พิธา ว่าที่ นายกฯ คนที่ 30 ลุ้น ผ่านด่าน ส.ว.

ป็อบปูลาร์โหวต 14.233 ล้านคะแนน ของพรรคก้าวไกล ส่ง “ทิม-พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” เข้าใกล้เก้าอี้นายกรัฐมนตรี 30

การเดินทางครั้งใหม่-ครั้งใหญ่ของ “พิธา” และ “พรรคสีส้ม” บนยานลำแม่ “พรรคก้าวไกล” สร้างปรากฏการณ์ “สึนามิ” จากอดีตพรรคอนาคตใหม่
ที่ถูกปรามาสว่าการเลือกตั้งเมื่อปี 62 รับอานิสงส์จาก “แผ่นดินไหว” การ “แตกแบงก์พันเป็นแบงก์ร้อย” ของ “ทักษิณ ชินวัตร” จนพรรคไทยรักษาชาติถูกยุบ
การเลือกตั้งปี 66 พรรคก้าวไกล หักทุกปากกาเซียน ชนะเป็นพรรคอันดับ 1 มี ส.ส.มากที่สุด 152 ที่นั่ง
“พิธา” จาก ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคที่เคยถูกยุบ ลำดับที่ 40 ที่ “ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ” อดีตหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ หยิบยื่นให้ กลายเป็น ส.ส.บัญชีรายชื่อ ลำดับที่ 4 ของพรรคอนาคตใหม่
ปัจจุบัน “หัวหน้าพรรคก้าวไกล” เป็น ส.ส.บัญชีรายชื่อ ลำดับที่ 1 – ว่าที่นายกรัฐมนตรีของประเทศไทย
“พิธา” ฝึกปรือฝีมืองานฝ่ายนิติบัญญัติ ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการการที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สภาผู้แทนราษฎร
“พิธา” โดดเด่นในสภา ในฐานะ ส.ส.บัญชีรายชื่อ-อดีต ส.ส.พรรคอนาคตใหม่ จน “พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ที่ไม่เคยเอ่ยปากชมใครง่าย ๆ
“ขอชมเชยว่า เป็นแนวความคิดที่ดี ด้วยความสัตย์จริง ผมน่ะทึ่งท่าน บางอันผมอาจจะตอยไม่ได้ พล.อ.อนุพงษ์ ท่านทำการบ้านมาเยอะ ชมเปราะ ในการอภิปรายรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ ด้านนโยบายเกษตรของนายพิธาเรื่อง “กระดุม 5 เม็ด”
“พิธา” อยู่ในครอบครัวนักธุรกิจ-การเมือง เป็น “บุตรชาย” ของ “พงษ์ศักดิ์ ลิ้มเจริญรัตน์” อดีตที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

เป็น “หลาน” ของ “ผดุง ลิ้มเจริญรัตน์” ที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรี (สมคิด จาตุศรีพิทักษ์และวิษณุ เครืองาม) สมัยรัฐบาลทักษิณ ชินวิตร และเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย สมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร
“บางท่านผมจำได้เลยว่า บางคนเป็นหลานของเพื่อนผมเอง (ผดุง) พิธาใช่ไหม เป็นหลานผดุงใช่ไหม สนิทกันมากนะครับ”นายสมคิดพูดถึงพิธาระหว่างชี้แจงการอภิปรายเมื่อปี 63
“พิธา” ชิมลางการเมืองในตำแหน่ง “ที่ปรึกษาสำนักนายกรัฐมนตรี” ประจำกระทรวงพาณิชย์-กระทรวงการคลัง
พิธา แม้จะเป็น “มือใหม่หัดขับ” ในฝ่ายบริหาร แต่ไม่ใช่หน้าใหม่ในการเมือง
นโยบาย 100 วันแรกของพรรคก้าวไกล ประชามติจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ยกเลิกการประกาศกฎอัยการศึกในชายแดนใต้ ประชามติยกเลิกราชการส่วนภูมิภาค ยกเลิกกฎระเบียบและคำสั่ง คสช. ห้ามใช้เงินหลวงโปรโมทตัวเอง
กฎโรงเรียนต้องไม่ขัดหลักสิทธิมนุษยชน ครูละเมิดสิทธิ พักใบประกอบทันที เลิกให้ครูนอนเวร ยกเลิกพิธีรีตองในการประเมินครู-รับแขก เปลี่ยนนิคมสหกรณ์เป็นโฉนดทันที ยกเลิกนโยบายกำหนดให้เรือประมงพาณิชย์ติดตั้งระบบ AIS ที่ซ้ำซ้อนกับ VMS ที่มีอยู่แล้ว
ค่าไฟถูกและเป็นธรรมสำหรับประชาชน เปิดเสรีโซลาร์เซลล์ ประกันราคาซื้อพลังงานสะอาดสำหรับครัวเรือ ลดรายจ่าย SMEs โดยหักค่าใช้จ่ายเหมาภาษีบุคคลได้เพิ่มจากเดิม 60 % เป็น 90 % และ หวยใบเสร็จ
ขณะที่ 300 นโยบายของพรรคก้าวไกลที่เป็นไฮไลต์-ผลักดันต่อ เช่น ยกเลิกบังคับเกณฑ์ทหาร เงินเด็กเล็ก เดือนละ 1,200 บาท ปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำทุกปี เริ่มทันที 450 บาทต่อวัน เงินเดือนผู้สูงอายุ 3,000 บาท น้ำประปาดื่มได้ทุกที่
เลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด เปิดข้อมูลรัฐทันที ตรวจสุขภาพประจำปี ฟรีทั้งค่าตรวจ-ค่าเดินทาง รถเมล์ไฟฟ้าทุกจังหวัด สุราก้าวหน้า
แก้ไขมาตรา 112 แก้ไขกฎหมายที่เป็นอุปสรรคต่อเสรีภาพ (มาตรา 116/พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์) สมรสเท่าเทียม สิทธิลาคลอด 180 วัน พ่อแม่แบ่งกันได้ ทำงานไม่เกิน 40 ชั่วโมง/สัปดาห์ หากเกินต้องได้ OT เติบโต-โยกย้ายเป็นธรรม ปราศจากตั๋ว-เส้นสาย
เมื่อนโยบายใหญ่-แหลมคมของพรรคก้าวไกล แทงเข้าไปในเนื้อลึกลงไปถึงระดับโครงสร้าง เส้นทางมุ่งหน้าสู่ถนนทำเนียบรัฐบาลจึงไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ-เต็มไปด้วนขวากหนาม
แม้พรรคก้าวไกลจะสามารถรวบรวมเสียงจาก “พรรคฝ่ายค้านเดิม-พรรคใหม่” ที่นิ่งแล้ว 8 พรรค รวม 313 เสียง แต่ยังขาดอีก 63 เสียง โดยมี ส.ว.250 เป็น “ด่านหิน” ที่ต้องฝ่าฟันเพื่อเข้าไปนั่งเก้าอี้นายกรัฐมนตรีภายในตึกไทยคู่ฟ้า
สำหรับ ท่าทีของส.ว.ขณะนี้ มีทั้งโหวตตามน้ำ-เสียงข้างมากของสภาล่าง และ “ปิดสวิตซ์ตัวเอง” ด้วยการ “งดออกเสียง” โดยสภาสูงเบื้องต้นขณะนี้ ประกอบด้วย

กลุ่มแรก โหวตตามเสียงข้างมากของสภา ส.ส. เช่น นายดิเรกฤทธิ์ เจนครองธรรม นายวุฒิพันธุ์ วิชัยรัตน์ นพ.อำพล จินดาวัฒนะ น.ส.ภัทรา วรามิตร นายทรงเดช เสมอคำ นายวัลลภ ตังคณานุรักษ์ นายวันชัย สอนศิริ นายเฉลิมชัย เฟื่องคอน
นายซากีย์ พิทักษ์คุมพล นายพีระศักดิ์ พอจิต นายรณวริทธิ์ ปริยฉัตรตระกูล นายประมาณ สว่างญาติ นางประภาศรี สุฉันทบุตร นายสถิตย์ ลิ่มพงศ์พันธุ์ นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์
กลุ่มที่สอง ส.ว.โดยตำแหน่ง ที่ประกาศจุดยืน “จุดออกเสียง” คือ พล.อ.สนิธชนก สังขจันทร์ ปลัดกระทรวงกลาโหม พล.อ.เฉลิมพล ศรีสวัสดิ์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด (ผบ.ทสส.) พล.อ.ณรงค์พันธ์ จิตต์แก้วแท้ ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.)
พล.ร.อ.เชิงชาย ชมเชิงแพทย์ ผู้บัญชาการทหารเรือ (ผบ.ทร.) พล.อ.อ. อลงกรณ์ วัณณรถ ผู้บัญชาการทหารอากาศ (ผบ.ทอ.) พล.ต.อ. ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.)
กลุ่มที่สาม ส.ว.ที่ยังสงวนท่าที และมีแนวโน้มสูงที่จะงดออกเสียง-ไม่เห็นด้วย ประกอบด้วย
ส.ว.ตัวตึง อาทิ นายกิตติศักดิ์ รัตนวราหะ นายเสรี สุวรรณภานนท์ นายจเด็จ อินสว่าง นายสมชาย แสวงการ พญ.พรทิพย์ โรจนสุนันท์ นายพรเพชร วิชิตชลชัย พ.ต.ต.ยงยุทธ สาระสมบัติ นายมณเฑียร บุญตัน
ส.ว.สายพล.อ.ประยุทธ์ มีเพื่อนร่วมรุ่นเตรียมทหาร รุ่นที่ 12 เป็นกำลังหลัก เช่น พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ พล.อ.อกนิษฐ์ หมื่นสวัสดิ์ พล.อ.จิระศักดิ์ ชมประสพ พล.อ.ธวัชชัย สมุทรสาคร พล.อ.ปรีชา จันทร์โอชา พล.อ.ชาตอุดม ติตถะสิริ

พลเอกชูศักดิ์ เมฆสุวรรณ์ พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง พล.อ.ทวีป เนตรนิยม พล.อ.ยอดยุทธ บุญญาธิการ พล.อ.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ พล.อ.อักษรา เกิดผล ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล
นายจิรชัย มูลทองโร่ย นายณรงค์ สหเมธาพัฒน์ นางดวงพร รอดพยาธิ์ นายถวิล เปลี่ยนศรี น.ส.เรณู ตังคจิวางกูร นายสุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ นางอภิรดี ตันตราภรณ์
ส.ว.สายพล.อ.ประวิตร มีเพื่อนร่วมรุ่นเตรียมทหาร รุ่นที่ 6 เป็นขุนพล เช่น พล.อ.นพดล อินทปัญญา พล.อ.อู้ด เบื้องบน พล.อ.บุญสร้าง เนียมประดิษฐ์ พล.อ.เลิศฤทธิ์ เวชสวรรค์ พล.ร.อ.ศิษฐวัชร วงษ์สุวรรณ
ปัจจัยชี้ขาดอยู่ที่ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ที่ทั้งสภาล่าง-สภาสูงค้านสุดตัว อยู่ที่พรรคก้าวไกลเท่านั้นจะสามารถปลดชนวนระเบิดเวลาออกจากเอ็มโอยูหรือไม่