สรุป 12 เหตุการณ์การเมืองร้อนปี 66
จุดพลิกผัน-จุดหักเหเกมอำนาจ ปลายปี 2565 ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า สูตรคำนวณ สส.ปาร์ตี้ลิสต์ หารด้วย 100 – ใบเลือกตั้งสองใบ ไม่ขัดรัฐธรรมนูญ
เป็นที่มาของทางลงจากอำนาจ-ปิดตำนาน พี่-น้อง 3 ป. ท่ามกลางเสียงลือเสียงเล่าอ้างมากมายถึงรอยร้าว-ไม่ลงรอยกันทางอำนาจระหว่าง พี่ใหญ่-บิ๊กป้อม พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรค-แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีจากพลังประชารัฐในขณะนั้น กับน้องเล็ก-บิ๊กตู่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี โดยมีบริวาณล้อมรอบกายของพี่สอง 2 ป.ที่ต่างฝ่ายต่างถือหางกันคนละฝักฝ่าย เป็นฟางเส้นสุดท้ายที่ทำให้พล.อ.ประยุทธ์ ตัดสินใจ “ผ่าครึ่ง สส.” ไปสวมหัวโขนแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีพรรครวมไทยสร้างชาติ
ประยุทธ์ โดดร่วมขบวนรวมไทยสร้างชาติ
วันที่ 9 มกราคม 2566 ที่ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ถือเป็นหลักกิโลเมตรแรกที่พล.อ.ประยุทธ์ ก้าวขึ้นสู่เวทีทางการเมืองเต็มตัว สมัครสมาชิกพรรครวมไทยสร้างชาติตลอดชีพ หลังจากลอยตัวอยู่เหนือความขัดแย้งภายในพรรคพลังประชารัฐ ปล่อยให้พี่ใหญ่-พล.อ.ประวิตร บริหารกลุ่ม-ก็วนอำนาจภายในพรรคที่ไม่เป็นปึกแผ่น ไม่เป็นเอกภาพ ต่อรองเก้าอี้ผู้บริหารในพรรคพลังประชารัฐ โดยใช้ข้อ้างว่าพล.อ.ประยุทธ์ เป็นผู้ตัดสินใจในเก้าอี้บริหารในทำเนียบรัฐบาล ก่อนจะเปิดตัวเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีพรรครวมไทยสร้างชาติเมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2566 ที่อาคารเดอะพอร์ทอล ไลฟ์สไตล์ คอมแพล็กซ์ อิมแพค
เลือกตั้งพฤษภาฯ 66 ส้มทั้งแผ่นดิน
การเลือกตั้งวันที่ 14 พฤษภาคม 2566 เกิดเหตุการณ์พลิกผันทางการเมืองครั้งใหญ่ เมื่อพรรคก้าวไกลหักทุกปากกาเซียน ชนะการเลือกตั้งแบบล็อกถล่ม เป็น “พรรคอันดับหนึ่ง” กวาดเก้า สส.ได้มาถึง 151 ที่นั่ง ในพื้นที่กทม.กวาดมาได้ถึง 32 ที่นั่ง จากทั้งหมด 33 ที่นั่ง ขณะที่คะแนนปาร์ตี้ลิสต์ พรรคก้าวไกลเก็บแต้มเป็นกอบเป็นกำ ได้รับคะแนนป็อบปูลาร์โหวตเป็นอันดับ 1 เกือบจะทุกจังหวัดทั่วประเทศ
เพื่อไทยพ่ายศึกเลือกตั้งครั้งแรกรอบ 22 ปี
ขณะที่พรรคเพื่อไทยต้องอกหัก ไม่สามารถสร้างแผ่นดินไหวทางการเมืองได้เป็นครั้งที่สอง เมื่อหิมะไม่ถล่ม-แลนด์ (ไม่) สไลด์ ถึงแม้จะได้จำนวน สส.141 ที่นั่ง แต่เป็นการพ่ายแพ้การเลือกตั้งครั้งแรกในรอบ 22 ปี นับตั้งแต่ยุคไทยรักไทยชนะเลือกตั้งเมื่อปี 2544 โดยพื้นที่กทม.ได้มาเพียงที่นั่งเดียวจาก สส.อิ่ม-ธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ สส.กทม.เขต 18 ลาดกระบัง ขณะที่ภาคเหนือและภาคอีสานที่เป็นฐานเสียงของตระกูลชินวัตร – ฐานที่มั่นของคนเสื้อแดงก็ถูกตีแตกย่อยยับ เสียแชมป์ให้กับพรรคก้าวไกลไปหลายที่นั่ง
ประยุทธ์ วางมือ–ขึ้นหิ้งองคมนตรี
ความพ่ายแพ้ของพรรคลุงตู่-รวมไทยสร้างชาติ ที่สามารถเกณฑ์ สส.เข้าสภาได้เพียง 36 ที่นั่ง โดยกทม.ไม่ได้ สส.แม้แต่ที่นั่งเดียว ทั้ง ๆ ที่ในการเลือกตั้งปี 62 “กระแสลุงตู่” ในนามพรรคพลังประชารับจะพุ่งแรงสุดขีดกวาดเก้าอี้ สส.กทม.ได้ถึง 12 ที่นั่ง จากทั้งหมด 30 ที่นั่ง เป็นที่มาของการประกาศ “วางมือ” ทางการเมือง ลาออกจากทุกตำแหน่งในพรรครวมไทยสร้างชาติ เมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม 2566 ต่อมาวันที่ 29 พฤศจิกายน 2566 เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา ได้เผยแพร่ พระบรมราชโองการ ประกาศแต่งตั้ง พล.อ.ประยุทธ์ เป็นองคมนตรี ปิดฉากหัวหน้าคสช.- นายกรัฐมนตรี 9 ปีอย่างสวยงาม
พิธา ตกสวรรค์ ไม่ได้เป็นนายกฯ
หลังเลือกกตั้งพฤษภาคม 66 พรรคฝ่ายค้านเดิมนำโดย พรรคก้าวไกลและพรรคเพื่อไทยในฐานะพรรคร่วมรัฐบาลในขณะนั้นที่สามารถรวบรวมเสียงได้เกินครั้ง ร่วมกันเสนอชื่อชื่อนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ สส.ปาร์ตี้ลิสต์-หัวหน้าพรรคและแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีคนเดียวของพรรคก้าวไกลในขณะนั้นเป็นนายกรัฐมนตรี เพียงครั้งเดียว-ครั้งนั้น การเดินสายล็อบบี้ สว.ของพรรคก้าวไกล ที่มี ชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรคก้าวไกลในขณะนั้น กับพรรคเพื่อไทย ที่มี “สมศักดิ์ เทพสุทิน” และ “สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ” แกนนำกลุ่มสามมิตร ไม่เป็นผลสำเร็จ สว.ตัวเต็ง – สว.สายลุง 2 ป. ยังคงใช้นโยบายหาเสียงของพรรคก้าวไกลเรื่องการยกเลิกประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 เป็นข้ออ้างในการลงมติงดออกเสียง-ไม่เห็นชอบนายพิธาเป็นนายกรัฐมนตรี
ก่อนการโหวตนายกรัฐมนตรี ครั้งที่สอง พรรคเพื่อไทยเดินเกมหักเก้าอี้ประธานสภา-ประเคนให้นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา “พรรค 9 ที่นั่ง” อย่างพรรคประชาชาติ เข้าทางการ “ปิด (ปาก) โหวต” ไม่ให้ที่ประชุมสภาเสนอชื่อนายพิธาเป็นนายกรัฐมนตรีรอบที่สอง โดยใช้ เป็นข้ออ้าง เรื่อง “ข้อบังคับ” การประชุมรัฐสภา 2563 ข้อ 41 ญัตติใดตกไปแล้ว (เลือกนายพิธาเป็นนายกรัฐมนตรีครั้งแรก) ห้ามนำญัตติซึ่งมีหลักการเช่นเดียวกันขึ้นเสนออีกในสมัยประชุมเดียวกัน ในที่สุดที่ประชุมรัฐสภามีมติ “เสียงส่วนใหญ่” 395 ต่อ 312 งดออกเสียง 8 ไม่ลงคะแนน 1 เสียง เห็นว่าญัตติเสนอชื่อนายพิธาเป็นนายกรัฐมนตรี ญัตติตกไปแล้ว ไม่สามารถเสนอชื่อนายพิธาซ้ำเป็นครั้งที่สองได้
สว.สายลุงตู่ หัก สว.สายลุงป้อม
การโหวตนายกรัฐมนตรีครั้งที่สาม “ตัวชี้ขาด” ที่ทำให้ นายพิธาไม่ได้เป็นนายกฯ – อุ้มนายเศรษฐา ทวีสิน แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีจากพรรคเพื่อไทย เข้าประตูทำเนียบรัฐบาลได้สำเร็จ คือ “สว.สายลุงตู่” ที่ “หักดิบ” สว.สายลุงป้อม โหวตเห็นชอบให้นายเศรษฐา เป็นนายกรัฐมนตรี คนที่ 30 โดยเฉพาะ สว.สายทหาร-เพื่อนร่วมรุ่นเตรียมทหาร รุ่นที่ 12 และรุ่นน้องบิ๊กตู่ ที่เป็น “ตัวกำหนดเกม” เลือกนายกรัฐมนตรี รวมไปถึงการไฟเขียวแต่งตั้งกรรมการในองค์กรอิสระ อย่าง กกต. และ ป.ป.ช. ที่จะเป็นเครื่องมือ “ชี้เป็นชี้ตาย” นายกฯ เศรษฐา จะอยู่จนถึง 4 ปี หรือจะถูก “เปลี่ยนตัว” ก่อนครบวาระ
16 งูเห่าสีฟ้า จิ้มก้องเพื่อไทย
อีก 1 ตัวแปรสำคัญในการโหวตนายกฯเพื่อไทย คือ พรรคประชาธิปัตย์ ที่มี 16 สส. นำโดย “เดชอิศม์ ขาวทอง” สส.สงขลา และรักษาการรองหัวหน้าพรรคภาคใต้ แหกมติพรรค-โหวตเห็นชอบให้นายเศรษฐา เป็นนายกรัฐมนตรี ท่ามกลางกระแสข่าวลือว่า เป็นดีลลับคนแดนไกลเข้าร่วมรัฐบาลกับพรรคเพื่อไทยในอนาคต หลังจากนายเดชอิศม์ยอมรับว่า ได้เดินทางไปพบนายทักษิณที่เกาะฮ่องกง แต่ไปในนามส่วนตัว จนกลายเป็นที่มาของการสะบัดมีดโกนของนายชวน หลีกภัย ผู้อาวุโสของพรรคเก่าแก่ว่า มีคนเอาพรรคประชาธิปัตย์ไปหากิน ไปเจรจาต่อรองเก้าอี้รัฐมนตรีในรัฐบาลพรรคเพื่อไทย ซึ่งขณะนี้ยังมีเก้าอี้รัฐมนตรีว่างอยู่จำนวน 2 ที่นั่ง
เศรษฐา นายกฯ ส้มหล่น
นายกฯนิด-เศรษฐา กลายเป็นนายกรัฐมนตรี คนที่ 30 ชนิด “ส้มหล่น” เพราะนอกจากปาดหน้านายพิธาเข้าป้ายตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาลแล้ว ยังไร้คู่แข่งในแคนดิเดตพรรคเดียวกันอย่าง อุ๊งอิ๊งค์-แพทองธาร ชินวัตร แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี เบอร์สอง และนายชัยเกษม นิติสิริ แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี เบอร์สาม พรรคเพื่อไทย ทั้งที่นายเศรษฐามีต้นทุนทางสังคมต่ำ เพราะเป็นนายกรัฐมนตรีสมัยแรก ไม่เคยสร้างบารมีเป็นชิ้นเป็นอัน มีแต่วาทะกรรมเรื่องการแก้ปัญหาเศรษฐกิจปากท้อง-แผ่นเสียงตกร่องเรื่องประชาธิปไตย และยังมีไม่ต้นทุนทางการเมืองในพรรคเพื่อไทย เพราะไม่มีสส.ในมือ ไม่มีสิทธิ์ขาดในการสั่ง สส.ให้ซ้ายหัน-ขวาหัน จนถูกนักข่าวทำเนียบตั้งฉายาว่า “เซลส์แมน สแตนด์ชิน”
ทักษิณกลับบ้านครั้งแรกในรอบ 15 ปี
เหตุการณ์ประวัติศาสตร์ทางการเมืองที่ซ้อนกับเหตุการณ์โหวตนายกรัฐมนตรี คนที่ 30 คือ การเดินทางกลับไทยของ “ทักษิณ ชินวัตร” อดีตนายกรัฐมนตรี คนที่ 23 ครั้งแรกในรอบ 15 ปี เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2566 เกิดเสียงอึกทึกตลอดเส้นทางจากอาคาร MJETS สนามบินดอนเมือง ไปยังศาลฎีกาสนามหลวง ก่อนจะไปยังเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร แต่ยังไม่ทันที่ “นักโทษเด็ดขาด” จะก้าวเข้าสู่ประตูเรือนจำ กลางดึกของวันเดียวกันนายทักษิณได้ถูกส่งตัวไปยังโรงพยาบาลตำรวจ ชั้น 14 ด้วยเหตุผล “โรคประจำตัวกำเริบ” นับตั้งแต่นั้นจนถึงวันนี้ล่วงเลย 120 วันไปแล้วที่นายทักษิณยังอยู่โรงพยาบาลตำรวจ ชั้น 14 ท่ามกลางกระแสข่าวว่า นายทักษิณจะได้รับอานิสงส์จากระเบียบกรมราชทัณฑ์ฉบับใหม่ที่จะสามารถรับโทษนอกเรือนจำได้ หรือรอเพียง วัน ว. เวลา น.กลับบ้าน หลังตากจำคุกบนชั้น 14 ครบ 6 เดือน
พระราชทานอภัยโทษ–ลดโทษทักษิณเหลือ 1 ปี
วันที่ 1 กันยายน 2566 เว็บไชต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่พระราชหัตถเลขา พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ประกาศพระราชทานพระมหากรุณาอภัยลดโทษให้ นักโทษเด็ดขาดชาย ทักษิณ ชินวัตร เหลือโทษจำคุกต่อไปอีก 1 ปี ตามกำหนดโทษตามคำพิพากษาเพื่อจะได้ใช้ความรู้ความสามารถ ประสบการณ์ช่วยเหลือและทำคุณประโยชน์แก่ประเทศชาติ สังคมและประชาชนสืบไป
ทั้งนี้ ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองมีคำพิพากษานายทักษิณ จำนวน 3 คดี ได้แก่ คดีหมายเลขแดง ที่ อม.4/2551 (คดีเอ็กซิมแบงก์ปล่อยกู้รัฐบาลเมียนมาร์) ความผิดต่อหน้าที่ราชการ กำหนดโทษจำคุก 3 ปี คดีที่ 2 คดีหมายเลขแดง ที่ อม.10/2552 (คดีหวยบนดิน 2 ตัว 3 ตัว) ความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ความผิดต่อพ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ กำหนดโทษจำคุก 2 ปี คดีที่ 1 กับคดีที่ 2 นับโทษซ้อนกันรวมกำหนดโทษจำคุก 3 ปี และคดีที่ 3 คดีหมายเลขแดง ที่ อม. 5/2551 (แก้ไขสัญญาสัมปทานเอื้อประโยชน์บริษัทชินคอร์ปฯ) ความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ การขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนบุคคลและประโยชน์ส่วนรวม กำหนดจำคุก 5 รวมโทษจำคุก 8 ปี
ฟอร์มรัฐบาล 11 พรรค 314 เสียง
การจัดตั้งรัฐบาลเศรษฐา 1 ถูกเซตไว้หลวม ๆ ตั้งแต่ก่อนโหวตนายกรัฐมนตรีครั้งที่สาม โดยมีนักการเมือง-นักธุรกิจและนายทุนจากขั้วการเมืองเก่า รวมวงแชร์อำนาจกันทั้งในที่ลับ-ที่แจ้ง เพื่อกีดกันพรรคก้าวไกล โดยใช้เรื่องการยกเลิก ม.112 เป็นข้ออ้าง โดยมีแกนนำพรรคร่วมรัฐบาลอย่างพรรครวมไทยสร้างชาติ พรรคพลังประชารัฐ ที่เคยเป็นไม้เบื่อไม้เมากับพรรคเพื่อไทย ชนิดผีไม่เผาเงาไม่เหยียบ ออกมายอมรับต่อหน้าต่อตาว่า กลัวพรรคก้าวไกลมากกว่าการกลับบ้านของนนายทักษิณ สูตรในการฟอร์มครม.เศรษฐา 1 จึงเป็นการ “ครม.ต่างตอบแทน” ที่มีสายตรงตระกูลชินวัตร-คนใกล้ชิดทักษิณและยิ่งลักษณ์อยู่ในวงโคจรอำนาจ ขณะที่พรรค 2 ลุง และนายทุนหนุนหลังก็สมประโยชน์กับการเตะพรรคก้าวไกลออกจากสมการอำนาจ เพราะเป็นปรปักษ์กับเค้าโครงเศรษฐกิจ-การเมือง ที่มีพรรคก้าวไกลเป็นบ่อนทำลาย
เฉลิมชัย หัวหน้าพรรค ปชป.คนที่ 9 – อภิสิทธิ์ลาออก
อีก 1 เหตุการณ์การเมือง ปิดท้ายการเมืองปี 66 คือ การเลือกหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์คนใหม่ หลังจากองค์ประชุมล่มถึง 2 ครั้ง เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2566 โดยที่ประชุมพรรคเก่าแก่มีมติเห็นชอบให้ “เฉลิมชัย ศรีอ่อน” เป็นหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ คนที่ 9 ด้วยคะแนน 88.5 % หลังจาก 10 นาทีที่ ปิดห้อง-กรีดเลือด (สีฟ้า) กับนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ คนที่ 7 ประกาศลาออกจากสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ หลังจากนั้นนายเฉลิมชัยลั่นวาจาหลังรับตำแหน่งหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ว่า จะไม่เป็น “พรรคอะไหล่” ทั้งหมดเป็น 12 เหตุการณ์ทางการเมืองร้อนระอุที่เกิดขึ้นในปี 2566