รู้จัก ‘แลนด์บริดจ์’ อภิมหาโปรเจ็กต์ 1 ล้านล้านบาท เชื่อม ‘อ่าวไทย – อันดามัน’
จากโครงการที่เคยเกือบจะถูกพับในช่วงเริ่มต้นรัฐบาล ‘เศรษฐา ทวีสิน’
วันนี้ ‘แลนด์บริดจ์’ กลับกลายเป็นโครงการระดับทองฝังเพชร ที่รัฐบาลหนีบไป Road Show ทั่วโลก อย่างล่าสุด ณ การประชุมสุดยอดผู้นำเอเปค 2023 ที่นครซานฟรานซิสโก ประเทศสหรัฐอเมริกา ที่นายกฯเศรษฐา ขนสรรพกำลังจากกระทรวงคมนาคม ทั้ง ‘สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ’ รัฐมนตรีว่การการะทรวง, ‘ชยธรรม์ พรหมศร’ ปลัดกระทรวง และ ‘ปัญญา ชูพานิช’ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) หน่วยงาน Think-Tank ของกระทรวงคมนาคม ในฐานะผู้ศึกษาความเป็นไปได้ของโปรเจ็กต์นี้
“ผมเชื่อว่าโครงการนี้จะสามารถดึงดูดนักลงทุน และยกระดับการพัฒนาประเทศไทยไปข้างหน้าอีกขั้นหนึ่งครับ” ข้อความตอนหนึ่งจากทวิตเตอร์ของนายเศรษฐา เมื่อวันที่ 2 พ.ย. 2566 ที่แนบภาพการหารือบนตึกไทยคู่ฟ้า ซึ่งมีนายสุริยะและปลัดกระทรวงคนมคม พร้อมทีมงานอยู่ในภาพดังกล่าวด้วย แสดงให้เห็นว่า รัฐบาลนี้เอาจริงเอาจังกับการปักธงโครงการแลนด์บริดจ์อย่างแน่นอนแล้ว
สำทับกับกระทรวงคมนาคม ที่ตั้งทีม Road Show โปรเจ็กต์นี้ในช่วง 3 เดือนสุดท้ายของปี 2566 (พ.ย. 2566 – ม.ค.2567) ซึ่งจากการไปเยือนหลากหลายประเทศ ก็มีนักลงทุนให้ความสนใจทั้งสหภาพยุโรป ญี่ปุ่น จีน และตะวันออกกลาง เป็นต้น
ทำไมต้องทำ ‘แลนด์บริดจ์’?
หลายคนอาจจะสงสัยว่า ทำไมรัฐบาลถึงโหมกระพือโปรเจ็กต์นี้ชนิดท่องจำ 3 เวลาหลังอาหาร? และโครงการมีความจำเป็นอย่างไร? คำตอบอยู่ในเอกสารที่มีการเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 16 ต.ค. 66 โดยระบุถึงเหตุผลจำเป็นที่ต้องผลักดันโครงการนี้ไว้ 3 ประการ ได้แก่
1.ไทยได้เปรียบในเชิงยุทธศาสตร์ เพราะตำแหน่งในทางภูมิศาสตร์ของประเทศเราตั้งอยู่ศูนย์กลางภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สามารถเชื่อมต่อการจส่งสินค้าไปทางทะเลจีนใต้ และต่อไปถึงทวีปต่างๆทั่วโลก
2.ที่ตั้งของแลนด์บริดจ์ ช่วยลดเวลาในการขนส่งสินค้า และหลีกเลี่ยงปัญหาการขนส่งสินค้าติดขัดบริเวณช่องแคบมะละกาด้วย
3.เห็นโอกาสในการแข่งขันด้านการขนส่งสินค้า โดยเฉพาะสินค้าจำพวกน้ำมันที่ปกติ ช่องแคบมะละกามีการขนส่งประมาณ 15-18% ของจำนวนน้ำมันทั่วโลก
ผ่าเนื้องาน ลงทุน 1 ล้านล้าน
ในส่วนของเนื้องานที่จะต้องทำในโปรเจ็กต์นี้ ตามเอกสารที่เสนอ ครม.ชุดเดียวกัน ระบุไว้ว่า โครงการแลนด์บริดจ์มีประมาณการวงเงินลงทุนโครงการทั้งหมด 1,001,206.47 ล้านบาท เนื้องานสำคัญของโครงการประกอบด้วย 4 เนื้องาน ประกอบด้วย
1.ท่าเรือน้ำลึกฝั่งทะเลอันดามัน ที่แหลมอ่าวอ่าง อำเภอราชกรูด จังหวัดระนอง ออกแบบให้สามารถรองรับสินค้าได้ 20 ล้าน TEUs ขนาดร่องน้ำลึก 21 เมตร
2.ท่าเรือน้ำลึกฝั่งอ่าวไทย ที่แหลมริ่ว อำเภอหลังสวน จังหวัดชุมพร รองรับสินค้าได้ 20 ล้าน TEUs ขนาดร่องน้ำลึก 17 เมตร
3.เส้นทางเชื่อมโยงท่าเรือทั้ง 2 ฝั่ง มีระยะทางประมาณ 90 กม. ประกอบด้วย ทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) ขนาด 6 ช่องจราจร โดยเป็นอุโมงค์ 3 แห่ง ระยะทางอุโมงค์ประมาณ 21 กม., ทางรถไฟขนาดราง 1.435 เมตร (Standard Gauge) จำนวน 2 ทาง โดยเป็นอุโมงค์ 3 แห่ง ระยะทางอุโมงค์ประมาณ 21 กม. ออกแบบเพื่อรองรับการขนส่งตู้สินค้า 2 ชั้นบนแคร่ (Double Stack), ทางรถไฟขนาดราง 1.0 เมตร (Meter Gauge) จำนวน 2 ทาง โดยเป็นอุโมงค์ 3 แห่ง ระยะทางอุโมงค์ประมาณ 21 กม. เพื่อเชื่อมต่อกับระบบโครงข่ายทางรางหลักของประเทศ และพื้นที่สำหรับวางท่อขนส่งน้ำมันสำเร็จรูปและแก๊สธรรมชาติ เพื่อสนับสนุนการขนส่งน้ำมันและแก๊สธรรมชาติทางท่อในพื้นที่ของโครงการ
และ 4. การพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์หลังท่าโดยการถมทะเลเพื่อพัฒนากิจการสนับสนุนท่าเรือ
PPP สัมปทานยาว 50 ปี
สำหรับรูปแบบการลงทุนที่เหมาะสมคือ การร่วมทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน (Public Private Partnership หรือ PPP) ซึ่งเป็นการให้สิทธิแก่เอกชนลงทุนในการก่อสร้างและการบริหารจัดการเป็นระยะเวลา 50 ปี โดยกำหนดให้ภาคเอกชนเป็นผู้ลงทุนโครงการทั้งโครงการ ประกอบด้วย ท่าเรือ ทางรถไฟขนาด 1.435 เมตร และมอเตอร์เวย์ รวมถึงการพัฒนาพื้นที่หลังท่า โดยภาครัฐทำหน้าที่เป็นผู้ดำเนินการเวนคืนที่ดิน ลงทุนทางรถไฟขนาด 1.0 เมตร และกำหนดสิทธิประโยชน์ให้กับเอกชนผู้ร่วมลงทุนในโครงการ โดยแบ่งการลงทุนเป็นระยะ ดังนี้
การลงทุนท่าเรือฝั่งระนอง แบ่งออกเป็น 3 ระยะ ได้แก่ ระยะที่ 1พัฒนาให้สามารถรองรับปริมาณสินค้า จำนวน 6 ล้าน TEUs ในปี พ.ศ. 2573, ระยะที่ 2 พัฒนาให้สามารถรองรับปริมาณสินค้าเพิ่มขึ้น 6 ล้าน TEUs รวมเป็น 12 ล้าน TEUs ในปี พ.ศ. 2577และระยะที่ 3 พัฒนาให้สามารถรองรับปริมาณสินค้าเพิ่มขึ้น 8 ล้าน TEUs รวมเป็น 20 ล้าน TEUs ในปี พ.ศ. 2579
การลงทุนท่าเรือฝั่งชุมพร แบ่งออกเป็น 4 ระยะ ประกอบด้วย ระยะที่ 1 พัฒนาให้สามารถรองรับปริมาณสินค้า จำนวน 4 ล้าน TEUs ในปี พ.ศ. 2573, ระยะที่ 2 พัฒนาให้สามารถรองรับปริมาณสินค้าเพิ่มขึ้น 4 ล้าน TEUs รวมเป็น 8 ล้าน TEUs ในปี พ.ศ. 2577 , ระยะที่ 3 พัฒนาให้สามารถรองรับปริมาณสินค้าเพิ่มขึ้น 6 ล้าน TEUs รวมเป็น 14 ล้าน TEUs ในปี พ.ศ. 2579 และระยะที่ 4 พัฒนาให้สามารถรองรับปริมาณสินค้าเพิ่มขึ้น 6 ล้าน TEUs รวมเป็น 20 ล้าน TEUs ในปี พ.ศ. 2582
แบ่ง 4 เฟส
ระยะที่ 1 ประมาณการลงทุนโครงการ เป็นเงินทั้งสิ้น 522,844.08 ล้านบาท เนื้องานประกอบด้วย
งานก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกฝั่งชุมพร จำนวน 118,519.50 ล้านบาท, งานก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกฝั่งระนอง จำนวน 141,716.02 ล้านบาท, งานก่อสร้างเส้นทางเชื่อมโยง 2 ท่าเรือ จำนวน 195,504.00 ล้านบาท, งานก่อสร้างพื้นที่เปลี่ยนรูปแบบการขนส่งสินค้า จำนวน 60,892.56 ล้านบาท และค่าเวนคืนและจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน จำนวน 6,212.00 ล้านบาท
ระยะที่ 2 ประมาณการลงทุนโครงการ เป็นเงินทั้งสิ้น 164,671.83 ล้านบาท เนื้องานประกอบด้วย
งานก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกฝั่งชุมพร จำนวน 45,644.75 ล้านบาท, งานก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกฝั่งระนอง จำนวน 73,164.78 ล้านบาท, งานก่อสร้างเส้นทางเชื่อมโยง 2 ท่าเรือ จำนวน 21,910.00 ล้านบาท และงานก่อสร้างพื้นที่เปลี่ยนรูปแบบการขนส่งสินค้า จำนวน 23,952.30 ล้านบาท
ระยะที่ 3 ประมาณการลงทุนโครงการ เป็นเงินทั้งสิ้น 228,512.79 ล้านบาท เนื้องานประกอบด้วย
งานก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกฝั่งชุมพร จำนวน 73,221.99 ล้านบาท, งานก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกฝั่งระนอง จำนวน 115,929.76 ล้านบาท และงานก่อสร้างพื้นที่เปลี่ยนรูปแบบการขนส่งสินค้า จำนวน 39,361.04 ล้านบาท
และระยะที่ 4 ประมาณการลงทุนโครงการ เป็นเงินทั้งสิ้น 85,177.77 ล้านบาท เนื้องานประกอบด้วย
งานก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกฝั่งชุมพร จำนวน 68,280.20 ล้านบาทและงานก่อสร้างพื้นที่เปลี่ยนรูปแบบการขนส่งสินค้า จำนวน 16,897.57 ล้านบาท
ทั้งนี้ โครงการนี้คาดการณ์ว่า จะมีผลตอบแทนทางเศรษฐกิจในด้านต่างๆ ดังนี้ มูลค่าปัจจุบัน (NPV) 257,453 ล้านบาท, อัตราผลประโยชน์ต่อทุน (B/C Ratio) เท่ากับ 1.35, อัตราผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ (EIRR) 17.43%, ผลตอบแทนทางเศรษฐกิจทางตรง 9.52%, อัตราผลตอบแทนทางการเงิน (FIRR) 8.62%, มีระยะเวลาคืนทุนปีที่ 24 และจะทำให้เกิดการจ้างงานในพื้นที่ จำนวน 280,000 ตำแหน่ง โดยแบ่งเป็นจังหวัดระนอง จำนวน 130,000 ตำแหน่ง จังหวัดชุมพร 150,000 ตำแหน่ง รวมทั้งเป็นส่วนช่วยทำให้ GDP ของประเทศไทยมีอัตราการเจริญเติบโตเพิ่มขึ้นจากเดิมที่ประมาณการโดย สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ที่ 4.0% ต่อปี เป็น 5.5% ต่อปี
ทำรายงานสิ่งแวดล้อม 3 ฉบับ
ส่วนผลกระทบของโครงการ จะต้องดำเนินการด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งประกอบด้วย การจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น (Initial Environmental Examination : IEE) รายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม Environmental Impact Assessment (EIA) และรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมสำหรับโครงการ กิจการหรือการดำเนินการที่อาจมีผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติ คุณภาพสิ่งแวดล้อม สุขภาพ อนามัย คุณภาพชีวิตของประชาชนในชุมชนอย่างรุนแรง (Environmental and Health Impact Assessment : EHIA) ตามประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.)
ขณะที่ตำแหน่งที่ตั้งของท่าเรือฝั่งอันดามันในจังหวัดระนอง ปัจจุบันได้กำหนดตำแหน่งที่แหลมอ่าวอ่าง อำเภอราชกรูด จังหวัดระนอง ซึ่งอยู่นอกเขตอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะระนองและอุทยานแห่งชาติแหลมสน โดยพื้นที่ของโครงการแลนด์บริดจ์ไม่ได้อยู่ในเขตพื้นที่ที่ ทส. อยู่ระหว่างการเสนอขึ้นทะเบียนแหล่งมรดกทางธรรมชาติพื้นที่แหล่งอนุรักษ์ทะเลอันดามันเป็นแหล่งมรดกโลกเข้าสู่บัญชีรายชื่อเบื้องต้น (Tentative List) ของศูนย์มรดกโลก แต่อยู่ในเขตที่กำหนดเป็นพื้นที่เขตแนวกันชน (Buffer Zone) ซึ่งอยู่ในระยะ 3 กิโลเมตร จากพื้นที่ที่เสนอขึ้นทะเบียน ซึ่งจะต้องมีการหารือระหว่างกระทรวงคมนาคม และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมต่อไป
อย่างไรก็ตาม การผลักดันโครงการแลนด์บริดจ์ จะต้องดำเนินการพัฒนาด้านกฎหมาย เนื่องจากปัจจุบันยังไม่มีกฎหมาย กฎระเบียบที่จะส่งเสริมการดำเนินการในรูปแบบการพัฒนาโครงการตามที่ได้กล่าวมาข้างต้นเพื่อจูงใจนักลงทุนและส่งเสริมการพัฒนาพื้นที่ในระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ (SEC) ที่เป็นรูปธรรมจึงมีความจำเป็นต้องดำเนินการพัฒนาด้านกฎหมาย ประกอบด้วย การจัดทำ (ร่าง) พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ (SEC), จัดตั้งคณะกรรมการนโยบายระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ และจัดตั้งสำนักงานคณะกรรมการนโยบายระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ในการขับเคลื่อนนโยบายและผลักดันให้เกิดการพัฒนาเมืองและพัฒนาอุตสาหกรรม
ยกระดับดันตั้ง SEC คุมโปรเจ็กต์ รูปแบบเดียวกับ EEC
ขณะที่แหล่งข่าวจากกระทรวงคมนาคม อัพเดทว่า ปัจจุบันแลนด์บริดจ์อยู่ในขั้นตอนการทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม( EHIA) โดยรอเข้าพื้นที่เป้าหมายอยู่ ซึ่งได้ทำเรื่องขอไปยังกรมป่าไม้และกรมอุทยานแห่งชาติแล้ว
ส่วนการผลักดันโครงการแลนด์บริดจ์ หลังจากออกไป Road Show แล้ว ก็จะเอาแผนงานทั้งหมดมาประมวล เพื่อจะเร่งการจัดทำร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) เขตพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ (SEC) ก่อนเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาแล้วส่งไปพิจารณาในรัฐสภา โดยคาดว่าร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวจะผ่านการพิจารณาและบังคับใช้ในช่วงไตรมาส 4 ปี 2567 ส่วนการประมูลตามแผนงานต่างๆ จะไปเริ่มในปี 2568 ตามลำดับต่อไป
อภิมหาโปรเจ็กต์ 1 ล้านล้านบาท จะสำเร็จจริงตามฝันของนายกฯเศรษฐา หรือไม่? ต้องติดตาม