ผ่าแนว ทล.12 จิ๊กซอว์ 777 กม. เชื่อม 6 ประเทศ
ผ่าแนว ทล.12 จิ๊กซอว์ 777 กม. เชื่อม 6 ประเทศ เติมเต็มยุทธศาสตร์ East – West Economic Corridor
ผ่าแนว ทล.12 จิ๊กซอว์ 777 กม. เชื่อม 6 ประเทศ เติมเต็มยุทธศาสตร์ East – West Economic Corridor
ในช่วงที่ยังอึมครึ้มกับประเด็นการรวบรวมเสียงการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ที่นำโดยพรรคก้าวไกล และสหพันธมิตรอีก 7 พรรคที่รวบรวมเสียงได้แล้ว 313 เสียง ฟากฝั่งรัฐบาลรักษาการเดิมโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็ยังคงนั่งทำงานอยู่บนตึกไทยคู่ฟ้า รอคอยวันผลัดเปลี่ยนอำนาจ
ระหว่างนี้บรรดาทีมโฆษกรัฐบาลก็หันรีหันขวางหยิบเอาผลงานต่างๆของรัฐบาลมาโปรโมต ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ โครงการทางหลวงหมายเลข 12 แม่สอด – มุกดาหาร หนึ่งในจิ๊กซอว์สำคัญของเส้นทางยุทธศาสตร์สายเศรษฐกิจแนวตะวันออก – ตะวันตก (East – West Economic Corridor – EWEC) เชื่อมโยงกัน 6 ประเทศ ได้แก่ ไทย จีน เวียดนาม กัมพูชา ลาว และพม่า ซึ่งทั้ง 6 ประเทศร่วมมือกันภายใต้โครงการพัฒนาความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง Greater Mekong Sub-region (GMS) เริ่มต้นกันมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2535 โดยมีธนาคารพัฒนาเอเชีย (ADB: Asian Development Bank) เป็นผู้ให้การสนับสนุนหลัก
กล่าวสำหรับโครงการทางหลวงสายนี้ เป็นส่วนหนึ่งของโครงข่ายเส้นทางภายใต้โครงการเร่งรัดขยายทางสายประธานเป็น 4 ช่องจราจร ระยะที่ 2 ซึ่งคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบในหลักการให้ดำเนินการเมื่อ 10 ม.ค. 2538 โครงข่ายที่ 2 สาย แม่สอด – มุกดาหาร เป็นส่วนหนึ่งของเส้นทางที่รองรับการพัฒนาพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษเส้นทางยุทธศาสตร์สายเศรษฐกิจแนวตะวันออก – ตะวันตก (East – West Economic Corridor – EWEC) ซึ่งมีระยะทางยาวประมาณ 1,414 กิโลเมตร อันประกอบด้วย
- ประเทศเวียดนาม (ลาวบาว-ดานัง ระยะทางประมาณ 250 กม. ทางขนาด 2 ช่องจราจร)
- ประเทศลาว (สะหวันนะเขต-แดนสะหวัน ระยะทางประมาณ 240 กม. ทางขนาด 2 ช่องจราจร)
- ประเทศไทย (แม่สอด-พิษณุโลก-ขอนแก่น-กาฬสินธุ์-มุกดาหาร ระยะทางประมาณ 777 กม.)
- ประเทศพม่า (เมาะละแหม่ง-เมียวดี ระยะทางประมาณ 147 กม. ทางขนาด 2 ช่องจราจร)
การพัฒนาเส้นทางดังกล่าวมีความสำคัญต่อประเทศไทยทางด้านการขนส่งโลจิสติกส์และการลงทุน ทำให้สามารถส่งสินค้าไปยังท่าเรือขนาดใหญ่ทั้งทางฝั่งตะวันออกและตะวันตกได้สะดวกมากขึ้น ส่งเสริมศักยภาพทางด้านการผลิตให้แก่ประเทศไทย เนื่องจากเป็นศูนย์กลางกระจายสินค้า ซึ่งจะช่วยส่งเสริมให้มีการพัฒนาด้านการผลิตสินค้าเกษตรที่มีศักยภาพ และสนับสนุนให้มีเขตอุตสาหกรรมและการลงทุนในบริเวณแนวชายแดนเพิ่มมากขึ้น
ขณะเดียวกันยังเป็นเส้นทางรับสินค้าจากฝั่งมหาสมุทรอินเดียหรือสินค้าที่มาจากฝั่งยุโรปและ ตะวันออกกลาง โดยเฉพาะสินค้ากลุ่มพลังงานไม่ว่าจะเป็นน้ำมันก๊าซ ซึ่งจะถูกนำเข้าและแปรรูปในโรงงานปิโตรเคมีภายในพื้นที่โครงการทวาย เพื่อส่งผ่านไทยเข้าไปยังประเทศกลุ่มอินโดจีน เช่น ลาว กัมพูชา และไปสิ้นสุดปลายทางยังท่าเรือดานัง ประเทศเวียดนาม และจะถูกส่งออกไปยังเอเชียตะวันออกอย่างญี่ปุ่น
ปัจจุบัน ทางหลวงหมายเลข 12 นี้ ก่อสร้างเป็น 4 ช่องจราจรแล้ว จำนวน 696 กม. คิดเป็น 89% ของเส้นทางทั้งหมด และใช้วงเงินลงทุนไปทั้งสิ้น 28,000 ล้านบาท แนวเส้นทางเริ่มต้นจากอ.แม่สอด จ.ตาก บริเวณเชิงสะพานมิตรภาพไทย-พม่า (สะพานข้ามแม่น้ำเมย) ซึ่งเป็นเขตแดนระหว่างประเทศไทยกับประเทศพม่า ตั้งอยู่ที่ต.ท่าสายลวด อ.แม่สอด จ.ตาก ผ่านจ.สุโขทัย, พิษณุโลก, ขอนแก่น, กาฬสินธุ์ และไปสิ้นสุดที่จุดบรรจบกับทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 299 ที่ต.หนองเอี่ยน อ.คำชะอี จ.มุกดาหาร เส้นทาง แบ่งได้ 3 ช่วง ได้แก่
2.ช่วง อ.หล่มสัก – น้ำหนาว ตอน บ.น้ำดุก – อ.คอนสาร ระยะทาง 125.025 กม. ซึ่งยังไม่ได้ก่อสร้าง แต่เดิมออกแบบไว้ 81 กม. แต่คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (กก.วล.) ที่มีพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน มีมติให้กรมทางหลวง (ทล.)ไปดำเนินการศึกษารายละเอียดทางด้านสิ่งแวดล้อมในแต่ละทางเลือกที่นำมาเปรียบเทียบเพิ่มเติม เนื่องจากแนวเส้นทางที่วางไว้เดิมพาดผ่านอุทยานแห่งชาติน้ำหนาว จ.เพชรบูรณ์ จึงมีข้อกังวลเกี่ยวกับการก่อสร้างที่อาจจะกระทบธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
ซึ่งตอนนี้ กรมออกแบบแนวเส้นทางใหม่ โดยจะอ้อมอุทยานและเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูผาแดง ขึ้นไป ทำให้มีระยะทางเพิ่มขึ้นจากเดิมที่เดิมเป็นทาง 2 ช่องจราจรระยะทาง 81 กม. เป็น 125.025 กม. ประมาณการณ์วงเงินลงทุนเบื้องต้นที่ประมาณ 18,000 ล้านบาท
โดยอยู่ระหว่างทบทวนการออกแบบรายละเอียดและผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ใหม่ ตามมติ กก.วล. อีกครั้ง และได้รับการจัดสรรงบประมาณในปี 2565 วงเงิน 96 ล้านบาท คาดใช้เวลาศึกษาประมาณ 1-2 ปี หากแล้วเสร็จ และรายงาน EIA ผ่านความเห็นชอบ จะเร่งรัดเสนอขอรับการจัดสรรงบประมาณเพื่อก่อสร้างตามขั้นตอนโดยเร็วต่อไป
ในระหว่างฝุ่นตลบในการจัดตั้งรัฐบาลใหม่นี้ ต้องรอดูกันอีก 1 ช่วงสุดท้าย รัฐบาลใหม่จะผลักดันให้สำเร็จถึงปลายทางได้หรือไม่ หลังรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ขับเคลื่อนต่อเติมถนนสายนี้จนเหลืออีกไม่กี่ก้าว ความหวังเชื่อม 6 ประเทศกำลังเป็นรูปเป็นร่างแล้ว