SCB จับกระแสโรงเรียนนานาชาติแข่งขันรุนแรง
จับกระแสโรงเรียนนานาชาติ กับแนวโน้มการแข่งขันที่เข้มข้น
ธุรกิจโรงเรียนนานาชาติขยายตัวจากทั้งอุปสงค์การเข้าเรียน และจำนวนโรงเรียน โดยอุปสงค์เติบโตจากการเพิ่มขึ้นของจำนวนคนไทยที่มีความมั่งคั่งสูง และมีความพร้อมในการส่งบุตรหลานเข้าเรียนในโรงเรียนนานาชาติมากขึ้น ประกอบกับการที่มีชาวต่างชาติที่เข้ามาทำธุรกิจ และทำงานระยะยาวในไทย รวมถึงนักเรียนจากประเทศกลุ่ม CLMV ที่เข้ามาเรียนในไทย ซึ่งอุปสงค์ที่เติบโตต่อเนื่องเป็นปัจจัยหนุนให้ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา จำนวนโรงเรียนนานาชาติมีการขยายตัวเพิ่มขึ้นเฉลี่ยราว 5% ต่อปี โดยเฉพาะโรงเรียนขนาดเล็กถึงกลาง ที่เป็นทางเลือกสำหรับผู้ปกครอง SCB EIC มองว่า ในระยะข้างหน้า การแข่งขันของโรงเรียนนานาชาติมีแนวโน้มรุนแรงขึ้น จากการแข่งขันของโรงเรียนนานาชาติเปิดใหม่ในพื้นที่กรุงเทพฯ ชั้นนอก ฝั่งทิศตะวันตกเฉียงเหนือ และฝั่งทิศตะวันออก รวมถึงปริมณฑล ตามการขยายธุรกิจที่สอดคล้องไปตามการขยายตัวของตลาดที่อยู่อาศัยระดับบนในพื้นที่ดังกล่าว ประกอบกับเป็นการพัฒนาโรงเรียนขนาดใหญ่เพื่อสามารถรองรับจำนวนนักเรียนได้มากขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้การแข่งขันในตลาดมีแนวโน้มรุนแรงขึ้น โดยเฉพาะโรงเรียนนานาชาติขนาดเล็ก ซึ่งมีข้อจำกัดด้านการลงทุนในการเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน ที่ยังต้องแข่งขันกับกลุ่มทุนรายใหญ่ ที่มีประสบการณ์ในการดำเนินธุรกิจด้านการศึกษา และมีการลงทุนด้านสิ่งอำนวยความสะดวกที่หลากหลาย โรงเรียนนานาชาติยังเผชิญความท้าทาย ทั้งจำนวนนักเรียนที่อาจขยายตัวได้ช้า จากอัตราการเกิดที่ลดลง และต้นทุนในการประกอบธุรกิจที่สูงขึ้น แม้ในระยะข้างหน้าจะมีจำนวนผู้ปกครองชาวไทยที่มีความสามารถส่งบุตรหลานเข้าเรียนในโรงเรียนนานาชาติได้มากขึ้น รวมถึงคาดว่าจะมีนักเรียนชาวต่างชาติเข้ามาเรียนโรงเรียนนานาชาติในไทยเพิ่มขึ้นตามผู้ปกครองที่เข้ามาประกอบธุรกิจ และทำงานในตำแหน่งระดับสูง แต่การขยายตัวของจำนวนนักเรียนมีแนวโน้มถูกกดดันจากอัตราการเกิดที่ลดลง นอกจากนี้ โรงเรียนนานาชาติยังเผชิญความท้าทายด้านต้นทุนในการประกอบธุรกิจ โดยเฉพาะการแข่งขันดึงดูดบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถเพื่อรักษามาตรฐานการเรียนการสอน อีกทั้ง ต้นทุนบุคลากรยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง จากการปรับอัตราค่าจ้างเพิ่มขึ้นทุกปี ซึ่งหากจำนวนนักเรียนขยายตัวได้ช้ากว่าการขยายธุรกิจของโรงเรียนนานาชาติในระยะข้างหน้าแล้ว จะส่งผลกระทบต่อสภาพคล่อง และอัตรากำไร โรงเรียนนานาชาติสามารถสร้างความแตกต่าง เพื่อดึงดูดให้ผู้ปกครองพิจารณาเลือกโรงเรียน
ให้บุตรหลาน อาทิ การสร้างเครือข่ายความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยชั้นนำ ทั้งในไทยและต่างประเทศ การสร้างมาตรฐานการศึกษาในระดับนานาชาติ ทั้งนี้หากมองถึงโอกาสในระยะข้างหน้า ที่ความต้องการแรงงานในตลาดมีแนวโน้มเปลี่ยนแปลงไป ซึ่งนักเรียนอาจไม่ได้มีเป้าหมายในการเรียนต่อในมหาวิทยาลัยเพียงอย่างเดียว แต่หากยังมองหาการเรียนรู้ที่สามารถนำไปใช้ประกอบอาชีพได้โดยตรง ทำให้โรงเรียนจำเป็นต้องมีความยืดหยุ่นในการพัฒนาหลักสูตรเชิงวิชาชีพ ให้สอดคล้องกับความต้องการแรงงานในอนาคต ซึ่งจะช่วยให้เกิดข้อได้เปรียบด้านความหลากหลายของหลักสูตรการเรียนการสอน และตอบโจทย์ตลาดแรงงานในอนาคตได้ ขณะที่ภาครัฐอาจอำนวยความสะดวกในการดึงดูดบุคลากรด้านการศึกษาชาวต่างชาติให้เข้ามาทำงาน
ในไทย เพื่อบรรเทาข้อจำกัดของธุรกิจโรงเรียนนานาชาติในการสรรหาบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถ เช่น การให้สิทธิพิเศษทางด้านภาษี การอำนวยความสะดวกในการดำเนินการด้านวีซ่าที่รวดเร็ว การปรับลดข้อกำหนดสำหรับการถือวีซ่าประเภทผู้พำนักระยะยาว อีกทั้ง การส่งเสริมการลงทุนเพื่อดึงดูดนักลงทุนต่างชาติให้เข้ามาประกอบกิจการในไทยมากขึ้น จะเป็นโอกาสให้เกิดการโยกย้ายที่อยู่อาศัยของครอบครัวชาวต่างชาติให้เข้ามายังไทย และเป็นโอกาสสำหรับโรงเรียนนานาชาติที่จะรองรับนักเรียนต่างชาติที่ย้ายเข้ามาอยู่อาศัยในไทยพร้อมกับครอบครัวได้ต่อไป
โรงเรียนนานาชาติเป็นหนึ่งทางเลือกที่ผู้ปกครองกลุ่มมีกำลังซื้อต้องการส่งบุตรหลานเข้าไปศึกษาเล่าเรียน ด้วยเหตุผลด้านความต้องการพัฒนาทักษะ โดยเฉพาะความสามารถทางด้านภาษาสำหรับบุตรหลาน ประกอบกับความเชื่อมั่นในคุณภาพการศึกษาของประเทศเจ้าของหลักสูตร ซึ่งส่วนมากมีมาตรฐานสูง ทั้งด้านวิชาการ กิจกรรมเสริมทักษะอื่น ๆ และสภาพแวดล้อมที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรม รวมถึงเพื่อเป็นการปูพื้นฐานสำหรับนักเรียนที่ผู้ปกครองมีแผนที่จะส่งไปเรียนต่อในต่างประเทศ นอกจากนี้ การส่งบุตรหลานเข้าเรียนในโรงเรียนนานาชาติในประเทศ แทนการส่งไปเรียนในต่างประเทศ ยังสามารถช่วยให้ผู้ปกครองประหยัดค่าใช้จ่าย และสามารถดูแลบุตรหลานได้อย่างใกล้ชิดโดยยังคงได้รับมาตรฐานการศึกษาเทียบเท่ากับโรงเรียนในต่างประเทศอีกด้วย
ทั้งนี้ธุรกิจโรงเรียนนานาชาติในไทยมีมูลค่าตลาดไม่ต่ำกว่า 70,000 ล้านบาท และมีการเปิดสอนในหลักสูตรที่หลากหลาย รองรับกับความต้องการของผู้ปกครองและนักเรียน ทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติจากประเทศต่าง ๆ ตั้งแต่ระดับเตรียมอนุบาล ไปจนถึงมัธยมศึกษาตอนปลาย โดยส่วนใหญ่เป็นโรงเรียนที่ใช้หลักสูตรจากอังกฤษ และสหรัฐอเมริกา คิดเป็นสัดส่วนราว 50% และ 30% ของจำนวนโรงเรียนนานาชาติทั่วประเทศ ตามลำดับ นอกจากนี้ ยังมีโรงเรียนที่ใช้หลักสูตรประยุกต์ หรือ International Baccalaureate (IB) ราว 12% และหลักสูตรเฉพาะของแต่ละประเทศ อาทิ ฝรั่งเศส สวิสเซอร์แลนด์ สิงคโปร์ และจีนอีกราว 8% ที่ช่วยให้นักเรียนสามารถเข้าศึกษาได้อย่างต่อเนื่องตามหลักสูตรของประเทศนั้น ๆ อย่างไรก็ดี แม้ว่าค่าเล่าเรียนในโรงเรียนนานาชาติจะอยู่ในระดับค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับโรงเรียนในระบบสามัญของไทย แต่ปัจจุบันมีโรงเรียนนานาชาติเปิดใหม่เพิ่มขึ้นค่อนข้างมาก โดยมีอัตราค่าเล่าเรียนต่อปีในช่วงราคาที่มีความหลากหลายมากขึ้น เริ่มต้นตั้งแต่ประมาณ 125,000 บาท/ปี ไปจนถึงประมาณ 1,000,000 บาท/ปี และกระจายตัวในหลากหลายทำเล ทั้งในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล รวมถึงต่างจังหวัด ซึ่งเป็นตัวเลือกให้ผู้ปกครองได้พิจารณาให้สอดคล้องตามความพร้อมทางด้านการเงิน และความสะดวกด้านการเดินทาง
ธุรกิจโรงเรียนนานาชาติขยายตัวจากทั้งอุปสงค์ของการเข้าเรียน และจำนวนโรงเรียนที่เพิ่มขึ้น
อุปสงค์ของการเข้าเรียนในโรงเรียนนานาชาติยังมีแนวโน้มเติบโต จากการขยายตัวของจำนวนคนไทยผู้มีความมั่งคั่งสูง รวมถึงชาวต่างชาติที่เข้ามาประกอบธุรกิจ และทำงานในไทย โดยข้อมูลจากKnight Frank’s the Wealth Report ระบุว่า ในช่วงปี 2016–2022 มีจำนวนคนไทยที่มีความมั่งคั่งสูง (High Net Worth Individuals: HNWIs)เพิ่มขึ้นเฉลี่ย 10% ต่อปี สะท้อนว่ากลุ่มคนไทยที่มีความมั่งคั่งสูง ซึ่งมีความพร้อมในการส่งบุตรหลานเข้าเรียนในโรงเรียนนานาชาติมีจำนวนมากขึ้นในระยะที่ผ่านมา รวมถึงยังคาดการณ์จำนวนคนไทยที่มีความมั่งคั่งสูงขยายตัวแตะระดับ 1.6 แสนคนในปี 2026 สะท้อนถึงความต้องการในการเข้าเรียนในโรงเรียนนานาชาติยังมีแนวโน้มเติบโตจากผู้ปกครองชาวไทย
ในส่วนของอุปสงค์การเข้าเรียนในโรงเรียนนานาชาติจากฝั่งผู้ปกครองที่เป็นชาวต่างชาตินั้น พบว่า ยังมีจำนวนชาวต่างชาติที่เข้ามาประกอบธุรกิจ และทำงานในตำแหน่งระดับสูงในไทยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยส่วนใหญ่เป็นชาวต่างชาติสัญชาติจีน ญี่ปุ่น และอินเดีย รวมถึงชาวต่างชาติจากประเทศต่าง ๆ ที่เข้ามาปฏิบัติงานด้านการทูต ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีศักยภาพในการโยกย้ายครอบครัวเข้ามาพักอาศัยระยะยาวในไทย และมีความสามารถในการส่งบุตรหลานเข้าเรียนในโรงเรียนนานาชาติได้อีกด้วย แม้ว่าในช่วงปี 2020-2021 จะมีชาวต่างชาติที่ทำงานในตำแหน่งระดับสูงในไทยลดลงเป็นจำนวนมาก จากผลกระทบของการแพร่ระบาดอย่างรุนแรงของ COVID-19 แต่ก็พบว่า ในปี 2022 มีชาวต่างชาติทยอยกลับเข้ามาทำงานในไทยมากขึ้นจากการเปิดประเทศ ประกอบกับผลกระทบจากมาตรการควบคุมโรงเรียนเอกชน และโรงเรียนนานาชาติที่เข้มงวดในประเทศจีนที่ผ่านมา จากการที่รัฐบาลจีนได้กำหนดให้การเรียนการสอนในช่วงการศึกษาภาคบังคับ K9 (เทียบเท่าระดับชั้นประถมศึกษาจนถึงมัธยมศึกษาตอนต้นของไทย) จะต้องเป็นโรงเรียนที่อยู่ภายใต้การดำเนินงานของรัฐบาล และไม่อนุญาตให้ใช้หลักสูตรจากต่างชาติ ส่งผลให้ชาวจีนมีแนวโน้มส่งบุตรหลานไปเรียนโรงเรียนนานาชาติในต่างประเทศมากขึ้น โดยโรงเรียนนานาชาติในไทยเป็นจุดหมายสำคัญที่ผู้ปกครองชาวจีนเลือกที่จะส่งบุตรหลานเข้ามาศึกษา นอกจากนี้ ยังมีผู้ปกครองชาว CLMV ที่มีฐานะดีก็มีแนวโน้มส่งบุตรหลานเข้ามาเรียนโรงเรียนนานาชาติในไทย เนื่องจากค่าครองชีพที่ไม่สูงมากนัก รวมถึงยังสามารถเดินทางไปมาระหว่างประเทศได้อย่างสะดวกสบาย และใช้ระยะเวลาที่ไม่นาน
ทั้งนี้กลุ่มผู้ปกครองที่มีความมั่งคั่งสูงทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ ที่มีความพร้อมในการส่งบุตรหลานเข้าเรียนในโรงเรียนนานาชาติ ส่วนใหญ่ยังเป็นกลุ่มที่อาศัยอยู่ในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล รวมถึงเมืองสำคัญที่มีกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เอื้อต่อการประกอบธุรกิจและการค้า อย่างชลบุรี ที่ได้รับอานิสงส์จากการส่งเสริมการลงทุน และการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ EEC รวมถึงภูเก็ต และเชียงใหม่ ที่เป็นเมืองท่องเที่ยว และการค้าการลงทุนที่สำคัญของภูมิภาค
รูปที่ 1 : จำนวนชาวไทยที่มีความมั่งคั่งสูง และชาวต่างชาติที่เข้ามาทำงานในตำแหน่งระดับสูงในไทย มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น
หมายเหตุ : 1 จากตัวชี้วัดคนไทยที่มีสินทรัพย์มากกว่า 1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ใน Knight Frank the Wealth Report
2 นับเฉพาะตำแหน่งผู้จัดการฝ่าย ผู้จัดการทั่วไป กรรมการผู้จัดการ และผู้บริหารระดับสูง
ที่มา : การวิเคราะห์โดย SCB EIC จากข้อมูลของ Knight Frank และสำนักงานบริหารแรงงานต่างด้าว
จำนวนโรงเรียนนานาชาติก็มีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง รองรับอุปสงค์ที่เติบโต โดยเฉพาะโรงเรียนขนาดเล็กถึงกลาง ที่เป็นทางเลือกสำหรับผู้ปกครอง ปัจจุบันโรงเรียนนานาชาติขนาดใหญ่ในไทยที่สามารถรองรับนักเรียนได้ตั้งแต่ 1,500 คนขึ้นไปมีสัดส่วนประมาณ 10% ของจำนวนโรงเรียนนานาชาติโดยรวมทั้งหมดและส่วนใหญ่กระจุกตัวอยู่ในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล โดยเฉพาะกรุงเทพฯ ชั้นใน และกรุงเทพฯ ฝั่งตะวันออก ทั้งนี้ในช่วงปี 2011-2022 จำนวนโรงเรียนนานาชาติมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่องเพิ่มขึ้นเฉลี่ยราว 5% ต่อปี ทั้งในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล รวมถึงต่างจังหวัด โดยจำนวนโรงเรียนนานาชาติในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑลมีการขยายตัวเฉลี่ย 4% ต่อปี ขณะที่ในพื้นที่ต่างจังหวัดมีการขยายตัวเฉลี่ย 7% ต่อปี ส่งผลให้สัดส่วนจำนวนโรงเรียนนานาชาติในต่างจังหวัดปรับตัวสูงขึ้นจาก 34% ของจำนวนโรงเรียนนานาชาติโดยรวมทั้งหมดในปี 2011 มาอยู่ที่ 40% ของจำนวนโรงเรียนนานาชาติโดยรวมทั้งหมดในปัจจุบัน
แม้ว่าในระยะที่ผ่านมาจะมีจำนวนโรงเรียนนานาชาติเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่ก็เป็นการเพิ่มขึ้นของจำนวนโรงเรียนที่มีขนาดเล็กถึงขนาดกลาง ซึ่งสามารถรองรับนักเรียนได้สูงสุดเฉลี่ยประมาณ 420 คน โดยการเพิ่มขึ้นของจำนวนโรงเรียนที่มีขนาดเล็กถึงขนาดกลางดังกล่าว ส่งผลให้ตลาดโรงเรียนนานาชาติมีความหลากหลายมากขึ้น ทั้งด้านอัตราค่าเล่าเรียน ทำเลที่ตั้งของโรงเรียน ไปจนถึงหลักสูตรต่าง ๆ ซึ่งช่วยให้ผู้ปกครองมีทางเลือกในการส่งบุตรหลานเข้าเรียนในโรงเรียนนานาชาติมากขึ้น
รูปที่ 2 : จำนวนนักเรียนที่เข้าเรียนในโรงเรียนนานาชาติ และจำนวนโรงเรียนนานาชาติในไทย มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง
หมายเหตุ : ข้อมูลประจำปีการศึกษา 2022/2023 ณ เดือนพฤศจิกายน 2022
ที่มา : การวิเคราะห์โดย SCB EIC จากข้อมูลของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.)
SCB EIC มองว่า ในระยะข้างหน้าการแข่งขันของโรงเรียนนานาชาติมีแนวโน้มรุนแรงขึ้นตามการขยายธุรกิจ และการพัฒนาโรงเรียนขนาดใหญ่ รวมถึงยังเผชิญความท้าทาย ทั้งจำนวนนักเรียนที่อาจขยายตัวได้ช้า และต้นทุนที่สูงขึ้น
การแข่งขันของโรงเรียนนานาชาติเปิดใหม่ในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล มีแนวโน้มรุนแรงขึ้นตามการขยายธุรกิจไปตามพื้นที่กรุงเทพฯ ชั้นนอก และปริมณฑล ที่ผ่านมาโรงเรียนนานาชาติที่มีประสบการณ์และมีชื่อเสียงมายาวนาน ซึ่งได้รับความนิยมจากผู้ปกครองในการส่งบุตรหลานเข้าเรียนส่วนใหญ่จะกระจุกตัวอยู่ในกรุงเทพฯ ชั้นใน อย่างไรก็ดี จากข้อจำกัดของทำเลพื้นที่กรุงเทพฯ ชั้นใน ประกอบกับการขยายตัวของความเป็นเมือง ส่งผลให้ผู้เล่นในธุรกิจโรงเรียนนานาชาติ ทั้งผู้เล่นรายเดิมที่มีประสบการณ์ในการดำเนินธุรกิจด้านการศึกษามีแผนขยาย Campus ออกไป รวมถึงผู้เล่นรายใหม่ที่ได้เข้ามาลงทุนเปิดโรงเรียนนานาชาติแห่งใหม่ ส่วนใหญ่มีแผนที่จะพัฒนาโรงเรียนนานาชาติในพื้นที่ฝั่งทิศตะวันตกเฉียงเหนือ และฝั่งทิศตะวันออกของกรุงเทพฯโดยยังเป็นการขยายธุรกิจที่สอดคล้องไปตามการขยายตัวของตลาดที่อยู่อาศัย ที่พบว่าผู้ประกอบการพัฒนาที่อยู่อาศัยหันมาพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัยระดับบน อย่างบ้านเดี่ยวราคา 20 ล้านบาทขึ้นไปในพื้นที่ดังกล่าวเพิ่มมากขึ้น ซึ่งผู้มีกำลังซื้อที่อยู่อาศัยกลุ่มนี้เป็นผู้มีความมั่งคั่งสูง จึงเป็นกลุ่มเป้าหมายหลักที่จะส่งบุตรหลานเข้าเรียนในโรงเรียนนานาชาติ นับเป็นปัจจัยหนุนให้ผู้เล่นในธุรกิจโรงเรียนนานาชาติหันมาพัฒนาโรงเรียนในพื้นที่ฝั่งทิศตะวันตกเฉียงเหนือ และฝั่งทิศตะวันออกของกรุงเทพฯ มากขึ้นด้วยเช่นกัน
ทั้งนี้แนวโน้มการขยายธุรกิจโรงเรียนนานาชาติไปตามพื้นที่กรุงเทพฯ ชั้นนอก และปริมณฑล ซึ่งไม่มีข้อจำกัดด้านขนาดพื้นที่โรงเรียน ส่งผลให้เกิดการพัฒนาโรงเรียนนานาชาติขนาดใหญ่ เพื่อรองรับจำนวนนักเรียนได้มากขึ้น เช่น การเพิ่มจำนวนห้องเรียน อาคารเรียน หอพัก สิ่งอำนวยความสะดวกอื่น ๆ โดยมีเป้าหมายในการช่วงชิงจำนวนนักเรียนที่เข้าศึกษา จากทั้งนักเรียนไทย และนักเรียนต่างชาติ ทั้งที่เข้ามาพร้อมกับครอบครัวที่เข้ามาประกอบธุรกิจ หรือเข้ามาทำงานในไทย รวมถึงนักเรียนจากกลุ่มประเทศ CLMV ที่ผู้ปกครองส่งเข้ามาเรียนในไทย ซึ่งคาดว่าจะมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น แตกต่างจากในระยะที่ผ่านมาที่จำนวนโรงเรียนนานาชาติที่เพิ่มขึ้นนั้นมาจากการเพิ่มขึ้นของจำนวนโรงเรียนที่มีขนาดเล็กถึงกลางเป็นหลัก ซึ่งสามารถรองรับจำนวนนักเรียนได้ไม่มากนักโดยแนวโน้มการพัฒนาโรงเรียนนานาชาติขนาดใหญ่ดังกล่าว จะส่งผลให้การแข่งขันในตลาดมีแนวโน้มรุนแรงขึ้น
สำหรับในพื้นที่ต่างจังหวัดนั้น เริ่มมีการเปิดโรงเรียนนานาชาติแห่งใหม่ ทั้งจากนักลงทุนไทยและนักลงทุนต่างชาติที่ร่วมลงทุนกับนักลงทุนไทย โดยเฉพาะในเชียงใหม่ ที่มีกลุ่มทุนจากจีนเข้ามาลงทุนเปิดโรงเรียนนานาชาติหลักสูตรจีน เพื่อรองรับแนวโน้มที่คาดว่าจะมีผู้ปกครองชาวจีนที่มีความมั่งคั่งสูงส่งบุตรหลานเข้ามาเรียนในโรงเรียนนานาชาติในเชียงใหม่เพิ่มมากขึ้นจากผลกระทบของการควบคุมหลักสูตรการศึกษาสองภาษา และหลักสูตรโรงเรียนนานาชาติอย่างเข้มงวดในจีน เช่นเดียวกับภูเก็ตที่มีการลงทุนเปิดโรงเรียนนานาชาติแห่งใหม่หลายแห่ง จากแนวโน้มการเข้ามาพักอาศัยของชาวต่างชาติหลากหลายสัญชาติ ในทำเลที่มีศักยภาพทางเศรษฐกิจที่เอื้อต่อการประกอบธุรกิจ ประกอบกับการเป็นเมืองท่องเที่ยวที่มีภูมิทัศน์ที่สวยงาม และมีความสะดวกสบายของการเดินทางด้วยเที่ยวบินตรงจากต่างประเทศ ทั้งจากเอเชีย ยุโรป และตะวันออกกลาง
จับตาการแข่งขันของโรงเรียนนานาชาติในพื้นที่กรุงเทพฯ ฝั่งตะวันออก-สมุทรปราการ จำนวนโรงเรียนนานาชาติที่ตั้งอยู่ในพื้นที่กรุงเทพฯ ฝั่งตะวันออก-สมุทรปราการ คิดเป็นสัดส่วนราว 41% ของจำนวนโรงเรียนนานาชาติโดยรวมในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล โดยมีการกระจุกตัวของโรงเรียนนานาชาติที่มีชื่อเสียงหลายแห่งที่มีอยู่เดิมซึ่งมีแผนการขยายโรงเรียน ประกอบกับแนวโน้มการขยายตัวของโรงเรียนนานาชาติเปิดใหม่ ซึ่งจะส่งผลให้การแข่งขันช่วงชิงจำนวนนักเรียนเป็นไปอย่างรุนแรงมากขึ้น
SCB EIC มองว่า กลุ่มโรงเรียนนานาชาติที่ตั้งอยู่ในพื้นที่กรุงเทพฯ ฝั่งตะวันออก-สมุทรปราการที่มีอัตราค่าเล่าเรียนอยู่ในช่วง 5-8 แสนบาท/ปี จะมีการแข่งขันที่รุนแรงกว่ากลุ่มอื่น ๆ เนื่องจากยังคงมีอัตราการเข้าเรียนของนักเรียนโดยเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 44% ของความจุสูงสุดที่โรงเรียนสามารถรับนักเรียนได้ซึ่งยังคงเหลือพื้นที่ว่างสำหรับรับนักเรียนใหม่ให้เต็มความจุสูงสุดอยู่ค่อนข้างมาก เมื่อเทียบกับโรงเรียนที่มีอัตราค่าเล่าเรียนในช่วงอื่น ๆ เป็นแรงกดดันให้โรงเรียนนานาชาติกลุ่มดังกล่าวต้องปรับกลยุทธ์ในรูปแบบต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาคุณภาพของโรงเรียน ทั้งการพัฒนาหลักสูตร การดึงดูดบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถจากต่างประเทศการสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกใหม่ ๆ การใช้สื่อการเรียนการสอนที่ทันสมัย ไปจนถึงการทำการตลาดผ่านสื่อต่าง ๆ เพื่อเข้าถึงผู้ปกครองกลุ่มเป้าหมายได้ในวงกว้าง
รูปที่ 3 : การกระจุกตัวของโรงเรียนนานาชาติในพื้นที่กรุงเทพฯ ฝั่งตะวันออก-สมุทรปราการจะส่งผลให้การแข่งขันช่วงชิงนักเรียนเป็นไปอย่างรุนแรง
หมายเหตุ : โรงเรียนนานาชาติที่เปิดรับนักเรียนตั้งแต่ชั้นประถมศึกษา ถึงมัธยมศึกษา โดยคำนวณอัตราค่าเล่าเรียนต่อปีโดยเฉลี่ยทุกระดับชั้น และไม่รวมค่าใช้จ่ายอื่น ๆ อาทิ ค่าธรรมเนียมแรกเข้า ค่าอาหาร ค่าชุดนักเรียน ค่ากิจกรรมทัศนศึกษานอกพื้นที่
ที่มา : การวิเคราะห์โดย SCB EIC จากข้อมูลของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.)
ธุรกิจโรงเรียนนานาชาติยังคงเผชิญความท้าทาย จากจำนวนนักเรียนที่อาจขยายตัวได้ช้า แม้ในระยะข้างหน้าจะมีจำนวนผู้ปกครองชาวไทยที่มีความสามารถในการส่งบุตรหลานเข้าเรียนในโรงเรียนนานาชาติมากขึ้นรวมถึงคาดว่าจะมีนักเรียนชาวต่างชาติเข้ามาเรียนโรงเรียนนานาชาติในไทยเพิ่มขึ้น ตามผู้ปกครองที่เข้ามาประกอบธุรกิจ และทำงานตำแหน่งระดับสูงในไทย แต่การขยายตัวของจำนวนนักเรียนมีแนวโน้มถูกกดดันจากอัตราการเกิดที่ลดลง โดยอัตราการเกิดของทารกไทยในระดับต่ำราว 7.8 คน ต่อประชากร 1,000 คนในปี 2022 ลดลงจากราว12.7 คน ต่อประชากร 1,000 คนในปี 2012 หรือลดลงเฉลี่ย 5% ต่อปี จะเป็นแรงกดดันท่ามกลางการขยายธุรกิจของโรงเรียนนานาชาติ อย่างไรก็ดี แม้ว่าแนวโน้มของแต่ละครอบครัวจะมีบุตรน้อยลง หรือมีบุตรเพียงคนเดียวแต่หากพิจารณาเฉพาะกลุ่มผู้ปกครองที่มีความมั่งคั่งสูง รวมถึงกลุ่มผู้ปกครองที่มีฐานะที่สามารถส่งบุตรหลานเข้าเรียนในโรงเรียนนานาชาติได้ พบว่ามีความเป็นไปได้ที่ผู้ปกครองจะทุ่มเทการใช้จ่ายเงินในจำนวนมากขึ้นต่อบุตรหนึ่งคนและมีแนวโน้มที่จะส่งบุตรเข้าเรียนในโรงเรียนที่มีอัตราค่าเล่าเรียนต่อปีสูงขึ้น ตามความพร้อมทางการเงิน
นอกจากนี้ โรงเรียนนานาชาติยังเผชิญความท้าทายด้านต้นทุนในการประกอบธุรกิจที่สูงและการแข่งขันจากโรงเรียนไทยที่มีการพัฒนาหลักสูตรสองภาษา และหลักสูตรภาษาอังกฤษ โรงเรียนนานาชาติต้องเผชิญกับการแข่งขันในการดึงดูดบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถ เพื่อรักษามาตรฐานการเรียนการสอน ทั้งผู้บริหารสถานศึกษา และครูผู้สอนที่เป็นชาวต่างชาติ อีกทั้ง ต้นทุนบุคลากรยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากการปรับอัตราค่าจ้างที่เพิ่มขึ้นทุกปี โดยพบว่าในช่วงปี 2017-2022 ต้นทุนค่าใช้จ่ายของธุรกิจโรงเรียนนานาชาติเพิ่มขึ้นเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 7.5% ต่อปี ในขณะที่รายได้เพิ่มขึ้นเฉลี่ยประมาณ 8.6% ต่อปี ซึ่งหากจำนวนนักเรียนขยายตัวได้ช้ากว่าการขยายธุรกิจของโรงเรียนนานาชาติในระยะข้างหน้าแล้ว จะส่งผลกระทบต่อสภาพคล่อง และอัตรากำไรแม้โรงเรียนนานาชาติจะยังสามารถปรับขึ้นอัตราค่าเล่าเรียนได้ทุกปี ให้สอดคล้องกับอัตราเงินเฟ้อ และค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น แต่การปรับขึ้นอัตราค่าเล่าเรียนที่มากเกินไปย่อมส่งผลกระทบต่อความสามารถในการแข่งขันกับคู่แข่ง โดยเฉพาะโรงเรียนนานาชาติขนาดเล็ก ที่ยังต้องแข่งขันกับกลุ่มทุนรายใหญ่ โดยเฉพาะผู้เล่นที่มีประสบการณ์ในการดำเนินธุรกิจด้านการศึกษา และมีการลงทุนด้านสิ่งอำนวยความสะดวก ซึ่งจะเป็นความท้าทายของโรงเรียนนานาชาติขนาดกลางและเล็ก ที่มีข้อจำกัดด้านการลงทุนในการเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน
นอกจากความท้าทายด้านการแข่งขันระหว่างโรงเรียนนานาชาติด้วยกันเองแล้ว การพัฒนาห้องเรียนหลักสูตรสองภาษา และหลักสูตรการเรียนการสอนโดยใช้ภาษาอังกฤษ (English program: EP) ที่เข้ามาเป็นตัวเลือกเพิ่มขึ้นในโรงเรียนหลักสูตรปกติของไทย ก็มีส่วนดึงดูดความสนใจจากผู้ปกครองส่วนหนึ่งได้เช่นกัน จากอัตราค่าเล่าเรียนที่อยู่ในระดับต่ำกว่าโรงเรียนนานาชาติค่อนข้างมาก ซึ่งจะกระทบต่อโรงเรียนนานาชาติกลุ่มที่ไม่สามารถรักษาคุณภาพการเรียนการสอนได้อย่างสม่ำเสมอ
ปัจจัยในการรักษาความสามารถในการแข่งขันของโรงเรียนนานาชาติคือ การรักษาคุณภาพ ควบคู่กับการสร้างความแตกต่าง เพื่อดึงดูดให้ผู้ปกครองพิจารณาเลือกโรงเรียนให้บุตรหลาน
คุณภาพหลักสูตร บุคลากรชาวต่างชาติที่มีคุณภาพ รวมถึงบรรยากาศที่เอื้อต่อการเรียนการสอน เป็นปัจจัยพื้นฐานสำคัญที่ผู้ปกครองพิจารณาเลือกโรงเรียนนานาชาติ โรงเรียนนานาชาติควรให้ความสำคัญกับการรักษาคุณภาพหลักสูตร เพื่อรักษาชื่อเสียง และความน่าเชื่อถือของโรงเรียน รวมถึงการสรรหาบุคลากรชาวต่างชาติที่มีคุณภาพ ทั้งฝ่ายบริหาร และครูผู้สอนที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน นอกจากนี้ การสร้างบรรยากาศ สิ่งอำนวยความสะดวก รวมถึงอาคารสถานที่ ที่เอื้อต่อการเรียนการสอน และการประกอบกิจกรรมต่าง ๆที่จะส่งเสริมให้เกิดการเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพ เช่น การกำหนดขนาดชั้นเรียนที่มีจำนวนนักเรียนไม่มาก การกำหนดสัดส่วนนักเรียนไทยต่อนักเรียนต่างชาติ รวมถึงสัดส่วนนักเรียนต่อครูในระดับที่เหมาะสม การจัดหาสถานที่ อุปกรณ์ และสื่อการเรียนให้พร้อมในแต่ละวิชา รวมถึงอาคารเรียน หอประชุม สนามกีฬา และหอพักที่ทันสมัย โดยสิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นปัจจัยพื้นฐานสำคัญที่ผู้ปกครองพิจารณาเลือกโรงเรียนนานาชาติให้บุตรหลาน
SCB EIC มองว่า โรงเรียนนานาชาติสามารถสร้างความแตกต่าง เพื่อดึงดูดให้ผู้ปกครองพิจารณาเลือกโรงเรียนให้บุตรหลาน อาทิ การสร้างเครือข่ายความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยชั้นนำ ทั้งในไทย และต่างประเทศ การสร้างมาตรฐานการศึกษาในระดับนานาชาติ จะก่อให้เกิดภาพลักษณ์ที่ดี และความมั่นใจให้กับผู้ปกครองในด้านคุณภาพการศึกษา และโอกาสของบุตรหลานสำหรับการเรียนต่อในระดับสูงขึ้นได้ในอนาคต ทั้งนี้หากมองถึงโอกาสในระยะข้างหน้าที่ความต้องการแรงงานในตลาดมีแนวโน้มเปลี่ยนแปลงไป ซึ่งนักเรียนอาจไม่ได้มีเป้าหมายในการเรียนต่อในมหาวิทยาลัยเพียงอย่างเดียว แต่หากยังมองหาการเรียนรู้ที่สามารถนำไปใช้ประกอบอาชีพได้โดยตรงทำให้โรงเรียนนานาชาติจำเป็นต้องมีความยืดหยุ่นในการพัฒนาหลักสูตรเชิงวิชาชีพ (Vocational education)ให้สอดคล้องกับความต้องการแรงงานในอนาคต เช่น การเสริมหลักสูตรการเขียนโปรแกรม การวิเคราะห์ข้อมูลการบริหารจัดการธุรกิจ ที่มีรูปแบบการเรียนการสอนที่ผสมผสานกันทั้งในภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติจริง ซึ่งจะช่วยให้เกิดข้อได้เปรียบด้านความหลากหลายของหลักสูตรการเรียนการสอนที่มากขึ้น และตอบโจทย์ตลาดแรงงานในอนาคตได้ โดยจำเป็นต้องติดตามแนวโน้มความต้องการของผู้ปกครอง และนักเรียนที่เป็นกลุ่มเป้าหมายของโรงเรียน ไปจนถึงทิศทางความต้องการของตลาดแรงงาน เพื่อวางหลักสูตรการเรียนการสอน รวมถึงกลยุทธ์ทางการตลาดสำหรับการจัดทำโฆษณาประชาสัมพันธ์ และการส่งเสริมการขายได้อย่างเหมาะสมต่อไป
ภาครัฐมีบทบาทอำนวยความสะดวกในการดึงดูดบุคลากรด้านการศึกษาที่เป็นชาวต่างชาติ รวมถึงดึงดูดชาวต่างชาติที่มีศักยภาพสูงให้เข้ามาอยู่อาศัยในไทย ภาครัฐอาจอำนวยความสะดวกในการดึงดูดบุคลากรด้านการศึกษาที่เป็นชาวต่างชาติให้เข้ามาทำงานในไทย เพื่อบรรเทาข้อจำกัดของธุรกิจโรงเรียนนานาชาติในการสรรหาบุคลากรชาวต่างชาติที่มีความรู้ความสามารถ เช่น การยกเว้นและการลดอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาการอำนวยความสะดวกในการดำเนินการด้านวีซ่าที่รวดเร็ว การปรับลดข้อกำหนดสำหรับการถือวีซ่าประเภทผู้พำนักระยะยาว (Long-term resident Visa: LTR Visa)
สำหรับการดึงดูดชาวต่างชาติที่มีศักยภาพสูง ทั้งนักธุรกิจ และผู้ทำงานตำแหน่งระดับสูง ซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายที่จะส่งบุตรหลานเข้าเรียนในโรงเรียนนานาชาติ ให้เข้ามาอยู่อาศัยในไทยมากขึ้นนั้น นอกจากการอำนวยความสะดวกในด้านขั้นตอนการเข้ามาอยู่อาศัย รวมถึงการให้สิทธิพิเศษทางด้านภาษีแล้ว ยังจำเป็นต้องสร้างบรรยากาศทางเศรษฐกิจที่เอื้อต่อการค้าและการลงทุน โดยการส่งเสริมการลงทุนเพื่อดึงดูดนักลงทุนต่างชาติให้เข้ามาประกอบกิจการในไทยมากขึ้น จะเป็นโอกาสให้เกิดการโยกย้ายที่อยู่อาศัยของครอบครัวชาวต่างชาติให้เข้ามายังไทยมากขึ้นและเป็นโอกาสสำหรับโรงเรียนนานาชาติที่จะรองรับนักเรียนต่างชาติ ที่ย้ายเข้ามาอยู่อาศัยในไทยพร้อมกับครอบครัว
ได้ต่อไป