จริยธรรมนักเลือกตั้ง มาตรฐานคนดีต่ำ โทษประหารชีวิตทางการเมือง
คดีฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามจริยธรรมอย่างร้ายแรงของนักเลือกตั้ง กลายเป็นโทษหนักถึงขั้นประหารชีวิตทางการเมือง
คดีช่อ-พรรณิการ์ วานิช อดีตโฆษกพรรคอนาคตใหม่-แกนนำคณะก้าวหน้า โดนศาลฎีกาพิพากษาเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งตลอดไป รวมถึงไม่มีสิทธิดำรงตำแหน่งทางการเมืองใด ๆ
แต่ยังฟังไม่ได้ว่าเป็นการไม่ยึดมั่นและธำรงไว้ซึ่งการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามมาตรฐานทางจริยธรรม จึงยังไม่เห็นสมควรเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง
สืบเนื่องจากสมัยที่ “ช่อ” ยังไม่เบนเข็มจากวงการพิธีกร-ผู้ประกาศข่าวทางดิจิทัลทีวีช่องดัง ก่อนเข้าสู่เส้นทางการเมือง เมื่อปี 2553 ได้โพสต์ภาพ-ข้อความถึงสถาบันและไม่ลบออก เป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง
ที่ผ่านมามีนักการเมืองที่มีดีกรีคนดี “ต่ำกว่ามาตรฐาน” และถูก “ประหารชีวิตทางการเมือง” ใน “คดีมาตรฐานจริยธรรม” ไปแล้วรวมทั้งสิ้น 5 ราย
รายแรก เอ๋-น.ส.ปารีณา ไกรคุปต์ อดีต สส.ราชบุรี พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) กรณีบุกรุกพื้นที่ป่าสงวนและที่ดินของรัฐในจังหวัดราชบุรี ซึ่งถือเป็น “นักการเมืองคนแรก” ที่โดนศาลฎีกาพิพากษาในคดีมาตรฐานจริยธรรมอย่างร้ายแรง
แม้ เอ๋-ปารีณาครอบครองที่ดินตั้งแต่ปี 2555 ถึงปี 2562 อันเป็นการครอบครองที่ดินทั้งก่อนและหลังมาตรฐานทางจริยธรรมฯ บัญญัติขึ้น แต่เมื่อมาตรฐานทางจริยธรรมฯ มีผลใช้บังคับแล้ว ย่อมถูกผูกพันบังคับมิให้กระทำการใดอันขัดต่อมาตรฐานทางจริยธรรมฯ อีกต่อไป
ศาลฎีกาพิพากษาให้พ้นจากตำแหน่ง สส. นับแต่วันที่ 25 มีนาคม 2564 อันเป็นวันที่ศาลฎีกามีคำสั่งให้ผู้คัดค้านหยุดปฏิบัติหน้าที่ ให้เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของผู้คัดค้านตลอดไป รวมถึงไม่มีสิทธิดำรงตำแหน่งทางการเมืองใดๆ และเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง 10 ปี
รายที่สอง ครูโอ๊ะ – กนกวรรณ วิลาวัลย์ อดีตรัฐมนตรีช่วยศึกษาธิการ สมัยรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ และ อดีตสส.ปาร์ตี้ลิสต์ พรรคภูมิใจไทย กรณีออกโฉนดที่ดิน ตำบลเนินหอม อำเภอเมืองปราจีนบุรี จังหวัดปราจีนบุรี โดยมิชอบและโดยทุจริต แล้วได้โฉนดที่ดินมาตั้งแต่ปี 2554 และถือครอบครองที่ดินต่อเนื่องตลอดมาจนกระทั่งเข้าดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ
ศาลฎีกาพิพากษาให้ผู้คัดค้านพ้นจากตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการนับแต่วันที่ 26 สิงหาคม 2565 อันเป็นวันที่ศาลฎีกามีคำสั่งให้ผู้คัดค้านหยุดปฏิบัติหน้าที่ ให้เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของผู้คัดค้านตลอดไป รวมถึงไม่มีสิทธิดำรงตำแหน่งทางการเมืองใด ๆ และเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง 10 ปี
รายที่สาม “ธณิกานต์ พรพงศาโรจน์” สส.กทม.เขต 7 บางซื่อ-ดุสิต พรรคพลังประชารัฐ กรณียินยอมให้ สส.คนอื่น ลงชื่อแสดงตนและลงมติแทนในการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติเหรียญราชรุจิ รัชกาลที่ 10 พ.ศ. … วาระที่ 1 และวาระที่ 3
ศาลฎีกาพิพากษาให้ผู้คัดค้านพ้นจากตำแหน่งนับแต่วันที่ 11 สิงหาคม 2564 อันเป็นวันที่ศาลฎีกามีคำสั่งให้ผู้คัดค้านหยุดปฏิบัติหน้าที่ เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของผู้คัดค้านตลอดไป และไม่มีสิทธิดำรงตำแหน่งทางการเมืองใด ๆ และเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งมีกำหนดเวลา 10 ปี
ส่วนคดีความผิดทางอาญา ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองพิพากษาจำคุก 1 ปี และปรับ 200,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้ 2 ปี หากจำเลยไม่ชำระค่าปรับ ต้องกักขังแทนค่าปรับให้กักขังไม่เกิน 1 ปี
ต่อมาน.ส.ธณิกานต์อุทธรณ์ต่อที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา ซึ่งองค์คณะวินิจฉัยอุทธรณ์เสียงข้างมาก เห็นว่า พฤติการณ์แห่งคดีและพยานหลักฐานแวดล้อมมีเหตุผลและน้ำหนักให้รับฟังได้โดยปราศจากข้อสงสัย จึงพิพากษายืนตามศาลฎีกาแผนกคดีนักการเมือง
รายที่ 4 นายอนุรักษ์ ตั้งปณิธานนท์ อดีต สส.มุกดาหาร พรรคเพื่อไทย กรณีการเรียกรับเงินจำนวน 5 ล้านบาท จากนายศักดิ์ดา วิเชียรศิลป์ อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาล เพื่อแลกกับการผ่านงบประมาณ
ศาลฎีกาพิพากษา ฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานจริยธรรมอย่างร้ายแรง โดยให้พ้นจากตำแหน่ง สส.มุกดาหาร พรรคเพื่อไทย นับตั้งแต่วันที่ 15 ธ.ค. 2564 ซึ่งเป็นวันที่ศาลฎีกามีคำสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งตลอดไป และไม่มีสิทธิดำรงตำแหน่งทางการเมืองใด ๆ เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งเป็นเวลา 10 ปี
คดีมาตรฐานจริยธรรมนักการเมืองยังคาอยู่ในชั้นอุทธรณ์ต่อที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา 3 ราย ได้แก่ นายฉลอง เทอดวีระพงศ์ สส.พัทลุง นายภูมิศิษฎ์ คงมี สส.พัทลุง และนางนาที รัชกิจประการ สส.ปาร์ตี้ลิสต์ พรรคภูมิใจไทย ขณะนี้อยู่ระหว่างยื่นอุทธรณ์ต่อที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา
กรณีนายฉลอง-นายภูมิศิษฏ์-นางนาที ให้สส.คนอื่น แสดงตนและลงมติในการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2563 แทน
ภายหลังจากศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองพิพากษาจำคุกไปแล้ว รายละ 9 เดือน และให้นายฉลองและนายภูมิศิษฎ์ พ้นจากตำแหน่ง สส.นับแต่วันที่ 11 เมษายน 2565 ซึ่งเป็นวันหยุดปฏิบัติหน้าที่ และให้เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งตลอดไป และไม่มีสิทธิดำรงตำแหน่งทางการเมืองใด ๆ
ก่อนหน้านี้ยังมี “คดีเสียบบัตรแทน” ในยุครัฐบาลน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร กรณี นายนริศร ทองธิราช อดีต สส.สกลนคร พรรคเพื่อไทย
ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองพิพากษา จำคุกกระทงละ 1 ปี คำให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่ การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กระทงละกึ่งหนึ่ง คงจำคุกกระทงละ 6 เดือน รวม 2 กระทง เป็นจำคุก 12 เดือน ต่อมานายนริศรอุทธรณ์ ซึ่งองค์คณะวินิจฉัยอุทธรณ์เสียงข้างมากพิพากษายืน
ขณะที่ในชั้นคณะกรรมการไต่สวนคณะกรรมการ ป.ป.ช. ยังมีนักการเมืองจากค่ายบุรีรัมย์ต่อคิวเชือด-ชี้มูลความผิดฝ่าฝืนจริยธรรมร้ายแรง คือ “ศักดิ์สยาม ชิดชอบ” เลขาธิการภูมิใจไทย-อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมใน “คดีเขากระโดง”
นอกจากนี้ยังมีคนในตระกูลชิดชอบ คือ “พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการในรัฐบาลปัจจุบัน โดยคณะกรรมการ ป.ป.ช.ชี้มูลความผิด “วินัยไม่ร้ายแรง” สมัยเป็นผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ
กรณีกลับคำสั่งไม่ฟ้อง “บอส-วรยุทธ อยู่วิทยา ทายาทกระทิงแดง ในข้อหาขับรถยนต์ชน ด.ต.วิเชียร กลั่นประเสริฐ นายดาบตำรวจ สน.ทองหล่อ เสียชีวิตเมื่อปี 2555 โดย คณะกรรมการ ป.ป.ช.มีมติส่งเรื่องให้กับ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้บังคับบัญชาพิจารณาโทษทางวินัย
ยังมีนักการเมือง สส.- สว. อีกหลายราย ที่อยู่ระหว่างคณะกรรมการ ป.ป.ช.ไต่สวน กรณีถือครองเอกสารสิทธิที่ดินโดยมิชอบ สุ่มเสี่ยงโดนชี้มูล ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามจริยธรรมร้ายแรง
คดีมาตรฐานจริยธรรมมีโทษประหารชีวิตทางการเมืองไม่ต่างกับการโดนยึดทรัพย์หมดเนื้อหมดตัวทางการเมือง