ชำแหละไส้ในงบ 67 6 พรรคร่วมรัฐบาล แบ่งเค้ก 3.48 ล้านล้านบาท

6 พรรคร่วมรัฐบาลเพื่อไทย แบ่งเค้ก งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 ก้อนโต วงเงินกว่า 3.48 ล้านล้านบาท ล่าช้าเกินกำหนดกว่า 6 เดือน กระทบชิ่งตัวเลขจีดีพีไตรมาสสามปี 66 ขยายตัวเพียง 1.5 เปอร์เซ็นต์ แม้ “เศรษฐา ทวีสิน” แสดงทีท่าตกใจ หลังเห็นจีดีพีตกต่ำ แต่กลายเป็น “เข้าทาง” การใช้เป็นข้ออ้างออกพ.ร.บ.กู้เงิน 5 แสนล้าน ตอกฝาโลงคำนิยาม-คำนิยมของนายกฯใหญ่-นายกฯน้อย แห่งตึกไทยคู่ฟ้า ว่า วิกฤตเศรษฐกิจ จึงมีความจำเป็น-เร่งด่วนในการกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหญ่
เงินสำรองฉุกเฉินในมือเศรษฐา 9.5 หมื่นล้าน
เม็ดเงินที่อยู่ในมือของ “เศรษฐา” นายกรัฐมนตรีไว้ใช้จ่ายแก้ปัญหาเฉพาะหน้า จำเป็น-เร่งด่วนกว่า 95,000 ล้านบาท ซึ่งอยู่ใน “งบกลาง” วงเงิน 603,265 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2566 จำนวน 12,795 ล้านบาท ที่เหลือประกอบด้วย ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการเสด็จพระราชดำเนินและต้อนรับประมุขต่างประเทศ 800 ล้านบาท ค่าใช้จ่ายตามโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ 2,500 ล้านบาท
ค่าใช้จ่ายชดใช้เงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน 4,000 ล้านบาท ค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลข้าราชการ ลูกจ้างและพนักงานของรัฐ 76,000 ล้านบาท เงินชดเชยค่างานสิ่งก่อสร้าง 800 ล้านบาท เงินช่วยเหลือข้าราชการ ลูกจ้างและพนักงานของรัฐ 4,520 ล้านบาท เงินเบี้ยหวัด บำเหน็จ บำนาญ 329,430 ล้านบาท เงินเลื่อนเงินเดือนและเงินปรับวุฒิข้าราชการ 11,000 ล้านบาท เงินสมทบของลูกจ้างประจำ 440 ล้านบาท เงินสำนอง เงินสมทบ และเงินชดเชยของข้าราชการ 78,775 ล้านบาท
ส่วนกระทรวงดูเหมือนว่าจะเป็น “ไม้เบื่อไม้เมา” กับพรรคเพื่อไทยอย่าง กระทรวงกลาโหม กลับได้รับงบประมาณวงเงินกว่า 198,320.443 ล้านบาท โดยเหล่าทัพเพิ่มขึ้น “ยกแผง” กว่า 3,821.714 ล้านบาท แบ่งออกเป็น สำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม 9,275.441 ล้านบาท กองทัพบก 95,924.624 ล้านบาท กองทัพเรือ 41,086.353 ล้านบาท กองทัพอากาศ 36,411.352 ล้านบาท กองบัญชาการกองทัพไทย 14,771.906 ล้านบาท สถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ 850.765 ล้านบาท ส่วนสำนักงานตำรวจแห่งชาติในยุคที่ถูกมองว่าเป็น “รัฐตำรวจ” วงเงิน 117,198.247 ล้านบาท “เพิ่มขึ้น” กว่า 2,116.843 ล้านบาท
เพิ่มไทยคุมกระทรวงเศรษฐกิจ

เพื่อไทยในฐานะ “พรรคแกนนำ” คุม 7 กระทรวง โดยมี “กระทรวงเศรษฐกิจ” ได้แก่ กระทรวงการคลัง วงเงิน 327,155.144 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 42,000.426 ล้านบาท กระทรวงการต่างประเทศ วงเงิน 9,009.819 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1,453.329 ล้านบาท กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) วงเงิน 8,827.794 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2,041.580 ล้านบาท กระทรวงพาณิชย์ วงเงิน 6,822.025 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 378.739 ล้านบาท กระทรวงซอฟต์พาวเวอร์-วัฒนธรรม วงเงิน 7,016.660 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 281.553 ล้านบาท และกระทรวงสาธารณสุข วงเงิน 165,726.241 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 13,462.351 ล้านบาท
กระทรวงคมนาคม ซึ่งเคยอยู่ในอาณัติของพรรคภูมิใจไทย ในรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ “เปลี่ยนมือ” มาอยู่กับเพื่อไทย มีรัฐมนตรีว่าการ-รัฐมนตรีช่วยว่าการที่มาจากค่ายเพื่อไทยทั้ง 3 คน โดยมี “สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ” คัมแบ็กกระทรวงราชรถ รอบ 18 ปี วงเงิน 183,635.039 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3,322.119 ล้านบาท โดยมี “กรมเกรดเอ” เป็นเครื่องจักรสำคัญ อย่าง กรมทางหลวง จำนวน 121,827.355 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3,010.729 ล้านบาท กรมทางหลวงชนบท จำนวน 47,926.359 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 817.444 ล้านบาท
ขณะที่เครื่องมือทางการเมืองของเพื่อไทยในการโกย “คะแนนนิยม” ตั้งแต่ยุครัฐบาลทักษิณ คือ กองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ วงเงิน 1,266.197 ล้านบาท เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญกว่า 1,112 ล้านบาท รวมถึงกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ วงเงิน 152,738.240 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 10,400 ล้านบาท ขณะที่กองทุนที่เคย “ป๊อบปูลาร์” ในยุครัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ คือ กองทุนประชารัฐสวัสดิการเพื่อเศรษฐกิจฐานรากและสังคม วงเงิน 50,015.273 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 14,500 ล้านบาท
ภูมิใจไทยอู้ฟู่ กระทรวงแสนล้าน

ด้านพรรคร่วมรัฐบาล 5 พรรค พรรคกวาด “กระทรวงบิ๊ก” ที่มีงบประมาณเกินแสนล้านบาท เป็นใครไปไม่ได้ คือ “พรรคเสี่ยหนู” ภูมิใจไทย พรรคร่วมรัฐบาลอันดับสอง 71 เสียง ได้แก่ กระทรวงมหาดไทย วงเงิน 353,12.485 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 27,881.626 ล้านบาท กระทรวงศึกษาธิการ วงเงิน 328,384.658 ล้านบาท กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม วงเงิน 127,546.625 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 2,990.774 ล้านบาท กระทรวงแรงงาน วงเงิน 61,658.301 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 7,332.441 ล้านบาท และกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา วงเงิน 5,591.253 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 295.718 ล้านบาท

ขณะที่ “พรรคสองลุง” ไม่พลาดที่จะจับจองเก้าอี้ที่เป็น “ไข่ในหิน” อย่าง พลังประชารัฐ ตั้งแต่ “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรค สมัยเป็นรองนายกรัฐมนตรี กำกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม วงเงิน 33,230.965 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2,777.070 ล้านบาท และกระทรวง “นอกไส้” เพื่อไทย ที่มี “ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า” เลขาธิการพรรค เป็นเจ้ากระทรวงเกษตรและสหกรณ์ วงเงิน 118,596.068 ล้านบาท “ลดลง” 9,573.489 ล้านบาท ส่วน “พรรคลุงตู่” รวมไทยสร้างชาติ ได้กระทรวงพลังงาน วงเงิน 2,834.550 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 134.552 ล้านบาท และกระทรวงอุตสาหกรรม วงเงิน 4,559.742 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 87.834 ล้านบาท
ฟากพรรคเล็ก พรรคปลาไหลใส่สเก็ต ประชาชาติ กระทรวงยุติธรรม วงเงิน 25,987.634 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1,384.536 ล้านบาท และชาติไทยพัฒนา กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ วงเงิน 25,327.919 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 711.011 ล้านบาท
งบปี 67 มีเวลาใช้ 5 เดือน
สำหรับปฏิทินงบประมาณต้องปรับปรุงกันหลายตลบในช่วงรอยต่อรัฐบาลเก่า-รัฐบาลใหม่ ที่จัดตั้งรัฐบาลล่าช้ามากว่า 3 เดือน แต่หากนับนิ้วตั้งแต่รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ ประกาศยุบสภาเมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2566 กลายเป็น “รัฐบาลรักษาการ” ทำให้การจัดทำงบประมาณล่าช้าไปกว่า กว่า 6 เดือน บวกลบกว่าจะได้ใช้งบประมาณปี 67 กว่า 12 เดือน ซึ่งหลังจากสำนักงบประมาณเสนอกรอบงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2566 วงเงิน 3.48 ล้านล้านบาท ให้ ครม.เห็นชอบเมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2566 แล้ว กว่าสำนักงบประมาณจะจัดพิมพ์ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณปี 2567 เพื่อเสนอ ครม.เห็นชอบเป็น “ดราฟท์สุดท้าย” ก็ล่วงเลยไปถึง วันที่ 26 ธันวาคม 2566
ก่อนที่จะนับ 1 ในการพิจารณาในสภาผู้แทนราษฎร วันที่ 3-4 มกราคม 2567 วาระ 1 ในช่วงมกราคม-เมษายน 2567 คณะกรรมาธิการ พิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณ 2567 วันที่ 3-4 เมษายน 2567 และวาระที่ 2-3 และยังต้องผ่านด่าน สว. ในวันที่ 9-10 เมษายน 2567 ก่อนที่สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี นำร่าง พ.ร.บ.งบประมาณ 2567 ขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย ในวันที่ 17 เมษายน 2567 เพื่อประกาศใช้ กว่างบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 จะได้ใช้ก็ “หืดขึ้นคอ” มิหนำซ้ำยังมีเวลาใช้เพียง 5 เดือน เศรษฐกิจไทยปีหน้า รัฐบาลเศรษฐาจึงฝากความหวังไว้ที่ “แจกเงิน5แสนล้าน” ให้เป็น “ตัวพลิกเกม”