ก้าวไกลคุมเกมนิติบัญญัติ ประชาธิปัตย์สนิมเนื้อในฝ่ายค้าน
พรรคก้าวไกลเปิดศักราชเป็น “ฝ่ายค้านเชิงรุก” ด้วยการจัดทัพ เปลี่ยนตัวหัวหน้าพรรค-เลขาธิการพรรค คณะกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่
ไฟต์บังคับของพรรคก้าวไกล ต้องดัน “เลขาฯต๋อม” ชัยธวัช ตุลาธน มารับบทบาท “หัวหน้าพรรคขัดตาทัพ” เพื่อรับหน้าที่ “ผู้นำพรรคฝ่ายค้าน” หลังจาก “หัวหน้าพรรคตัวจริง-เสียงจริง” ทิม-พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ขยับขึ้นหิ้งไปเป็น “ประธานที่ปรึกษาพรรค” เพราะโดนศาลรัฐธรรมนูญแช่แข็ง-สั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่ “คดีถือหุ้นไอทีวี” จนต้องสลัดภาพสส.ในสภา มาทำงานการเมือง “นอกสภา” เลี้ยงกระแส – สะสมชัยชนะ ไม่ให้แฟนคลับถอดใจจนแผ่วปลายก่อนถึงวันเลือกตั้งครั้งใหญ่อีก 4 ปีข้างหน้า
พรรคก้าวไกลเข้าสู่โหมดนิติบัญญัติเต็มอัตราศึก “3 คีย์แมน” คนสำคัญของพรรคสีส้ม “ต๋อม ชัยธวัช-ไอติม พริษฐ์-ทิม พิธา” ดาหน้ากันขึ้นเวที “ก้าวต่อไป ก้าวไกลทั้งแผ่นดิน” ประกาศยุทธศาสตร์สู้รบในสภา-นอกสภา เป้าหมายกำชัยชนะ 300 เสียง ในการเลือกตั้งครั้งหน้า ติดเครื่องตั้งหลักทำงานเป็น “ฝ่ายค้านเชิงรุก” เข็นวาระเปลี่ยนแปลงประเทศผ่านร่างกฎหมาย 50 กว่าฉบับเข้าสภา เช่น ร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ร่างพระราชบัญญัติภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมและคุ้มครองกลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมือง พ.ศ. …. ร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ร่างพระราชบัญญัติรับราชการทหาร พ.ศ. ….
อีก 1 กลไกที่จะเป็นเครื่องมือให้กับพรรคก้าวไกลในการทำงานในสภาได้อย่างทรงประสิทธิภาพ คือ ประธานกรรมาธิการสามัญของสภา จำนวน 35 คณะ โดยพรรคก้าวไกลกวาดมาได้ 11 คณะ ได้แก่ กมธ.ศึกษาการจัดทำและติดตามการบริหารงบประมาณ กมธ.การพัฒนาการเมือง การสื่อสารมวลชน และการมีส่วนร่วมของประชาชน กมธ.พัฒนาเศรษฐกิจ กมธ.การสวัสดิการสังคม กมธ.การทหาร กมธ.ความมั่นคงแห่งรัฐ กิจการชายแดนไทย กมธ.ยุทธศาสตร์ชาติ และการปฏิรูปประเทศ กมธ.ที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม กมธ.การวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิจัยและนวัตกรรม กมธ.กิจการศาล องค์กรอิสระ องค์กรอัยการ รัฐวิสาหกิจ องค์การมหาชน และกองทุน กมธ.การคุ้มครองผู้บริโภค
เกมชิงไหวชิงพริบที่พรรคก้าวไกลเอาตัวรอดออกจากมุมอับกลับออกมาได้ คือการให้ “หมออ๋อง” ปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนคนที่ 1 ยังอยู่คุมเกมในฝ่ายนิติบัญญัติ หลัง “ขับตัวเอง” ออกจากพรรคก้าวไกลไปอยู่กับ “พรรคพันธมิตร” โดยพรรคที่คาดว่าจะคว้าตัว “หมออ๋อง” ไปมีอยู่ 2 พรรค คือ พรรคเป็นธรรม หรือ พรรคไทยสร้างไทย โดยมีภารกิจบรรจุร่างกฎหมายเปลี่ยนโครงการการเมือง เศรษฐกิจและสังคม “ครึ่งร้อยฉบับ” โดยเฉพาะการผลักดัน “รัฐธรรมนูญฉบับประชาชน” ปักธงการทำประชามติเพื่อขอฉันทามติจากประชาชนในการทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ทั้งฉบับ และขึ้นรูปที่มาของสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) ที่มาจากประชาชนทั้งหมด ไม่ให้มี “นอมินี” ที่เป็น “ตัวแทนชนชนนำ” มาคอยชี้นิ้วเขียนกติกาสูงสุดตามใบสั่งทางการเมือง
เกมในสภาจึงเป็นดัชนี “วัดผลงาน” พรรคก้าวไกล หลังประกาศเป็นฝ่ายค้านเชิงรุก โดยมีการพิจารณากฎหมายการเงิน – ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 67 ที่มีไทม์ไลน์เข้าสภา ในวันที่ 26 ธ.ค. 2566 วาระที่ 1 วันที่ 3-4 ม.ค. 2567 และ วาระที่ 2-3 วันที่ 3-4 เม.ย. 2567 ชี้เป็นชี้ตายรัฐบาลเศรษฐา จึงเป็น “105 วันอันตราย” ของพรรคฝ่ายรัฐบาล เพราะถ้ากฎหมายไม่ผ่านรัฐบาลต้องประกาศยุบสภา
สปอร์ตไลต์จึงโฟกัสไปที่ “หัวหน้าต๋อม” ที่พลิกบทบาทจากเลขาธิการพรรค คอยเก็บกวาดอยู่หลังบ้าน มาเป็น “ตัวชูโรง” ในฐานะ “ผู้นำฝ่ายค้าน” ในสภาครั้งแรก โดยไม่มี “พรรคพี่เลี้ยง” อย่างเพื่อไทยคอยประคับประคองเหมือนสภา 4 ปีที่ผ่านมา จึงเป็น “สนามทดสอบ” ครั้งสำคัญของพรรคก้าวไกลในช่วงเวลา “ตกที่นั่งลำบาก” ที่ไม่มี “แม่ทัพตัวจริง” อย่างพิธามาถือธงนำในสภา ไม่มี “ผู้นำทางจิตวิญญาณ” คอยให้คำปรึกษาเมื่อต้องหลังพิงเชือก-เพลี้ยงพล้ำ หลังจาก “อาจารย์ป๊อก” ปิยบุตร แสงกนกกุล “โบกมือลา” พรรคก้าวไกลหลังจากถูก “ด้อมส้ม” ทัวร์ลงอย่างหนัก รวมถึง “ช่อ” พรรณิการ์ วานิช ยังถูก “ประหารชีวิตทางการเมือง” ไม่สามารถลงสมัครรับเลือกตั้ง ไม่สามารถดำรงตำแหน่งทางการเมืองตลอดชีวิต
ลำพังพรรคก้าวไกลพรรคเดียว ที่มีเพียง 150 เสียง (หักเสียง 1 เสียง ของนายพิธาที่อยู่ระหว่างหยุดปฏิบัติหน้าที่) ยังไม่สามารถที่จะล้มรัฐบาลพรรคร่วมรัฐบาล 11 พรรค 314 เสียงได้ แม้กระทั่ง “พรรคแนวรบ” พรรคร่วมรัฐบาล ที่ต้องดึงมาเป็นพวกอีก 100 คน ทั้งพรรคเพื่อไทย “หัวใจสีส้ม” พันธมิตรโดยสัญชาติญาณอย่างพรรคประชาชาติ พรรคภูมิใจไทยที่เป็น “ยังบลัด” รวมถึง “พรรคแนวร่วมการเมืองฝ่ายค้าน” อย่างพรรคเป็นธรรม พรรคไทยสร้างไทย
โดยเฉพาะพรรคประชาธิปัตย์ แม้ตามหน้ากระดานการเมือง “พรรคเก่าแก่” จะเป็น “พรรคแนวร่วมฝ่ายค้าน” แต่ความระส่ำระสาย – ความไม่เป็นเอกภาพภายในพรรค ที่ยัง “ไม่มีหัวหน้าพรรค” ที่จะกำหนดทิศทางของพรรคจะก้มหน้าก้มตาทำหน้าที่ฝ่ายค้านในสภา หรือ ชะเง้อคอคอยเก้าอี้รัฐมนตรีในทำเนียบรัฐบาล จนกลายเป็น “สนิมเนื้อใน” ของพรรคฝ่ายค้าน ไม่สามารถสร้างประโยชน์โภชผลในสภา ทำหน้าที่ตรวจสอบ-ถ่วงดุลรัฐบาลได้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย เล่นตามเกมที่ถนัดของพรรคอายุ 7 ทศวรรษที่ผ่านการเป็นพรรคฝ่ายค้านมาแล้วถึง 11 ครั้ง
การล้ม-ล่มองค์ประชุมเลือก “หัวหน้าพรรคสีฟ้า” คนที่ 9 ถึง 2 ครั้งที่ผ่านมา เมื่อ “กลุ่มอำนาจเก่า” ที่สนับสนุนให้ “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” คัมแบ็กกลับมากู้วิกฤตพรรคที่ได้ สส.ต่ำ 100 ที่นั่งในการเลือกตั้งปี 62 และได้ สส.ต่ำกว่า 50 ที่นั่งในการเลือกตั้งปี 66 ใช้เกมข้อบังคับการประชุมพรรค เป็นแทคติกยื้อการประชุมเลือกหัวหน้าพรรคออกไป “ไม่มีกำหนด” เพื่อต่อลมหายใจของพรรคไม่ให้ถูกดริสรัปต์จากการเมือง 2 พรรคใหญ่อย่างพรรคก้าวไกลกับพรรคเพื่อไทย
ส่วน “กลุ่มอำนาจใหม่” ของ “นายกชาย” เดชอิศม์ ขาวทอง ที่กุมเสียง สส.ภาคใต้ 17 เสียง ซึ่งเป็น สส.เสียงส่วนใหญ่ของพรรคประชาธิปัตย์ 21 เสียง จากทั้งหมด 25 เสียง ในการกำหนดหน้าตาของคณะกรรมการบริหารชุดใหม่ได้ มิหนำซ้ำยังสามารถต่อสายกับพรรคเพื่อไทยได้ทางประตูหลังเพื่อเข้าร่วมรัฐบาลจึงเป็นการ “เดิมพันสูง” ในการต้องมีเก้าอี้รัฐมนตรี เพราะในการเลือกตั้งที่ผ่านมาลงทุนลงแรงอย่างมาก ประกอบปูชนียบุคคลของพรรคอย่าง “ชวน หลีกภัย” บารมีอ่อนแรงไปมาก ดังนันการเลือกตั้งหัวหน้าพรรคครั้งนี้มีความเป็นไปได้ใกล้เคียงมากที่สุดที่จะ “ยึดพรรค”
ความเป็นไปได้ที่พรรคก้าวไกลจะปักธงในสภา โดยการฝากความหวังกับพรรคแนวร่วม-แนวรบมุมกลับในสภาดูจะริบหรี่ มีเพียงการปักธงทางความคิด โดย “เสียงนอกสภา” เท่านั้นที่เป็น “ผนังทองแดงกำแพงเหล็ก” ให้พรรคก้าวไกลใช้เป็นหลังพิง กดดดันพรรคการเมืองทุกพรรค ไม่ว่าจะชอบหน้าหรือไม่ชอบหน้าพรรคก้าวไกลให้ “ยกมือ” ผ่านกฎหมายเปลี่ยนประเทศให้ได้รับความเห็นชอบจากสภาให้เสียงทะลุ 250 คน อย่างไม่มีทางปฏิเสธเสียงเรียกร้องของสังคมได้
คู่ขนานไปกับสมรภูมิเลือกตั้งของพรรคก้าวไกลที่สำคัญทุกสนามและได้ประกาศแข่งทุกสนามเลือกตั้ง ตลอด 4 ปี 4 สนาม ปีที่ 1 สนามเลือกตั้งองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ปีที่ 2 สนามเลือกตั้งเทศบาล ปีที่ 3 สนามเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และปีที่ 4 สนามเลือกตั้งใหญ่ที่จะเป็นบทสรุปส่งท้ายว่า พรรคก้าวไกลจะชนะทุกสนาม-กินรวบทั้งกระดานการเมืองหรือไม่ ภายใต้ยุทธศาสตร์ แข่งทุกสนาม-ขยับทั้งองคาพยพ-ขยายฐานสมาชิกจากปัจจุบัน 8 หมื่นคน ให้เพิ่มขึ้นเดือนละ 1 หมื่นคน เป้าหมายให้มีสมาชิกพรรคมากเป็นอันดับ 1 เหนือกว่าทุกพรรคการเมือง-ขี่คอคู่แข่งตัวฉกาจอย่างพรรคเพื่อไทย ภายใต้อานิสงส์บริบททางการเมืองที่เปลี่ยนไปตลอดกาล