นโยบาย 5 พรรคนอกสายตา-พรรคทางเลือก เลือกตั้ง 66
ท่ามกลางการสู้รบของพรรคการเมืองใหญ่ ส.ส.ดาวสภา – นักการเมืองขาใหญ่ทำเนียบรัฐบาล ยังมีพรรคการเมืองไม้ประดับมาเป็น “พรรคทางเลือก”
พรรคนอกสายตาในการเลือกตั้ง 66 โดดเด่นขึ้น เพราะมีนโยบายแปลกหู-แปลกตา อาจจะทำให้มีตัวแทนของเสียงที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวเข้าไปนั่งในสภาในฐานะ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ เบอร์ 1
พรรคเปลี่ยน ของ “นอท กองสลากพลัส” นายพันธ์ธวัช นาควิสุทธิ์ หัวหน้าพรรคเปลี่ยน เบอร์ 20 พลิกวิกฤตเป็น “หวยโอกาส” เพิ่มโอกาสให้ประชาชนเข้าถึงแหล่งทุน วงเงินที่ต้องใช้ 55,000 ล้านบาท ที่มาของเงินที่จะใช้ดำเนินการ “เพิ่มจำนวนสลาก” เป็น 200 ล้านใบ
โดยเงินที่มาจากนโยบาย “หวยโอกาส” สามารถนำมา “ต่อยอด” เป็นนโยบายอื่นอีก ได้แก่ “ธนาคารโอกาส” ให้เป็นแหล่งเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำสำหรับผู้ไม่มีหลักประกัน และยังเป็นการควบคุมการปล่อยสินเชื่อ วงเงินที่ต้องใช้ 40,000 ล้านบาท
“กองทุนเงินกู้ปลอดดอกเบี้ยเพื่อผู้พิการ” เพื่อเป็นแหล่งเงินกู้ “ไร้ดอกเบี้ย” แก่ผู้พิการ วงเงินที่ต้องใช้ 3,000 ล้านบาท
“กองทุนพัฒนาศักยภาพและอาชีพสำหรับผู้สูงอายุและผู้พิการ” เพื่อเพิ่มศักยภาพและความสามารถของผู้สูงอายุและผู้พิการ ในการดูแลตนเอง เป็นตัวขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจให้ประเทศ วงเงินที่ต้องใช้ 2,000 ล้านบาท
“เงินทุนอุดหนุนการศึกษาผู้พิการระดับ ปวช.” เพื่อเพิ่มความรู้ความสามารถในสายวิชาแก่ผู้พิการที่ต้องการ วงเงินที่ต้องใช้ 350 ล้านบาท
“กองทุนพัฒนาศักยภาพนักกีฬา” เพื่อเพิ่มขีดความสามารถให้นักกีฬาไทย วงเงินที่ต้องใช้ 3,000 ล้านบาท และ “กองทุนพัฒนาอาชีพสำหรับนักกีฬาเกษียณ” เพื่อให้นักกีฬาได้รับการพัฒนาอาชีพและศักยภาพหลังเกษียณ วงเงินใช้ 300 ล้านบาท
นอกจากนี้ยังมีนโยบาย “กองทุน Smart Plus” เพื่อเป็นแหล่งเงินทุนให้ start up ไทย ด้านเทคโนโลยีและ Ecosystems สำหรับ E-commerce วงที่ต้องใช้ 4,280 ล้านบาท ที่มาของเงินจากการเก็บภาษีแพลตฟอร์มดิจิทัลต่างชาติร้อยละ 10
พรรคเส้นด้าย เบอร์ 64 ของ “คริส โปตระนันทน์” หัวหน้าพรรคเส้นด้าย ที่ผันตัวจาก “กลุ่มกิจกรรมเพื่อสังคม” องค์กรไม่แสวงหาอำนาจ–ผลกำไร ภายใต้ “กลุ่มเส้นด้าย” มาทำงานการเมืองเต็มตัวในนามพรรคการเมือง
นโยบาย “โทน” ของพรรคเส้นด้าย-พรรคของคนไม่มีเส้น คือ นโยบาย “79 ตรวจก่อนเจอ รักษาครอบคลุม” วงเงินที่ต้องใช้ 15,544.6720 ล้านบาท แบ่งออกเป็น
1.งบสร้างเสริมสุขภาพ 15,023.08 ล้านบาท 2.งบพัฒนาระบบ AI Audit เพื่อตรวจสอบการเก็บเงินเกินสิทธิ 117.9152 ล้านบาท และ 3.งบพัฒนาระบบติดตามและประเมินผลการรักษา 28.395 ล้านบาท
ที่มาของเงินที่จะใช้ในการดำเนินการ 1.เงินจากงบประมาณบริการควบคุมป้องกัน และรักษาโรคเรื้อรัง สปสช. ประจำปี 2566 จำนวน 1,071.48 ล้านบาท
2.งบพัฒนาระบบ AI Audit เพื่อตรวจสอบการเก็บเงินเกินสิทธิ สปสช.ประจำปี 2566 จำนวน 117.9152 ล้านบาท 3.งบพัฒนาระบบติดตามและประเมินผลการรักษา สปสช. ประจำปี 28.395 ล้านบาท
และ 4.เงินจากการเก็บค่าใช้บริการสิทธิจาก สปสช. ครั้งละ 79 บาท จำนวน 181.353 ล้านครั้ง รวมเป็นเงิน 14,326 ล้านบาท
ความคุ้มค่าและประโยชน์ในการดำเนินนโยบาย 1.ประชาชนสามารถเข้าถึงการบริการเชิงป้องกันได้ และเพื่อป้องกันการเกิดโรคเรื้อรังระยะสุดท้าย โดยเป็นการยกระดับสิทธิการตรวจสุขภาพของผู้ที่มีอายุ 20 ปีบริบูรณ์ให้เทียบเท่าสิทธิเบิกตรงจากกรมบัญชีกลาง
2.ประชาชนไม่ต้องการจ่ายค่าส่วนเกิดสิทธิเนื่องจากโรงพยาบาลไม่สามารถเก็บค่าส่วนเกินสิทธิจากผู้ป่วยได้ เพราะมีระบบตรวจสอบการเก็บค่าส่วนเกินสิทธิซึ่งขัดต่อมติคณะกรรมการ สปสช.
พรรคเป็นธรรม–พรรคทางเลือกฝ่ายประชาธิปไตยก้าวหน้า เบอร์ 3 ที่มี “ดร.ปิติพงศ์ เต็มเจริญ” เป็นหัวหน้าพรรคเป็นธรรม เช่น นโยบาย “เรียนฟรีถ้วนหน้าถึงปริญญาเอก” เงินที่ต้องใช้ 100,000 บาทต่อปี ที่มาของเงิน จัดเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคค–บุคคลธรรมดาเพิ่ม และ “ล้างหนี้กยศ”
นโยบายขนส่งสาธารณะข้ามจังหวัดและเชื่อมพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ยะลา-ปัตตานีและนราธิวาส เงินที่ต้องใช้ 2,500 ล้านบาทต่อปี ที่มาของเงินมาจากการจัดสรรงบประมาณประจำปี
น้ำประปาฟรี 300 บาทต่อครัวเรือน เงินต้องใช้ 12,000 ล้านบาทต่อปี ที่มาของเงินจากการ “ตัดงบลับ” ของกอ.รมน.ปีละ 5,000 ล้านบาท “ตัดงบซื้ออาวุธ” กองทัพปีละ 1,000 ล้านบาท ตัดงบกระทรวงกลาโหมปีละ 1,000 ล้านบาท ตัดงบ ศอ.บต.ปีละ 1,000 ล้านบาท
พรรคสามัญชน ที่มี “ชุมาพร แต่งเกลี้ยง” เป็นหัวหน้าพรรค หมายเลขบัญชีรายชื่อ เบอร์ 51 อาสาขอเป็นตัวแทนเสียงออเกนิค–ไม่มีหัวคะแนนจัดตั้ง ชูนโยบายด้านประชาธิปไตยฐานราก เช่น ผลักดันกระบวนการจัดทำรัฐธรรมนูญที่มาจากกระบวนการมีส่วนร่วมที่สอดคล้องกับหลักการประชาธิปไตย เคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์และความเท่าเทียมเป็นธรรม
ผลักดันกฎหมายเพื่อส่งเสริมการมีส่วนร่วมทางการเมืองในทุกระดับและทุกรูปแบบ อำนวยความสะดวกในการใช้สิทธิในการเลือกหรือลงสมัครรับเลือกตั้งให้กับทุกคนในประเทศ
คืนอำนาจการจัดการตนเองให้ชุมชนท้องถิ่น และสนับสนุนการมีส่วนร่วมทางตรง โดยไม่ขัดต่อหลักการประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน ความเท่าเทียมเป็นธรรม และสิทธิเสรีภาพพื้นฐานของบุคคล
ส่งเสริมสิทธิเข้าถึงข้อมูล ข่าวสาร โดยกำหนดให้หน่วยงานภาครัฐจะต้องเปิดเผยต่อสาธารณะ โดยไม่ต้องร้องขอ ส่งเสริมเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น ปกป้องสิทธิ ข้อมูลส่วนบุคคล ส่งเสริมความปลอดภัยและเสรีภาพทางอินเตอร์เน็ต
นโยบายที่เคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิมนุษยชนและชุมชนท้องถิ่น เช่น ผลักดันการบัญญัติรับรองคำประกาศหลักการสิทธิมนุษยชนสากล และหลักสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศที่ได้รับการเห็นชอบจากรัฐสภาให้มีสถานะเป็นกฎหมายภายใน และสามารถยกขึ้นมาอ้างในการต่อสู้ในกระบวนการยุติธรรมได้
ผลักดันการให้สัตยาบันหลักการสิทธิมนุษยชน ธรรมนูญกรุงโรมว่าด้วยศาลอาญาระหว่างประเทศ จัดทำกฎหมายและนโยบายที่มาจากกระบวนการมีส่วนร่วมที่เคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิมนุษยชนและสิทธิชุมชน
สร้างกลไกการให้ความคุ้มครองนักปกป้องสิทธิมนุษยชนในชุมชน และประกันความรับผิดชอบต่อการละเมิดสิทธิมนุษยชน ให้การรับรองอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองมิให้บุคคลสูญหาย
นโยบายเพื่อสร้างความเท่าเทียมเป็นธรรมทางเศรษฐกิจและโอกาสทางสังคม เช่น ส่งเสริมสิทธิและโอกาสของผู้พิการในการเข้าถึงการศึกษา สุขภาพ การทำงานและบริการสาธารณะอย่างเท่าเทียม
ส่งเสริมสิทธิและโอกาสของบุคคลเพศสภาพที่หลากหลายในการก่อตั้งครอบครัว การทำงาน สุขภาพและความเท่าเทียมระหว่างเพศสถานะที่หลากหลายในสังคม
ส่งเสริมสิทธิและโอกาสของกลุ่มชาติพันธุ์ดั้งเดิม คนไร้รัฐ คนไทยพลัดถิ่น ผู้ลี้ภัย ในการเข้าถึงสิทธิอยู่อาศัย สถานะทางกฎหมายและสิทธิพื้นฐาน
ผลักดันค่างจ้างเป็นธรรม หลักประกันความปลอดภัย อาชีวอนามัย ประกันสังคม พัฒนาสมรรถนะแรงงาน สวัสดิภาพ สวัสดิภาพการทำงานโดยไม่เลือกปฏิบัติ จัดตั้งธนาคารแรงงาน หรือ กองทุนพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้ใช้แรงงาน
สร้างความเป็นธรรมในภาคเกษตรด้วยการออกเอกสารสิทธิที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ที่ดินป่าไม้ ที่ดินรัฐ จัดเก็บภาษีที่ดินในอัตราก้าวหน้า
สนับสนุนระบบการค้าที่เป็นธรรม ปรับปรังระบบโควตา ลดการผูกขาดของหน่วยงานรัฐ กระจายการจัดการสู่ผู้ค้ารายย่อยโดยรัฐรับผิดชอบความเสี่ยง เช่น สลากกินแบ่งรัฐบาล คลื่นความถี่ การขนส่ง
รวมถึงการจัดการทรัพยากรโดยการมีส่วนร่วมแทนระบบสัมปทานผูกขาดโดยเอกชน โดยเพิ่มสัดส่วนผู้ถือหุ้นระหว่างรัฐกลาง ท้องถิ่นและเอกชน
ผลักดันระบบภาษีที่เป็นธรรมเพื่อลดความเหลื่อมล้ำในสังคม ผ่านการคืนภาษีสำหรับผู้มีรายได้น้อย ปรับอัตราภาษีก้าวหน้าสำหรับผู้มีรายได้สูงสุด
พรรคชื่อสั้น-จำง่าย “พรรคกรีน” เบอร์ 15 ที่มี “พงศา ชูแนม” เป็นหัวหน้า “พรรคสีเขียว” แต่นโยบายแตกกิ่งก้านสาขาเป็น “ป่าทำเงิน” มีนโยบายอย่าง “พ.ร.บ.ธนาคารต้นไม้” เกิดการปลูกต้นไม้ 10,000 ล้านต้น ที่มาของเงินจากกองทุนธนาคารต้นไม้
“บัตรคนรวย (TAC) บัตรทรัพย์สินจากมูลค่าต้นไม้” เกิดการรับรองมูลค่าต้นไม้ “หวยต้นไม้ : Tree Lotto” เกิดการปลูกต้นไม้ 100,000 ล้านต้น เงินที่ต้องใช้ 540 ล้านบาทต่อปี ที่มาของเงินมาจากกองทุนธนาคารต้นไม้
“โรงรับจำนำต้นไม้” เกิดการปลูกต้นไม้ 10,000 ล้านต้น ที่มาของเงินจากกองทุนธนาคารต้นไม้ “บ้านไม้ล้านหลัง” เกิดการปลูกต้นไม้ 10,000 ล้านต้น ที่มาของเงินมาจากกองทุนธนาคารต้นไม้
“เหรียญ tee coin เงินดิจิทัล” เกิดการปลูกต้นไม้ 10,000 ล้านต้น ที่มาของเงินจากกองทุนธนาคารต้นไม้ “พันต้น 3 ปี มีล้านบาท” เกิดการปลูกต้นไม้ 10,000 ล้านต้น
“โรงไฟฟ้าชีวมวลจากไม้ระดับชุมชน พลังงานสีเขียวของชุมชน” เกิดการปลูกต้นไม้ 10,000 ล้านต้น ที่มาของเงินมาจากชุมชน “ผู้รับสัมปทาน ปลูกป่ารายย่อย” และ “Green Real estate” เกิดการปลูกป่า 10,000 ล้านต้น เงินจากกองทุนธนาคารต้นไม้
3.5 แสนคะแนนเป็นอย่างน้อยคือเป้าหมายของ “พรรคทางเลือก” ที่จะเข้าไปเป็น “ตัวสอดแทรก” ใน ส.ส.พรรคการเมืองใหญ่ในสภา ในศึกเลือกตั้ง 66