ครม.เศรษฐา 1 รุ่ง – ร่วง หักดิบพรรคร่วม-นายทุน ทำนโยบายหาเสียง

ครม.เศรษฐา 1 รุ่ง – ร่วง หักดิบพรรคร่วม-นายทุน ทำนโยบายหาเสียง

ครม.เศรษฐา 1 นับ 1 อย่างเป็นทางการ หลังจากมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ 34 รัฐมนตรี
99.99 เปอร์เซ็นต์ เป็นไปตามโผ มีเพียง 2 ตำแหน่งที่ “พลิกโผ” คือ “ไผ่ ลิกค์” สส.กำแพงเพชร พรรคพลังประชารัฐ ที่คั่วเก้าอี้รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ สุดท้าย “หลุดโผ” แบบไม่มีปี่มีขลุ่ย
ขณะที่ “พิชิต ชื่นบาน” ทนายความส่วนตัวนายทักษิณ ชินวัตร ที่ชิงทิ้งเก้าอี้รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี หลังจากมี “ข้อกังขา” ปม “คุณสมบัติ” รัฐมนตรี ขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 160 ประกอบมาตรา 98 เนื่องจากเคยถูกจำคุก “คดีถุงขนม”
แม้ “วิษณุ เครืองาม” รองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายกฎหมายจะออกมาการันตีว่า คำพิพากษาจำคุก “หมิ่นศาล” เป็น “คำสั่ง” ไม่ใช่คำพิพากษา และคดีความดังกล่าวเกิดขึ้นเมื่อปี 2551 ล่วงเลยมานานกว่า 10 ปีแล้ว
แต่เมื่อสำนักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) ได้ส่งให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจสอบ สุดท้ายสอบตก-ไม่ผ่านขั้นตอนการ “ตรวจคุณสมบัติ”
สำหรับ 34 รัฐมนตรีที่ผ่านเข้ารอบตรวจสอบประวัติ เข้าไปนั่งประชุม ครม.เศรษฐา 1 “นัดพิเศษ” ในวันที่ 6 กันยายน 2566 หลังจากเข้าเฝ้าถวายสัตย์ปฏิญาณตนในวันที่ 5 กันยายน 2566 ก่อนจะแถลงนโยบายต่อรัฐสภาในวันที่ 8 กันยายน 2566
ครม.เศรษฐา 1 “นัดแรก” อย่างเป็นทางการ ตรงกับวันที่ 12 กันยายน 2566 ซึ่งนายเศรษฐา ปวารณาตัวไว้แล้วทันทีที่มีพระบรมราชโองการตั้งแต่เป็น “นายกรัฐมนตรี คนที่ 30” ว่า “จะขอทำหน้าที่นายกรัฐมนตรีที่ไม่รู้จักคำว่าเหน็ดเหนื่อย”
การนั่งหัวโต๊ะ ประชุม “ครม.นัดแรก” อย่างเป็นทางการ ของนายเศรษฐา จึงต้องใส่เกียร์ 5 เดินหน้าเต็มสูบในการแก้ไขปัญหานโยบายเศรษฐกิจที่ “ทำทันที”
ทั้งเรื่องการลดราคาพลังงาน ค่าไฟฟ้า-ค่าน้ำมัน พักหนี้เกษตรกร ฟรีวีซ่านักท่องเที่ยวจีน รถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย ปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 600 บาทต่อวัน
จุดชี้ขาดว่า “ครม.เศรษฐา 1” จะ “รุ่ง” หรือ “ร่วง” คือ “ร่างแถลงนโยบายของรัฐบาล” ที่จะถกกับ 34 รัฐมนตรี ที่มาจาก 6 พรรคการเมือง ในการประชุม “ครม.นัดพิเศษ” ก่อนจะแถลงนโยบายต่อรัฐสภาในวันที่ 8 กันยายน 2566
เมื่อพรรคเพื่อไทยมี “ต้นทุน” ต้องจ่ายให้กับพรรคร่วมรัฐบาล แลกกับการโหวตให้นายเศรษฐาเป็นนายกรัฐมนตรี คนที่ 30 จึงไม่ได้คุมกระทรวงหลัก-กระทรวงสำคัญ การทำนโยบายหาเสียงหลักของพรรคเพื่อไทยจึงออกมา “ผิดฝาผิดตัว”
ขณะที่กระทรวงหลักยังถูกพรรคร่วมรัฐบาล “กินรวบ” ทั้งกระทรวงพลังงาน กระทรวงมหาดไทย และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่มีรองนายกรัฐมนตรีกำกับ “คนเดียวกัน”
และศึกษาธิการ-กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ที่พรรคภูมิใจไทยกวาด “ยกกระทรวง” ไม่แบ่งให้ใครแม้แต่เก้าอี้รัฐมนตรีช่วย
เมื่อพรรคเพื่อไทยไม่ได้ “กระทรวงเกรดเอ” ไปนอนกอด การ “mix and match” ระหว่างนโยบายรัฐบาลกับรัฐมนตรีเจ้ากระทรวง เพื่อให้ “สมประโยชน์” ทุกฝ่าย จึงมีความสำคัญไม่น้อย
นโยบาย “ลดค่าไฟฟ้า” และ “ลดราคาน้ำมัน” พรรคเพื่อไทยต้อง “ผนึกกำลัง” กับพรรคร่วมรัฐบาล ระหว่างกระทรวงการคลังที่มี “นายกฯเศรษฐา” เป็น “เจ้ากระทรวง” กับกระทรวงพลังงาน ที่มี “พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค” หัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ “กุมบังเหียน” ต้องวัดใจว่าจะกล้าหักดิบ “นายทุนพลังงาน” หรือไม่
เช่นเดียวกับนโยบาย “พักหนี้เกษตรกร” ที่มีธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ในกำกับของกระทรวงการคลังเป็น “เจ้าภาพใหญ่”
แต่ก็ต้องร่วมแรงร่วมใจกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ที่มี “ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า” เลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ นั่งเป็น “รัฐมนตรีว่าการ” ขนาบข้างด้วยรัฐมนตรีช่วยว่าการที่มาจากพรรคเพื่อไทยและพรรครวมไทยสร้างชาติ
ขณะที่นโยบาย “รถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย” ที่มีกระทรวงรับผิดชอบจาก 2 กระทรวง ที่มาจาก 2 พรรคการเมือง อย่างพรรคเพื่อไทย ที่มี “สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ” คัมแบ็กกลับมาเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมในรอบ 21 ปี
โดยต้องประสานงานกับกระทรวงมหาดไทย ที่มี “เสี่ยหนู” อนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจ เป็น “เจ้ากระทรวงคลองหลอด” ที่ยังมี “เผือกร้อน” การต่อสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว “คาราคาซัง” ตั้งแต่ปลายรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์
ที่สำคัญการผลักดันนโยบาย “รถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย” ต้องไปเกี่ยวกับ “บิ๊กธุรกิจรถไฟฟ้า” สองเจ้าใหญ่ จากสองค่าย อย่าง “บีทีเอส” ของ “เจ้าสัวคีรี” กับ “BEM” ของ “เจ้าสัวปลิว” ที่งัดข้อ “รถไฟฟ้าสายสีส้ม” งานนี้จึงไม่ง่ายที่จะลงตัว
และที่ไฮไลต์ คือ นโยบาย “ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 600 บาทต่อวัน” ที่พรรคเพื่อไทย “ยกเก้าอี้” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานไปให้ “พิพัฒน์ รัชกิจประการ” จากค่ายภูมิใจไทย
แต่ถ้ามองในแง่ของเลห์-เหลี่ยมทางการเมืองของพรรคเพื่อไทยก็มองได้ เพราะเหมือนเป็นการโยน “เผือกร้อน” ไปให้กับภูมิใจไทย เพื่อไทยจะใช้เป็น “ข้ออ้าง” ทำนโยบายที่หาเสียงไว้ไม่สำเร็จ
ขณะที่นโยบายด้านความมั่นคงอย่าง “เกณฑ์ทหารสมัครใจ” ที่มี “บิ๊กธิน” สุทิน คลังแสง สส.มหาสารคามจากพรรคเพื่อไทย “พลเรือนคนที่ 5” ที่มานั่งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม
ทว่า “บิ๊กธิน” นอกจากเป็นพลเรือนแล้ว ยังไม่มีทหารมา “ขัดตาทัพ” เป็นรัฐมนตรีช่วยกลาโหม จึงเหมือนพูดกับแม่ทัพนายกองคนละภาษา
การที่ “รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมป้ายแดง” เดินสายทาบทาม “อดีตนายทหารนอกราชการ” ที่เคยมีบทบาทในกองทัพ มาเป็น “ทีมกุนซือ” อาจจะมาช่วยได้เพียงให้คำปรึกษา แต่ไม่มีอำนาจบังคับบัญชา จึงเหมือนยักษ์ไม่มีกระบอง
เช่น “บิ๊กแอ๊ด” พล.อ.ธรรมรักษ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา – พล.อ.เชษฐา ฐานะจาโร อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ยุครัฐบาลทักษิณ และ พล.อ.นิพัทธ์ ทองเล็ก อดีตปลัดกระทรวงกลาโหม ยุครัฐบาลยิ่งลักษณ์
สำคัญที่สุดคือ การเป็น “รัฐมนตรีขาลอย” เพราะที่ผ่านมารัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมที่เป็นพลเรือนทั้ง 5 คน สวมหมวกนายกรัฐมนตรีทุกคน การจะเขยื้อนนโยบาย “เกณฑ์หทาร” จึงเหมือนเข็นครกขึ้นภูเขา
นอกจากพรรคเพื่อไทยต้องหักเหลี่ยม-เฉือนคนกับพรรคร่วมรัฐบาลใน ครม.แล้ว ภาพ“ถ่ายรูปหมู่” กับ “เจ้าสัว” กลายเป็น “ชนักปักหลัง” เศรษฐา ให้ใช้ความกล้าทางการเมือง “หักดิบ” ผลประโยชน์ของอาณาจักรมหาเศรษฐี-นายทุนหรือไม่
เพื่อทำตามสัญญาประชาคม-นโยบายที่หาเสียงไว้ในช่วงเลือกตั้ง