วิบากกรรมก้าวไกล หุ้นสื่อ-ล้มเจ้า ซ้ำรอยอนาคตใหม่?
วันที่ 20 ธ.ค. 2566 ศาลรัฐธรรมนูญนัดไต่สวนคดี “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” สส.บัญชีรายชื่อ ประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคก้าวไกล ถือหุ้นไอทีวี จะ “รอด” เดินกลับเข้าสภาไปทำหน้าที่พรรคฝ่ายค้านอย่างเท่ห์ๆ หรือ จะ “ร่วง” เดินตามรอย “หัวหน้าพรรครุ่นพี่” อย่าง “ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ” ต้องลุ้นกันตัวโก่ง
พิธาโดนศาลรัฐธรรมนูญสั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่ สส.ตั้งแต่วันที่ 19 ก.ค. 2566 กรณีถูกกรรมการการเลือกตั้งร้องกรณีถือหุ้นบริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) ได้ยื่นคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหา พร้อมแนบบัญชีระบุพยานเอกสาร พยานบุคคลและพยานวัตถุ เมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2566 และบัญชีระบุพยานบุคคลเพิ่มเติม ครั้งที่ 1 วันที่ 18 ตุลาคม 2566 วันที่ 12 ธันวาคม 2566 เป็นวันสุดท้ายที่ศาลรัฐธรรมนูญอนุญาตขยายระยะเวลาจัดทำบันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริง-ความเห็นล่วงหน้า
ซุ่มแก้ต่างถือหุ้นไอทีวี
พิธาใช้เวลาซุ่มเก็บตัวเพื่อต่อสู้คดีหุ้นสื่อหามรุ่งหามค่ำ หลังจากลาออกจากหัวหน้าพรรคก้าวไกล โดยมีไม้เด็ดที่ใช้สู้คดีศาลรัฐธรรมนูญประเด็นปัจจุบันบริษัทไอทีวีไม่ได้ประกอบกิจการสื่อสารมวลชน และหุ้นไอทีวีที่ถืออยู่ไม่ใช่ของนายพิธา แต่ถือหุ้นในฐานะ “ผู้จัดการมรดก” โดยมีพยานเอกสารสำคัญ คือ รวมถึงเอกสารการยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินที่นายพิธายื่นต่อ ป.ป.ช.กรณีพ้นจากตำแหน่ง สส.วันที่ 20 มีนาคม 2566 ที่ระบุ “หมายเหตุ” การครอบครองหุ้นไอทีวี จำนวน 4.2 หมื่นหุ้น มูลค่า 44,100 บาท ว่า นายพิธา-ผู้ยื่นในฐานะผู้จัดการมรดก ตามคำสั่งศาลแพ่ง กรุงเทพใต้ คดีหมายเลขแดงที่ 1860/2550 โดยได้รับที่มอบอำนาจจากทายาทผู้มีสิทธิ์รับมรดกของนายพงษ์ศักดิ์ ลิ้มเจริญรัตน์ (พ่อนายพิธา) ผู้ตาย โดยรับโอนหุ้นอันเป็น “กองมรดก” ให้นายพิธาถือครองไว้แทน
นอกจากนี้ยังทีบรรทัดฐานของศาลฎีกาที่มีคำพิพากษาคืนสิทธิผู้สมัครรับเลือกตั้งให้กับ “ชาญชัย อิสระเสนารักษ์” ผู้สมัครรับเลือกตั้ง สส.เขต 2 นครนายก พรรคประชาธิปัตย์ เนื่องจากหุ้นในบริษัทแอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) ที่ถืออยู่มีจำนวนเพียง 200 หุ้น จากจำนวนหุ้นทั้งหมด 2,973,925,791 หุ้น ถือว่าเป็นสัดส่วนที่น้อยมาก ย่อมไม่มีอำนาจสั่งการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารที่เป็นประโยชน์และพรรคการเมืองของนายชาญชัย หรือเป็นโทษแก่ผู้สมัครและพรรคการเมืองอื่น
สู้ดาบสอง ยุบพรรค-ติดสิทธิการเมือง
นอกจากคดี “ถือหุ้นสื่อ” แล้ว พิธาและพรรคก้าวไกล ยังถูก “นักร้อง” ธีรยุทธ สุวรรณเกษร ร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญข้อกล่าวหาใช้สิทธิหรือเสรีภาพล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข กรณีเสนอร่างพ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา เพื่อยกเลิกมาตรา 112 โดยใช้เป็นนโยบายหาเสียงเลือกตั้ง และยังคงดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ขณะนี้อยู่ระหว่างพยานบุคคลส่งบันทึกถ้อยคำ ข้อเท็จจริง-ความเห็นภายในวันที่ 18 ธันวาคม 2566 และศาลกำหนดนัดพิจารณาคดีในวันที่ 20 ธันวาคม 2566 และนัดไต่สวนวันที่ 25 ธันวาคม 2566
คดีคำร้องของนายธีรยุทธ เป็นเพียงการขอให้ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้นายพิธี-พรรคก้าวไกลยุติการกระทำ-เสนอร่างพ.ร.บ.ยกเลิก มาตรา 112 เท่านั้น ศาลรัฐธรรมนูญจึงไม่สามารถตีความเกินขอบเขตคำร้องได้ แต่ถ้าศาลรัฐธรรมนูญมีมติว่าการกระทำนั้นเป็นการล้มล้างการปกครองและสั่งให้หยุดการกระทำดังกล่าว อาจจะเข้าทางนักร้องไปยื่นต่อกกต.ให้ร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้มีคำสั่งยุบพรรคและตัดสิทธิทางการเมืองพรรคก้าวไกลต่อไป
ลุ้น พลิกชนะ คดี 112
ขณะเดียวกันศาลอาญาได้อ่านคำพิพากษาจำคุก 2 กระทง กระทงละ 3 ปี รวม 6 ปี ไม่รอลงอาญา “ไอซ์-รักชนก ศรีนอก” สส.กทม. พรรคก้าวไกล ในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาตรา 14 (2) แต่ทนายความได้ยื่นขออุทธรณ์คดีและขอปล่อยตัวชั่วคราว โดยใช้หลักทรัพย์ 5 แสนบาท ประกอบด้วย ตำแหน่ง สส. ของ “ชัยธวัช ตุลาธน” หัวหน้าพรรคก้าวไกล และเงินสด 3 แสนบาท ในวันเดียวกัน ส่งผลให้ ไอซ์-รักชนก ไม่ต้องนอนเรือนจำ และไม่พ้นจากสมาชิกภาพความเป็น สส.
จากคำพิพากษาศาลอาญาฉบับเต็มที่เผยแพร่ออกมา ระบุถึงพฤติการณ์ของ ไอซ์-รักชนก และการแก้ข้อความหา ไม่มีความน่าเชื่อถือ-ฟังไม่ขึ้น การดิ้นเฮือกสุดท้ายหลังจากได้รับการประกันตัวออกมาเพื่อสู้คดีในชั้นศาลอุทธรณ์และศาลฎีกาโอกาสพลิกชนะเป็นไปได้ยาก ทำได้แค่ “ซื้อเวลา” รอกฎหมายนิรโทษกรรมคดีมาตรา 112 ผ่านการพิจารณาของสภาเท่านั้น ซึ่งการกลับมาชนะอีกสองศาลว่ายากแล้ว กฎหมายนิรโทษกรรมมาตรา 112 ยากยิ่งกว่า
ซ้ำรอยคดีหุ้นสื่อ-ล้มเจ้า อนาคตใหม่
คดีถือหุ้นสื่อ-ล้มล้างการปกครอง เหมือนเป็นวิบากกรรมของพรรคก้าวไกล ตั้งแต่เป็นพรรคนาคตใหม่ จนทำให้ “ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ” ผู้นำทางจิตวิญญาณของพรรคก้าวไกล พ้นจากการเป็น สส.บัญชีรายชื่อ พรรคอนาคตใหม่ ในคดีถือหุ้น บริษัท วี-ลัค มีเดีย จำกัด และถูกยุบพรรคอนาคตใหม่-เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของกรรมการบริหารพรรคอนาคตใหม่ จำนวน 16 คน เป็นระยะเวลา 10 ปี และห้ามจดทะเบียน-มีส่วนร่วมจัดตั้งพรรคการเมืองใหม่ ในคดีกู้ยืมเงินจากนายธนาธร หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ขณะนั้น เป็นสัญญา 2 ฉบับ จำนวน 191.2 ล้านบาท เป็น “นิติกรรมอำพราง” บริจาคเงินให้พรรคอนาคตใหม่เกิน 10 ล้านบาท
ยังมีคดีที่ศาลฏีกาพิพากษา “ประหารชีวิตทางการเมือง” ช่อ-พรรณิการ์ วานิช อดีต สส.ปาร์ตี้ลิสต์และอดีตโฆษกพรรคอนาคตใหม่ โดยตัดสินเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งตลอดไปและห้ามดำรงตำแหน่งทางการเมืองใด ๆ แต่ไม่เพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง กรณีโพสต์ภาพถ่าย-ข้อความ ไม่เหมาะสมต่อสถาบันพระมหากษัตริย์
อย่างไรก็ดี มีคดีที่พ้นผิด กรณี “ณฐพร โตประยูร” ร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ โดย 1 ในคำร้องว่า “สัญลักษณ์พรรค” ของพรรคอนาคตใหม่ เหมือนกับสมาคม “อิลลูมินาติ” ซึ่งเป็นสมาคมที่อยู่เบื้องหลังการล้มล้างการปกครองระบอบกษัตริย์ของหลายประเทศในทวีปยุโรป แต่สุดท้ายศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า การกระทำของธนาธร-ปิยบุตร กรรมการบริกหาร-พรรคอนาคตใหม่ ไม่เป็นการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
ทั้งอดีตพรรคอนาคตใหม่และพรรคก้าวไกลในปัจจุบันยังอยู่ในวัฏจร “คดีหุ้นสื่อ” และ “คดีล้มเจ้า” ต้องกองเชียร์ต้องลุ้นหืดขึ้นคอว่าจะถูก สอยลงจากเก้าอี้ สส.- ยุบพรรค เป็น “ครั้งที่สอง” อีกหรือไม่