ชำแหละ “ประชาธิปัตย์” โจทย์ใหญ่ “เฉลิมชัย ศรีอ่อน”
![](https://aec10news.com/wp-content/uploads/2023/12/320434553_564141848411760_475096485454295909_n-1024x683.jpg)
รายงานพิเศษ ชำแหละ “ประชาธิปัตย์” โจทย์ใหญ่ “เฉลิมชัย ศรีอ่อน”
พรรคประชาธิปัตย์ เลือกหัวหน้าพรรคคนใหม่ คือนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน ถือเป็นหัวหน้าพรรค ปชป.คนที่ 9 นับตั้งแต่ตั้งพรรคมา
พ.ศ.นี้สำหรับพรรคประชาธิปัตย์ ต้องเรียกว่าเป็นยุคตกต่ำ คำถามคือ ภายใต้การนำของเสี่ยต่อ “เฉลิมชัย ศรีอ่อน” พรรคการเมืองที่มีการเก่าแก่แห่งนี้ จะไปทางไหน
![](https://aec10news.com/wp-content/uploads/2023/12/356431948_842132667275184_424923476887700982_n-1024x682.jpg)
จุดเด่น-จุดด้อย พรรคประชาธิปัตย์
- จุดเด่น
1)เป็นสถาบันทางการเมือง
พรรคประชาธิปัตย์ถือเป็นพรรคการเมืองพรรคเดียวในประเทศไทยก็ว่าได้ ที่มีความเป็นสถาบันทางการเมือง กล่าวคือเป็นพรรคการเมืองที่ไม่มีใครเป็นเจ้าของ การขับเคลื่อนพรรคเป็นไปตามมติของสมาชิกพรรคและผู้บริหารพรรค
การเป็นสถาบันทางการเมืองเป็นความใฝ่ฝันของหลายพรรคการเมืองที่จะไปถึงจุดนั้น และยังเป็นแนวทางที่ดีสำหรับพรรคการเมือง เพราะการไม่มีเจ้าของคอยกำกับควบคุมสั่งการ ก็ทำให้พรรคการเมืองนั้นๆ มีอิสระในการตัดสินใจ ไม่ใช่การขับเคลื่อนพรรคตามที่เจ้าของพรรคอยากจะให้เป็น
2)ทำหน้าที่ฝ่ายค้านได้ดีเยี่ยม
พรรคประชาธิปัตย์ถือว่าเป็นพรรคการเมืองที่ทำหน้าที่ฝ่ายค้านได้ดีมากเลยทีเดียว หากจำกันได้ในรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร พรรคประชาธิปัตย์ทำหน้าที่เป็นฝ่ายค้านขุดคุ้ยโครงการรับจำนำข้าว จนนำไปสู่การดำเนินคดีจำคุกผู้ที่เกี่ยวข้องไปเป็นจำนวนมาก
และเวลานี้พรรคประชาธิปัตย์ก็เป็นฝ่ายค้านอีกครั้ง จึงเชื่อว่าหากพรรคประชาธิปัตย์มีความเป็นเอกภาพ การทำหน้าที่ฝ่ายค้านของพรรคประชาธิปัตย์จะโดดเด่นขึ้นมาทันใด
- จุดด้อย
1)ภาพลักษณ์แก่
โดยภาพลักษณ์ของพรรคประชาธิปัตย์ในเวลานี้ถูกมองเป็นพรรคการเมืองเก่าแก่ และเป็นองค์กรที่ไม่ทันสมัย ตรงนี้สะท้อนจากการที่คนรุ่นใหม่ของพรรคประชาธิปัตย์ไม่มีความโดดเด่นเท่าที่ควร หากเทียบกับคนรุ่นเก่าภายในพรรค
ด้วยภาพลักษณ์นี้ จึงทำให้พรรคประชาธิปัตย์อาจจะไม่ตอบโจทย์สำหรับคนรุ่นใหม่ หรือคนวัยทำงานที่มองหาพรรคการเมืองที่มีความทันสมัย ก้าวหน้า ไม่ยึดติดอยู่กับกฎเกณฑ์เดิมๆ
2)นโยบายไม่โดน
ในการเลือกตั้งปี 2566 ที่ผ่านมา พรรคประชาธิปัตย์ประกาศว่าจะไม่เน้นนโยบายด้านการประชานิยม เช่น การลด แลก แจก แถม แต่กระนั้นโดยรวมนโยบายพรรคประชาธิปัตย์ก็ไม่มีความโดดเด่นจนจะสามารถเรียกคะแนนนิยมได้
ทั้งนี้ นโยบายของพรรคประชาธิปัตย์เน้นนโยบายแบบกลาง ๆ ไม่หวือหวา จึงทำให้ในช่วงการหาเสียงเลือกตั้ง พรรคประชาธิปัตย์จึงไม่สามารถขายนโยบายได้เลย
3)ทิศทางการเมืองไม่ชัด
พรรคประชาธิปัตย์กลายเป็นพรรคการเมืองที่มีความไม่ชัดเจนในอุดมการทางการเมืองนับตั้งแต่ที่อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ลาออกจากหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ หลังการเลือกตั้งปี 2562
หากจำกันได้ก่อนการเลือกตั้งครั้งนั้นอภิสิทธิ์ ได้ประกาศว่าจะไม่จับกับพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา จัดตั้งรัฐบาล แต่เมื่อนายอภิสิทธิ์ลาออกปรากฏว่า พรรคประชาธิปัตย์ ที่นำโดยนายจุรินทร์ ลักษณะวิศิษฎ์ ก็ไปจับมือตั้งรัฐบาลร่วมกับพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา
เหตุการณ์ครั้งนั้นทำให้พรรคประชาธิปัตย์ต้องสูญเสียจุดยืนทางการเมือง ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญในการทำงานทางการเมือง
แม้กระทั่งปัจจุบัน จุดยืนทางการเมืองของพรรคประชาธิปัตย์ก็ยังไม่มีความชัดเจนนัก เช่น หลังการเลือกตั้งปี 2566 ในขณะที่นายจุรินทร์ ประกาศจับไม่จับมือกับพรรคเพื่อไทยเพื่อจัดตั้งรัฐบาล แต่ก็มีแกนนำประชาธิปัตย์บางส่วน ที่มีความพยายามจะเข้าร่วมรัฐบาลกับพรรคเพื่อไทย
![](https://aec10news.com/wp-content/uploads/2023/12/409602747_918969252920263_6905878281004225484_n-724x1024.jpg)
เฉลิมชัย ลั่น ไม่เป็นอะไหล่
นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวหลังได้เป็นหัวหน้าพรรค ปชป.โดยให้คำมั่นว่า คณะกรรมการบริหารชุดนี้ จะยึดมั่นในอุดมการณ์และหลักการของพรรคประชาธิปัตย์ ให้คำมั่นได้ว่าพรรคประชาธิปัตย์จะไม่มีวันไปเป็นอะไหล่พรรคไหน และการเริ่มต้นที่สำคัญของพรรคประชาธิปัตย์ การขับเคลื่อนเราจะเริ่มทำทันที ทั้งในส่วนของสภา ทั้งในส่วนของกิจกรรมของพรรค สมาชิกพรรค
โจทย์ใหญ่พรรคประชาธิปัตย์
1)เพิ่มจำนวน สส.ในการเลือกตั้งครั้งหน้า
โดยในการเลือกตั้งวันที่ 14 พฤษภาคม 2566 ที่ผ่านมาพรรคประชาธิปัตย์ได้ที่นั่งมาเพียง 25 ที่นั่งถือว่าตกต่ำสุดตั้งแต่ตั้งพรรคมาก็ว่าได้ ซึ่งหากเทียบจากการเลือกตั้งปี 2562 พรรคประชาธิปัตย์มี 53 ที่นั่ง แต่หากเทียบกับการเลือกตั้งในปี 2554 พรรคประชาธิปัตย์มี ส.ส.กว่า 159 ที่นั่ง
จะเห็นว่า 3 การเลือกตั้งที่ผ่านมา จำนวน สส.ของพรรคประชาธิปัตย์นั้นลดลงกว่าครึ่งหนึ่งในการเลือกตั้งแต่ละครั้ง ด้วยเหตุนี้โจทก์ใหญ่ของพรรคประชาธิปัตย์ ก็คือจะทำอย่างไรเพื่อให้ได้ สส.เพิ่มขึ้นมาและกลายเป็นพรรคการเมืองหลักเหมือนเช่นอดีตที่ผ่านมา
2)เรียกความนิยมในตัวพรรค
อีกโจทย์สำคัญของพรรคประชาธิปัตย์ก็คือ การเรียกกระแสหรือความนิยมในตัวพรรคให้กลับมา หากย้อนไปในการเลือกตั้งปี 2554 พรรคประชาธิปัตย์ ถือเป็นพรรคการเมืองอันดับ 2 รองจากพรรคเพื่อไทย แต่เมื่อพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ยึดอำนาจ และมีการตั้งพรรคพลังประชารัฐ ผู้ที่สนับสนุนพรรคประชาธิปัตย์บางส่วนได้หันไปสนับสนุนพรรคพลังประชารัฐและพลเอกประยุทธ์ นั่นจึงทำให้ความนิยมของพรรคประชาธิปัตย์ ตกลงอย่างเห็นได้ชัด
และจนถึงวันนี้พรรคประชาธิปัตย์ไม่ได้เป็นพรรคหลักของการเมืองไทยอีกต่อไป
การที่กระแสความนิยมของพรรคประชาธิปัตย์ตกลงนั้น มีด้วยกันหลายปัจจัย หนึ่งในนั้นคือความไม่ชัดเจนในทิศทางทางการเมือง ประชาธิปัตย์ กลายเป็นพรรคกลางๆที่อาจจะสามารถเข้ากับพรรคการเมืองใดก็ได้ ซึ่งตรงนี้ จึงถือเป็นจุดที่ทำให้พรรคประชาธิปัตย์เสียคะแนน
![](https://aec10news.com/wp-content/uploads/2023/12/339566293_1227730027875100_6641700528429757534_n.jpg)
3)ป้องกันเลือดไหลออก
ในช่วงที่นายจุรินทร์ ลักษณะวิศิษฎ์ ดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ถือเป็นช่วงที่คนของพรรคประชาธิปัตย์ย้ายออกจากพรรคมากที่สุดครั้งหนึ่ง โดยมีบุคคลสำคัญที่ย้ายออกไป เช่น นายกรณ์ จากะติวานิช , นพ.วรงค์ เดชกฤษวิกรม , นายจุติ ไกรฤกษ์ , นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ ฯลฯ
และเมื่อนายเฉลิมชัย นั่งหัวหน้าพรรค มีการลาออกแล้วหลายคน ไม่ว่าจะเป็น คือ นายอภิสิทธิ์ เวชาชีวะ กับ นายสาธิต ปิตุเตชะ นายสาธิตย์ วงศ์หนองเตย เป็นต้น
แน่นอนเมื่อนายเฉลิมชัย ขึ้นนั่งเป็นหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ย่อมทำให้ฝ่ายที่ไม่ได้สนับสนุนนายเฉลิมชัยไม่พอใจ ดังนั้น โจทก์สำคัญอีกหนึ่งประการของนายเฉลิมชัยก็คือการจะทำอย่างไรเพื่อไม่ให้เลือดไหลออกในพรรคประชาธิปัตย์
เพราะการที่เลือดไหลออกนั้น หมายถึงต้องสูญเสียบุคลากร ซึ่งเป็นกำลังสำคัญของพรรคในการดำเนินการเรื่องต่างๆไม่ว่าจะเป็นการจัดทำนโยบาย การทำงานในสภา การสร้างกระแสความนิยม รวมไปถึงการสร้างภาพลักษณ์ความเป็นปึกแผ่นภายในพรรค เป็นต้น