สนิมเนื้อในพรรคฝ่ายค้าน แพแตก-โดดเดี่ยวก้าวไกล
เอฟเฟกต์จากศึกอภิปรายงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 วงเงิน 3.48 ล้านล้านบาท “ยกแรก” พรรคฝ่ายค้านและพรรครัฐบาลต่างมี “บาดแผล” แม้พรรคเพื่อไทยที่เป็นแกนนำจะมีเสียงอยู่ในกำมือกว่า 314 เสียง
แต่พรรคก้าวไกลเก็บคะแนน-สะสมแต้มไปได้เต็มกระบุงโกย กระทั่งพรรคประชาธิปัตย์ที่ถูกมองว่า ตกต่ำสุดขีด-สิ้นฤทธิ์พรรคเก่าแก่ 7 ทศวรรษ แต่กลับโชว์ลวดลายบนเวทีสภาเรียกศรัทธากลับมาไม่มากก็น้อย
รอยต่อฝ่ายค้าน สด+เก๋า
โฟกัสไปที่ “พรรคร่วมฝ่ายค้าน” แม้จะทำหน้าที่ “ฝ่ายค้านเชิงรุก” ได้อย่างไม่มีที่ติ แต่กลับมีรอยต่อ-ไม่มีเอกภาพ ต่างพรรค-ต่างพวกต่างทำหน้าที่ของตัวเอง ไม่ได้เห็นการ “ผนึกกำลัง” กันอย่างเข้มแข็ง-เข้มข้น
ทั้งในเรื่องการ “รับส่งลูก” และ “ประสานข้อมูล” ระหว่างพรรคก้าวไกลกับพรรคประชาธิปัตย์ให้ออกมาเป็น “ลูกผสม” ที่มีทั้ง “ความเก๋า” และ “ความสด”
แต่สัญญาณบวก-นิมิตหมายที่ดีการ “ทำงานเป็นทีม” ไม่ชิงดี-ชิงเด่น แย่งซีนกัน คือ เห็นการตอบ-โต้แทนของพรรคฝ่ายค้าน เมื่อเห็นแนวโน้มว่าจะเพลี้ยงพล้ำให้กับพรรคเพื่อไทย
โดยเฉพาะพรรคประชาธิปัตย์ที่ดูเหมือนจะผลิต “ดาวรุ่ง” มาประดับเป็น “ดาวสภา” ได้น้อยกว่า-ประสิทธิภาพต่ำกว่า พรรคก้าวไกล ที่เน้นข้อมูลเชิงประจักษ์-วาทะกรรมน้อยมาก
ขณะเดียวกัน “ดาวค้างฟ้า” อย่าง “ชวน หลีภัย” และ “บัญญัติ บรรทัดฐาน” โดนแขวนขึ้นหิ้ง ไม่ได้ลุกขึ้นมาสะบัด “มีดโกน” เชือดเฉือนพรรคเพื่อไทย ปล่อยให้ “จุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์” เป็น “เดอะแบก” แต่เพียงผู้เดียว
ซ้ำรอยงูเห่าไทยสร้างไทย
ในส่วนของพรรคฝ่ายค้านขนาดเล็กอย่างพรรคไทยสร้างไทยของ “คุณหญิงหน่อย” สุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ เกิดอาฟเตอร์ช็อกมากที่สุด หลังมี 3 สส.แหกมติ-โหวตสวนมติร่วมพรรคฝ่ายค้าน จน “ฐากร ตัณฑสิทธิ์” ต้องไขก๊อกจากเก้าอี้เลขาธิการพรรค
ขณะที่ 3 สส.งูเห่า ถูกตั้งกรรมการสอบจริยธรรม โดยมี “โภคิน พลกุล” นั่งหัวโต๊ะ สะเทือนไปถึงพรรคฝ่ายค้านเมื่อพรรคไทยสร้างไทยยืนยันว่าจะไม่ลาออกจากตำแหน่งประธานคณะกรรมาธิการการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
ตามที่พรรคก้าวไกลเรียกร้องหลังทรยศมติวิปฝ่ายค้าน แต่จะยึดข้อตกลงเดิม คือ สลับกันทำหน้าที่ปีเว้นปี นอกจากนี้ยังเกิดความหวาดระแวงกันในพรรคฝ่ายค้านว่าจะในอนาคตจะเกิด “งูเห่าภาคสอง” ซ้ำรอยหรือไม่
เพราะพบว่าในการลงมติร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 67 วาระแรก มี 1 สส.จากพรรคก้าวไกล และ 1 เสียงจากประชาธิปัตย์ “ไม่ (มา) ลงคะแนน”
อภิปรายไม่ไว้วางใจ ศึกใหญ่ลองใจ
จนในที่สุดก็เป็น “งูเห่า” จากพรรคไทยสร้างไทยที่ “ไม่มาลงมติ” กฎหมาย “สุราก้าวหน้า” ของพรรคเพื่อนฝ่ายค้าน-ก้าวไกล จนต้องถูกพรรคเพื่อไทยเตะถ่วง-ซื้อเวลาส่งไปให้ ครม.พิจารณาก่อนรับหลักการ
เกมวัดใจครั้งต่อไปของพรรคฝ่ายค้านว่าจะร่วมหัวจมท้าย-กอดคอไปต่อหรือไม่ คือ การลงมติ “กฎหมายอากาศสะอาด” วาระแรก จำนวน 6 ฉบับ ที่มีทั้งฉบับของ ครม.-พรรคภูมิใจไทย พรรคก้าวไกล และพรรคประชาธิปัตย์เข้าร่วมประกวด
แต่สุดท้ายเชื่อว่า เสียงข้างมากจะลากมติมติที่ประชุมไปใช้ฉบับของครม.-รัฐบาลเป็น “ร่างหลัก” และไปงัดข้อ-ต่อรองกันในชั้นกรรมาธิการ และวาระสอง-วาระที่สามต่อไป
การพิสูจน์ความไว้เนื้อเชื่อใจของพรรคฝ่ายค้านอีกครั้ง หลังจากร่างพ.ร.บ.งบประมาณปี 67 ผ่านวาระที่สาม คือ ศึกซักฟอกรัฐบาลในการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ซึ่งเป็น “ศึกใหญ่” ระหว่างพรรคฝ่ายค้านกับพรรครัฐบาล รวมถึง “ศึกในพรรคฝ่ายค้าน”
วัดใจ ปชป.หักหลัง–ลุ้นฝ่ายค้านแพแตก
ฟางเส้นสุดท้ายที่จะทำให้พรรคฝ่ายค้าน “แพแตก” คือ ผลคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญที่จะเกิดดขึ้นในวันที่ 24 ม.ค. 2567 ใน “คดีหุ้นไอทีวี” และวันที่ 31 ม.ค. 2567 ใน “คดีล้มล้างการปกครอง ฯ”
หาก “ผลเป็นบวก” พรรคฝ่ายค้านที่นำโดยพรรคก้าวไกลก็จะก้าวต่อไปอย่างหนักแน่น เพราะจะได้ “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” กลับมาถือธงเป็น “ผู้นำฝ่ายค้าน”
แต่หากออกมา “ผลเป็นลบ” ทิม-พิธา จะพ้นจากการเป็น สส. ไม่สามารถกลับมาเป็น “หัวขบวน” ให้กับพรรคก้าวไกลในสภา ขณะที่พรรคก้าวไกลเอง จะถูก “นักร้อง” นำผลคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญนำไปร้องให้ “ยุบพรรค” แน่นอน
ถึงวันนั้นพรรคก้าวไกลจะไม่มีสมาธิ และอาจจะ “เสียหลัก” ส่งผลให้ขบวนของพรรคฝ่ายค้าน “เสียการทรงตัว” นำไปสู่การ “โดดเดี่ยว” พรรคก้าวไกล เหมือนกับที่พรรคเพื่อไทยฉีกเอ็มโอยูจัดตั้งรัฐบาลส้มหล่น
เมื่อพรรคร่วมฝ่ายค้านอย่างประชาธิปัตย์ยังไม่เป็นปึกแผ่น เอาแน่เอานอนได้ยาก-เดาใจลำบากว่าในอนาคตจะ “หักหลัง” พรรคก้าวไกล ไปสวมกอดกับพรรคเพื่อไทยหรือไม่
แม้ “เฉลิมชัย ศรีอ่อน” หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์คนที่ 9 จะพยามประคับประคองพรรคเก่าแก่ไม่ให้ “พรรคแตก” กลายเป็น “พรรคต่ำสิบ” ลั่นวาจา-ดักคอ “ลูกน้องทักษิณ” ที่อยู่ในพรรคเก่าแก่ไว้ว่าจะไม่ยอมเป็น “พรรคอะไหล่” ให้พรรคเพื่อไทยก็ตาม