สรุปนโยบายพรรคก้าวไกล การเมืองดี ปากท้องดี มีอนาคต
AEC10News รวบรวมนโนบายหาเสียงของพรรคการเมือง ในการเลือกตั้ง 2566 โดยพรรคก้าวไกล มาในแคมเปญ การเมืองดี ปากท้องดี มีอนาคต
สำหรับนโยบายของพรรคก้าวไกล มีกว่า 300 นโยบาย ครอบคลุม 9 หมวด ไม่ว่าจะเป็นด้าน ประชาธิปไตย สวัสดิการ การกระจายอำนาจ ระบบราชการ การศึกษา เกษตรก้าวหน้า สิ่งแวดล้อม สาธารณสุข และเศรษฐกิจ โดยมีนโยบายไฮไลท์ ดังนี้
รัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ
แนวทางของนโยบายดังกล่าวคือ ร่างรัฐธรรมนูญใหม่โดยมีเนื้อหาที่ครอบคลุมอย่างน้อย 3 ด้าน ประกอบด้วย 1.ปิดช่องรัฐประหาร เพื่อไม่ให้รัฐธรรมนูญถูกฉีกได้ง่าย 2.เพิ่มสิทธิของประชาชนในการต่อต้านรัฐประหาร และ 3.กำหนดให้เป็นหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ในการไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของคณะรัฐประหาร
ข้อเสนอนี้มียังมีองค์ประกอบอื่นอีก ไม่ว่าจะเป็น
- ห้ามศาลทั้งปวงรับรองรัฐประหาร และกำหนดให้ทุกสถาบันทางการเมืองมีหน้าที่ร่วมกันในการปกป้องประชาธิปไตย
- ห้ามนิรโทษกรรมคณะรัฐประหาร และ เปิดช่องให้ประชาชนดำเนินคดีกับผู้ก่อรัฐประหารในความผิดฐานกบฎได้
- ปกป้องเสียงของประชาชน ผ่านการรื้อกลไกที่ถูกใช้ในการสืบทอดอำนาจ
ยกเลิกวุฒิสภาของ คสช. ทำให้รัฐสภาเป็นของประชาชน อำนาจ-ที่มามีความชอบธรรม
- ยกเครื่องศาลรัฐธรรมนูญ-องค์กรอิสระ ทำให้เป็นกลาง มีระบบตรวจสอบที่ยึดโยงกับประชาชน
- ยกเลิกยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี เพื่อให้นโยบายเท่าทันโลก และกำจัดข้ออ้างในการไล่รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง
- ปลดล็อกท้องถิ่น เพื่อให้อำนาจในการกำหนดอนาคตของทุกพื้นที่ทุกจังหวัด อยู่ในมือของประชาชนผู้เกิด-ผู้อาศัย-ผู้ใช้ชีวิตในพื้นที่ ไม่ใช่ส่วนกลาง
- ร่างรัฐธรรมนูญใหม่โดยต้องเป็นรัฐธรรมนูญที่ขีดเขียนโดยประชาชน กล่าวคือรัฐธรรมนูญต้องร่างโดยสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) ที่มาจากเลือกตั้ง 100% และมีอำนาจพิจารณาแก้ไขทั้งฉบับ ทุกหมวดทุกมาตรา เพื่อโอบรับความฝันของทุกคนในประเทศอย่างแท้จริง
ยกเลิกบังคับเกณฑ์ทหาร
ยกเลิกการเกณฑ์ทหาร และเปลี่ยนเป็นระบบสมัครใจทั้งหมด โดยไม่กระทบต่อภารกิจในการรักษาความมั่นคง ผ่านการลดยอดพลทหารที่กองทัพเรียกขอที่ไม่จำเป็นต่อภารกิจความมั่นคง (เช่น ยอดผี พลทหารรับใช้ งานที่ไม่เกี่ยวกับความมั่นคง)
สร้างแรงจูงใจในการสมัครเป็นทหาร (เช่น การสร้าง สวัสดิภาพ-สวัสดิการ-ความก้าวหน้าทางอาชีพที่ดี การกำจัดความรุนแรงในค่าย)
เงินเด็กเล็ก เดือนละ 1,200 บาท
เพิ่มและขยายเงินอุดหนุนเลี้ยงดูเด็กตั้งแต่แรกเกิด ถึง 6 ปี มาเป็นเงินเด็กเล็กเดือนละ 1,200 บาท โดยให้ทุกคนแบบถ้วนหน้าไม่ตกหล่น
ปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำทุกปี เริ่มทันทีวันละ 450 บาท
- ปรับระบบค่าแรงขั้นต่ำให้มีการปรับขึ้นทุกปีตามค่าครองชีพและการขยายตัวทางเศรษฐกิจ เพื่อให้แรงงานได้ร่วมแบ่งปันผลประโยชน์อย่างเป็นธรรมจากการเติบโตของเศรษฐกิจ และเพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถวางแผนธุรกิจของตัวเองในแต่ละปีได้อย่างแม่นยำมากขึ้น
- เพิ่มค่าแรงขั้นต่ำให้เริ่มต้นที่วันละ 450 บาท เพื่อให้สอดคล้องกับอัตราเงินเฟ้อและดัชนีค่าครองชีพที่เพิ่มขึ้นทุกปีจนถึงปัจจุบัน ตั้งแต่สมัยที่ค่าแรง 300 บาทต่อวัน ถูกประกาศใช้เมื่อปี 2554
- แบ่งเบาภาระค่าแรงที่สูงขึ้นสำหรับ SME ในช่วง 6 เดือนแรก โดยการที่รัฐช่วยสมทบค่าประกันสังคมในส่วนของผู้ว่าจ้าง สำหรับแรงงานที่ถูกกระทบโดยการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ
เงินผู้สูงวัยเดือนละ 3,000 บาท
เพิ่มเงินผู้สูงวัยให้เป็นอัตราเดียวแบบถ้วนหน้า เดือนละ 3,000 บาท ภายใน 4 ปี เพื่อให้ผู้สูงอายุมีรายได้เพียงพอต่อการดำรงชีพ และมีความมั่นคงทางการเงินเพิ่มขึ้น
น้ำประปาดื่มได้ทุกพื้นที่
- ออกกฎหมายควบคุมมาตรฐานคุณภาพน้ำประปา
- ปรับปรุงระบบท่อส่งน้ำประปาทั่วประเทศ
- อุดหนุนงบประมาณปีละ 7,500 ล้านบาท เป็นแผนระยะยาว 8 ปี
- วางเป้าหมายให้ประชาชนสามารถดื่มน้ำสะอาดจากก๊อกน้ำได้ ภายใน 10 ปี ลดภาระค่าครองชีพของประชาชนในการซื้อน้ำดื่ม-น้ำใช้
เลือกตั้งผู้ว่าฯ ทุกจังหวัด
- จัดให้มีประชามติภายใน 1 ปี เพื่อถามประชาชนว่าเห็นชอบหรือไม่ ให้มีการยกเลิกผู้ว่าฯแต่งตั้ง เพื่อให้ทุกจังหวัดมีผู้บริหารสูงสุดที่มาจากการเลือกตั้ง
- หากประชามติได้รับความเห็นชอบจากประชาชน จะปูทางไปสู่การเปลี่ยนโครงสร้างผู้บริหารจังหวัด จากเดิมที่มีผู้บริหารจังหวัด 2 คน (ผู้ว่าฯ ที่มาจากการแต่งตั้ง + นายกฯ อบจ. ที่มาจากการเลือกตั้ง) ไปสู่รูปแบบใหม่ที่มีผู้บริหารจังหวัด 1 คน (ผู้ว่าฯ ที่มาจากการเลือกตั้ง)
- การแบ่งโครงการสร้างการบริหารประเทศเป็น 3 ระดับ ที่ล้วนนำโดยผู้บริหารที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน ตั้งแต่ระดับประเทศ นำโดยนายกรัฐมนตรี ระดับจังหวัด นำโดยนายกจังหวัดหรือผู้ว่าฯจังหวัด และระดับเล็กกว่าจังหวัด นำโดยนายกเทศมนตรี / นายก อบต. / นายกเขต
รถเมล์ไฟฟ้าทุกจังหวัด – เติมเงินให้ท้องถิ่น เพิ่มขนส่งสาธารณะ
อุดหนุนงบประมาณ 10,000 ล้านบาท เพื่อผลักดันในการเกิดการลงทุนเดินรถเมล์ไฟฟ้า ในทุกเมือง ทุกจังหวัด ทั่วประเทศ และทำให้ค่าโดยสารรถเมล์อยู่ในราคาที่เหมาะสม ไม่เป็นไปภาระกับประชาชนเกินควร
ตรวจสุขภาพประจำปี ฟรีทั้งค่าตรวจ-ค่าเดินทาง
ตรวจสุขภาพประจำปีทั้งสุขภาพกายและสุขภาพจิต พร้อมกับให้ค่าเดินทางสำหรับเดินทางมาตรวจสุขภาพ
“ค่าไฟแฟร์” ถูกและเป็นธรรมสำหรับประชาชน
ลดค่าไฟให้กับประชาชนได้อย่างน้อย 70 สตางค์/หน่วย (เฉลี่ยบ้านละ 150 บาท) โดยปรับนโยบายเพื่อให้ความสำคัญกับประชาชนก่อนกลุ่มทุน (เช่น การใช้ก๊าซธรรมชาติจากอ่าวไทย ต้องส่งให้โรงไฟฟ้าผลิตไฟฟ้าให้ประชาชน ก่อนขายให้โรงงานปิโตรเคมี และโรงงานอุตสาหกรรมใช้เป็นเชื้อเพลิง เพื่อทำให้ราคาต้นทุนก๊าซของโรงไฟฟ้าถูกลงเมื่อลดการนำเข้า)
เจรจาสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับสัมปทานทุนใหญ่พลังงานใหม่ เพื่อลดต้นทุนที่เกิดขึ้นจากค่าความพร้อมจ่ายของโรงไฟฟ้าที่ไม่ได้เดินเครื่อง
เปิดข้อมูลรัฐทันที ประชาชนเป็นเจ้าของ
- ข้อมูลของรัฐ คือข้อมูลที่ประชาชนทุกคนเป็นเจ้าของ รัฐมีหน้าที่คุ้มครองสิทธิของประชาชนในการเข้าถึงข้อมูล
- ข้อมูลของรัฐ ต้อง “เปิดเผยเป็นหลัก ปกปิดเป็นข้อยกเว้น” (Open by Default) โดยหากจะปกปิด ต้องร้องขอด้วยเหตุผลที่สมควรเท่านั้น (เช่น ข้อมูลส่วนบุคคล ข้อมูลที่ต้องลับ)
- ข้อมูลที่ถูกตีตราว่าเป็นข้อมูล “ความลับราชการ” จะต้องไม่ลับตลอดกาล โดยกำหนดระยะเวลาที่ข้อมูลจะต้องเป็นความลับ และถูกเปิดเผยทั้งหมดเมื่อระยะเวลาสิ้นสุดลง
- ข้อมูลจะต้องถูกเปิดในรูปแบบที่นำไปวิเคราะห์ต่อได้ (machine readable) เพื่อความสะดวกของประชาชนในการตรวจสอบ (เช่น ถ้าเป็นข้อมูลตัวเลข ก็ควรเป็นรูปแบบ Excel)
- การประชุมกรรมาธิการทุกคณะของรัฐสภา ต้องมีการถ่ายทอดสดผ่านช่องทางออนไลน์ ไม่ว่าใครก็สามารถเข้าไปดูย้อนหลังได้ เพื่อให้ประชาชนรู้ว่าผู้แทนของพวกเขา เข้าไปพูดหรือทำอะไร