ก้าวไกล รับเป็นรุก เปิดแผลรัฐบาลเพื่อไทย-เอาคืนองค์กรอิสระ
ตลอดระยะเวลา “ครึ่งปี” ก้าวไกล-พรรคอันดับหนึ่งในฝ่ายนิติบัญญัติ ยังก้าวไม่ไกล โดน “เตะตัดขา” จากอำนาจ 2 เสาหลักใหม่ และ “อำนาจที่สี่” มิหนำซ้ำ ฝ่ายบริหารยัง “เตะถ่วง” ไม่ให้เกินหน้าเกินตา
แม้พรรคก้าวไกลจะกำชัยชนะเลือกตั้งเข้าป้ายเป็นอันดับ 1 แต่ชะตากรรม “พรรค151เสียง” ต้องตกเป็นเหยื่อ “ทฤษฎีสมคบคิด” ของฝ่ายประชาธิปไตยหน้าสองที่ผสมพันธุ์ข้ามขั้วกับฝ่ายอนุรักษนิยม ยอมลบ-ลืมอดีต กีดกัน-ทำทุกวิถีทางเพื่อให้ได้ผลลัพธ์ “พิธา ลิ้มเจริญรัตน” ตกเก้าอี้ “นายกฯคนที่ 30” ผลักก้าวไกลไปเป็นพรรคฝ่ายค้าน
ก้าวไกลบอบช้ำพิษหุ้นไอทีวี – ล้มล้างการปกครอง
ทันทีที่การเมืองเปิดศักราชใหม่ ปีมังกร 2567 พรรคก้าวไกลต้องลงสนาม “นิติสงคราม” ถึง 2 สมรภูมิ เพื่อฟัง “คำพิพากษา” ของศาลรัฐธรรมนูญใน “คดีถือหุ้นสื่อ” และ “คดีแก้ไขมาตรา 112” แม้เอาตัวรอดออกมาได้ แต่ต้อง “บอบช้ำ” เพราะคำวินิจฉัยว่า “พิธา” ถือหุ้นในนาม “ผู้จัดการมรดก” และถือเพียง “หุ้นเดียว” ไม่ได้ แต่ชะตากรรมยังไม่ถึงฆาต เพราะปัจจุบัน “บริษัทไอทีวี” ไม่อยู่ในสถานะที่เป็นสื่อ ขณะที่ “คดี ม.112” แม้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าเป็นการ “ล้มล้างการปกครอง” แต่ “โชคเข้าข้าง” เพราะคำร้องไปไม่สุดให้ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่ง “ยุบพรรค” และ “ตัดสิทธิทางการเมือง” กรรมการบริหารพรรคก้าวไกล เป็นการส่งสัญญาณว่าเส้นทางการเมืองอาจจะซ้ำรอยพรรคอนาคตใหม่ได้ทุกเวลา
แต่พรรคก้าวไกลยัง “หายใจไม่ทั่วท้อง” เพราะยังมี “ดาบสอง” ของ “องค์กรอิสระ” หลังจากมี “นักร้อง” ไปยื่นคำร้องให้เอาผิด “พิธา” และ สส.พรรคก้าวไกล 44 คน ที่ลงชื่อแก้ไขกฎหมายมาตรา 112 ให้คณะกรรมการ ป.ป.ช.ส่งต่อไปยังศาลฏีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองดำเนินคดีข้อกล่าวหา ฝ่าฝืนมาตรฐานจริยธรรมอย่างร้ายแรง และลงโทษตัดสิทธิลงรับสมัครเลือกตั้ง-ห้ามดำรงตำแหน่งทางการเมืองตลอดชีวิต ขณะเดียวกันได้ยื่นให้ กกต.ส่งศาลรัฐธรรมนูญฉายหนัง “คดีล้มล้างภาคสอง” ในตอนจบให้ “ยุบพรรค” จึงเปรียบเสมือนเสียงนาฬิกา “ระเบิดเวลา” รอวันดังขึ้นอีกครั้ง
เตะถ่วงกฎหมายการเงิน 31 ฉบับ
การโดนรุกไล่จากฝ่ายตุลาการ-ฝ่ายบริหารตลอด 6 เดือนที่ผ่านมา พรรคก้าวไกลตั้งหลัก ด้วยการ “เขี่ยลูก” ของ “หมออ๋อง” ปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 1 อดีต สส.- สมาชิกพรรคก้าวไกล บุกไปถึงทำเนียบรัฐบาล เพื่อทวงถาม “ร่างกฎหมายการเงิน” จำนวน 31 ฉบับ หลังจากรัฐบาลเพื่อไทย เตะถ่วง เอาไว้นานมากกว่า 6 เดือน ตั้งแต่วันที่ 1 มี.ค. 2567 โดยอ้างว่า ต้องขอความเห็นจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเสียก่อน
กฎหมายการเงิน 31 ฉบับ ส่วนใหญ่เสนอโดยพรรคก้าวไกล ซึ่งเป็นกฎหมายเคยหาเสียงไว้ในช่วงการเลือกตั้ง เช่น ร่างพ.ร.บ.รับราชการทหาร พ.ศ. …. ร่างพ.ร.บ.ยกเลิกพ.ร.บการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.2551 พ.ศ. …. ร่างพ.ร.บ.ภาษีความมั่งคั่ง พ.ศ. …. ร่างพ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ร่างพ.ร.บ.ภาษีที่ดินรวมแปลง พ.ศ. …. ร่าง พ.ร.บ.การปฏิรูปที่ดินเพื่อประชาชน พ.ศ. …. ร่างพ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ร่างพ.ร.บ.บำนาญพื้นฐานถ้วนหน้า พ.ศ. …. ร่างพ.ร.บ.ยกเลิกประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติและคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ พ.ศ. …. ซึ่งล้วนเป็นกฎหมายเปลี่ยนแปลงโครงสร้าง-รื้อมรดกของคณะรัฐประหารคสช. ที่รัฐบาลไม่อยากให้แตะต้องและพรรคฝ่ายขวาหวงเหมือนไข่ในหิน อย่างน้อยก็ไม่ยื่นดาบให้พรรคก้าวไกลแย่งซีน-แย่งผลงาน เป็นคะแนนเสียงในการเลือกตั้งครั้งหน้า
ซักฟอกไม่ลงมติ-เปิดแผลฝ่ายบริหาร
พรรคก้าวไกลเตรียม “เปิดแผล” รัฐบาลที่มีพรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำ ด้วยการยื่นญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปแบบไม่ลงมติ ไม่ต่ำกว่า 2 วัน โดยปักหมุดไว้หลังการอภิปรายร่าง พ.ร.บ.งบประมาณปี 67 วาระสองและวาระที่สาม ในวันที่ 20-21 มี.ค. 67 ตามไทม์ไลน์คือ วันที่ 3-5 เม.ย. 67 ทิ้งทวนก่อนสภาปิดสมัยประชุม โดยมี “เป้าใหญ่” คือ “ทักษิณ ชินวัตร” ว่าด้วย หลักนิติธรรมในกระบวนการยุติธรรมถูกทำลาย-เลือกปฏิบัติ และ “ภาวะผู้นำ” ของนายกรัฐมนตรี “เศรษฐา ทวีสิน” ตั้งคำถามถึงประสิทธิภาพ-ความสามารถ-ผลงาน รวมถึงวุฒิภาวะและจริยธรรมในการบริหารประเทศ
ทว่าคำถามที่พรรคก้าวไกลต้องตอบกองเชียร์-กองทัพสีส้ม คือ สาเหตุใดจึงไม่เปิดศึกใหญ่-ซักฟอกแบบลงมติไม่ไว้วางใจ หรือเป็นเพราะต้องการทอดสะพานไมตรีให้กับพรรคเพื่อไทย เพื่อหวังว่าจะกลับไปจับมือเป็นพรรคร่วมรัฐบาลฝ่ายประชาธิปไตยในฝันอีกครั้ง มีดีลอะไรที่กับ “นายใหญ่” ที่จะ “เปลี่ยนตัวนายกฯ” จาก “เศรษฐา” เป็น “พิธา” หลังจาก “สว.บทเฉพาะกาล” หมดวาระในเดือนพฤษภาคมหรือไม่ ยังเป็นคำถามที่พรรคก้าวไกลจะต้องเคลียร์ให้กระจ่าง
เอาคืน ศาลรธน.กินแดนนิติบัญญัติ
คู่ขนานกับการเตรียม “เอาคืน” พรรคก้าวไกลหลังพิงเชือก-เข้ามุมให้คู่ต่อสู้สาวหมัดใส่อยู่ฝ่ายเดียว โดยเฉพาะศาลรัฐธรรมนูญที่มีคำวินิจฉัยคดีแก้ไขมาตรา 112 “กินแดน” ฝ่ายนิติบัญญัติ ที่มีหน้าที่-อำนาจในการออกกฎหมาย โดยยื่น “ญัตติด่วน” ขอให้สภาผู้แทนราษฎรตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาขอบเขตอำนาจศาลรัฐธรรมนูญและขอบเขตอำนาจนิติบัญญัติ รวมถึงคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ผ่านมาก่อนหน้านี้ ทั้งคำวินิจฉัยที่ 15-18/2566 ว่า การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับที่มาของสว.ขัดแย้งต่อหลักการพื้นฐานและเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ หรือ คำวินิจฉัยที่ 18-22/2555 และคำวินิจฉัยที่ 4/2564 เรื่องการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญเป็นผู้จัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่
ตราบใดที่พรรคก้าวไกลยังถือธงทางความคิดแหลมคม-วางตัวเป็นปฏิปักษ์กับปัญหาเชิงโครงสร้าง ผ่าน “เกมใหญ่” การแก้กฎหมายที่กระเทือนผลประโยชน์ทางอำนาจการเมือง-อำนาจทุนมหาศาลของคน 1 เปอร์เซ็นต์ บน “ยอดพีระมิด” การตั้งรับ-รุกกลับ ตามจังหวะการเผชิญหน้าแต่ละเหตุการณ์ยังต้องเป็นไปอีกหลายยก จนกว่าจะมีฝ่ายใดยอมยกธง-โยนผ้าขาวยอมแพ้
จิ๊กซอว์ทางการเมืองขณะนี้ เมื่อต่อกันแล้วจะเป็นภาพใหญ่ เห็นรอยปริ–รอยร้าวของ 3 อำนาจเสาหลัก บริหาร–นิติบัญญัติ–ตุลาการที่ “ล้ำเส้น” ก่อนจะไปสู่จุดแตกหัก