“เศรษฐา” นายกฯ ป้ายแดง จากนี้ไปต้องระวัง!!

ยังไม่ทันครบ 1 เดือนนับตั้งแต่ “นายเศรษฐา ทวีสิน” รับตำแหน่ง นายกรัฐมนตรี และรมว. คลัง หากนับตั้งแต่วันที่ 13 ก.ย.ที่ผ่านมา ก็เพิ่งผ่านพ้นไปแค่ 20 วันเท่านั้น
แต่กระแสการต่อต้าน “นโยบายพรรคเพื่อไทย” ยังคงออกมาอย่างต่อเนื่อง เริ่มตั้งแต่การคัดค้านมาตรการพักหนี้เงินต้นและดอกเบี้ยเกษตรกร โครงการดิจิทัล วอลเล็ต 10,000 บาท การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาท มาจนถึงการขึ้นเงินเดือน จบป.ตรี 25,000 บาท ก็ถูกมือดี ปล่อยข่าวโจมตีมากมาย
เริ่มจากการปล่อยข่าว สถานบันการจัดอันดับความน่าเชื่อถืออย่างเช่น มูดี้ส์ และเอสแอนด์พี จ่อจะปรับความน่าเชื่อถือของประเทศไทย เนื่องจากนโยบายดิจิทัล วอลเล็ต ที่ต้องใช้เม็ดเงินอย่างมโหฬาร เป็นจำนวนสูงถึง 560,000 ล้านบาท ส่งผลต่อความน่าเชื่อและเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ นอกจากนี้ ยังมีกระแสข่าวลือ ปลดผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย “นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ” เนื่องจากขัดแย้งเรื่อง มาตรการพักชำระหนี้ และไม่เห็นด้วยกับโครงการดิจิทัลวอลเล็ต ของรัฐบาล
ประกอบกับ ในช่วงที่ผ่านมา “เงินบาทอ่อนค่า” อย่างต่อเนื่อง จากในช่วงต้นเดือนก.ย.อยู่ที่ระดับ 34 บาทต่อ ดอลล่าร์สหรัฐฯ ช่วงก่อน “นายกฯ เศรษฐา” จะเข้ามารับตำแหน่ง แต่ล่าสุด เงินบาทก็ไหล ทะลุหลุด 36 บาท ดอลล่าร์สหรัฐฯ รับข่าวลือ “ปลดผู้ว่าแบงก์ชาติ” ทุบสถิติของค่าเงินบาท ปรับตัวอ่อนค่าที่สุดในรอบ 10 เดือน มาอยู่ที่ 36.83 บาทต่อดอลล่าร์สหรัฐฯ
ในขณะเดียวกัน ตลาดหุ้นไทยได้มีการปรับตัวลงอย่างต่อเนื่อง จากเดิมที่อยู่ 1,500 จุด แต่ต้อนรับนายกรัฐมนตรีคนใหม่ด้วยเช่นกัน ด้วยเมื่อศุกร์ ที่ 29 ก.ย.ที่ผ่ามมา ตลาดหุ้นปรับลดลงมาอยู่ที่ 1,471.43 จุด รวมตลาดทั้งสัปดาห์ที่ผ่านมา นักลงทนุต่างชาติขายหุ้นไทยออกไปแล้ว 3,025 ล้านบาทนั้น สะท้อนให้เห็นว่า เสถียรภาพของเศรษฐกิจไทยมีผลต่ออัตราแลกเปลี่ยน และการลงทุนจากต่างชาติ
ดังนั้น นายกรัฐมนตรี จึงออกมาให้สัมภาษณ์ว่า “ไม่มีความคิด ปลดผู้ว่าแบงก์ชาติแต่อย่างใด” แต่เรื่องนี้ ก็ยังไม่จบ ตรงกันข้าม!! ยังถูกโหมกระแสต่อ คือ นายกฯ ได้เรียกผู้ว่าแบงก์ชาติเข้ามาพบ ในวันจันทร์ที่ 2 ต.ค.นี้ โดยอ้างว่า เชิญมาเพื่อ “ปรับทัศนคติ ผู้ว่าแบงก์ชาติ”
ทั้งๆ ที่รู้อยู่แก่ใจว่า รัฐบาลไม่มีอำนาจในการสั่งการ หรือแทรกแซงแบงก์ชาติ ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นแบบนี้ถือเป็นการต้อนรับ “นายกรัฐมนตรี!! น้องใหม่ป้ายแดง” ก็เพียงแค่ศึกแรก จะผ่านพ้นไปด้วยดีหรือไม่ เพราะศึกในครั้งนี้ ไม่เฉพาะคนไทยที่จับตามอง แต่ยังมีนักลงทุนต่างชาติให้ความสนใจและติดตามอย่างใกล้ชิด โดยหวั่นเกรงว่าโครงการดิจิทัลวอลเล็ต จะเป็นโครงการโครตโกง!! ไม่แตกต่างไปจากโครงการรับจำนำข้าว ของรัฐบาลเพื่อไทยที่ผ่านมา
สำหรับโครงการพักหนี้เกษตรกรนั้น ได้ผ่านการเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี (ครม.) ตั้งแต่เมื่อวันที่ 26 ก.ย. มีมติโดยพักชำระหนี้ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยให้กับลูกหนี้เกษตรกรรายย่อย 3 ปี ซึ่งลูกค้าที่ได้รับเกณฑ์เข้าร่วมโครง การจะต้องมีต้นเงินคงค้าง ไม่เกิน 300,000 บาท และให้สิทธิทั้งเกษตรกรที่มีสถานะเป็นหนี้ปกติ และเป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) โดยมีลูกหนี้เกษตรกรทั้งหมด 2.7 ล้านราย มูลหนี้รวม 300,000 ล้านบาท เริ่มลงทะเบียนได้ ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 2566 จนถึงเดือนม.ค.ปีหน้า
สำหรับการจ่ายดอกเบี้ยทดแทนให้เกษตรกร รัฐบาลใช้งบประมาณจาก มาตรา 28 ตามพ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 รวม 30,000 ล้านบาท โดยให้ในปีที่ 1 หรือเฟสแรก วงเงิน 12,000 ล้านบาท
ทั้งนี้ ในเรื่อง มาตรการพักหนี้เกษตรกร นายกฯได้กล่าวย้ำว่า เป็นโครงการเพื่อบรรเทาภาระให้เกษตรกรกว่า 2.7 ล้านคน นอกจากนี้ ยังเติมเงิน สินเชื่อก้อนใหม่ให้แก่เกษตรกรที่ต้องการฟื้นฟูอีก 100,000 บาทต่อรายในอัตราดอกเบี้ยต่ำ เพื่อให้เกษตรกรมีแหล่งเงินจาก ธ.ก.ส.เป็นปราการสุดท้าย ลดการพึ่งพาหนี้นอกระบบ
อย่างไรก็ดี แบงก์ชาติกลับออกมาระบุว่า รัฐบาลที่ผ่านมาได้ออกมาตรการพักหนี้ไปทั้งหมด 13 ครั้ง ใน 9 ปี แต่มีเกษตรกรกลับไปเป็นหนี้เหมือนเดิมสูงถึง 70% แสดงว่าการพักหนี้ในช่วงที่ผ่านมาไม่ได้ผล และเกรงว่าจะซ้ำรอยอดีต ก็เป็นอีกข้อกังวลของแบงก์ชาติ ถึงนโยบายของรัฐบาล
อีกประเด็นที่เป็นต้นต่อ ของกระแสข่าวลือ ปลดผู้ว่าแบงก์ชาติ ก็ไม่ต่างจากครหาพักหนี้เกษตรกร โดยเฉพาะการเป็นมาตรการแบบเหวี่ยงแห อย่างโครงการดิจิทัล วอลเล็ต ไม่ได้โฟกัสที่กลุ่มคนที่ได้รับความเดือนร้อน แต่เป็นนโยยายที่แจกแหลก ให้กับประชาชนที่อายุตั้งแต่ 16 ปี เป็นต้นไป คาดว่า จะมีประชาชน 56 ล้านคน ได้รับเงินดังกล่าว แต่ต้องแลกมากับภาระหนี้ก้อนโต ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต เช่น หนี้สาธารณะที่ปัจจุบัน ณ เดือนส.ค.มี หนี้กว่า 11 ล้านล้านบาท คิดเป็น 61.78% ต่อจีดีพี หากต้องกู้มาใช้ในโครงการนี้อีก รวมทั้งการกู้เงินขาดดุลงบประมาณ การใช้มาตรา 28 ของพ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 ล้วนแต่เป็นเงินที่คนไทยทั้งชาติต้องร่วมกันชดใช้คืน
ในกรณีนี้ รัฐบาลได้ฝากความหวังทั้งหมดไว้ในอนาคต หากจีดีพีไทยมีอัตราการเติบโตต่อเนื่อง โอกาสที่รัฐบาลจะหาเงินมาใช้หนี้ในโครงการนี้ก็มีความเป็นไปได้
แต่หากภาวะเศรษฐกิจทรุดตัว ภาระหนี้เก่าที่ยังใช้ไม่หมด หนี้ใหม่ก็ถาโถมเข้ามาก็ส่งผลต่อเสถียรภาพเศรษฐกิจ ดังนั้น การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ล่าสุด เมื่อวันพุธ 27 ก.ย.อีก 0.25% มาอยู่ที่ระดับ 2.50% เป็นการตอกย้ำว่า แบงก์ชาติ และกนง. เน้นเรื่องการรักษาเสถียรภาพมากกว่าต้องการเห็นจีดีพีเติบโตในอัตราที่สูงๆ
โดย กนง.ได้ปรับอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจไทยปี 2566 จากเดิมที่ขยายตัว 3.6% ปรับลดลงมาเหลือเพียง 2.8% ส่วนจีดีพีปี 2567 จะพุ่งเป็น 4.4% ต่อปี หมายความว่า นโยบายของรัฐบาล จะส่งผลต่อระบบเศรษฐกิจอย่างมากมายในปีหน้า และไม่เคยมีครั้งไหนมาก่อน ที่ประมาณเศรษฐกิจจะห่างกัน 2-3% เมื่อเทียบปีต่อปี
ทั้งนี้ สะท้อนว่า สิ่งที่ กนง.ทำ คือ ออกมาโดดขวางนโยบายกระตุ้นการบริโภคของรัฐบาล เพื่อป้องกันไม่ให้เสถียรภาพของเศรษฐกิจไทยมีความผันผวน จากการอัดเม็ดเงินจำนวนมากเกินไปของรัฐบาล