วิบากกรรม ศักดิ์สยาม คดีซุกหุ้นพ่นพิษ ลามยุบพรรคภูมิใจไทย
มติเสียงข้างมาก 7 ต่อ 1 ของศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้ “ศักดิ์สยาม ชิดชอบ” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม สมัยรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา สิ้นสุดคุณสมบัติความเป็นรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญมาตรา 170 วรรคหนึ่ง (5) ลุกลามเป็นแชร์ลูกโซ่
“คดีซุกหุ้นภาคสาม” ถูกลากไปซ้ำดาบสอง-ดาบสามจากอภิมหาศัตรู ส่งผลกระทบถึงสถานะทางการเมืองเฉพาะตัวของนายศักดิ์สยามร้ายแรงถึง “ประหารชีวิตทางการเมือง” กระเทือนสถานการณ์ของพรรคภูมิใจไทยในอนาคตถึงขึ้น “ยุบพรรค”
ติดแบนรัฐมนตรี 2 ปี – จำคุกสูงสุด 10 ปี
ดาบแรกเมื่อศาลรัฐธรรมนูญตัดสินให้ควาเป็นรัฐมนตรีของนายศักดิ์สยามสิ้นสุดลงเฉพาะตัว เนื่องจากกระทำผิดรัฐธรรมนูญมาตรา 187 รัฐมนตรีต้องไม่เป็นหุ้นส่วนหรือผู้ถือหุ้นในห้างหุ้นส่วน (หจก.บุรีเจริญคอนสตัคชั่น และ บริษัท ศิลาชัย บุรีรัมย์ 1991 จำกัด) ส่งผลให้ขาดคุณสมบัติการเป็นรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญมาตรา 160 (8) ที่กำหนดให้ต้องไม่เป็นผู้เคยพ้นจากตำแหน่งอันเป็นการกระทำต้องห้ามไม่ให้เป็นหุ้นส่วนหรือผู้ถือหุ้นในหจก.มาแล้วไม่ถึง 2 ปี
คำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญที่ชี้ว่า “ศักดิ์สยาม” คือ คนที่ “ถือหุ้นตัวจริง” โดยมี “ศุภวัฒน์ เกษมสุทธิ์” เป็น “นอมินี” และได้มีการทำ “นิติกรรมอำพราง” นำไปสู่ความผิดใน “คดีอาญา” จากกระทำการต้องห้ามตาม พ.ร.บ.การจัดการหุ้นส่วนและหุ้นของรัฐมนตรี พ.ศ.2543 มาตรา 4 (1) ประกอบมาตรา 11 ที่ห้ามไม่ให้รัฐมนตรีเข้าไปบริหาร-ครอบงำ ออกคำสั่งเกี่ยวกับการจัดการหุ้นส่วนหรือหุ้น-จัดหาผลประโยชน์ในหุ้นส่วนหรือหุ้นนั้น หากฝ่าฝืนมาตรา 17 กำหนดโทษจำคุกตั้งแต่ 1 ปี ถึง 10 ปี หรือปรับตั้งแต่ 100,000 บาท ถึง 1 ล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ประหารชีวิตทางการเมือง
แล้วก็เป็นไปตามคาดนักร้อง “ขาประจำ” ศรีสุวรรณ จรรยาไปยื่นต่อ ป.ป.ช.ทันควัน ให้ใช้ไม้บรรทัดวัด“มาตรฐานคนดี” ของ “ศักดิ์สยาม” เพราะอาจเข้าข่ายความผิดมาตรฐานจริยธรรมอย่างร้ายแรงตามรัฐธรรมนูญมาตรา 219 เนื่องจากลากจูง-ผูกโยงกับรัฐธรรมนูญมาตรา 186 วรรคสอง ซึ่งให้นำความในมาตรา 184 (2) ต้องไม่รับหรือแทรกแซงหรือก้าวก่ายการเข้ารับสัมปทานจากรัฐ ฯ หรือเป็นหุ้นส่วนหรือผู้ถือหุ้นในห้างหุ้นส่วนฯ ที่รับสัมปทานหรือเข้าเป็นคู่สัญญา ไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม ที่บังคับกับ สส.-สว. บังคับกับรัฐมนตรีด้วย
ที่ผ่านมามีนัการเมืองที่เป็น สส.-รัฐมนตรี โดน “ศาลฎีกา” ตัดสินเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง-ห้ามดำรงตำแหน่งทางการเมืองใดตลอดไป-เพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง 10 ปี เสมือน “ประหารชีวิตทางการเมือง” มาแล้วหลายราย
นอกจากนี้อย่าลืมว่า “ศักดิ์สยาม” ทั้งก่อน-หลังพ้นจากตำแหน่ง สส.และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมได้ยื่นบัญชีทรัพย์สินและหน้าสินต่อ ป.ป.ช.ไว้แล้ว หาก ป.ป.ช. มีมติตาม พ.ร.ป.ป.ป.ช.มาตรา 114 วรรคสอง (1) ว่านายศักดิ์สยาม “จงใจ” ไม่ยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน จงใจยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินหรือหนี้สินด้วยข้อความอันเป็นเท็จ หรือปกปิดข้อเท็จจริงที่ควรแจ้งให้ทราบ และมีพฤติการณ์อันควนเชื่อได้ว่ามีเจตนาไม่แสดงที่มาทรัพย์สินหรือหนี้สินนั้น ให้ส่งเรื่องต่อไปศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองต่อไป ซึ่งหากศาลฎีกาฯนักการเมืองมีคำพิพากษาว่ากระทำผิดให้เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งตลอดไป ไม่ว่าจะ สส.-สว. รวมถึงสมาชิกสภาหรือผู้บริหารท้องถิ่นตลอดไป และอาจจะเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งสูงสุด 10 ปี รวมถึงไม่มีสิทธิดำรงตำแหน่งทางการเมืองใด ๆ อีกด้วย (พ.ร.ป. ป.ป.ช.มาตรา 81 วรรคหนึ่ง วรรคสอง)
ยุบพรรค – กก.บห. ถูกตัดสิทธิ 10 ปี
ยังไม่จบแค่นั้น ทันทีที่ศาลรัฐธรรมนูญตัดสิน “นักร้อง” อีกคน อย่าง “ทนายอั๋น” ได้ยื่นคำร้องต่อ กกต.ส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยยุบพรรคภูมิใจไทย เนื่องจากกระทำผิดกฎหมายตามพ.ร.ป.พรรคการเมือง ปี 60 มาตรา 92 วรรคหนึ่ง (3) ประกอบมาตรา 72 ที่ห้ามพรรคการเมืองรับบริจาคเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใด โดยรู้หรือควรรู้ว่าได้มาโดยผิดกฎหมาย
โดยก่อนหน้านี้ ผู้ที่มาก่อนกาล อย่าง “ชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์” คู่รัก-คู้แค้น ได้ยื่นคำร้องต่อ กกต.ให้ยุบพรรคภูมิใจไทยมาแล้ว ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนของคณะอนุกรรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงของนายทะเบียนพรรคการเมืองรอวัน ว.เวลา น.หยิบขึ้มาปัดฝุ่น หลังศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยซึ่ง “ผูกพันทุกองค์กร”
หากสุดท้ายศาลรัฐธรรมนูญตัดสินให้ยุบพรรค ผลพวงจากฎหมายพรรคการเมือง มาตรา 92 วรรคสอง จะส่งผลไปถึงคณะกรรมการบริหาร (กก.บห.) พรรคภูมิใจไทยดด้วย ไม่ว่าจะโดนเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง ประกอบมาตรา 94 วรรคสอง ห้ามไม่ให้ไปจดทะเบียนพรรคการเมืองขึ้นใหม่ หรือเป็นกรรมการบริหารพรรคการเมืองหรือมีส่วนร่วมในการจัดตั้งพรรคการเมืองขึ้นใหม่อีก ภายในกำหนด 10 ปี
พิสูจน์ความบริสุทธิ์ถึง “ฎีกา”
หากมองสถานการณ์ที่ “เลวร้ายที่สุด” ยังมี พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานรัฐ พ.ศ.2542 หรือ “กฎหมายฮั้วประมูล” มาตรา 13 กำหนดไว้ว่า ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง หรือกรรมการ หรืออนุกรรมการในหน่วยงานของรัฐ ซึ่งไม่ใช่เป็นเจ้าหน้าที่ในหน่วยงานของรัฐผู้ใด กระทำความผิดตามพ.ร.บ.นี้
หรือกระทำการใด ๆ ต่อเจ้าหน้าที่ในหน่วยงงานรัฐซึ่งมีอำนาจหรือหน้าที่ในการอนุมัติ การพิจารณา หรือการดำเนินการใด ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการเสนอราคาเพื่อจูงใจหรือทำให้จำยอมต้องยอมรับการเสนอราคาที่มีการกระทำความผิดตามพ.ร.บ.นี้ ให้ถือว่าผู้นำกระทำความผิดฐานกระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ ต้องจำคุกตั้งแต่ 7 ปี ถึง 20 ปี หรือจำคุกตลอดชีวิต และปรับตั้งแต่ 140,000 บาท ถึง 400,000 บาท นอกจากนี้ยังมี พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2558 ได้กำหนด “ความผิดมูลฐาน” เกี่ยวกับ ความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการไว้อีกด้วย
“ศักดิ์สยาม” ต้องเผชิญกับ “วิบากกรรม” ขึ้นโรงขึ้นศาล-สู้คดีจนถึงฎีกา เพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์ อย่างน้อยก็ต้องไม่ให้ลุกลามไปถึงพรรคภูมิใจไทย