ประชามติ แก้รัฐธรรมนูญ เพื่อไทย-ก้าวไกล สร้างดาวคนละดวง
รัฐบาลเศรษฐา คิกออฟ 34 อรหันต์ ศึกษาแนวทางการทำประชามติ เพื่อแก้ไขปัญหาความเห็นต่างในเรื่องรัฐธรรมนูญฉบับปี 60 “ชูธง” ไม่แตะต้อง หมวด 1 และ หมวด 2 รวมถึงพระราชอำนาจพระมหากษัตริย์
4 ปี ตลอดอายุขัยรัฐบาลพรรคเพื่อไทย เดดไลน์ของรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ถูกขีดเส้นไว้เป็น “หลักชัย” โดยไม่มีพรรคก้าวไกลร่วมขบวนรื้อ-ร่างโครงสร้างอำนาจใหม่ เพราะยัง “กังขา” ถึงความไม่สง่างาม
พรรคก้าวไกลตั้งคำถามถึงคณะกรรมการ 34 คน เป็นการเพียง “ตรายาง” รับรองความชอบธรรรมในการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่
และยังถูกปรามาสว่าเป็นการ “ซื้อเวลา” ของพรรคเพื่อไทย เพื่อเรียกต้นทุน-คะแนนนิยม ตีตื้นทางการเมือง หลังจาก “นายกฯเศรษฐา” ประกาศ “เทหมดหน้าตัก”
โดยการออกนโยบาย “ประชานิยม” เพื่อแก้ปัญหาเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการแจกเงินดิจิทัล 5.6 แสนล้านบาท ที่มีเสียงคัดค้านให้ทบทวน “นโยบายแจกเงิน” จากอดีตผู้ว่าแบงก์ชาติ นักวิชาการ-นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ ว่า “ได้ไม่คุ้มเสีย”
กระบวนการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่ไม่มีพรรคก้าวไกลร่วมสังฆกรรม จึงกลายเป็น “สินค้ามีตำหนิ” ขาดการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้-ส่วนเสียจากกติกาสูงสุดของประเทศ
2 เงื่อนไขหลักของพรรคก้าวไกลที่ “ยืนกราน” ไม่ร่วมโดยสารเส้นทางแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่มีพรรคเพื่อไทยเป็น “หัวเรือใหญ่” คือ ต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ ที่มาของสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ต้องมาจากการเลือกตั้งทั้งหมด
ไม่ใช่เป็นนอมินี-ตัวแทน หัวคะแนน หรือเครือญาติของนักการเมือง
ส่วนพรรคเพื่อไทยยกคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเมื่อปี 2554 สมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่วินิจฉัยผูกพันทุกองค์กร ว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 291 หรือ การแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ สมัยนั้น คือ รัฐธรรมนูญฉบับปี 50 ต้องผ่านการทำประชามติ ถามความเห็นของประชาชนก่อน หากไม่เช่นนั้นสามารถแก้ไขได้เพียงเป็น “รายมาตรา”
พรรคเพื่อไทยตั้งตุ๊กตา-ล็อคคอระดมความเห็นจากทุกวงการ-หลากหลายสาขาอาชีพ ตลอด 3 เดือนนับจากนี้ จนถึงสิ้นปี 66 ก่อนที่จะเสนอคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบการจัดทำประชามติไม่เกินไตรมาสแรกของปี 67
ไม่ว่าการซาวด์เสียง ผลจะออกมาเป็นอย่างไร “เห็นด้วย” หรือ “ไม่เห็นด้วย” พรรคเพื่อไทยมีแต่ “กำไร” และ “ไม่ขาดทุน” เพราะพรรคที่เรียกตัวเองว่าประชาธิปไตยจะสถาปนาเป็นพรรคการเมืองที่ “ไม่ซ้ายสุดโต่ง” รวมโหวตเตอร์-รวบคะแนนเสียงจากพรรคร่วมรัฐบาลด้วยกันเองได้เป็นกอบเป็นกำในการเลือกตั้งอีก 4 ปีข้างหน้า
และยังหา “ทางลง” จากการโฆษณาชวนเชื่อ-หาเสียงเอาไว้ในการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมาว่าจะรื้อราก-ถอนโคนรัฐธรรมนูญฉบับที่พรรคเพื่อไทยตีตราว่าเป็น “ฉบับสืบทอดอำนนาจ”
ส่วนพรรคก้าวไกลหลังพิงผลการศึกษาการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 60 ก่อนหน้านี้ ชุดที่มีนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีในรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ เป็นประธาน ที่มีความหนาถึง 145
สำทับกับ “สารตั้งต้น” โดย “ไอลอว์” ที่ตั้งโต๊ะล่ารายชื่อประชาชน 50,000 รายชื่อ เพื่อเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ “ฉบับประชาชน” จึงไม่จำเป็นต้องเริ่มต้นนับ 1 ใหม่
รวมถึงการเข้าชื่อกัน 50,000 รายชื่อเพื่อเสนอคำถามประชามติโดยประชาชนว่า “ท่านเห็นชอบหรือไม่ ว่ารัฐสภาต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 เพื่อจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ โดย สสร. ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน”
ย่ำรุ่งหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 การเมืองไทยผ่านการใช้รัฐธรรมนูญมาแล้ว 20 ฉบับ ประชาธิปไตยล้มลุกคลุกลานมาตลอด 91 ปีเต็ม ผู้มีอำนาจผลัดกันรุก-ผลัดกันรับ ขึ้น-ลงจากอำนาจ
โดยอ้างเสียงของประชาชนสร้างความชอบธรรม ผ่านกลไกการออกเสียงประชามติและการเลือกตั้งภายใต้รัฐธรรมนูญ การออกเสียงประชามติ 66
จึงเป็นการ “วัดพลัง” ยกแรก พรรคเพื่อไทย กับพรรคก้าวไกล ที่มีความคิดและทัศนคติต่อความสัมพันธ์เชิงอำนาจ-โครงสร้างเศรษฐกิจ การเมืองและสังคมที่แตกต่างกัน ผ่านการลงประชามติ
แต่ไม่สามารถฟันธงได้ว่าฝ่ายไหนจะเพลี้ยงพล้ำ หรือ กำชัยชนะ เพราะผลการเลือกตั้ง สส.ครั้งที่ผ่านมา ไม่สามารถหาข้อยุติได้ว่า เพื่อไทย-พรรคอันดับสองที่สามารถรวบรวมพรรคร่วมรัฐบาลได้เป็น “เสียงข้างมาก” จากทั้งหมด 11 พรรค 314 เสียง จะน็อกพรรคก้าวไกลที่มี สส.ที่เป็นตัวแทนของประชาชน 151 เสียง
เพราะปฏิเสธไม่ได้ว่า พรรคเพื่อไทย “เสียรังวัด” ไปเยอะ ตั้งแต่ “ตระบัดสัตย์” ไปจับมือกับ “พรรคสองลุง” ร่วมหอลงโรงจัดตั้งรัฐบาลผสมพันธุ์ข้ามขั้ว ทำเอสแฟนพันธุ์แท้ตีจากไปสมทบกับพรรคก้าวไกล
ยิ่งหาก “เงินดิจิทัล 1 หมื่นบาท” นโยบาย “เรือธง” ของพรรคเพื่อไทย “ไปไม่ถึงฝั่ง” เพราะถูกเสียงคลื่น 99 นักวิชาการ ถาโถมเข้าใส่ “รัฐบาลเศรษฐา” จนต้องอัปปางก่อนเวลาอันควร
ที่หมายมั่นปั้นมือว่า จะเรียกความเชื่อมั่น ฟื้นวิกฤตศรัทธาทางการเมือง โดยอาศัยกระบวนท่าทางเศรษฐกิจที่เคยสร้างชื่อไว้ในสมัยพรรคไทยรักไทย จนทำให้รัฐบาลทักษิณสมัยที่สองชนะเลือกตั้งแบบถล่มถลาย-แลนด์สไลด์ เป็นรัฐบาลพรรคเดียว 377 เสียง
แคมเปญแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคเพื่อไทยจึงไม่จำเป็นต้องเดิมพันสูงผ่านการทำประชามติขั้นต่ำ 2 ครั้ง ใช้เงินประมาณ 5,000 – 8,000 ล้านบาท
เมือ “เป้าจริง” ของพรรคเพื่อไทย คือการ “เซตลูก” คำถามประชามติในแดนตัวเอง-ทำเนียบรัฐบาล ลงล็อก-เข้าทางเป็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตรา สวนทางกับพรรคก้าวไกลที่กระเหี้ยนกระหือรือแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ
สองพรรค-สองคมความคิด ริร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่ 21 คนละฉบับ – สร้างดาวกันคนละดวง