น (Trust) ในภาครัฐ
3 มิติความเสี่ยงใหญ่ในโลกที่จะเน้นในบทความนี้ คือ ความเสี่ยงภูมิรัฐศาสตร์ (Geopolitics) ความเสี่ยงจากการนำเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์มาใช้ (AI adoption) และความเสี่ยงสภาพอากาศเปลี่ยนแปลง (Climate change) ยิ่งความท้าทายเหล่านี้รุนแรงขึ้น ยิ่งทำให้ช่องว่างของความคาดหวังการดำเนินการจากภาครัฐกว้างขึ้น และมีผลต่อเนื่องเป็นวงจร (Vicious cycle) นำไปสู่ Trust ในภาครัฐที่ลดลงและความร่วมมือช่วยกันผลักดันแก้ปัญหาที่น้อยลง นั่นคือ
1. ความเสี่ยงภูมิรัฐศาสตร์ (Geopolitics)
ความเสี่ยงภูมิรัฐศาสตร์โลกสูงขึ้นมากในช่วงที่ผ่านมา สาเหตุสำคัญเพราะประเทศที่ได้รับประโยชน์จากกระแสโลกาภิวัตน์ (Globalization) ไม่ทั่วถึงตลอดช่วง 20 ปีที่ผ่านมา สะท้อนได้จากสัดส่วนการส่งออกของแต่ละประเทศในโลก พบว่าบางประเทศได้รับประโยชน์มาก เช่น จีนและเวียดนาม ขณะที่บางประเทศ เช่น กลุ่มประเทศเศรษฐกิจหลัก ดูเหมือนจะได้ประโยชน์น้อยกว่า ส่งผลให้ในช่วงหลัง ๆ แนวคิดการค้าเสรี (Free trade) หรือโลกาภิวัตน์ถูกตั้งคำถามมากขึ้น ความเต็มใจที่ประเทศต่าง ๆ จะร่วมมือกันแลกเปลี่ยนกิจกรรมทางเศรษฐกิจจึงเริ่มน้อยลง สะท้อนจาก Global Cooperation Index (รูป 4) ซึ่งดัชนีดูทรงตัวในระยะหลัง เป็นผลจากความร่วมมือที่เกี่ยวข้องกับสันติภาพและความมั่นคง (Peace and security) ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ สะท้อนความไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างประเทศในโลกที่ลดลง และอาจจะมีผลต่อเนื่องไปยังความร่วมมือทางเศรษฐกิจอื่น ๆ ได้ในระยะต่อไป
2. ความเสี่ยงจากการใช้เทคโนโลยี AI (AI adoption)
ในการนำเอาเทคโนโลยี AI มาใช้แพร่หลายทั่วโลกอาจนำมาซึ่งประโยชน์และโทษได้ จากข้อมูลสำรวจของ WEF Chief economists survey 2024 ชี้ให้เห็นข้อเท็จจริง 2 อย่าง คือ 1) AI มีประโยชน์แตกต่างกันตามระดับการพัฒนาของประเทศ โดยสามารถนำมายกระดับคุณภาพชีวิตของคนและแรงงานได้มากในกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้ว แต่อาจจะไม่ได้ช่วยมากนักในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา และ 2) แม้ AI จะมีประโยชน์ แต่ผลสำรวจนี้ก็ชี้ว่า คนก็มี Trust ในเทคโนโลยี AI ลดลง เช่น ตั้งแต่เดือน พ.ค. 2023 ข้อมูลเท็จที่ถูกสร้างขึ้นด้วย AI บนเว็บไซต์เพิ่มขึ้นกว่า 1000% รวมถึงความเสี่ยงจากการรั่วไหลของข้อมูลจากการใช้งาน AI การประมวลผลโดย AI ที่อออกมาดูน่าเชื่อถือแต่อาจไม่ถูกต้อง หรือความเสี่ยงที่เกี่ยวกับภัยไซเบอร์
3. ความเสี่ยงสภาพอากาศแปรปรวน (Climate change)
ความเร่งด่วนของโลกในการจัดการปัญหาโลกร้อนในปัจจุบันสูงมากและคงปฏิเสธไม่ได้ว่าทุกวันนี้โลกเผชิญภัยพิบัติรุนแรงมากขึ้น ตัวอย่างในสหรัฐอเมริกา พบว่า มูลค่าความเสียหายจากการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศเพิ่มขึ้นต่อเนื่องตั้งแต่ช่วงปี 2000 และทำจุดสูงสุดเป็นประวัติการณ์ในปี 2023 นอกจากนี้ หากเทียบขนาดความรุนแรงของปัญหานี้ในโลกกับความเร็วในการแก้ปัญหา พบว่า โลกเรายังห่างไกลจากเป้าหมายร่วมกันตามข้อตกลงปารีส (Paris agreement) ในปี 2015 ที่จะหาทางจำกัดไม่ให้อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกสูงขึ้นเกิน 1.5 องศาเซลเซียสจากระดับอุณหภูมิเฉลี่ยในยุคก่อนอุตสาหกรรม (Pre-industrial level) เมื่อสิ่งที่เกิดขึ้นจริงไม่เป็นไปตามความคาดหวัง ‘Trust’ ที่มีต่อการผลักดันเรื่องนี้จึงลดลงตามลำดับ ไม่ว่าจะเป็นความเชื่อมั่นต่อนโยบายภาครัฐ ต่อผู้ดำเนินนโยบาย หรือแม้แต่ Trust ที่มีต่อภาพความสำเร็จ
โมเดลพัฒนาเศรษฐกิจโลกแบบใหม่ เน้นคุณภาพการเติบโตในระยะยาวมากขึ้น
จากความเสี่ยงรอบด้านที่กล่าวไป ในการประชุมสภาเศรษฐกิจโลก (World Economic Forum : WEF) ณ เมืองดาวอส ในเดือน ม.ค. 2024 ที่ประชุมจึงเห็นพ้องกันว่า การเติบโตของ GDP อย่างเดียวไม่ใช่เป้าหมายที่แท้จริง แต่เป็นเพียงเครื่องมือที่จะนำไปสู่เป้าประสงค์ใหญ่ขึ้น ประเทศต่าง ๆ ควรหันกลับมาให้ความสำคัญกับ “คุณภาพ” ของการได้มาซึ่งการเติบโตทางเศรษฐกิจ และ “คุณภาพ” ที่การเติบโตทางเศรษฐกิจจะสร้างให้เกิดขึ้นต่อชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนในระบบเศรษฐกิจนั้น ๆ WEF จึงเสนอกรอบการเติบโตของเศรษฐกิจเพื่ออนาคต (Future of growth framework) ด้วยการใช้เครื่องมือใหม่ประเมิน “คุณภาพ” ของการเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะยาว (Long-term quality of growth) ที่จะนำไปสู่แนวทางปฏิบัติของแต่ละประเทศ ควบคู่ไปกับการใช้เครื่องมือเดิมในการประเมินเชิง “ปริมาณ” จากตัวเลข GDP (Short-term quantity of growth) โดยจะเป็นการประเมินคุณภาพของการเติบโตทางเศรษฐกิจที่มีความสมดุลมากขึ้นใน 4 เสาหลัก ซึ่งเป็นความพยายามที่จะลดความเสี่ยงในโลกรอบด้านที่กำลังสูงขึ้นด้วย ได้แก่
1. นวัตกรรม (Innovativeness) ระบบเศรษฐกิจสามารถซึมซับและพัฒนาต่อยอดการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีใหม่
2. ความทั่วถึงเท่าเทียม (Inclusiveness) การเติบโตทางเศรษฐกิจ ทุกคนมีส่วนร่วมในโอกาสและประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นจากการพัฒนา
3. ความยั่งยืน (Sustainability) การเติบโตทางเศรษฐกิจที่คำนึงถึงการเติบโตไปกับระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อมในระยะยาว
4. การล้มยากลุกเร็ว (Resilience) ระบบเศรษฐกิจสามารถรับมือเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดใหม่ ๆ และกลับสู่แนวโน้มเดิมได้ภายในเวลาไม่นาน
WEF (2024) รวบรวมข้อมูลคุณภาพของการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกใน 4 เสาหลักข้างต้น พบว่า ภาพรวมของโลกมีคะแนนใน 4 เสาหลักอยู่ในช่วง 45 – 55 คะแนนจากคะแนนเต็ม 100 โดย Innovativeness มีคะแนนน้อยสุด (45.2 คะแนน) ขณะที่ Inclusiveness ได้คะแนนมากสุด (55.9 คะแนน) ประเทศรายได้สูงได้คะแนนในแต่ละเสาหลักสูงกว่าประเทศรายได้ปานกลาง ยกเว้น Sustainability (รูปที่ 5)
WEF ประเมินคุณภาพการเติบโตในระยะยาวของไทยใน 4 เสาหลัก พบว่า ไทยได้คะแนนน้อยสุดในเสาหลัก Sustainability (40.8 คะแนน) เช่นเดียวกับภาพรวมโลก ตามด้วยคะแนนด้าน Innovativeness (47.9 คะแนน) Resilience (51.5 คะแนน) โดยคะแนนของไทยโดยรวมอยู่ในระดับใกล้เคียงกลุ่มประเทศรายได้ปานกลางขั้นสูง ยกเว้นด้าน Sustainability ที่ไทยมีคะแนนต่ำกว่ากลุ่มอยู่มาก นอกจากนี้ คะแนนของไทยยังต่ำกว่ากลุ่มประเทศรายได้สูงค่อนข้างมากในทุกเสาหลัก โดยเฉพาะ Inclusiveness ที่แตกต่างกันมากถึง 13.2 คะแนน ตามด้วยความแตกต่างในด้าน Innovativeness (11.5 คะแนน) Resilience (10.4 คะแนน) และ Sustainability (5 คะแนน) สะท้อนว่าไทยมีปัญหาคุณภาพการเติบโตในระยะยาวมากที่สุดใน 2 เสาหลัก คือ Inclusiveness (คะแนนต่างกับกลุ่มประเทศรายได้สูงมากสุด) และ Sustainability (คะแนนน้อยสุด)
หากวิเคราะห์เสาหลักของคุณภาพการเติบโตของไทยที่ค่อนข้างต่ำ พบว่าด้าน (1) Inclusiveness สะท้อนรายได้ของคนไทยที่กระจุกตัวในกลุ่มคนมีฐานะ ขณะที่ผู้มีรายได้น้อยยังต้องเผชิญปัญหารายได้น้อยไม่เพียงพอต่อรายจ่าย และมีปัญหาหนี้สูง โดยการเติบโตของเศรษฐกิจไทยที่ผ่านมาไม่สามารถกระจายประโยชน์ได้ทั่วถึง ขณะที่ (2) Sustainability สะท้อนการลงทุนในพลังงานหมุนเวียนและนวัตกรรมเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจสีเขียว (Green transition) ของไทยที่อยู่ในระดับต่ำ โดยเฉพาะการให้เงินทุนสนับสนุนการลงทุน
ถึงเวลาที่เศรษฐกิจไทยต้องปรับตัวยกระดับการพัฒนาเชิงคุณภาพ ภายใต้บริบทโลกเปลี่ยนไป
การเติบโตของเศรษฐกิจไทยในเชิงปริมาณและคุณภาพในระยะข้างหน้าจะต้องเผชิญความท้าทายมากขึ้นจากบริบทเศรษฐกิจโลกที่กำลังเปลี่ยนไป การวางนโยบายภาครัฐและภาคเอกชนเพื่อมุ่งให้ระบบนิเวศภายในประเทศเอื้อต่อการปรับตัวในด้านที่ไทยยังได้คะแนนไม่ดีนัก ดังนั้น การกำหนดลำดับความสำคัญในการปรับปรุงระบบนิเวศจึงเป็นสิ่งสำคัญ (รูปที่ 6) SCB EIC ประเมินว่า การยกระดับการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยให้เติบโตอย่างมีคุณภาพสอดคล้องกับโมเดลการพัฒนาเศรษฐกิจแบบเน้นเป้าหมายเชิงคุณภาพมากขึ้น ต้องอาศัยความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนในการปรับปรุงระบบนิเวศสำคัญ ลำดับความสำคัญดังนี้
1. ยกระดับระบบนิเวศทางการเงิน (Financial ecosystem) และระบบนิเวศทางเทคโนโลยี (Technology ecosystem) เป็นลำดับแรก ซึ่งสามารถทำได้ด้วยการนำเสนอเครื่องมือและบริการทางเงินที่ช่วยลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงแหล่งเงินทุน สร้างรายได้และกระจายประโยชน์ในระบบเศรษฐกิจให้ทั่วถึงขึ้น การให้เงินทุนสนับสนุนการลงทุนในพลังงานหมุนเวียน และการสนับสนุนนวัตกรรมใหม่ ๆ โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจสีเขียว ประกอบกับการเพิ่มแรงจูงใจในการแข่งขันและลดกฎระเบียบภาครัฐที่ซ้ำซ้อนจะเอื้อต่อการพัฒนานวัตกรรมใหม่ ๆ ของภาคเอกชน การปรับปรุงระบบนิเวศทางการเงินและทางเทคโนโลยี 2 ด้านนี้ นอกจากจะช่วยแก้ปัญหาและพัฒนาเศรษฐกิจไทยในเสาหลัก Inclusiveness แล้ว ในขณะเดียวกันยังจะช่วยยกระดับคะแนนเสาหลัก Sustainability ได้อีกด้วย
2. ยกระดับระบบนิเวศทางทรัพยากรมนุษย์ (Talent ecosystem) เป็นลำดับต่อมา เพื่อเพิ่มผลิตภาพแรงงานและภาคการผลิตไทย เพราะนอกจากการมุ่งเร่งพัฒนาเชิงคุณภาพในเสาหลัก Inclusiveness และ Innovativeness ก่อน ประเทศไทยยังมีปัญหาการพัฒนาเศรษฐกิจเชิงคุณภาพระยะยาวในเสาหลัก Resilience ด้วย สะท้อนจากคุณภาพและความสามารถในการปรับตัวของแรงงาน รวมถึงภาคการผลิตไทยที่ไม่สามารถตอบสนองต่อความไม่แน่นอนและความเสี่ยงของโลกได้ทัน รวมถึงการเพิ่มผลิตภาพการผลิตของภาคการผลิตไทยให้มีความยืดหยุ่นมากขึ้น สอดรับกับกระแสความยั่งยืน และสามารถเชื่อมโยงเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่อุปทานโลกใหม่ได้ทันบริบทโลกที่เปลี่ยนไป
นัยต่อการปรับตัวของภาคธุรกิจไทย
ภาคธุรกิจไทยควรเตรียมความพร้อมและทำความเข้าใจโจทย์ว่า ธุรกิจจะอยู่รอดต่อไปได้อย่างไรภายใต้บริบทโลกใหม่นี้ เริ่มจากการตั้งคำถามประเมินตัวเองว่า ถึงเวลาต้องทำ Business transformation มุ่งสู่การดำเนินโมเดลธุรกิจในรูปแบบใหม่ (New business model) แล้วหรือไม่ ผ่านการมองภาพใหญ่ว่าธุรกิจต้องการจะปรับตัวไปเป็นอะไร และด้วยเหตุผลสำคัญอะไร การกลับมามองตัวเองเช่นนี้ต้องอาศัยขั้นตอนในการวางกรอบความคิด (Conceptual & Strategy roadmap) ขึ้นก่อน เพื่อไปสู่ขั้นตอนการวางแผนที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางธุรกิจได้จริง ซึ่งจะครอบคลุมขั้นตอนการดำเนินงานและขั้นตอนในการขับเคลื่อนแผน (Implementation & Execution) เพื่อเปลี่ยนจากกรอบความคิดให้ New business model เกิดขึ้นจริง ผ่านการสร้าง “ความพร้อม 4 ด้าน” ของธุรกิจ คือ
1) ความพร้อมของแหล่งเงินทุน (Secured financing) – เตรียมความพร้อมด้านแหล่งเงินทุนผ่านช่องทางแหล่งเงินทุนต่างกันตามขนาดและประเภทของธุรกิจ มีการสื่อสารให้ผู้ถือหุ้นและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งหมดเข้าใจถึงความจำเป็นและแผน New business model เพื่อจะสร้างความยั่งยืนของการทำธุรกิจในระยะสั้นและระยาว ให้มีความเข้าใจถึงผลกำไรบางส่วนของธุรกิจที่จะต้องถูกปันออกมาลงทุนสำหรับอนาคต ซึ่งในช่วงแรกอาจต้องอดทนรอต่อผลสำเร็จที่ยังไม่เห็นในทันทีจากการทำ Business transformation และดูความคืบหน้าตาม Strategic roadmap
ที่วางไว้
2) ความพร้อมของโมเดลปฏิบัติการ (Established operating model) – สร้างโมเดลปฏิบัติการขององค์กร
ให้มีความชัดเจนในแผนการลงทุน ระบบการควบคุมภายใน (Compliance) และกรอบการกำกับดูแล (Governance) ขององค์กร
3) ความพร้อมทางเทคโนโลยีและข้อมูล (Enhanced technology & Data capabilities) – ยกระดับ
ขีดความสามารถขององค์กรด้าน Technology & Data capabilities ให้มีศักยภาพและมีประสิทธิภาพสูงขึ้น ตอบโจทย์ธุรกิจที่คิดมาใหม่ โดยจำเป็นจะต้องมีเครื่องมือเพื่อช่วยลดขั้นตอนกระบวนการทำงาน เพื่อสร้างประสิทธิภาพต้นทุน (Cost efficiency) และเพื่อสร้าง Resiliency ในการทำงาน
4) ความพร้อมของวัฒนธรรมองค์กรและพนักงาน (Transforming culture & Talent) – ปรับวัฒนธรรมองค์กร
และเพิ่มศักยภาพพนักงานให้สอดคล้องกับเป้าหมายใหม่ ซึ่งนอกจากการสื่อสารภายนอกให้เข้าใจวิสัยทัศน์/พันธกิจ (Vision/Mission) ใหม่ขององค์กรแล้ว ผู้นำองค์กรจะต้องสื่อสารภายในให้พนักงานทุกระดับมีความเข้าใจถึงความสำคัญในบทบาทหน้าที่เพื่อจะมุ่งบรรลุเป้าหมายร่วมกัน พร้อมสร้างวัฒนธรรมองค์กรที่คล่องตัวและพร้อมต่อการปรับตัวอยู่ตลอดเวลา
ความสำเร็จในการยกระดับประเทศไทยสู่โมเดลการเติบโตอย่างมีคุณภาพในระยะยาว (Long-term quality of growth) คงไม่สามารถเกิดขึ้นได้จากความรับผิดชอบของหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง แต่จะต้องเป็นความร่วมมือของทุกภาคส่วนเพื่อขับเคลื่อนประเทศไปด้วยกัน โดยต้องอาศัยภาครัฐเป็นเจ้าภาพหรือเป็นแกนกลางในการช่วยสร้างบรรยากาศ
และความพร้อมในการปรับตัวของประเทศ เช่น นโยบายเพิ่มมูลค่าภาคการผลิตไทย (อาทิ ภาคการท่องเที่ยว ภาคอุตสาหกรรมเป้าหมาย) นโยบายส่งเสริมการลงทุนใหม่อย่างมีกลยุทธ์ การลดกฎเกณฑ์ภาครัฐที่เป็นอุปสรรคและเอื้อต่อการประกอบธุรกิจ การยกระดับภูมิทัศน์ภาคการเงินไทย การสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านด้านสิ่งแวดล้อมยั่งยืน และการสนับสนุนให้ภาคธุรกิจไทยล้มยากและลุกเร็วเพียงพอที่จะรับความเสี่ยงรูปแบบใหม่ ๆ ได้
ประเทศไทยควรให้ความสำคัญกับการเติบโตเชิงคุณภาพควบคู่กับการเติบโตของตัวเลข GDP หากปัญหาเชิงคุณภาพของระบบเศรษฐกิจได้รับการแก้ไขให้ถูกจุดแล้ว ย่อมส่งผลบวกกลับมาช่วยให้การเติบโตทางเศรษฐกิจในเชิงปริมาณที่วัดจาก “GDP” ของไทยสูงขึ้นได้ในเวลาเดียวกัน
บทวิเคราะห์โดย… https://www.scbeic.com/th/detail/product/thai-economic-development-model-260424
ผู้เขียนบทวิเคราะห์
วิชาญ กุลาตี (vishal.gulati@scb.co.th) นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส
นายปุณยวัจน์ ศรีสิงห์ (poonyawat.sreesing@scb.co.th) นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส
นางสาวฐิติมา ชูเชิด (thitima.chucherd@scb.co.th) ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยเศรษฐกิจมหภาค