เงินดิจิทัล เดิมพันใหญ่ เศรษฐา เพื่อไทย รัฐบาล
นโยบายแจกเงินดิจิทัล ถือเป็นการเดิมพันใหญ่ของเศรษฐา เพื่อไทย รัฐบาล
ขณะนี้รัฐบาลที่นำโดยนายกรัฐมนตรี เศรษฐา ทวีสิน กำลังผลักกันนโยบายหาเสียงสำคัญ คือการแจกเงินดิจิทัล คนละ 1 หมื่นบาท ให้สำเร็จ ด้วยการออก พรบ.กู้เงิน 5 แสนล้าน เพื่อนำงบประมาณมาดำเนินเรื่องดังกล่าว
การกู้เงินดังกล่าว ก่อให้เกิดการถกเถียงกันอย่างมากว่า ทำได้หรือไม่ ที่สำคัญคือ เหมาะสมหรือไม่ ที่จะออก พรบ.กู้เงิน เพื่อมาแจกประชาชน ให้ตอบโจทย์นโยบายหาเสียง
หากยังจำกันได้ ก่อนหน้านั้น เศรษฐา บอกว่า นโยบายดังกล่าว จะไม่มีการกูเเงิน และจะใช้งบประมาณปกติมาดำเนินโครงการ แต่สุดท้าย ก็กลับคำพูด ประกาศออก พรบ.กู้เงิน
สำหรับความคืบหน้าการออก พรบ.กู้เงินนั้น ตอนนี้ ยังคงรอความเห็นจากคณะกรรมการกฤษฏีกา ว่า สามารถทำได้หรือไม่
หากคณะกรรมการกฤษฎีกาบอกว่า ทำได้ ก็จะมีการเสนอร่างกฎหมายเข้าสู่ ครม. และเสนอต่อรัฐสภาต่อไป
แต่ขณะนี้เรื่องดังกล่าว มีผู้ยื่นร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญแล้ว จึงคาดว่า ก่อนที่สภาจะให้ความเห็นชอบ จะต้องผ่านการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญก่อน
เมื่อวันที่ 19 พ.ย.นิด้าโพล เผยผลสำรวจ โดยถามความคิดเห็นของประชาชนต่อแหล่งที่มาของงบประมาณในการจัดทำนโยบายเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท ที่รัฐบาลจะออกพระราชบัญญัติ กู้เงิน 500,000 ล้านบาท และงบประมาณประจำปีอีก 100,000 ล้านบาท พบว่า
ร้อยละ 50.69 ระบุว่า ไม่เห็นด้วยเลย
ร้อยละ 18.70 ระบุว่า ไม่ค่อยเห็นด้วย
ร้อยละ 14.89 ระบุว่า ค่อนข้างเห็นด้วย
ร้อยละ 13.35 ระบุว่า เห็นด้วยมาก
และร้อยละ 2.37 ระบุว่า ไม่ทราบ/ไม่ตอบ/ไม่สนใจ
และเมื่อถามถึงความคิดเห็นต่อนโยบายเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท ภายหลังการแถลงของนายกรัฐมนตรีเศรษฐา ทวีสิน พบว่า
ร้อยละ 29.92 ระบุว่า ไม่เห็นด้วยเลย
ร้อยละ 25.97 ระบุว่า เห็นด้วยมาก
ร้อยละ 25.11 ระบุว่า ค่อนข้างเห็นด้วย
ร้อยละ 18.24 ระบุว่า ไม่ค่อยเห็นด้วย
และร้อยละ 0.76 ระบุว่า ไม่ทราบ/ไม่ตอบ/ไม่สนใจ
มีหลายคนตั้งสมมติฐาน หรือ ข้อสังเกตเกี่ยวกับการออก พรบ.กู้เงิน 5 แสนล้านของรัฐบาล ว่า อาจเป็นการหาทางลงหรือไม่ ซึ่งถ้าเกิดสมมติฐานนี้ มีความเป็นไปได้ ช่วงเวลาไหน คือจังหวะที่ดีที่สุดในการหาทางลง
1)คณะกรรมการกฤษฎีกา
ถ้าความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกา บอกว่า ไม่สามารถกู้เงินได้ เพราะขัดรัฐธรรมนูญ ถือเป็นทางลงดีระดับปานกลาง ไม่ส่งผลกระทบถึงเสถียรภาพของรัฐบาล แต่จะถูกมองว่า “ง่ายเกินไป” เพราะคณะกรรมการกฤษฎีกา ถือเป็นฝ่ายกรองกฎหมายของรัฐบาล หากไม่ผ่านขั้นตอนของคณะกรรมการกฤษฎีกา ก็จะถูกมองว่า เป็นความจงใจของรัฐบาลที่ไม่อยากให้ผ่าน
2)ศาลรัฐธรรมนูญ
หากรัฐบาลต้องการหาทางลงจริง ขั้นตอนของศาลรัฐธรรมนูญ น่าจะเป็นขั้นตอนที่ดีที่สุด กล่าวคือ กว่าจะถึงขั้นตอนนั้น อย่างน้องรัฐบาลก็ได้แสดงให้เห็นถึงความพยายามในการผลักดัน พรบ.กู้เงิน อยากทำตามนโยบายที่หาเสียงเอาไว้ แต่ทำไม่ได้ เนื่องจากศาลรัฐธรรมนูญ สั่งเบรก ดังนั้น คนที่จะตกเป็นจำเลย ก็คือศาลรัฐธรรมนูญ ไม่ใช่รัฐบาล
3)สภา
เป็นด่านที่เสี่ยงที่สุด เพราะหากสภาฯตีตกกฎหมายที่รัฐบาลเสนอ นั่นหมายความว่า รัฐบาลต้องรับผิดชอบด้วยการยุบสภา ด้วยเหตุนี้ หาก พรบ.กู้เงินไปถึงขั้นตอนของสภา ทางเดียวที่รัฐบาลจะต้องทำคือ การผลักดันให้กฎหมายนี้ ให้ผ่านทั้งการพิจารณาของ สส.และ สว.
นโยบายดิจิทัลวอลเล็ต ถือเป็นการเดิมพันครั้งใหญ่ ซึ่งไม่ใช่เฉพาะนายกรัฐมนตรี เศรษฐา ทวีสิน เท่านั้น แต่ยังเดิมพันพรรคเพื่อไทย และรัฐบาลชุดนี้ด้วย
1)เดิมพันเศรษฐา
นโยบายนี้เป็นการเดิมพันอนาคตของนายกฯเศรษฐา เพราะต้องอย่าลืมว่า ตั้งแต่เมื่อครั้งหาเสียงเลือกตั้งของพรรคเพื่อไทยแล้ว เศรษฐา เป็นคนประกาศนโยบายนี้ว่าจะแจกคนละ 1 หมื่นบาท ที่ผ่านมาประชาชนต่างให้ความเชื่อมั่นเศรษฐา ในฐานะนักบริหารบริษัทอสังหาฯ ยักษ์ใหญ่ที่ประสบความสำเร็จสูง หากทำไม่ได้จริง ความน่าเชื่อถือในตัวเศรษฐา ก็จะลดลง และโอกาสการจะกลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกสมัย ก็น้อยลงไปด้วย เพราะประชาชนจะขาดว่าเชื่อถือ
2)เดิมพันเพื่อไทย
ไม่ใช่แค่นายกฯเศรษฐา แต่พรรคเพื่อไทยเอง ก็จะเผชิญความลำบากในการทำงานการเมือง หากไม่สามารถผลักดันโครงการดังกล่าวได้สำเร็จ โดยในการการหาเสียงเลือกตั้ง พรรคเพื่อไทย ประกาศสโลแกนว่า “เพื่อไทย คิดใหญ่ทำเป็น” ถ้าทำไม่ได้อย่างที่พูด ก็จะหลายเป็น “คิดใหญ่ ทำไม่เป็น”
3)เดิมพันรัฐบาล
โครงการดิจิทัลวอลเล็ต ยังเดิมพันรัฐบาลด้วย เพราะนโยบายนี้ มีความเกี่ยวเนื่องกับนโยบายอื่นที่ได้ประกาศไว้ โดยรัฐบาลหวังให้การแจกเงินคนละ 1 หมื่น ไปกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งจะส่งผลให้ GDP โตเฉลี่ยอย่างน้อย 5% ต่อปี จากนั้น ก็จะทำให้ผู้ประกอบการมีความเข้มแข็งมากขึ้น ส่งผลให้สามารถขึ้นค่าแรงขั้นต่ำได้ 600 บาท ในปี 2570 แต่หากทำไม่ได้ ทุกอย่างก็จบ สิ่งที่ประกาศว่า GDP จะโตเฉลี่ยอย่างน้อย 5% ต่อปี และค่าแรงขั้นต่ำ 600 บาทต่อวัน ก็ไม่มีทางเกิดขึ้นได้จริง