“ทักษิณ” คัมแบ็ก เขย่าครม.เศรษฐา – เปลี่ยนตัวนายกฯ ?
18 ก.พ. 2567 เป็น “วันแรก” ที่ “ทักษิณ ชินวัตร” นักโทษเด็ดขาด คืนสู่อิสรภาพ-ได้รับการ “พักโทษ” จากชั้น 14 โรงพยาบาลตำรวจ ถึง “บ้านจันทร์ส่องหล้า” โดยสวัสดิภาพเมื่อเวลา 06.33 นาฬิกา
18 ปี ทักษิณ “เว้นระยะห่าง” จากอำนาจข้ามโลก หลังโดนรัฐประหารข้ามทวีป เมื่อวันที่ 19 ก.ย. 2549 ขณะเดินทางไปประชุมสมัชชาใหญ่สหประชาชาติ ณ นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา เป็นรอบ 23 ปีของ ทักษิณ “คัมแบ็ก” ศูนย์กลางอำนาจ แบบแนบชิด “ครั้งแรก” นับตั้งแต่พรรคไทยรักไทยชนะการเลือกตั้งเมื่อปี 2544 และปี 2548 เป็นรัฐบาลพรรคเดียว-อำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดที่ไม่มีอำนาจไหนมาต้านทาน “นายกรัฐมนตรี คนที่ 23” ได้
เขย่า “ครม.เศรษฐา” รัฐมนตรีไม่มีผลงาน
ในยุครัฐบาลไทยรักไทย ทักษิณ “ปรับครม.” ทุก 3 เดือน 6 เดือน ทั้ง “ปรับเล็ก” และ “ปรับใหญ่” ไปตามสถานการณ์ รัฐบาลทักษิณ 1 มีการเปลี่ยนแปลงรัฐมนตรี 12 ครั้ง รัฐบาลทักษิณ 2 มีการเปลี่ยนแปลงรัฐมนตรี จำนวน 8 ครั้ง ยุครัฐบาลพลังประชาชน ที่มี “นายกฯนอมินี” สมัคร สุนทรเวช และ “นายกฯน้องเขย” สมชาย วงศ์สวัสดิ์ เป็นตัวตาย-ตัวแทน “ทักษิณ” ปรับครม. 8 ครั้ง และ 3 ครั้ง ตามลำดับ ยุครัฐบาลเพื่อไทย ที่มี “นายกฯน้องสาว” ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร “กุมบังเหียน” มีการปรับครม. 6 ครั้ง ก่อนจะโดนรัฐประหาร-ยึดอำนาจ 2 ครั้ง ในปี 2549 และ 22 พ.ค. 2557
ยุคใหม่ร่วมสมัย-รัฐบาลเพื่อไทย “สมัยสอง” นักวิเคราะห์การเมืองมองว่า มี “ทักษิณ” เป็น “กุนซือใหญ่” ในการวางตัวรัฐมนตรี-จัดแจงเก้าอี้เสนาบดีใน “ครม.เศรษฐา1” ไม่นับคนรอบกายนายเศรษฐาในทำเนียบรัฐบาล ล้วนแต่เป็น “สายตรงทักษิณ” และ “เครือข่ายยิ่งลักษณ์” และ “คนใกล้ชิดอุ๊งอิ๊ง” ทั้งนั้น ทุกสายตาจับจ้องการ “ขยับทางการเมือง” ครั้งแรกในประเทศ ของ “ทักษิณ” แบบไร้ร่องรอย หลังจากได้รับการ “พักโทษ” จะ “ปรับเล็ก” หรือ “ปรับใหญ่” ใครถือ “ตั๋วชั้น14” ไว้ อาจต้องต่อ “ตั๋วใหม่” ใช้ “ตั๋วร่วม” ที่สถานีอำนาจแห่งใหม่ ณ “บ้านจันทร์ส่องหล้า”
ตั๋วร่วม ชั้น14 – บ้านจันทร์ส่องหล้า
เช็กลิสต์รัฐมนตรีที่ถือ “ตั๋วชั้น14” มีไม่ต่ำกว่า 8 ใบ ที่ต้องกระจายความเสี่ยงถือ “ตั๋วบ้านจันทร์ส่องหล้า” เข้าหาทั้งนายใหญ่-นายหญิง และ “นายน้อย” ที่จะไป “ฝึกงาน” ในทำเนียบรัฐบาล บนเก้าอี้รัฐมนตรีกระทรวงใดกระทรวงหนึ่ง และมี “สส.ปาร์ตี้ลิสต์” ที่เป็น “รัฐมนตรีแถวสอง” ขยับขึ้นมาเป็น “รัฐมนตรีแถวหน้า” ส่ง “ตัวจริง” คืนสนามแทน “ตัวสำรอง” เช่น จาตุรนต์ ฉายแสง นพดล ปัทมะ ชูศักดิ์ ศิรินิล สุชาติ ตันเจริญ พล.อ.พิศาล วัฒนวงษ์คีรี รวมถึง “เติมความสด” ที่เป็น “สส.เลือดใหม่-ทายาทบ้านใหญ่” อย่าง “สรวงศ์ เทียนทอง” เลขาธิการเพื่อไทย จิราพร สินธุไพร และ เผ่าภูมิ โรจนสกุล รองหน้าเพื่อไทย
ขณะที่รัฐมนตรีโลกลืม-ไม่มีผลงานต้องหนาว ๆ ร้อน ๆ เก้าอี้ถูกเขย่าให้ร่วงตกจากเก้าอี้ ทั้ง “บิ๊กทิน” สุทิน คลังแสง รมว.กลาโหม ที่ยังไม่มีผลงานเป็นชิ้นเป็นอัน ทั้งการปฏิรูปกองทัพ-ยกเลิกเกณฑ์ทหาร และการล้มเลิก-จมเรือดำน้ำ ที่ยังกล้าๆ กลัว ๆ ต้องให้นายเศรษฐา ลงไปล้วงลูกอยู่บ่อยครั้ง หรือ “ไชยา พรหมา” รัฐมนตรีช่วยเกษตรและสหกรณ์ ที่มักมีข่าว “เกาเหลา” กับ “เจ้ากระทรวง” โดยมีปม “หมูเถื่อน” เป็น “ระเบิดเวลา” รวมถึง “หมอชลน่าน” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ที่มี “บาดแผล” เต็มตัว ตั้งแต่ช่วงตั้งรัฐบาลผสมข้ามสายพันธุ์ นับรวมถึง “เสริมศักดิ์ พงษ์พานิช” รัฐมนตรีวัฒนธรรม ที่ไม่มีความเคลื่อนไหวเป็นดาวเด่นให้รัฐบาล มิหนำซ้ำยังมี “พรรคตัวแปร” อย่างพรรคประชาธิปัตย์ที่จะเป็น “ตัวสอดแทรก” ในการเข้ามา “เสียบ” เป็นพรรคร่วมรัฐบาลที่ “เปิดดีล” ไว้ที่เกาะฮ่องกง
เปลี่ยนตัวนายกฯ เศรษฐา ไฟท์บังคับ
การกลับมาของ “ทักษิณ” หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะส่งผลสะเทือนไปถึงเก้าอี้นายกรัฐมนตรีของ “เศรษฐา ทวีสิน” ให้สั่นคลอน โดยมีไทม์ไลน์ของ “สว.250” ที่จะครบวาระในวันที่ 11 พ.ค. 2567 เป็น “เดดไลน์” ของ “นายกรัฐมนตรี คนที่ 30” ที่มี “อายุงาน” 4 เดือน ที่อาจจะอยู่ “ไม่ครบวาระ4ปี” ได้ทุกเมื่อ โดยมี “แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีเพื่อไทย” อยู่ในตะกร้าอีก 2 คน คือ “อุ๊งอิ๊ง” แพทองธาร ชินวัตร “บุตรสาวคนเล็ก” และนายชัยเกษม นิติสิริ มือกฎหมายประจำครอบครัวชินวัตรอีก 1 คน หรือแม้แต่ “นายกฯนอกตะกร้า” พรรคเพื่อไทย เพราะยังมี “ยิ่งลักษณ์” เป็น “ตัวประกัน” อยู่ต่างแดนอีก 1 คน
ปรากฎการณ์การทำงานชนิด “ไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย” จนเป็นที่น่าสังเกตของ “เศรษฐา” ตลอดทั้งเดือนแห่งความรัก จึงได้เห็นชีพจรลงเท้า-เดินสายออกต่างจังหวัดตลอดทั้งเดือนกุมภาพันธ์ ตั้งแต่วันที่ 9 ก.พ. ลงพื้นตรวจราชการ จังหวัดสระบุรีและจังหวัดลพบุรี วันที่ 17-19 ก.พ. ลงพื้นที่ 3 จังหวัด ภาคอีสาน ได้แก่ นครพนม สกลนคร อุดรธานี และวันที่ 27-29 ก.พ. ลงพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ นราธิวาส-ปัตตานี-ยะลา เป็นการแอคชั่นให้ “ทักษิณ” เห็นว่ายังมีศักยภาพเป็นประมุขตึกไทยคู่ฟ้า ยังไม่ถึงเวลาที่จะ “เปลี่ยนตัว” นายกรัฐมนตรี
ทว่ากลับสวนทางกับ 3 นโยบายเรือธงของรัฐบาลเศรษฐาที่ยังไม่เป็นชิ้นเป็นอัน ทั้งโครงการแลนด์บริดจ์ที่ยังไม่มีกฎหมายมารองรับการลงทุนเมกะโปรเจกต์ 1 ล้านล้านบาท นโยบายซอฟต์พาวเวอร์ที่เป็นเพียง “มาเก็ตติ้ง” ให้กับ “อุ๊งอิ๊ง” ได้มีเวทีสแสดงบทบาท โดยเฉพาะเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท ที่กลับมานับ 1 ใหม่อีกครั้ง โดยการตั้งคณะอนุกรรมการศึกษาความเห็นของคณะกรรกมการกฤษฎีกาและข้อเสนอแนะ 8 ข้อของคณะกรรมการ ป.ป.ช. อีก 30 วัน เศรษฐานอกจากไม่มีลมใต้ปีกแล้ว ยังเป็น “นายกฯขาลอย” รอวัน “เปลี่ยนตัว”