“เศรษฐา” เมินเสียงค้าน ยันแจกดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท
จากนโยบายการเสียงของพรรคเพื่อไทย โดยเฉพาะนโยบายหลักคือ โครงการแจกเงินดิจิทัล วอลเล็ต 10,000 บาท ให้กับประชาชนที่มีอายุ 16 ปีขึ้นไป ซึ่งจะครอบคลุมประชาชนกว่า 56 ล้านคนนั้น คาดว่า จะต้องใช้เงินมากกว่า 560,000 ล้านบาท คือตัวชูโรง ที่ใช้ในการหาเสียงของพรรค จนทำให้พรรคเพื่อไทยสามารถ กวาดที่นั่งได้เป็นอันดับสอง จำนวน 141 ที่นั่ง เป็นพรรคที่มีเสียงมากที่สุดอันดับสอง รองจากพรรคที่หนึ่ง อย่างพรรคก้าวไกล ที่ได้ 151 ที่นั่ง หรือต่างกันเพียง 10 ที่นั่งเท่านั้น
ดังนั้น การที่พรรคเพื่อไทยได้ป่าวประกาศใช้โครงการ “ดิจิทัล วอลเล็ต” ในหาเสียง ซึ่งนำไปสู่การจัดตั้งรัฐบาล “เศรษฐา” นายกคนที่30 ของไทย จึงเป็นเรื่องใหม่สำหรับประเทศไทยและคนไทยทั้งประเทศ ทำให้เกิดข้อกังขาต่างๆ นานา หลากหลายมุมมอง ทั้งจากนักวิชาการที่รู้จริงบ้าง!! และไม่รู้จริงบ้าง!!
รวมถึงสื่อมวลชน ที่ดาหน้าออกมาวิพากษ์วิจารณ์ ถึงโครงการนี้ ซึ่งล้วนแต่ส่งผลลบต่อโครงการดังกล่าว อย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ โดยเฉพาะประเด็น จำนวนเงิน ที่คาดว่าต้องใช้สูงถึง 560,000 ล้านบาทนั้น เป็นจุดชี้ชะตาอนาคตของรัฐบาล และยิ่งไปกว่านั้น ยังเป็นอนาคตของคนชื่อ ‘เศรษฐา ทวีสิน’ อีกด้วย
*****
สำนักข่าว AEC10News ในฐานะที่ติดตามประเด็นข่าวดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง ได้รวบรวมประเด็นปัญหาที่สร้างความคลางแคลงใจ บั่นทอนเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ ที่เกี่ยวข้องกับ “โครงการดิจิทัล วอลเล็ต”
โดยเริ่มจากที่ รัฐบาแถลงนโยบาย เมื่อวันที่ 12 ก.ย.ที่ผ่านมา นักลงทุนต่างชาติ ต่างก็ตั้งคำถามขึ้นมาทันที ว่ารัฐบาลจะนำเงินจากแหล่งไหนมาใช้ในโครงการนี้ รวมถึงวิธีการการใช้เงิน จะดำเนินการภายใต้กฎกติกาใด และที่สำคัญ โครงการดังกล่าว จะเป็นการเพิ่มเม็ดเงินใหม่เข้าสู่ระบบการเงินหรือไม่ ซึ่งเป็นประเด็นคำถามที่ต้องงการคำตอบอย่างเร่งด่วนและต้องชัดเจน แต่ ณ วันนี้ ยังไม่มีคำตอบใดๆ มีเพียง มติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่ไฟเขียว แต่งตั้งคณะกรรมการคณะกรรมการนโยบายโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัล วอลเล็ต โดยมีนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน เท่านั้นที่ออกมาให้เห็น
ในอีกด้านหนึ่ง ได้มีแถลงการณ์เรื่องทบทวน “โครงการดิจิทัล วอลเล็ต” จากกลุ่มนักวิชาการ และคณาจารย์เศรษฐศาสตร์ จำนวน 99 คนร่วมลงชื่อออกแถลงดังกล่าว โดยมีชื่อของอดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย 2 คนร่วมด้วย ได้แก่ “นายวิรไท สันติประภพ” และ “นางธาริษา วัฒนเกส” โดยแถลงการณ์ มีภาระสำคัญ ดังนี้
1.ขณะนี้ เศรษฐกิจได้ฟื้นตัวแล้ว จึงไม่จำเป็นต้องให้รัฐบาลทำโครงการที่เงินจำนวนมากกระตุ้นการบริโภคในประเทศอีก
2.การดึงงบ 560,000 ล้านบาท มาใช้เพื่อโครงการดังกล่าว อาจเป็นการเสียโอกาสในการที่รัฐบาลจะทำงานด้านอื่นๆ เช่น การลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ เป็นต้น
3.การทำโครงการดังกล่าว อาจจะไม่ได้ผลในทางเศรษฐกิจตามที่รัฐคาดหวังว่า จะกระตุ้นเศรษฐกิจให้รายได้ประชาชาติ (จีดีพี) ขยายตัวได้จริง แต่อาจจะส่งผลเสีย อาทิ ปัญหาเงินเฟ้อ ของราคาแพง จากการอัดฉีดมากเกินไป และยังเพิ่มภาระภาษีให้ประชาชนในอนาคตด้วย ดังนั้น จึงอยากให้รับาททบทวนการใช้เงินให้คุ้มค่ากว่านี้ รวมถึงการหาแหล่งเงิน และการจะกู้เงิน ซึ่งส่งผลต่อเรื่องการจัดอันดับความน่าเชื่อถือด้วย
*****
ในขณะเดียว เมื่อวันที่ 7 ต.ค.ที่ผ่านมา “นายเศรษฐา” ได้ให้สัมภาษณ์ที่ จ.ร้อยเอ็ดว่า “จากกรณีนักวิชาการหลายท่านไม่เห็นด้วย เรียกร้องให้ยกเลิกโครงการ ตนยืนยันตั้งแต่เข้ามาเป็นนายกฯ รัฐบาลและคนที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ได้รับฟังปัญหา ข้อเสนอแนะ ข้อแนะนำทั้งหลายจากทุกหน่วยงาน รวมถึงธนาคารแห่งประเทศไทยด้วย เราน้อมรับไปพิจารณา เพื่อปรับปรุงแต่งเติมให้ทุกอย่างดูดีขึ้น” และยังได้กล่าวต่อว่า
“จะไม่มีการยกเลิกโครงการดังกล่าวและ ยืนยันว่า โครงการเงินดิจิทัล ไม่ใช่โครงการหาเสียง ไม่ใช่โครงการที่มาโปรยเงินให้ประชาชนเลือกตั้งให้เรากลับมาใหม่ แต่เป็นโครงการที่เราตระหนักดีถึงความจำเป็น และความต้องการของประชาชนที่ต้องการความช่วยเหลืออย่างเป็นรูปธรรม ตลอดเวลาที่เราเข้ามาบริหารงาน เรื่องการลดค่าใช้จ่ายเป็นเรื่องสำคัญ เพื่อให้ประชาชนจะมีขวัญและกำลังใจทำมาหากิน”
ด้าน นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า คนกลุ่มหนึ่งแปลผลสภาพเศรษฐกิจของประเทศด้วยตัวเลขและทฤษฎีทางเศรษฐศาสตร์ว่า กำลังฟื้นตัวดีขึ้นเรื่อยๆ อยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องกระตุ้นให้เศรษฐกิจขยายตัว ขอเพียงรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจเอาไว้ให้ดีก็พอแล้ว
ในขณะที่คนกลุ่มใหญ่ที่สุดของประเทศ พิสูจน์ทราบสถานะและความเป็นจริงของเศรษฐกิจด้วยชีวิตจริงที่ยากลำบากขัดสนและด้อยโอกาส แถมติดหล่มหนี้สินครัวเรือนเรื้อรัง รายได้ชักหน้าไม่ถึงหลัง ต่างส่งเสียงเรียกร้องให้รัฐบาลเดินหน้ากระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหญ่ให้เกิดการขยายตัวด้วยโครงการต่อเนื่องทั้งระยะสั้น ระยะกลางและระยะยาว คนกลุ่มนี้ต่างต้องการโอกาสสร้างรายได้ใหม่เพื่อพลิกฟื้นชีวิตให้ดีขึ้น ไม่ต้องการทนอยู่ในสภาพยากไร้อย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ถามว่า… ทฤษฎี VS ชีวิตจริง อย่างไหนจะแม่นยำน่าเชื่อถือกว่ากัน?”
ดังนั้น การนายกรัฐมนตรี และโฆษกรัฐบาล ต่างออกมาตอบโต้งอย่างทันควันในกรณีดังกล่าว น่าตอกย้ำถึงการก้าวเดินไปข้างหน้าของโครงการที่ยังจะดำเนินการต่อไป เนื่องจากโครงการดังกล่าวเป็นสิ่งที่ใช้หาเสียงอันสำคัญของรัฐบาลนี้ และเป็นนโยบายที่กู้หน้าตาของพรรคเพื่อไทยให้กลับมาเป็นที่นิยม เพราะการแจกเงินดิจิทัล วอลเล็ต 10,000 บาทนั้น เป็นยิ่งกว่าประชานิยม เพื่อตั้งความหวังในการเลือกตั้งครั้งต่อไป “พรรคเพื่อไทย” จะแลนด์สไลด์ได้อย่างแน่นอน
*****
สำหรับฝากฝั่งของเอกชนต่างก็ขานรับ นโยบายดังกล่าว ของพรรคเพื่อไทย ล่าสุด “เจ้าสัวเจริญ- เจริญ สิริวัฒนภักดี” ได้ออกข่าวได้เตรียมปรับโฉมร้านสะดวกซื้อ 30,000 สาขาทั่วไทย ให้เป็น “ร้านโดนใจ” ภายใต้โมเดลของในเครือของบริษัท เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ จำกัด หรือ บีเจซีบี ภายในปี 2570 ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งสะท้อนให้เห็นว่า โครงการนี้ ภาคเอกชน จะได้รับประโยชน์อย่างแน่นอน
“สนั่น อังอุบลกุล” ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และหอการค้าไทย ระบุว่า คณะกรรมการร่วมภาค เอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ได้หารือประเด็นการกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการแจกเงินดิจิทัลนั้น เป็นโครงการที่ กกร. สนับสนุน แต่ขอให้จำกัดเฉพาะกลุ่มเป้าหมาย เช่น ใช้ฐานข้อมูลจากผู้ที่เคยได้รับสวัสดิการของรัฐในแอปพลิเคชันเป๋าตังประมาณ 40 ล้านรายและคัดกรองอีกครั้งแทน ซึ่งคาดว่าจะทำให้งบลดลงไปได้ ประมาณ 160,000 ล้านบาท ซึ่งเสนอให้รัฐบาลนำเงินที่เหลือไปใช้ช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมแทน
*****
สำหรับ อุปสรรคและปัญหาของดิจิทัล วอลเล็ตคือ
1. แหล่งที่มาของเงิน จำนวน 560,000 ล้านบาท
2. วิธีการใช้ผ่านแพลตฟอร์มบล็อกเชน เป็นอย่างไร
3.สามารถเบิกเป็นเงินสดได้หรือไม่
4.เม็ดเงินจากโครงการ จะหมุนได้ 4 รอบตามที่รัฐบาลคาดหวังหรือไม่
5.พื้นที่ในหารใช้สอย กรณีอยู่ห่างไกล จะขยายเกิน 4 กม. หรือไม่
6.สามารถรวมกลุ่มเพื่อนำเงินดิจิทัลมารวมกัน เพื่อลงทุนทำกิจการได้หรือไม่
ส่วนประเด็นที่มีความชัดเจนแล้ว ประกอบด้วย
1.นายกรัฐมนตรี ยืนยันไม่ล้มโครงการฯ และจะดำเนินโครงการนี้ อย่างแน่นอน
2.รัฐบาลจะไม่กู้เงินมาใช้ในโครงการนี้ เหมือนกับการออก พ.ร.ก.กู้เงิน 1.5 ล้านล้านบาท ในช่วงโควิดฯ
3.ยืนยัน ต้องเดินทางกลับไปใช้เงินดิจิทัลตามภูมิลำเนาทะเบียนบ้าน
4.ไม่ใช้แอปพลเคชั่น “เป๋าตัง”
5.สามารถถอนเป็นเงินสดได้ แต่ไม่บอกว่าช่วงไหน
6.ห้ามซื้อเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ บุหรี่ และใช้หนี้การพนัน
7.คาดว่า จะเริ่มใช้ได้ ในเดือนก.พ.ปีหน้า
จากนี้ไป จะต้องติดตามความคืบหน้าของโครงการดิจิทัล วอลเล็ตอย่างใกล้ชิดว่า จะมีผลสำเร็จดังที่พรรคเพื่อไทย ประกาศหาเสียงไว้หรือไม่ หรือเป็นเพียงแค่ภาพฝันของนโยบายที่ใช้หาเสียงเกินความจริง ทำให้เหล่าบรรดานักเศรษฐศาสตร์ จำนวน 99 คน รวมถึงอดีตผู้ว่าการ ธปท. ถึง 2 คน ต้องออกโรงมาคัดค้าน!!
ทั้งๆ ที่ โครงการนี้ เพิ่งจะเริ่มต้นศึกษาความเป็นไปได้เท่านั้นเอง!!