เบื้องลึก ยื้อปรับทัพ – เปิดข้อต่อสู้ ก้าวไกล สู้ ยุบพรรค คดีล้มล้างภาคสอง
คดียุบพรรคก้าวไกลงวดเข้ามาทุกขณะ หลังศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งรับคำร้องไว้วินิจฉัยพฤติการณ์อันควรเชื่อได้ว่า กระทำผิดตามพ.ร.ป.พรรคการเมือง มาตรา 92 วรรคหนึ่ง (1) และ (2) หรือไม่ และให้ส่งชี้แจง-แก้ข้อกล่าวหาภายใน 15 วัน
คำร้องของคณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ “กกต.” ใช้คำวินิจฉัย “คดีล้มล้างภาคแรก” ที่วินิจฉัยว่าการรณรงค์แก้ไขเพิ่มเติม-ยกเลิกประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 โดยใช้เป็นการหาเสียงในการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 66 ที่ผ่านมา เป็นการ “เซาะกร่อน-บ่อนทำลาย” สถาบัน เป็น “สารตั้งต้น” ให้ศาลรัฐธรรมนูญยุบพรรค-เพิกถอนสิทธิรับสมัครเลือกตั้งกรรมการบริหารพรรคก้าวไกลและห้ามไปจดทะเบียนพรรคการเมืองขึ้นใหม่-ตัดสิทธิเป็นกรรมการบริหารพรรคการเมืองที่ไปจดทะเบียนตั้งพรรคการเมืองขึ้นใหม่เป็นระยะเวลา 10 ปี นับตั้งแต่มีคำสั่ง “ยุบพรรค”
จึงไม่ต้องแปลกใจว่า เพราะสาเหตุอันใด ก้าวไกลยังคงใช้กรรมการบริหารพรรค “ชุดเดิม” ในการเดิน “เกมรุก” สู้ศึก “ล้มล้างภาคสอง” ในสมรภูมิ “ยุบพรรค” ไม่มีการเปลี่ยนหัว-ไม่มีการจัดตัวทุกตำแหน่ง การประชุมใหญ่พรรคก้าวไกลล่าสุด จึงยังคงยึดตัว “ผู้เล่นเดิม” หัวหน้าพรรคยังชื่อ “ชัยธวัช ตุลาธน” ประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคยังคงเป็น “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” ไม่เปลี่ยนแทคติกให้เสียรูปขบวน-ลดแรงกระเพื่อมภายใน “พรรคสีส้ม” ไม่ให้ “ลูกพรรค” เกิดความหวั่นไหวจน “พรรคแตก” ไม่เปิดจุดเสี่ยง-เปิดช่องสอยว่าที่แกนนำรุ่นสาม-แถวสี่ ก่อนถึงวัน ว.เวลา น. ที่ศาลรัฐธรรมนูญจะอ่านคำวินิจฉัย “ยุบพรรค”
เปลี่ยนหัวหน้าพรรค-ปรับกก.บห. 3 ครั้ง
กรรมการบริหารพรรคก้าวไกลชุดเลือกตั้ง 66 จาก “ชุดสิบกรรมการบริหารพรรค” จนถึงการประชุมใหญ่วันที่ 6 เมษายน 67 มีการเปลี่ยนหัวหน้าพรรค-ปรับกรรมการบริหารพรรคทั้งหมด 3 ครั้ง ครั้งแรก “หมออ๋อง” ปดิพัทธ์ สันติภาดา ลาออกจากกรรมการบริหารพรรค เมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2566 ไปอยู่พรรคเป็นธรรม เพื่อคง-รั้งตำแหน่ง “รองประธานสภาผู้แทนราษฎร” ไม่ให้พรรครัฐบาล “กินรวบ” ตำแหน่งบนบัลลังก์ประมุขนิติบัญญัติ ทำให้เหลือกรรมการบริหารพรรค 9 คน
ครั้งที่สอง “พิธา” ประกาศ “ลาออก” จากตำแหน่งหัวหน้าพรรค เมื่อวันที่ 15 กันยายน 2566 เพื่อไปสู้ “คดีล้มล้างภาคแรก” ส่งผลให้กรรมการบริหารพรรค “พ้นทั้งคณะ” ทั้ง 8 คน และครั้งที่สาม หลังจาก “พิธา” ลาออก ที่ประชุมใหญ่ได้เลือก “ชัยธวัช” เลขาธิการพรรคในขณะนั้น เป็น “หัวหน้าพรรคก้าวไกลขัดตาทัพ” พ่วงด้วยตำแหน่ง “ผู้นำฝ่ายสภาเฉพาะกิจ” ในสภาผู้แทนราษฎร และขยับ “อภิชาต ศิริสุนทร” มาเป็น “เลขาธิการพรรค ทว่า “กรรมการบริหารพรรคชุดเก่า” มีการ “สลับสองตำแหน่ง” โดย “อภิสิทธิ์ พรมฤทธิ์” มาแทนที่ “อมรัตน์ โชคปมิตต์กุล” ที่ไม่ไปต่อ
เปิดข้อต่อสู้ก้าวไกล “คดีล้มล้างภาคสอง”
“ชัยธวัช” แง้มไพ่ข้อต่อสู้-ข้อกฎหมายที่จะใช้ “หักล้าง” ในชั้นศาลรัฐธรรมนูญ คือ ถึงแม้ว่า “กฎหมายลูก” พ.ร.ป.พรรคการเมือง มาตรา 92 จะให้อำนาจ “ยุบพรรค” แต่ “กฎหมายแม่” รัฐธรรมนูญ ไม่ได้ให้อำนาจศาลรัฐธรรมนูญ “ยุบพรรค” จำกัดขอบเขตอำนาจไว้เพียงแค่ให้ “ยุติการกระทำ” เท่านั้น คู่ขนานกับการยื่นญัตติด่วนขอให้สภาผู้แทนราษฎรตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาขอบเขตอำนาจศาลรัฐธรรมนูญและขอบเขตอำนาจนิติบัญญัติ รวมถึงคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในอดีต ตลอดจนการเดินหน้า “แก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ” ผ่านการตั้ง “สสร.เลือกตั้ง 100%” จำนวน 200 คน
โดยเฉพาะการเปิดเกมรุกของ คณะกรรมาธิการพัฒนาการเมือง การสื่อสารมวลชนและการมีส่วนร่วมของประชาชน สภาผู้แทนราษฎร ที่มี “ไอติม” พริษฐ์ วัชรสินธุ สส.บัญชีรายชื่อ-โฆษกพรรคก้าวไกล เป็นประธาน ผ่าน “คณะอนุกรรมาธิการพิจารณาศึกษาและจัดทำข้อเสนอในการส่งเสริมสถาบันพรรคการเมืองให้ยึดโยงกับประชาชน” ที่มี “พงศธร ศรเพชรนรินทร์” สส.ระยอง พรรคก้าวไกล นั่ง “หัวโต๊ะ” ที่ตั้งแท่นแก้ไข พ.ร.ป.พรรคการเมืองใหม่ ซึ่งการประชุมครั้งที่ 5 เมื่อวันที่ 6 มีนาคมที่ผ่านมา ที่ประชุมได้สรุปในวันนั้นเรื่องการสิ้นสุดของพรรคการเมืองที่กำหนดไว้ว่า เมื่อกกต.มี “หลักฐานอันควรเชื่อได้ว่า” พรรคการเมืองใดกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งตามมาตรา 92 พ.ร.ป.พรรคการเมือง สามารถยื่นศาลรัฐธรรมนูญเพื่อสั่ง “ยุบพรรค” ได้ ถูกใช้เป็น “เครื่องมือกลั่นแกล้ง” ของผู้ที่เห็นต่างทางการเมือง จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องทบทวน-วางหลักเกณฑ์ใหม่
แบ่งรับ–แบ่งสู้ พรรคใหม่–แผนสำรอง
ส่วนแผนสอง-ตั้ง “พรรคใหม่” มาเป็น “ยานแม่ลำใหม่” ของพรรคก้าวไกล ท่ามกลางกระแสข่าว “พรรคสำรอง” ที่โยนหินถามทาง ทั้ง “พรรคอนาคตไกล” และ “พรรคก้าวใหม่” ชัยธวัชยัง “สงวนท่าที” ไม่ยอม “ยกธงขาว” ตั้งแต่ยังไม่ลงสนามสู้ศึก “นิติสงคราม” ครั้งใหม่ ถึงแม้ “ชัยธวัช” จะ “แบ่งสู้” มากกว่า “แบ่งรับ” แต่แสงสปอตไลต์ฉายจับไปที่ “ว่าที่หัวหน้าพรรคคนที่สี่” ของ “พรรคสีส้ม” อย่าง “ไอติม-พริษฐ์” ผู้มาก่อนกาล พร้อมกับแกนนำรุ่นสาม-แถวสามที่จะมา “รับไม้ต่อ” พิธา-ชัยธวัช เพื่อสานต่ออุดมการณ์ของ “พรรคหัวก้าวหน้า” ต่อไป
ขณะเดียวกันพรรคก้าวไกลไม่เพียง “ตั้งรับ” แต่ “โต้กลับ” ด้วยแผนการทำงาน “เชิงรุก” ในช่วงปิดสมัยประชุมสภา เป็นบันได 5 ขั้น ขั้นแรก เตรียม “ยกร่างกฎหมาย” รื้อระบบโครงสร้างอำนาจระบอบเก่าเข้าสภา ทันทีที่เปิดสภาในเดือนกรกฎาคม รวมถึงงานใน “คณะกรรมาธิการ” ที่มี “ขุนพลก้าวไกล” นั่งหัวโต๊ะหลายคณะ เช่น คณะกรรมาธิการความมั่นคงแห่งรัฐ กิจการชายแดนไทย ยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูปประเทศ ที่มี “รังสิมันต์ โรม” เป็นประธาน ขั้นที่สอง งานเชิงพื้นที่-เข้าหาฐานเสียงแบบ “เต็มเวลา” ทุกพื้นที่ ขั้นที่สาม งานเชิงประเด็น ขยายเครือข่าย-ขยายองค์ความรู้เพื่อดีไซน์นโยบายให้เข้าถึง-เข้าใจมากขึ้น ขั้นที่สี่ งานท้องถิ่น เตรียม “ปักธง” สนามเลือกตั้งนายก อบจ. ต้นปี 2568 และ ขั้นที่ห้า งานสร้างพรรค-เติมผู้ร่วมเดินทาง-ร่วมอุดมการณ์เดียวกัน ให้ทะลุ 100,000 คน
ก้าวไกลต้องกัดฟัน–ยื้อเวลาปรับทัพใหม่ ไม่ให้เอฟเฟ็กต์จากคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเป็นชนักปักหลัง แกนนำรุ่นต่อไปบนยานลำใหม่