แด๊ดดี้สายฟาด จากนักบินขับไล่ F-6 สู่ Advance MOU
วิวาทะศิษย์เก่า-ศิษย์ปัจจุบันพรรคเพื่อไทย ทำท่าจะลุกลาม-บานปลายจบลงได้ยาก-กินใจ
Advance MOU กลายเป็นชนวนเหตุของสงครามน้ำลายระหว่าง น.ต.ศิธา ทิวารี กับ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน หัวหน้าพรรคเพื่อไทย
เมื่อ น.ต.ศิธา สวมบทนักข่าวจี้-บี้ถาม “หมอชลน่าน” ถึงความชัดเจน-ข้อผูกมัด “ไม่ว่าพรรคเพื่อไทยกับพรรคก้าวไกลจะเป็นฝ่ายค้านหรือฝ่ายรัฐบาลจะอยู่ด้วยกัน” กลางเวทีแถลงข่าวลงนาม MOU เพื่อจัดตั้งรัฐบาลของ 8 พรรคการเมือง 312 เสียง
กลายเป็นลูกติดพัน-ติดใจ นพ.ชลน่าน ที่ฝากไปถึง น.ต.ศิธา ผ่าน “หัวหน้าพรรคไทยสร้างไทย” ว่า “เสียมารยาท” จน “คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์” ต้องเอ่ยปากขอโทษแทน “ลูกพรรค” ก่อนที่ “หมอชลน่าน” จะ “น็อตหลุด” หลุดคำโตที่บ่งบอกถึงดีกรีความเดือด ว่า “ชกได้ชกไปแล้ว”
สำหรับโปรไฟล์ทางการเมืองของ “น.ต.ศิธา ทิวารี” ชื่อเล่น “ปุ่น” หรือ “ผู้พันปุ่น” อดีตนักบินขับไล่ F-16 กองทัพอากาศ จบโรงเรียนเตรียมทหารรุ่นที่ 24
น.ต.ศิธา มีโอกาสเข้าสู่วงการมายาในช่วงสั้น ๆ จากการชักชวนของพระเอกตลอดกาลอย่าง “แซม-ยุรนันท์ ภมรมนตรี” ที่มีศักดิ์เป็น “พี่เขย” เมื่อปี 2538
น.ต.ศิธา สวมบทบาทที่ไม่ไกลจากการเป็นตัวเองมากนัก คือ นักบินแฟนเก่าของนางเอกที่สูญหาย ที่รับบทโดย “จินตหรา สุขพัฒน์” ในละครเรื่อง “ความรักสีดำ”
“น.ต.ศิธา” ลงชิมลางบนเส้นทางการเมืองด้วยการเป็นผู้สมัคร ส.ส.กทม. เขตคลองเตย พรรคไทยรักไทย ในการเลือกตั้งปี 2544 ซึ่งเป็นช่วงที่ “ทักษิณ ชินวัตร” กระแสความนิยมพุ่ง สะท้อนจากผลการเลือกตั้งสามารถกวาดเก้าอี้ ส.ส.ได้ 248 ที่นั่ง
การตัดสินใจเปลี่ยนทางเดินชีวิตราชการทหารมาเป็นนักการเมืองเต็มตัว-กรอกใบสมัครสมาชิกพรรคไทยรักไทยที่มีทักษิณ ชินวัตร เป็นหัวหน้าพรรค ไม่ใช่เรื่องบังเอิญ
แต่ น.ต.ศิธา ซึ่งขณะนั้นนักเรียนทุน “อาวุโสสูงสุด” อยู่ประเทศอังกฤษ เคยพบ-ร่วมโต๊ะอาหารกับนายทักษิณ ราวปลายปี 2542 ที่บ้านพักทูตทหารอากาศ โดยได้ฟังแนวคิดการตั้งพรรคไทยรักไทยร่วม 3 ชั่วโมง จนต้องล้มเลิกไปเรียนต่อที่ฝรั่งเศสหลังจากได้ทุนจบจากโรงเรียนเสนาธิการ และกระโดดเข้าการเมือง
ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา น.ต.ศิธา เริ่มสะสมชั่วโมงบินทางการเมือง โดยเริ่มจากการเป็น “โฆษกรัฐบาล” สมัยรัฐบาลทักษิณ 1 และซึมซับวิธีการคิด-ความเป็นผู้นำของทักษิณในการสั่งการในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ก่อนจะถูกทักษิณ “ล็อกคอ” ให้มาเป็น “โฆษกพรรคไทยรักไทย”
นอกจากนี้ยังเคยเป็นรองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง (รองนายกรัฐมนตรี พล.ต.อ.ชิดชัย วรรณสถิตย์) เป็นเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย
ทว่า ชีวิตของน.ต.ศิธาก็ต้องสะดุดหยุดลง กลายเป็นสมาชิกบ้านเลขที่ 111 – กรรมการบริหารพรรค “รุ่นพิมพ์นิยม” ต้องเว้นวรรคทางการเมือง 5 ปี หลังจากพรรคไทยรักไทยถูกยุบ
น.ต.ศิธา รู้สึกคับแค้นใจ-ไม่เป็นธรรมที่ถูกตัดสิทธิ์ทางการเมืองและเข็ด-ขยาดเพราะถูกคณะยึดอำนาจ นำคดีเป็นชนักปักหลัง โดยที่ไม่ได้กระทำความผิด
ก่อนการเลือกตั้งปี 66 น.ต.ศิธากลับเข้าวงการการเมืองอีกครั้งกับพรรคเพื่อไทย แต่ กลุ่มกทม.ที่มี คุณหญิงสุดารัตน์ เป็นหัวหน้าก๊วน เป็นเสียงข้างน้อยในพรรคเพื่อไทย ทั้งการคัดค้านกฎหมายนิรโทษกรรมสุดซอย-โครงการรับจำนำข้าวทุกเม็ด
ก่อนจะลาออกจากพรรคเพื่อไทยและเลือกที่จะไปช่วยคุณหญิงสุดารัตน์ทำ “พรรคใหม่” โดยปฏิญาณทำนั่งร้านให้กับคนรุ่นใหม่-ส่งต่ออนาคตประเทศไทยให้กับลูกหลาน ในฐานะเป็นเลขาธิการพรรคไทยสร้างไทย
น.ต.ศิธา เป็น 1 ในเสียงสำคัญของ “พรรคซ้ายกลาง” ที่ไม่เห็นด้วยกับการรวมกับ “พรรคสมคิด” เพราะไม่แน่ใจในจุดยืนของพรรคสร้างอนาคตไทยว่าจะอยู่ฝั่งซ้าย หรือ ฝั่งขวา
โดยแสดงจุดยืนชัดเจนว่า ถ้ารวมกับ “พรรคสมคิด” น.ต.ศิธาของ “สงวนสิทธิ์” จะตัดสินใจ “ไม่ไปต่อ” จนเกิดภาพ อุตตม-สนธิรัตน์ ไปนั่งคุย-เจรจากับพล.อ.ประวิตร ที่โรงแรมหรูย่านซอยรางน้ำ เป็น “ฟางเส้นสุดท้าย” ที่พรรคไทยสร้างไทยกับพรรคสมคิดรวมกันไม่ได้
และเข้าสู่สังเวียนการเมืองอีกครั้ง โดยผันตัวจากนักการเมืองระดับชาติ มาถกแขนเสื้อท้าชิงเก้าอี้ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร แต่ต้องพ่ายแพ้ให้กับกระแส “ชัชชาติฟีเวอร์”
แม้จะไม่ประสบความสำเร็จในการเลือกตั้งพ่อเมืองเสาชิงช้า แต่ น.ต.ศิธาก็ได้ต่อยอดให้ชื่อพรรคไทยสร้างไทยติดหูคนกรุง เป็นต้นทุนในการเลือกตั้ง 66 ที่ผ่านมา
ปัจจุบันตำแหน่งทางการเมืองอย่างเป็นทางการ น.ต.ศิธา เป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี พรรคไทยสร้างไทย แต่การเลือกตั้งที่ผ่านมา เนื่องจากพรรคไทยสร้างไทยได้ ส.ส.เพียง 6 ที่นั่ง ไม่ผ่านเกณฑ์ 25 ที่นั่ง จึงต้องจอดป้ายชิงเก้าอี้นายกรัฐมนตรี
น.ต.ศิธา เป็น “ตัวตึง” บนเวทีดีเบต ทำการบ้าน-เก็บข้อมูล วางตำแหน่งแห่งที่ เป็นพันธมิตรกับฝั่งประชาธิปไตย-ตรงข้ามกับคู่แข่งขันที่เป็น “นั่งร้าน-ร่างทรง-บริวาร” เผด็จการ ทั้งการเลือกตั้งผู้ว่ากทม.และการเลือกตั้ง ส.ส.เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคมที่ผ่าน
ปฏิเสธไม่ว่า ชื่อของ น.ต.ศิธา เหมือนตาย และ (แจ้ง) เกิดใหม่ อีกครั้งจากการใช้โซเชียลมีเดียสื่อทรงพลังและอิทธิพลทางความคิดของคนรุ่นใหม่-โลกยุคใหม่
โดยมีทีมงาน social listening ผลิตสื่อออนไลน์ด้วยคลิปวีดิโอสั้นผ่านสื่อออนไลน์ที่มีผู้คนใช้มากที่สุดเป็นอับหนึ่งอย่าง Tik Tok และท่าทีการเป็น “มือประสาน” ดึงสติ “พรรคพี่ใหญ่” ฝ่ายประชาธิปไตย ไม่ให้หลงเลห์-เหลี่ยม “ทหารการเมือง”
รวมถึงการอัพเดตชีวิตไลฟ์สไตล์ พ่อลูก 4 – แนวคิดและจุดยืนทางการเมืองที่ชัดเจน สั้น-กระชับ โดนใจ ฝั่งไม่เอา “2 ลุง” ผ่านทวิตเตอร์-เฟซบุ๊ก-ไอจี ทำให้ “แด๊ดดี้ศิธา” สายฟาด กระฉ่อนอยู่ในทุกแพลตฟอร์มออนไลน์
จาก ส.ส.นกแล กลายเป็น นักการเมืองปีกประชาธิปไตยตัวพ่อ แต่วันนี้ ภารกิจของ น.ต.ศิธา ยังไม่เสร็จที่จะนั่งมองความสำเร็จของฝ่ายประชาธิปไตย จนกว่า “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” จะได้นั่งเก้าอี้นายกรัฐมนตรี คนที่ 30