ไทม์ไลน์รัฐบาลใหม่ เพื่อไทยคุมกระทรวงเกรดเอ

9 พรรค 238 เสียง 18 สส.ต่างพรรค แต่พวกเดียวกัน ของรัฐบาลเพื่อไทย

9 พรรค 238 เสียง 18 สส.ต่างพรรค แต่พวกเดียวกัน ของรัฐบาลเพื่อไทย เร่งเครื่องก่อนถึงวันโหวตนายกรัฐมนตรี อย่างเร็วที่สุดวันที่ 18 สิงหาคม 2566 หากไม่มีอุบัติเหตุ-แอฟเฟ็กต์จากการพิจารณาคำร้องของศาลรัฐธรรมนูญ ในวันที่ 16 สิงหาคมนี้
กรณีผู้ร้องยื่นคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า การลงมติของสมาชิกรัฐสภาเห็นด้วยให้การเสนอชื่อบุคคลเป็นนายกรัฐมนตรีเป็น “ญัตติทั่วไป” ตามข้อบังคับการประชุมของรัฐสภา พ.ศ.2563 ข้อที่ 41 ไม่สามารถเสนอ “ญัตติซ้ำ” ได้
หมายความว่า ไม่สามารถเสนอชื่อ “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีจากพรรคก้าวไกลเป็นนายกรัฐมนตรีครั้งที่สองได้ การจัดตั้งรัฐบาลที่มีพรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำ ตามไทม์ไลน์เดิม จะมีรัฐบาลใหม่ไม่เกินเดือนสิงหาคม
แต่หากเกิดศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่ง “รับคำร้อง” และออกมาตรการ “คุ้มครองชั่วคราว” ระหว่างรอคำวินิจฉัย การลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีต้องชะลอออกไปจนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัย
วัน ว. เวลา น.ของนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ที่จะเดินมาถึงทำเนียบรัฐบาลและรัฐบาลใหม่จะเลื่อนออกไปอีก

อย่างไรก็ดีหากไม่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่ง “ไม่รับคำร้อง” ไทม์ไลน์ “ครม.เศรษฐา 1” จะเริ่มนับหนึ่งตั้งแต่วันที่ 16 สิงหาคมนี้เป็นต้นไป
นับเดินหน้าไป 3 วัน หลังจากวันที่ 16 สิงหาคม หรือ วันที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัย “ไม่รับคำร้อง” ประธานรัฐสภาจะนัดประชุมร่วมรัฐสภา เพื่อลงมติเลือกนายกรัฐมนตรี อย่างเร็วที่สุด 18 สิงหาคม 2566 หรือ อย่างช้าในวันที่ 22 สิงหาคม 2566
หลังการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีและประธานรัฐสภานำชื่อนายกรัฐมนตรีขึ้นกราบบังคมทูลฯและทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี โดยประธานรัฐสภาเป็นผู้ลงนามสนองพระบรมราชโองการ
ห้วงระยะเวลาภายใน 1 เดือน พรรคเพื่อไทยจะใช้เกณฑ์การแบ่งโควตาตำแหน่งรัฐมนตรีให้แต่ละพรรคร่วมรัฐบาล โดยดูจากการลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีว่ามาทั้งพรรคหรือมาเป็นรายบุคคล
เมื่อจัดสรร-แบ่งเค้กเก้าอี้รัฐมนตรีทั้ง 35 คน สำเร็จ จะต้องเข้าสู่กระบวนการขั้นตอนของสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในการตรวจสอบคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามในการดำรงตำแหน่งเป็นรัฐมนตรี
ต่อจากนั้นนายกรัฐมนตรีคนใหม่ถึงจะนำรายชื่อบุคคลที่ได้รับการเสนอชื่อเป็นรัฐมนตรีนำขึ้นถวายกราบบังคมทูลเพื่อทรงโปรดกล้าโปรดกระหม่อม โดยนายกรัฐมนตรีจะเป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
หลังจากนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีรวมทั้งหมด 36 คนได้รับการโปรดเกล้าฯ เป็น ครม.ชุดใหม่แล้ว ยังไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ต้อง ถวายสัตย์ปฏิญาณตนเพื่อเข้ารับหน้าที่
ขั้นตอนแต่ไปคือนายกรัฐมนตรีและครม.ชุดใหม่จะแถลงนโยบายต่อรัฐสภาโดยไม่มีการลงมติไว้วางใจ และชี้แจงแหล่งที่มาของรายได้ที่จะนำมาใช้จ่ายในการดำเนินนโยบาย ภายใน 15 วัน หลังเข้ารับหน้าที่ หรือ หลังถวายสัตย์ฯ
เดดไลน์ ครม.ชุดใหม่ ประชุม “นัดแรก” ต้องให้ทันก่อนวันที่ 30 กันยายน 2566 เพื่อแต่งตั้งปลัดกระทรวง อาทิ ปลัดกระทรวงพลังงาน ปลัดกระทรวงการคลัง ที่จะเกษียณอายุราชการ
อย่างไรก็ดี หากครม.ชุดใหม่ยังไม่ได้แถลงนโยบายต่อรัฐสภา รัฐธรรมนูญ ปี 2560 มาตรา 162 วรรคสอง ระบุไว้ว่า ก่อนแถลงนโยบายต่อรัฐสภาตามวรรคหนึ่ง
“หากมีกรณีที่สำคัญและจำเป็นเร่งด่วน ซึ่งหากปล่อยให้เนิ่นช้าไปจะกระทบต่อประโยชน์สำคัญของแผ่นดิน คณะรัฐมนตรีที่เข้ารับหน้าที่จะดำเนินการไปพลางก่อนเพียงเท่าที่จำเป็นก็ได้”
ดังนั้นวาระเร่งด่วน ของครม.ชุดใหม่ คือ การแต่งตั้งข้าราชการระดับสูงระดับปลัดกระทรวง กระทรวงสำคัญ โดยเฉพาะ กระทรวงพลังงาน กระทรวงการคลัง
2 ปลัดกระทรวงเศรษฐกิจสำคัญ ที่จะ “เป็นมือเป็นไม้” ให้กับนายกรัฐมนตรี ที่ชื่อ “เศรษฐา ทวีสิน” ซีอีโอตึกไทยคู่ฟ้าคนใหม่ พร้อมที่จะให้คำปรึกษาและพร้อมจะให้คำแนะนำที่ตรงไปตรงมา ไม่ใช่คอยรับคำสั่งแบบผู้ใต้บังคับบัญชา
ทำให้ “ภูมิธรรม เวชยชัย” รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ที่รับบท “ผู้จัดการรัฐบาล” ต้องออกมากระตุกแรง ๆ ไปยัง “ครม.รักษาการ” อย่าเสียมารยาท แต่งตั้ง “คนของตัวเอง” มานั่งเป็นไส้ศึก-หนอนบ่อนไส้ให้รัฐบาลใหม่หวาดระแวง
รวมถึงข้าราชการระดับหัวหน้าส่วนราชการอย่างตำแหน่งเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ที่ “เสธ.ไก่” พล.อ.สุพจน์ มาลานิยม เลขาสมช.คนปัจจุบันจะเกษียณอายุราชการเช่นเดียวกัน
ต้องลุ้น “มันสมองฝ่ายความมั่นคง” ของรัฐบาลจะเป็นทหาร-ตำรวจ หรือ “พลเรือน” หลังจาก “พ่อบ้านตึกแดง” ในยุคคณะรักษาความสงบแห่งชาติ และรัฐบาลทหารพล.อ.ประยุทธ์ทั้งสองสมัยข้ามห้วย-ผูกขาดอยู่กับ “นายพล” อกหักจากกองทัพ
ไม่นับการแต่งตั้งผู้บัญชาการเหล่าทัพเพื่อมาทดแทนที่จะเกษียณอายุราชการ ประกอบด้วย ผู้บัญชาการทหารบก ผู้บัญชาการทหารเรือ ผู้บัญชาการทหารอากาศ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด และผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ
เพราะพล.อ.ประยุทธ์ ในฐานะนายกรัฐมนตรี-รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และประธานคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) จัดโผทหาร-โผตำรวจเรียบร้อยโรงเรียน 3 ป.ไปก่อนแล้ว
นอกจากนี้ ครม.ชุดใหม่ยังต้องพิจารณา “เรื่องด่วน” ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2567 วงเงิน 3.35 ล้านล้านบาท ที่ล่าช้าถึง 6 เดือน
แน่นอนว่าจะเป็นการรื้องบประมาณใหม่ทั้งหมด เพื่อนำมาใช้ในงบประมาณของพรรคเพื่อไทยที่ได้หาเสียงไว้ เช่น เงินดิจิทัล 10,000 บาท ค่าแรงขั้นต่ำ 600 บาทต่อวัน เงินเดือนปริญญาตรี 25,000 บาท
ดังนั้น กระทรวงเศรษฐกิจสำคัญ-กระทรวงเกรดเอ จะเป็นโควตาของพรรคเพื่อไทย ทั้งกระทรวงการคลัง กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงพลังงาน
กระทรวงคมนาคม กระทรวงต่างประเทศ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กระทรวงแรงงาน กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงมหาดไทย
โดยมีเม็ดเงินแต่ละกระทรวง อาทิ กระทรวงการคลัง 313,822 ล้านบาท กระทรวงคมนาคม 183,950 ล้านบาท กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ 117,142 ล้านบาท กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม 8,639.9 ล้านบาท
กระทรวงพลังงาน 3,026.7 ล้านบาท กระทรวงมหาดไทย 351,985.3 ล้านบาท กระทรวงแรงงาน 61,841.1 ล้านบาท กระทรวงศึกษาธิการ 330,512.3 ล้านบาท กระทรวงพาณิชย์ 6,680.9 ล้านบาท กระทรวงต่างประเทศ 7,555.9 ล้านบาท
รวมถึงการจัดสรรงบประมาณของแต่ละกระทรวงตามโควตารัฐมนตรีของพรรคร่วมรัฐบาล พรรคการเมืองใดได้เก้าอี้ตัวเดิมอาจจะปรับเปลี่ยนไม่มาก แต่หากกระทรวงใดเปลี่ยนหน้า-เปลี่ยนตัว อาจจะต้องปรับเปลี่ยนทุกโครงการ
ขณะที่กระทรวงความมั่นคง พรรคเพื่อไทยอาจต้องพึ่งบารมีของ บิ๊กป้อม พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐที่มีอ็อปชั่นนั่งเก้าอี้รองนายกรัฐมนตรีคุมฝ่ายความมั่นคงด้วยตัวเอง
หรือส่งน้องชาย บิ๊กป๊อด พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ มาเป็นร่างทรง
โดยกระสุนดินดำของกระทรวงป้องกันประเทศ อาทิ กระทรวงกลาโหม 198,562.9 ล้านบาท แบ่งออกเป็น สำนักปลัดกระทรวงกลาโหม 9,343.9 ล้านบาท
กองทัพบก 96,084.2 ล้านบาท กองทัพเรือ 41,196.7 ล้านบาท กองทัพอากาศ 36,366.9 ล้านบาท กองบัญชาการกองทัพไทย 14,773.7 ล้านบาท สถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ 797.4 ล้านบาท
ไม่ว่าจะใช้วาทะกรรม รัฐบาลพิเศษ หรือ รัฐบาลสมานฉันท์ ที่มีพรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำได้เริ่มต้นขึ้น Chapter ใหม่แล้ว