นิรโทษกรรม ล้างผิดคดีการเมือง พิธา-ทักษิณ รับอานิสงส์
ช่วงที่การแก้ไขรัฐธรรมนูญเงียบเสียง รอการปลดล็อก “กฎหมายประชามติ” อีเว้นท์การ “นิรโทษกรรม” ดังกระหึ่ม
การประชุมสภาผู้แทนราษฎรมีมติตั้ง “คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการตราพ.ร.บ.นิรโทษกรรม” ที่มี “ชูศักดิ์ ศิรินิล” มือกฎหมายพรรคเพื่อไทย เป็นประธาน ประดับด้วย “กูรูปรองดอง” ร่วมสังฆกรรม “กฎหมายล้างผิด” เวอร์ชั่น “รัฐบาลผสมข้ามขั้ว” อย่าง “ศ.วุฒิสาร ตันไชย” แห่งสถาบันพระปกเกล้า “ศ.คณิต ณ นคร” เจ้าของตำหรับยาวิเศษ-รายงานผลการศึกแนวทางการสร้างความปรองดองสมาฉันท์ (คอป.) และ “รศ.โคทม อารียา” ที่ปรึกษาสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล โดยมี “เดดไลน์” 60 วัน
4 ร่างกฎหมายล้างผิดพาเหรดเข้าสภา
การตั้ง “กมธ.วิสามัญฯศึกษาแนวทางนิรโทษกรรม” ถูกตั้งข้อกังขา-คำถามเป็นเพียงการ “ดีเลย์” การบรรจุวาระพิจารณา “กฎหมายนิรโทษกรรม” เท่านั้น ไม่ได้มี “อำนาจพิเศษ” ชี้เป็น-ชี้ตาย เพราะปัจจุบันเป็น “ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม” ของพรรคการเมือง-ภาคประชาชน พาเหรด-ต่อคิวรอพิจารณาเข้าสภาไปแล้วล่วงหน้าแล้ว จำนวน 4 ฉบับ คือ ร่าง พ.ร.บ.สร้างเสริมสังคมสันติสุข พ.ศ. …. “ฉบับพรรคลุงตู่” เสนอโดยนายวิชัย สุดสวาสดิ์ สส.ชุมพร พรรครวมไทยสร้างชาติ โดยมี 3 เงื่อนไข -3 ไม่ คือ ไม่นิรโทษกรรมผู้ที่ละเมิดกฎหมายอาญามาตรา 112 ไม่นิรโทษกรรมให้กับผู้ที่ทำการทุจริตคอรัปชั่น และ ไม่นิรโทษกรรมให้ผู้ที่กระทำความผิดอาญาอย่างร้ายแรง
ร่าง พ.ร.บ.สร้างเสริมสังคมสันติสุข พ.ศ. …. ฉบับของ “ปรีดา บุญเพลิง” สส.ปาร์ตี้ลิสต์ พรรคครูไทยเพื่อประชาชน ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่าง “เปิดรับฟังความคิดเห็น” โดยให้การกระทำใด ๆ ของบุคคลที่เกี่ยวเนื่องกับการชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่วันที่ 19 ก.ย. 2549 ถึงวันที่ 30 พ.ย. 2565 ไม่เป็นความผิดทั้งทางอาญาและทางแพ่งต่อไป และให้พ้นจากการกระทำผิดและความรับผิดชอบโดยสิ้นเชิง ยกเว้น “คดีทุจริต” และ “คดีมาตรา 112” หรือ คดีละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง โดยมี “คณะกรรมการกลั่นกรองคดี” เป็นผู้ออก “คำชี้ขาด”
ฉบับประชาชน–ก้าวไกลนิรโทษกรรมเหมาเข่ง
นอกจากนี้ยังมี “ฉบับประชาชาชน” ที่อยู่ระหว่างรวบรวม 10,000 รายชื่อ เพื่อเสนอร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมประชาชน พ.ศ. …. ต่อประธานสภาผู้แทนราษฎรใน “วันแห่งความรัก” 14 ก.พ.นี้ ประกอบด้วย 13 มาตรา โดยนิรโทษกรรมตั้งแต่วันที่ 19 ก.ย. 2549 จนถึงวันที่พ.ร.บ.ฉบับนี้มีผลใช้บังคับ โดยตั้ง “คณะกรรมการนิรโทษกรรมประชาชน” ที่มีประธานสภาผู้แทนราษฎรเป็นประธาน พิจารณาการกระทำเป็นรายบุคคล-รายคดี-รายเหตุการณ์ ให้เสร็จภายใน 2 ปี ขยายได้ไม่เกิน 1 ปี
โดยเฉพาะฉบับของพรรคก้าวไกล-ร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมแก่บุคคลซึ่งได้กระทำความผิดอันเนื่องมาจากเหตุการณ์ความขัดแย้งทางการเมือง พ.ศ. …. ซึ่งถูกบรรจุเข้าระเบียบวาระแล้ว แต่โดยแตะเบรก-ตั้ง “กมธ.วิสามัญดีเลย์ล้างผิด” เสียก่อน แบ่งเป็น 3 ช่วงเวลาเหตุการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองครั้งสำคัญในการปักหมุด-เช็กอิน ช่วงแรก-ตั้งต้น นับตั้งแต่การชุมนุมประท้วงของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยเมื่อวันที่ 11 ก.พ. 2549 ช่วงที่สอง การยึดอำนาจรัฐโดยคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) เมื่อวันที่ 19 ก.ย. 2549 และช่วงที่สาม การยึดอำนาจรัฐโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เมื่อวันที่ 22 พ.ค. 2557 จนถึงปัจจุบัน
ขีดเส้นใต้มาตรา 10 ระบุไว้ว่า ผู้ซึ่งได้รับการนิรโทษกรรม ผู้ใดยังไม่ได้ถูกฟ้องต่อศาลหรืออยู่ระหว่างการสอบสวน ให้พนักงานสอบสวนผู้ซึ่งมีอำนาจสอบสวนหรือพนักงานอัยการระงับการสอบสวนหรือการฟ้องร้อง ในกรณีที่มีการฟ้องร้องเป็นคดีต่อศาล และคดีอยู่ในระหว่างการพิจารณาคดีของศาล ให้ศาลระงับการดำเนินกระบวนการพิจารณา จำหน่ายคดีและให้ปล่อยตัวจำเลยไป ในกรณีที่ได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษบุคคลใด ให้ถือว่าบุคคลนั้นไม่เคยต้องคำพิพากษาว่าได้กระทำความผิด ถ้าผู้นั้นอยู่ระหว่างการรับโทษ ให้ปล่อยตัวผู้นั้นไป
พิธา–ทักษิณ ลุ้น รับอานิสงส์
โดยตั้ง “คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดการกระทำความผิดเพื่อการนิรโทษกรรม” จำนวน 9 อรหันต์ ที่มี ประธานสภาผู้แทนราษฎร เป็นประธาน และ “ผู้นำฝ่ายค้าน” เป็นรองประธาน เพื่อวินิจฉัยการกระทำที่เกิดจาก “มูลเหตุจูงใจทางการเมือง”
อย่างไรก็ตามกำหนด “ข้อยกเว้น” ไม่ได้รับการ “นิรโทษกรรม” คือ การกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้องในเหตุการณ์ชุมนุมประท้วง-สลายการชุมนุม ทั้งในฐานะเป็น “ผู้สั่งการ” หรือผู้ปฏิบัติการทุกขั้นตอน อันเป็นการกระทำเกินสมควรแก่เหตุ การกระทำความผิดต่อชีวิตตามประมวลกฎหมายอาญา เว้นแต่ประมาท และการกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 113
เป็นเกมปรองดอง-นิรโทษกรรมคู่ขนานไปกับ “ดีเดย์” วันที่ 18 ก.พ. 2567 ที่ “ทักษิณ ชินวัตร” ได้จะได้รับการ “พักโทษ” เดินลงจาก “ชั้น14” โรงพยาบาลตำรวจ ไปที่ “บ้านจันทร์ส่องหล้า” สถานที่ “ควบคุมตัว” แห่งใหม่ แต่ “คดี ม.112” ยังเป็น “ชนักปักหลัง” เพราะทันทีที่พ้นโทษวันที่ 22 ส.ค. 2567 “ทักษิณ” จะถูกอายัดตัวทันที ให้กับ “บ้านเก่า” เพื่อขอประกันตัว-สู้คดีต่อไป ระหว่างรอกฎหมายนิรโทษกรรม-ล้างมลทิน ให้กับ “นายใหญ่” ได้ “พ้นผิด” จากวิบากกรรมตั้งแต่ถูกรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 ก.ย. 2549
รวมถึง “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคก้าวไกล ที่โดนศาลแขวงดุสิตพิพากษา จำคุก 4 เดือน รอลงอาญา 2 ปี ปรับ 10,000 บาท คดีชุมนุมที่สกายวอล์ค เมื่อวันที่ 14 ธ.ค. 2562 แม้จะยื่นอุทธรณ์ แต่รัฐธรรมนูญมาตรา 159 กำหนดคุณสมบัตินายกรัฐมนตรีต้อง “ไม่มีลักษณะต้องห้าม” ตามมาตรา 160 (7) คือ ไม่เป็นผู้ต้องคำพิพากษาให้จำคุก แม้คดีนั้นจะยังไม่ถึงที่สุด หรือมีการรอการลงโทษ ไม่แน่ว่า ทั้ง “ทักษิณและพิธา” อาจจะได้รับอานิสงส์จาก “กฎหมายนิรโทษกรรม” เป็นคนแรก ๆ ก็เป็นได้