การเลือกตั้งปี 2023 ฉากทัศน์การจัดตั้งรัฐบาลใหม่
และนัยต่อการใช้จ่ายงบประมาณของภาครัฐ
การเลือกตั้งและการเปลี่ยนผ่านรัฐบาลจะไม่ส่งผลกระทบด้านลบต่อเศรษฐกิจไทย
ใน 3 ไตรมาสแรกของปี 2023 เนื่องจาก พ.ร.บ. งบประมาณประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 (ค.ศ. 2023) จะครอบคลุมการเบิกจ่ายงบประมาณของภาครัฐจนถึงสิ้นไตรมาส 3 ของปี 2023 และทำให้หน่วยงานภาครัฐดำเนินการตามนโยบายและโครงการต่าง ๆ ที่มีการกำหนดไว้แล้วได้เป็นปกติ อีกทั้ง ยังมีการเร่งการเบิกจ่ายงบประมาณและนำเรื่องเข้ากระบวนการพิจารณาก่อนการยุบสภา นอกจากนี้ เศรษฐกิจไทยจะยังได้รับแรงสนับสนุนจากเม็ดเงินในช่วงหาเสียงเลือกตั้งผลกระทบด้านลบจะเริ่มเห็นชัดเจนขึ้นในไตรมาสที่ 4 ของปี 2023 จากความไม่แน่นอนของระยะเวลาในการพิจารณาอนุมัติ พ.ร.บ. งบประมาณประจำปีงบประมาณ 2024 ส่งผลให้มีเม็ดเงินสนับสนุนเศรษฐกิจจากภาครัฐเพิ่มเติมได้ไม่มากนัก อีกทั้ง นโยบายเร่งด่วนของรัฐบาลใหม่จะมีผลกระทบสู่เศรษฐกิจตั้งแต่ปี 2024เศรษฐกิจไทยในปี 2024 จะต้องเผชิญความไม่แน่นอนสูงจากการจัดตั้งรัฐบาลใหม่โดยหากการเลือกตั้งและการจัดตั้งรัฐบาลเป็นไปได้อย่างราบรื่นจะส่งผลให้มีนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจและเม็ดเงินงบประมาณของภาครัฐเข้ามาสนับสนุนเศรษฐกิจปี 2024 ได้อย่างเต็มที่ ในทางตรงกันข้ามหากการเลือกตั้งและการจัดตั้งรัฐบาลไม่สามารถเป็นไปอย่างราบรื่นอาจส่งผลให้รัฐบาลที่ไม่มีอำนาจเต็มต้องปฏิบัติหน้าที่นานเกินสมควร อีกทั้ง ประกาศใช้ พ.ร.บ. งบประมาณประจำปีงบประมาณ 2024 ได้อย่างล่าช้ามากจนส่งผลเสียต่อเศรษฐกิจSCB EIC ประเมินว่าไม่มีฉากทัศน์การจัดตั้งรัฐบาลที่มีโอกาสเกิดขึ้นสูงเกิน 50% ฉากทัศน์กรณีฝ่ายเสรีนิยมจัดตั้งรัฐบาล กรณีรัฐบาลผสมสองฝ่าย และกรณีรัฐบาลอนุรักษ์นิยมเสียงข้างน้อย ทั้ง 3 ฉากทัศน์นี้มีโอกาสเกิดขึ้นในระดับปานกลางใกล้เคียงกันมาก สำหรับอีก 2 ฉากทัศน์กรณีฝ่ายอนุรักษ์นิยมจัดตั้งรัฐบาล และกรณีนายกรัฐมนตรีนอกบัญชีรายชื่อมีโอกาสเกิดขึ้นอยู่บ้าง
1. ปฏิทินการเลือกตั้ง
ตามที่นายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาได้ประกาศยุบสภาผู้แทนราษฎรในวันที่ 20 มีนาคม 2023 คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จึงกำหนดวันเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั่วประเทศไว้เป็นวันที่ 14 พฤษภาคม 2023 โดย กกต. คาดการณ์ว่าจะสามารถประกาศผลการเลือกตั้งแบบไม่เป็นทางการได้ภายในเวลา 23:00 น. ของวันเลือกตั้ง และจะต้องประกาศผลคะแนนการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการภายใน 60 วันนับจากวันเลือกตั้ง และจะต้องมีการกำหนดประชุมรัฐสภาวันแรกเพื่อเริ่มกระบวนการจัดตั้งรัฐบาลภายใน 15 วันนับตั้งแต่ประกาศผลเลือกตั้ง
อย่างไรก็ดี ไม่ได้มีบัญญัติของกฎหมายหรือข้อกำหนดของคณะกรรมการการเลือกตั้งที่กำหนดว่าการจัดตั้งรัฐบาลจะต้องสำเร็จภายในระยะเวลาเท่าใด ในกรณีที่การจัดตั้งรัฐบาลเป็นไปอย่างราบรื่น SCB EIC คาดว่าในกรณีฐานประเทศไทยจะมีนายกรัฐมนตรีคนใหม่ในเดือนกรกฎาคม และจะมีคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ที่พร้อมจะปฏิบัติหน้าที่ได้ภายในเดือนสิงหาคม แต่หากการจัดตั้งรัฐบาลเป็นไปอย่างล่าช้ากว่านี้ อาจส่งผลลบต่อเศรษฐกิจได้หลายด้าน
2. ผลกระทบของการเปลี่ยนผ่านรัฐบาลต่อเศรษฐกิจไทยในปี 2023 และ 2024
การประกาศยุบสภาส่งผลให้นายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีพ้นจากตำแหน่ง โดยสามารถปฏิบัติหน้าที่ต่อไปได้จนกว่าคณะรัฐมนตรีใหม่ที่ตั้งขึ้นใหม่จะเข้ารับหน้าที่ (มาตรา 168) แต่รัฐบาลรักษาการจะไม่มีอำนาจในการบริหารราชการแผ่นดินอย่างเต็มที่ (มาตรา 169) ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 (ค.ศ. 2017) ตามเงื่อนไขดังนี้
1. ไม่กระทำการอันมีผลเป็นการอนุมัติงานหรือโครงการ หรือมีผลเป็นการสร้างความผูกพันต่อคณะรัฐมนตรีชุดต่อไป เว้นแต่ที่กําหนดไว้แล้วใน พ.ร.บ. งบประมาณรายจ่ายประจำปี
2. ไม่แต่งตั้งหรือโยกย้ายข้าราชการซึ่งมีตําแหน่งหรือเงินเดือนประจําหรือพนักงานของหน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือกิจการที่รัฐถือหุ้นใหญ่ หรือให้บุคคลดังกล่าวพ้นจากการปฏิบัติหน้าที่หรือพ้นจากตําแหน่ง หรือให้ผู้อื่นมาปฏิบัติหน้าที่แทน เว้นแต่จะได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการการเลือกตั้งก่อน
3. ไม่กระทําการอันมีผลเป็นการอนุมัติให้ใช้จ่ายงบประมาณสํารองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจําเป็น เว้นแต่จะได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการการเลือกตั้งก่อน
4. ไม่ใช้ทรัพยากรของรัฐหรือบุคลากรของรัฐเพื่อกระทําการใดอันอาจมีผลต่อการเลือกตั้งและไม่กระทําการอันเป็นการฝ่าฝืนข้อห้ามตามระเบียบที่คณะกรรมการการเลือกตั้งกําหนด
อย่างไรก็ดี ผลกระทบของการเป็นรัฐบาลรักษาการต่อเศรษฐกิจไทยใน 3 ไตรมาสแรกของปี 2023 (หรือ 3 ไตรมาสหลังของปีงบประมาณ 2023) มีอยู่อย่างจำกัด เนื่องจากประการแรก พ.ร.บ. งบประมาณประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 (ค.ศ. 2023) ที่ได้ประกาศใช้ในราชกิจจานุเบกษาแล้วตั้งแต่วันที่ 19 กันยายน 2022 จะครอบคลุมการเบิกจ่ายงบประมาณของภาครัฐจนถึงสิ้นไตรมาส 3 ของปี 2023 และทำให้หน่วยงานภาครัฐดำเนินการตามนโยบายและโครงการต่าง ๆ ที่มีการกำหนดไว้แล้วได้เป็นปกติ รวมถึงความพยายามเร่งรัดเบิกจ่ายงบลงทุนในช่วงต้นปีงบประมาณ 2023 ไว้ ส่งผลให้อัตราการเบิกจ่ายงบลงทุนสะสม 6 เดือนแรกของปีงบประมาณอยู่ที่ 37.5% สูงกว่าหลายปีที่ผ่านมา (รูปที่ 2)
ประการที่สอง แม้รัฐบาลรักษาการจะไม่สามารถออกนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจหรือนโยบายพยุงค่าครองชีพใหม่ ๆ ได้อย่างเต็มที่ แต่ได้เตรียมการที่ดีไว้ก่อนยุบสภา โดยเร่งอนุมัติหลายเรื่องสำคัญ (รูปที่ 3) เช่น 1) กรอบวงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2024 และรายละเอียด ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในความพยายามลดความเสี่ยงที่ พ.ร.บ. งบประมาณประจำปีงบประมาณ 2024จะออกได้ล่าช้าเกินสมควรจนเกิดผลกระทบต่อเศรษฐกิจและการบริหารราชการแผ่นดิน และ 2) โครงการลงทุนสำคัญ อาทิ โครงการโทรศัพท์เคลื่อนที่ 4G/5G บนคลื่น 700 MHz ของบริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) กรอบวงเงินลงทุน 61,628 ล้านบาท โครงการทางพิเศษฉลองรัชส่วนต่อขยาย (ช่วงจตุโชติ – ถนนลำลูกกา) มูลค่าการลงทุน 24,060 ล้านบาท 3) โครงการแก้ไขปัญหาหนี้สินเกษตรกรรวม 15,481 ล้านบาท
ประการที่สาม เศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งแรกของปี 2023 จะได้รับแรงสนับสนุนจากเม็ดเงินที่นำมาใช้ในการหาเสียงก่อนการเลือกตั้ง โดยเฉพาะในไตรมาสที่สอง โดยหากพิจารณากรอบการใช้จ่ายหาเสียงเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่คณะกรรมการการเลือกตั้งกำหนด คาดว่าจะมีเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจเพิ่มเติมอีกอย่างน้อยราว 12,032ล้านบาท หรือ 0.07% ของ Nominal GDPซึ่งในความเป็นจริงเม็ดเงินที่ใช้อาจสูงกว่าที่คณะกรรมการการเลือกตั้งกำหนดไว้หลายเท่าตัว โดยเม็ดเงินหาเสียงช่วงเลือกตั้งมีแนวโน้มที่จะลงไปสู่ระบบเศรษฐกิจในหลายธุรกิจและกระจายไปยังกลุ่มผู้มีรายได้น้อยถึงปานกลาง เช่น โรงแรม ร้านอาหาร ธุรกิจป้ายโฆษณา ธุรกิจขนส่ง ธุรกิจงานอีเวนต์ ช่วยทำให้ผู้บริโภคมีความเชื่อมั่นในการจับจ่ายใช้สอยมากยิ่งขึ้น
แม้ภาพรวมเศรษฐกิจไทยในช่วง 3 ไตรมาสแรกของปี 2023 จะได้รับผลกระทบด้านลบจากการเปลี่ยนผ่านรัฐบาลที่จำกัด แต่ผลกระทบดังกล่าวจะรุนแรงขึ้นในไตรมาสที่ 4 ของปี 2023 เนื่องจากมีความไม่แน่นอนในการจัดตั้งรัฐบาลและการพิจารณาอนุมัติ พ.ร.บ. งบประมาณประจำปีงบประมาณ 2024 เนื่องจากโดยปกติแล้ว พ.ร.บ. งบประมาณจะมีการประกาศใช้ในราชกิจจานุเบกษาในช่วงเดือนกันยายน และเริ่มประกาศใช้ต้นปีงบประมาณในเดือนตุลาคม แต่การเปลี่ยนผ่านรัฐบาลจะทำให้กระบวนการพิจารณา พ.ร.บ. งบประมาณประจำปีงบประมาณ 2024 ล่าช้ากว่าปกติ
ในกรณีฐาน SCB EIC ประเมินว่ากระบวนการพิจารณาจะล่าช้าราว 3-4 เดือน ในช่วงเวลาดังกล่าวหน่วยงานภาครัฐจะสามารถใช้กฎหมายว่าด้วยงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณปีก่อนนั้นไปพลางก่อนได้ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 (ค.ศ. 2017) มาตรา 141 แต่การดำเนินงานต่าง ๆ ก็จะไม่สามารถทำได้เต็มที่ดังปกติ อย่างไรก็ดีหน่วยงานภาครัฐจะมีการเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณจนครบได้ใน 3 ไตรมาสแรกของปี 2023 หรืออาจสรุปได้ว่าเม็ดเงินสนับสนุนเศรษฐกิจจากภาครัฐจะเบิกจ่ายในไตรมาสแรกของปีงบประมาณ 2024 ไม่มาก แต่จะเร่งเบิกจ่ายได้ภายหลังในช่วง 3 ไตรมาสหลังของปีงบประมาณ 2024 สะท้อนจากข้อมูลสัดส่วนการเบิกจ่ายงบประมาณของภาครัฐที่มักจะลดลงเป็นอย่างมากในไตรมาสแรกของปีงบประมาณ (ไตรมาสสุดท้ายของปีปฏิทิน) ที่มีการเลือกตั้งและเปลี่ยนผ่านรัฐบาลใหม่ (รูปที่ 5) ในกรณีเลวร้าย การจัดตั้งรัฐบาลไม่ราบรื่นอาจทำให้การประกาศใช้ พ.ร.บ. งบประมาณประจำปีงบประมาณ 2024 ล่าช้าถึง 6 เดือน ในกรณีนี้หน่วยงานภาครัฐจะไม่สามารถเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณได้ตามเป้าหมาย ในกรณีนี้จะส่งผลลบโดยตรงต่อเศรษฐกิจไทยในช่วงไตรมาสที่ 4 ของปี 2023 ถึงไตรมาสที่ 3 ของปี 2024
สำหรับผลกระทบด้านบวกต่อเศรษฐกิจจากการเลือกตั้งและเปลี่ยนผ่านรัฐบาลใหม่ในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2023 มีไม่มากนัก เนื่องจากนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาลใหม่ หากเริ่มดำเนินการได้อย่างเร็วในช่วงสิ้นปีจะมีผลกระทบสู่เศรษฐกิจอย่างเต็มที่ภายหลังปี 2023 นอกจากนี้ โครงการขนาดใหญ่ที่หน่วยงานภาครัฐเตรียมเสนอเข้าสู่กระบวนการพิจารณาของคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ เช่น โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง – สุวรรณภูมิ – อู่ตะเภา) มูลค่า 2.24 แสนล้านบาท โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) มูลค่า 1.4 แสนล้านบาท ซึ่งจะต้องใช้เวลาในการพิจารณาและดำเนินการเป็นระยะเวลานาน
อย่างไรก็ดี ผลกระทบด้านบวกต่อเศรษฐกิจของการเลือกตั้งจะชัดเจนขึ้นในปี 2024 หากการจัดตั้งรัฐบาลเป็นไปอย่างราบรื่น เนื่องจากพรรคการเมืองขนาดใหญ่ทุกพรรคได้มีการนำนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจจำนวนมากมาใช้ในการหาเสียง อีกทั้ง มีนโยบายจำนวนมากที่เป็นนโยบายเร่งด่วนที่พรรคการเมืองให้คำสัญญาว่าจะดำเนินการภายใน 3-4 เดือนหลังจากที่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ที่จะสามารถกระตุ้นเศรษฐกิจได้อย่างชัดเจน เช่น นโยบายปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ นโยบายลดค่าครองชีพของประชาชน (เช่น ค่าน้ำมัน ค่าไฟฟ้า) และนโยบายให้เงินประชาชนโดยตรงเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ
3. ฉากทัศน์การจัดตั้งรัฐบาลใหม่
หากพิจารณาผลสำรวจแนวโน้มการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในปี 2023 ของหลายหน่วยงาน พบว่าฝ่ายเสรีนิยมมีแนวโน้มที่จะได้รับความนิยมสูงกว่าฝ่ายอนุรักษ์นิยมมาก โดยฝ่ายเสรีนิยม 2 พรรคที่ได้รับความนิยมสูงสุดได้รับความนิยมรวมกันมากถึง 68-84% ของผู้ตอบสำรวจทั้งหมด อย่างไรก็ดี ผลสำรวจมีแนวโน้มที่จะสะท้อนจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อได้แม่นยำกว่าสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรรายเขต ส่งผลให้ผลสำรวจสะท้อนว่าพรรคการเมืองที่มีฐานเสียงรายพื้นที่มีแนวโน้มที่จะได้รับเลือกตั้งในสัดส่วนที่สูงกว่า ภายใต้สมมติฐานดังกล่าวนี้ SCB EICได้ประเมินฉากทัศน์ของผลการเลือกตั้งและการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ ไว้ 5 กรณี ดังนี้
กรณีที่ 1 : ฝ่ายเสรีนิยมจัดตั้งรัฐบาล ฝ่ายเสรีนิยมได้เสียงข้างมากของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สูงกว่า 250 เสียง) และอาจรวมตัวกับพรรคการเมืองที่ไม่ได้แสดงจุดยืนที่ชัดเจนไว้แต่ยินดีจะเข้าร่วมด้วย ประกอบกับอาจได้รับเสียงจากสมาชิกวุฒิสภาบางส่วน ทำให้มีคะแนนเสียงรวมกันเกิน 375 เสียง และสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ ซึ่งจะช่วยให้การประกาศใช้ พ.ร.บ. งบประมาณประจำปีงบประมาณ 2024 ล่าช้าไม่มาก 3-4 เดือน แต่กรณีนี้มีโอกาสเกิดชุมนุมทางการเมืองขนาดเล็ก ในภาพรวมกรณีนี้มีโอกาสเกิดปานกลางและจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจไทย
กรณีที่ 2 : รัฐบาลผสมสองฝ่าย ฝ่ายเสรีนิยมได้เสียงข้างมากจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (เกิน 250 เสียง)แต่ยังไม่เพียงพอที่จะจัดตั้งรัฐบาลได้ (ต่ำกว่า 375 เสียง) ฝ่ายเสรีนิยมบางส่วนจึงร่วมมือกับฝ่ายอนุรักษ์นิยมบางส่วนตกลงจัดสรรตำแหน่งนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีได้อย่างลงตัว ทำให้สามารถจัดตั้งรัฐบาลผสมสองฝ่ายได้ ในกรณีนี้แม้รัฐบาลจะมีเสียงสนับสนุนจากทั้งฝั่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา แต่อาจไม่มีความแข็งแกร่งในการบริหารราชการแผ่นดินมากนัก เนื่องจากทั้งสองพรรคมีแนวความคิดที่แตกต่างกันหลายด้าน การประกาศใช้ พ.ร.บ. งบประมาณประจำปีงบประมาณ 2024 อาจล่าช้าไม่นาน 3-4 เดือน แต่กรณีนี้มีโอกาสที่จะเกิดการชุมนุมทางการเมืองขนาดใหญ่สูงกว่ากรณีอื่นเนื่องจากอาจขัดกับหลักการที่พรรคการเมืองสื่อสารหาเสียงไว้ หรือขัดกับหลักการที่ประชาชนกลุ่มฐานเสียงแต่ละฝ่ายต่างยึดมั่น ในภาพรวมกรณีนี้มีโอกาสเกิดปานกลาง แต่ผลกระทบทางเศรษฐกิจยังไม่แน่นอน ขึ้นกับความรวดเร็วในการจัดตั้งรัฐบาลและการตอบรับของประชาชน
กรณีที่ 3 : รัฐบาลอนุรักษ์นิยมเสียงข้างน้อย ฝ่ายเสรีนิยมได้เสียงข้างมากจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สูงกว่า 250 เสียง) ขณะที่ฝ่ายอนุรักษ์นิยมและพรรคการเมืองที่ไม่ได้แสดงจุดยืนชัดเจนไว้แต่ยินดีจะเข้าร่วมด้วย รวมตัวกันได้เสียงจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไม่ถึง 250 เสียง แต่เมื่อรวมกับเสียงจากสมาชิกวุฒิสภาจำนวนมาก ส่งผลให้มีคะแนนเสียงรวมเกิน 375 เสียง ทำให้สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ ในกรณีนี้รัฐบาลจะมีความเปราะบางสูง และมีโอกาสเกิดเหตุการณ์ลบหลายเรื่อง เช่น การประกาศใช้ พ.ร.บ. งบประมาณประจำปีงบประมาณ 2024 ล่าช้าเกิน 3-4 เดือน หรือไม่สามารถออกใช้ได้ ความเสี่ยงต้องจัดการเลือกตั้งใหม่สูง นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีมีความเสี่ยงถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจ อีกทั้ง กรณีนี้ฝ่ายอนุรักษ์นิยมซึ่งเป็นรัฐบาลรักษาการอยู่ อาจประวิงเวลาให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรฝ่ายอื่นเข้าร่วมกับฝ่ายตน จนฝ่ายอนุรักษ์นิยมสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ ซึ่งจะทำให้ไทยมีรัฐบาลรักษาการนานเกินควร นอกจากนี้ ยังมีโอกาสเกิดการชุมนุมทางการเมืองขนาดใหญ่ ในภาพรวมกรณีนี้มีโอกาสเกิดปานกลางและจะส่งผลเสียต่อเศรษฐกิจไทยสูงที่สุด
กรณีที่ 4 : ฝ่ายอนุรักษ์นิยมจัดตั้งรัฐบาล ฝ่ายอนุรักษ์นิยมได้เสียงข้างมากจากทั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร(สูงกว่า 250 เสียง) และสมาชิกวุฒิสภา (รวมมีคะแนนเสียงเกิน 375 เสียง) จึงสามารถจัดตั้งรัฐบาลที่มีความแข็งแกร่งในการบริหารราชการแผ่นดินสูงจากเสียงสนับสนุนจากทั้งฝั่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา ทำให้การประกาศใช้ พ.ร.บ. งบประมาณประจำปีงบประมาณ 2024 ล่าช้าเพียง 3-4 เดือน แต่มีโอกาสเกิดการชุมนุมทางการเมืองขนาดเล็ก ในภาพรวมกรณีนี้มีโอกาสเกิดน้อยและจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจไทย
กรณีที่ 5 : นายกรัฐมนตรีนอกบัญชีรายชื่อ ฝ่ายเสรีนิยมได้เสียงข้างมากจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (เกิน 250 เสียง) แต่ยังไม่เพียงพอที่จะจัดตั้งรัฐบาลได้ (ต่ำกว่า 375 เสียง) ฝ่ายเสรีนิยมบางส่วนจึงร่วมมือกับฝ่ายอนุรักษ์นิยมบางส่วน ซึ่งคล้ายกับกรณีที่ 4 แต่ไม่สามารถตกลงจัดสรรตำแหน่งนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีได้อย่างลงตัว ทำให้ไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ รัฐบาลรักษาการจึงต้องบริหารราชการแผ่นดินเป็นเวลานานเกินควรและจำเป็นต้องเลือกบุคคลที่ไม่ได้อยู่ในบัญชีรายชื่อบุคคลที่พรรคการเมืองเสนอมาเป็นนายกรัฐมนตรีตามมาตรา 272 วรรค 2 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 (ค.ศ. 2017) ส่งผลให้รัฐบาลใหม่มีความเปราะบางสูง และการประกาศใช้ พ.ร.บ. งบประมาณประจำปีงบประมาณ 2024 อาจล่าช้าเกิน 3-4 เดือนไปมาก ในภาพรวมกรณีนี้มีโอกาสเกิดน้อยและจะส่งผลลบต่อเศรษฐกิจไทย
โดยสรุปการเลือกตั้งและการเปลี่ยนผ่านรัฐบาลในปี 2023 จะไม่ส่งผลกระทบด้านลบต่อเศรษฐกิจไทยใน 3 ไตรมาสแรกของปี 2023 อีกทั้ง เศรษฐกิจไทยจะยังได้รับแรงสนับสนุนจากเม็ดเงินหาเสียงในช่วงก่อนการเลือกตั้งแต่ผลกระทบด้านลบจะเริ่มเห็นชัดเจนขึ้นในไตรมาสที่ 4 ของปี 2023 เนื่องจากมีความล่าช้าในการพิจารณาอนุมัติ พ.ร.บ. งบประมาณประจำปีงบประมาณ 2024 ขณะที่ผลกระทบด้านบวกต่อเศรษฐกิจยังมีไม่มากนัก
อย่างไรก็ดี เศรษฐกิจไทยจะต้องเผชิญความไม่แน่นอนสูงจากการจัดตั้งรัฐบาลใหม่และการจัดทำงบประมาณปี 2024 โดย SCB EIC ประเมินว่าไม่มีฉากทัศน์การจัดตั้งรัฐบาลที่มีโอกาสเกิดขึ้นสูงเกิน 50% แตกต่างจากบริบทการเลือกตั้งในปี 2019 ที่ฝ่ายอนุรักษ์นิยมมีโอกาสจัดตั้งรัฐบาลได้สูงอย่างชัดเจน เนื่องจากได้รับคะแนนความนิยมจากประชาชนสูง อีกทั้งยังได้รับแรงสนับสนุนจากสมาชิกวุฒิสภาอย่างท่วมท้น สำหรับการเลือกตั้งครั้งนี้ SCB EIC ประเมินว่า ฉากทัศน์กรณีฝ่ายเสรีนิยมจัดตั้งรัฐบาล กรณีรัฐบาลผสมสองฝ่าย และกรณีรัฐบาลอนุรักษ์นิยมเสียงข้างน้อย ทั้ง 3 ฉากทัศน์นี้มีโอกาสเกิดขึ้นในระดับปานกลางใกล้เคียงกันมาก สำหรับอีก 2 ฉากทัศน์กรณีฝ่ายอนุรักษ์นิยมจัดตั้งรัฐบาล และกรณีนายกรัฐมนตรีนอกบัญชีรายชื่อมีโอกาสเกิดขึ้นอยู่บ้าง
นอกจากผลกระทบทางเศรษฐกิจจากการยุบสภา การเลือกตั้ง และการเปลี่ยนผ่านรัฐบาลตามที่วิเคราะห์ข้างต้นแล้ว นโยบายที่พรรคการเมืองต่าง ๆ ได้นำเสนอไว้ก่อนการเลือกตั้งนับว่าเป็นประเด็นสำคัญที่ต้องประเมินผลกระทบทางเศรษฐกิจและภาระการคลัง เนื่องจากส่วนใหญ่เป็นนโยบายมหภาคที่ส่งผลกระทบเป็นวงกว้าง โดย SCB EIC จะเผยแพร่บทวิเคราะห์ตอนต่อไปหลังการจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่เริ่มมีความชัดเจนมากขึ้น