สภาพัฒน์ฯ เตือนรัฐบาลใหม่อย่ามือเติบ
สภาพัฒน์ฯ ประเมินนโยบายพรรคการเมืองที่เน้นเพิ่มรายได้ให้แก่ประชาชน และความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ต้องแลกกับอัตราเงินที่เฟ้อเพิ่มขึ้นในอนาคต
หากเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝัน เช่น ความขัดแย้งระหว่างจีนกับสหรัฐฯ และสงครามรัสเซียกับยูเครน
“งบประมาณรายจ่ายประจำปี2567 ได้ดำเนินการตามขั้นตอนไปหมดแล้ว หากรัฐบาลใหม่เข้ามาบริหารประเทศก็สามารถดำเนินการได้ 2 วิธีหลักๆ คือ 1.รื้อทำใหม่ทั้งหมด จะใช้เวลานาน และ2.ปรับปรุงเพียงเล็กน้อย คาดว่า ไตรมาสที่ 2 ของงบปี2567 ถึงจะใช้ได้” นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ แถลงข่าว เมื่อวานนี้ (15 พ.ค.)
พร้อมระบุว่า นโยบายในการหาเสียงล้วนแต่เน้น เรื่องรายจ่าย เช่น การสวัสดิการ การเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำ เป็นต้น แต่ยังไม่ได้พูดถึงวิธีการหารายได้เพิ่มขึ้น โดยงบประมาณทางด้านสวัสดิการของประชาชน มีหลักๆ อยู่ประมาณ 600,000-700,000 ล้านบาท เช่น บัตรสวัสดิการ การช่วยเหลือชราและผู้พิการ เป็นต้น หากจะเพิ่มงบขึ้นอีกก็ต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ
สำหรับงบประมาณรายจ่ายประจำปี2567 ครม.ไฟเขียวกรอบรายจ่ายที่ 3,350,000 ล้านล้านบาท มีรายได้สุทธิ จำนวน 2,757,000 ล้านล้านบาท และขาดดุลประมาณ 593,000 ล้านบาท เป็นงบประมาณที่ขาดดุลต่อเนื่องยาวนานกว่า 10 ปี
ส่วนเรื่องการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำนั้น แน่นอนอยู่แล้วว่า หากมีการปรับค่าแรงเพิ่มขึ้นมาเมื่อไหร่ ภาคเอกชนก็ต้องต้นทุนให้สอดคล้องกับค่าแรงใหม่ด้วย ดังนั้น ต้นทุนที่เพิ่มขึ้นจะถูกส่งผ่านไปยังประชาชนอย่างแน่นอน
เลขาสภาพัฒน์ กล่าวว่า ขณะนี้ ยังไม่สามารถตอบอะไรที่เกี่ยวข้องกับนโยบายของพรรคเมืองที่ได้คะแนนเสียงสูงสุดได้ ซึ่งเราก็ได้แต่บอกว่า บางเรื่องไม่ง่าย และบางเรื่องมีปัจจัยเสี่ยงที่ไม่สามารถคาดการณ์ได้
“ดังนั้นการทำนโยบายใดๆ ที่จะไปเพิ่มต้นทุนของภาคธุรกิจ รัฐบาลจะต้องพิจารณาผลดี และผลเสียว่าเป็นอย่างไร เพราะอาจทำให้ FDI (การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ) กลับทิศได้ ต้องพิจารณาให้รอบคอบ การที่ต้นทุนเพิ่ม ก็จะส่งผ่านไปถึงผู้บริโภค และไปถึงเงินเฟ้อในที่สุด เพราะฉะนั้น การทำนโยบายจะต้องรอบคอบและคิดให้รอบด้าน เพราะมันไม่ใช่กระทบแค่ภาคธุรกิจเท่านั้น แต่กระทบภาพรวมเศรษฐกิจด้วย”
ขณะที่ แนวโน้มเศรษฐกิจไทยในปี 2566 ไตรมาสแรกขยายตัว 2.7% ดีขึ้นจากไตรมาส4 ปีที่แล้ว ที่ขยาย 1.4% โดยในปีนี้ สศช.คาดว่า ขยายตัวในช่วงระหว่าง 2.7-3.7% ค่ากลางอยู่ที่ 3.2%โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว การขยายตัวในเกณฑ์ดีของการอุปโภคบริโภคภาคเอกชน และการขยายตัวต่อเนื่องของการลงทุน โดยคาดว่า การอุปโภคบริโภคภาคเอกชนจะขยายตัว 3.7% การลงทุนภาคเอกชนและการลงทุนภาครัฐขยายตัว 1.9% และ 2.7% ตามลำดับขณะที่มูลค่าการส่งออกสินค้าในรูปเงินดอลลาร์สหรัฐ ลดลง 1.6% ส่วนอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยอยู่ในช่วง 2.5 – 3.5% และดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล 1.4% ของจีดีพีสำหรับปัจจัยที่จะช่วยสนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในปี 2566 ประกอบด้วย 1. การฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว 2.การขยายตัวในเกณฑ์ดีของการบริโภคภายในประเทศ 3.การขยายตัวของการลงทุนทั้งภาครัฐและภาคเอกชน
ขณะที่ยังมีข้อจำกัดและปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญ ได้แก่ 1. การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก และความผันผวนของระบบเศรษฐกิจและการเงินโลก 2.ภาระหนี้สินครัวเรือนและภาคธุรกิจที่ยังอยู่ในระดับสูง ท่ามกลางการเพิ่มขึ้นของภาระดอกเบี้ย 3.ความแปรปรวนของสภาพภูมิอากาศที่ส่งผลกระทบต่อผลผลิตภาคเกษตร 4.เงื่อนไขและบรรยากาศทางการเมืองหลังการเลือกตั้ง