เผือกร้อนหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์คนที่ 9 กู้วิกฤตสูญพันธุ์
การประชุมใหญ่วิสามัญ ครั้งที่ 3/2566 เพื่อเลือกหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์คนใหม่และกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ วันที่ 9 ธ.ค. 2566 ที่โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น หลังองค์ประชุมล่มไปแล้วสองครั้ง
เสียงปี่กลอง ศึกเลือกตั้งหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ คนที่ 9 กลับมาดังกระหึ่ม แบบไม่มีปี่ไม่มีขลุ่ยอีกครั้ง เมื่อ “จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์” รักษาการหัวหน้าพรรคประกาศ “ลาออก” ผ่านไลน์กลุ่มเพื่อน-พี่-น้อง พลพรรคเลือดสีฟ้า เส้นสนกลในการไขก๊อก ข้อมูลในระบบกองทุนเพื่อการพัฒนาพรรคการเมือง “ขัดข้อง” สลับชื่อนายจุรินทร์รักษาการหัวหน้าพรรค เป็น “นราพัฒน์ แก้วทอง” รักษาการรองหัวหน้าพรรคคนที่ 1 สุดท้ายเรื่องมาแดง จึงไม่ปรากฎชื่อทั้งนายจุรินทร์และนายนราพัฒน์เป็นรักษาการหัวหน้าพรรค
สิ้นสภาพพรรค-ไม่มีกิจกรรมการเมือง ไฟต์บังคับ
ไฟต์บังคับให้พรรคประชาธิปัตย์ต้องเลือก “หัวหน้าพรรคคนที่ 9” เป็น “ครั้งที่สาม” เนื่องจากข้อบังคับพรรคประชาธิปัตย์ ข้อ 78 (1) กำหนดไว้ว่า การประชุมที่คณะกรรมการบริหารพรรคจะต้องจัดให้มีขึ้นอย่างน้อยปีละ 1 ครั้งภายในเดือนเม.ย.ของทุกปี ซึ่งล้อมาจากพ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2560 มาตรา 37 ที่เขียนไว้ว่า พรรคการเมืองต้องจัดให้มีการประชุมใหญ่อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง ซึ่งพ.ร.ป.พรรคการเมือง กำหนดการสิ้นสุดของพรรคการเมือง ตามมาตรา 91 (4) พรรคการเมืองย่อมสิ้นสภาพความเป็นพรรคการเมืองเมื่อ ไม่มีการประชุมใหญ่พรรคการเมือง หรือไม่มีการดำเนินกิจกรรมใดทางการเมืองเป็นระยะเวลาติดต่อกัน 1 ปี
ประกอบกับตั้งแต่ไม่มี “หัวหน้าพรรคตัวจริง” มาเกือบ 6 เดือน หลังจากการเลือกตั้ง 14 พ.ค. 2566 ประชาธิปัตย์ไม่มีความเคลื่อนไหว ไม่มีกิจกรรมทางการเมือง ไม่มีบิ๊กอีเวนต์ จนไม่สามารถขับเคลื่อนพรรคทั้งองคาพยพ เพื่อนำไปสู่การฟื้นฟูพรรค-กู้วิกฤตความนิยมของพรรคที่ “ตกต่ำสุดขีด” และมีแนวโน้มที่จะ “สูญพันธุ์” ในอนาคต หลังจาก “เลือดไหลออก” ทั้งในพื้นที่กรุงเทพฯ ที่ “ไม่มีที่ยืน” ให้พรรคแม้แต่ตารางนิ้วเดียว ฐานที่มั่นสำคัญอย่างภาคใต้ ก็โดนพรรครวมไทยสร้างชาติ โกยคะแนนนิยมในฐานะพรรคร่วมรัฐบาล ทำผลงานทิ้งห่างประชาธิปัตย์ไปแล้วหลายขุม หากไม่รีบพลิกตัวกลับมาทวงความยิ่งใหญ่ก่อนถึงการเลือกตั้งปี 70 ประชาธิปัตย์คงจะกลายเป็น “พรรคในตำนาน” ล้านเปอร์เซ็นต์
แก้เกมองค์ประชุมล่ม
ก่อนถึงวันเลือกตั้งหัวหน้าพรรคคนใหม่ กลเกมภายในประชาธิปัตย์รอบใหม่ เข้าทาง “เฉลิมชัย ศรีอ่อน” รักษาการเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ ที่ “โชว์พลังเสียง” ส่วนใหญ่ในคณะกรรมการบริหารพรรคให้มีมติเห็นชอบให้เป็น “รักษาการหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์” อีกตำแหน่งหนึ่ง รุกคืบด้วยการแก้ไขข้อบังคับพรรค โดยการ “เพิ่มองค์ประชุม” ที่มาจากตัวแทนภาค ภาคละ 30 คน รวม 150 คน เพื่อเป็น “องค์ประชุมสำรอง” ไว้ในกรณีองค์ประชุมไม่ครบ 250 คน ส่วนจะล็อก-ไม่ล็อกสเปคหรือไม่ ขึ้นอยู่กับขั้นตอนการเปิดรับสมัครสมาชิกพรรคเป็นองค์ประชุมเพิ่มเติม ตั้งแต่วันที่ 18 พ.ย. จนถึง 22 พ.ย. ทั้งแบบ online และ walk in โดยจะประกาศผู้ผ่านการคัดเลือกในวันที่ 25 พ.ย.
ขึงพืด “กลุ่มอำนาจเก่า” ไม่ให้ขยับตัวด้วยเสียง “ชี้ขาด” หัวหน้าพรรคคนใหม่ ตามข้อบังคับกำหนดให้ สส.ปัจจุบัน 25 คน มีสัดส่วนการลงคะแนน 70 % มี โดยมี 21 สส.ประชาธิปัตย์ที่นายเฉลิมชัยกำไว้อยู่ในมือ ซึ่งเป็น สส.ภาคใต้ 17 คน นำโดย “เดชอิศม์ ขาวทอง” สส.สงขลา รักษาการรองหัวหน้าพรรคภาคใต้ ที่เป็นแคนดิเดตเลขาธิการพรรคคนต่อไป และ “ชัยชนะ เดชเดโช” สส.นครศรีธรรมราช ที่รอ “ส้มหล่น” เป็นเก้าอี้รัฐมนตรี
4 แคนดิเดตหัวหัวหน้าพรรคคนที่ 9
แคนดิเดตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ คนที่ 9 ที่ออกตัวแรงคนแรก – เต็ง 1 เพราะได้รับการสนับสนุนจากนายเฉลิมช้ย คือ “นราพัฒน์” ที่ประกาศอาสาเป็น “หัวขบวนพรรค” ในช่วงเปลี่ยนผ่าน โดยขอเวลาเพียง 1 ปีครึ่ง เพื่อปรับโครงสร้างพรรค ส่วนข่าวลือ “มาดามเดียร์” วทันยา วงษ์โอภาสี ที่ยังเป็นสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ติดต่อกันไม่ถึง 5 ปี ไม่เคยเป็น สส.หรือรัฐมนตรีในนามประชาธิปัตย์ จึงต้องแก้ข้อบังคับกันหลายตลบ-หลายชั้น ด่านแรก สมาชิกที่ที่ประชุมใหญ่มีมติด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่า 3 ใน 4 ของที่ประชุมใหญ่มีมติให้ลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นคณะกรรมการบริหารพรรค และด่านที่สอง การเสนอชื่อผู้เป็นหัวหน้าพรรคต้องมีผู้รับรองไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของผู้ที่อยู่ในที่ประชุม
ส่วนแคนดิเดตหัวหน้าพรรคอีกคน 2 คนที่ “มองข้ามไม่ได้” เพราะมีแบ็กอัพอย่าง “นายหัวชวน” คือ “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” อดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ คนที่ 7 แม้จะยังไม่ได้รับการยืนยันจากปาก แต่ก็มี “กลุ่มเพื่อนอภิสิทธิ์” และ “แม่ยกมาร์ค” เตรียมที่จะเสนอชื่อสู่สนามเลือกตั้งให้คัมแบ็กำหัวหน้าพรรคตลอด 24 ชั่วโมง ต่อจากนั้นก็เป็นหน้าที่ของนายอภิสิทธิ์ว่าจะถอนตัวหรือไม่ รวมไปถึง “จุรินทร์” อดีตหัวหน้าพรรคคนที่ 8 แม้จะลาออกจากรักษาการหัวหน้าพรรคไปแล้ว อาจจะเป็น “แผนซ้อนแผน” แกล้งตายก็เป็นไปได้
องค์ประชุมล่มซ้ำซาก
ที่ผ่านมาองค์ประชุมเลือกหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ล่มถึง 2 ครั้งที่ ครั้งแรก วันที่ 9 กรกฎาคม 2566 เมื่อ “สาธิต ปิตุเตชะ” รักษาการรองหัวหน้าพรรค เสนอ “ยกเว้นข้อบังคับพรรค” ให้ 25 สส.ปัจจุบันมีสัดส่วน-น้ำหนักในการลงคะแนนถึง 70 เปอร์เซ็นต์ โดยเปลี่ยนเป็น “1สิทธิ์1เสียง” แต่ที่ประชุมมติเห็นด้วย ไม่ถึง 3 ใน 5 ทำให้ญัตติของนายสาธิตตกไป ก่อนที่จะพากัน walk out ออกจากห้องประชุมทำให้องค์ประชุมล่ม
ครั้งที่สอง วันที่ 6 ส.ค. 2566 องค์ประชุมมีเพียง 210 คน ยื้อเวลาอย่างไรก็มีไม่ถึง 250 คน เบ่งเต็มที่แล้ว 223 คน ทำให้ “เฉลิมชัย” ออกมาแถลงประณามว่า เป็น “พฤติกรรมเลวทราม” พร้อมกับออกมาแฉ “เกมใต้ดิน” ของกลุ่มขั้วอำนาจเก่าว่า มีการให้องค์ประชุมออกจากห้องประชุม มีการให้องค์ประชุมไม่ลงชื่อในการประชุม มีการให้องค์ประชุมไปเที่ยวประเทศลาว เพื่อไม่ต้องมาประชุมจนองค์ประชุมล่ม ส่วนการประชุมเลือกหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ คนที่ 9 วันที่ 9 เดือน 12 จะเป็นใครโปรดติดตามอย่ากะพริบตา