จีนฟื้นดันเศรษฐกิจไทยเติบโต
หนุนเศรษฐกิจไทยโตต่อเนื่องผ่านการท่องเที่ยวและการส่งออกสินค้าไทย จะเห็นผลชัดเจนในช่วงครึ่งหลังของปี 2566
นับตั้งแต่จีนเปิดประเทศในช่วงต้นปี 2566 จำนวนนักท่องเที่ยวจีนและความต้องการสินค้าจากประเทศจีนมีสัญญาณดีขึ้น โดยคาดว่านักท่องเที่ยวจีนจะกลับมาเที่ยวไทยในปี 2566 สูงถึง 5.3 ล้านคน โดยครึ่งปีแรกกำลังซื้อยังเป็นไปอย่างจำกัด และจะเริ่มดีขึ้นชัดเจนในช่วงครึ่งปีหลัง เช่นเดียวกับการส่งออกสินค้าจากไทยไปจีนซึ่งจะทยอยหดตัวน้อยลงในครึ่งแรกของปี ก่อนจะพลิกกลับมาเป็นบวกได้ในช่วงครึ่งปีหลัง ทำให้การส่งออกสินค้าของไทยไปจีนขยายตัว 0.2% ในปีนี้
เศรษฐกิจจีนเริ่มส่งสัญญาณดีขึ้นหลังจีนทยอยเปิดเมืองในช่วงกลางปี 2565 และโดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังการเปิดประเทศอย่างเป็นทางการของจีนนับแต่ต้นปี 2566 ที่ผ่านมา ทำให้เศรษฐกิจจีนมีทิศทางฟื้นตัวชัดเจนขึ้นจากแรงส่งของภาคบริการเป็นหลัก ซึ่งภาพรวมการฟื้นตัวยังไม่เต็มที่เนื่องจากรายได้ที่แท้จริงของชาวจีนยังไม่เข้มแข็ง อย่างไรก็ตาม ภาคอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นปัจจัยฉุดรั้งเศรษฐกิจจีนมาอย่างต่อเนื่อง ก็เริ่มมีสัญญาณดีขึ้นค่อนข้างเร็วนับแต่เดือนมกราคม 2566 เช่นกัน โดยเฉพาะการลงทุนในโครงการที่อยู่อาศัย สะท้อนจากมูลค่าการลงทุนในภาคอสังหาริมทรัพย์ และการนำเข้าสินค้าโภคภัณฑ์ประเภทโลหะจากตลาดโลกที่เพิ่มขึ้น คาดว่าปี 2566 นี้ กิจกรรมภาคอสังหาริมทรัพย์ในจีนจะยังอยู่ในระดับต่ำกว่าปกติ โดยจะยังหดตัวในครึ่งแรกของปี 2566 ก่อนจะกลับมาขยายตัวได้ในครึ่งปีหลัง และจะกลับเข้าสู่ระดับปกติได้ในปี 2567
การเข้าสู่ทิศทางขาขึ้นดังกล่าวของเศรษฐกิจจีนจึงถือเป็นข่าวดีสำหรับเศรษฐกิจโลกโดยรวม โดยเฉพาะเศรษฐกิจไทยที่มีความเชื่อมโยงกับเศรษฐกิจจีนในระดับสูงก็ย่อมได้รับผลดีทั้งทางตรงและทางอ้อม ทั้งจากภาคการท่องเที่ยวและการส่งออกสินค้าที่ทยอยฟื้นตัวต่อเนื่อง ประกอบกับการฟื้นตัวพร้อมๆ กันของคู่ค้าสำคัญของไทยในอาเซียนก็เป็นผลดีทางอ้อมที่จะช่วยเสริมโมเมนตัมต่อภาคการผลิตและการส่งออกสินค้าของไทย
ด้านภาคการท่องเที่ยว ในช่วงก่อนวิกฤตโควิด-19 (ปี 2560-2562) จำนวนนักท่องเที่ยวจีนที่เข้ามาเที่ยวในประเทศไทยเฉลี่ยอยู่ที่เดือนละ 9 แสนคน หรือทั้งปีอยู่ที่ราว 10 ล้านคน คิดเป็นสัดส่วนสูงถึง28% ของจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติขาเข้าทั้งหมด สร้างรายได้จากการท่องเที่ยวให้ประเทศไทยเฉลี่ยเดือนละ 44,000 ล้านบาท หรือราว 528,000 ล้านบาทต่อปี คิดเป็น 29% ของรายได้จากการท่องเที่ยวของไทยทั้งหมด แม้ในช่วงหลังวิกฤตโควิด-19 ไทยยังคงเป็นเป้าหมายท่องเที่ยวหลักของชาวจีน สะท้อนได้จาก 3 อันดับแรกของประเทศที่นักท่องเที่ยวชาวจีนนิยมเดินทางไปในช่วงครึ่งหลังของปี 2565 คือ ฮ่องกง สหรัฐอเมริกา และไทย ตามลำดับ ล่าสุดในสองเดือนแรกของปี 2566 มีนักท่องเที่ยวจีนเข้ามาท่องเที่ยวในไทยราว 247,000 คน จาก 8,000 คนในระยะเวลาเดียวกันของปี 2565 และดีขึ้นจาก 127,000 คนในไตรมาส 4/2565
อย่างไรก็ตาม เนื่องจากจีนเพิ่งอยู่ในระยะแรกของการเปิดประเทศและสิ้นสุดนโยบายโควิดเป็นศูนย์ ทำให้กำลังซื้อและยอดการใช้จ่ายเพื่อการท่องเที่ยวของชาวจีนยังไม่กลับสู่ระดับปกติ โดยข้อมูลยอดการใช้จ่ายท่องเที่ยวภายในประเทศของชาวจีนในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2565 ยังอยู่ที่ราว 80% ของยอดใช้จ่ายช่วงก่อนการเกิดวิกฤตโควิด-19 ด้วยปัจจัยข้างต้น ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีทีบี หรือ ttb analytics จึงคาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวชาวจีนมาเที่ยวไทยทั้งปี 2566 อยู่ที่ 5.3 ล้านคน เพิ่มขึ้นเร็วจากปีก่อนซึ่งมีอยู่เพียง 2 แสนคน และคาดว่าจะสร้างรายได้ภาคการท่องเที่ยวให้ไทยในปีนี้ประมาณ 446,000 ล้านบาท
สำหรับด้านการส่งออกสินค้าของไทย จีนถือเป็นตลาดส่งออกอันดับที่สองของไทย รองจากตลาดสหรัฐฯ โดยในช่วงปี 2564-2565 ยอดการส่งออกสินค้าจากไทยไปจีนเฉลี่ยอยู่ที่ปีละ 35,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ( 12% ของมูลค่าส่งออกสินค้าของไทยทั้งหมด) เพิ่มขึ้นจากเฉลี่ยปีละ 29,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐในช่วงก่อนวิกฤตโควิด-19 สำหรับประเภทสินค้าที่ไทยส่งออกไปจีนมากที่สุด 4 อันดับในช่วงสองปีที่ผ่านมา คือ ผลิตภัณฑ์ยาง ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ผลไม้ (ผลไม้สดแห้ง แช่เย็น และแช่แข็ง) และเม็ดพลาสติก
เมื่อพิจารณาจากข้อมูลล่าสุด ปริมาณการนำเข้าสินค้าของประเทศจีนจากทั่วโลกที่เริ่มกลับมาขยายตัวได้เล็กน้อยนับตั้งแต่ช่วงปลายปี 2565 ล่าสุดในเดือนกุมภาพันธ์ 2566 ยอดนำเข้าสินค้าของจีนจากทั่วโลกกลับมาเป็นบวกที่ 5.6% โดยเฉพาะการนำเข้าจากกลุ่มประเทศอาเซียนที่ผ่านจุดต่ำสุดไปแล้วและกำลังฟื้นตัวต่อเนื่อง ซึ่งจะส่งผลดีทางอ้อมให้การผลิตและการส่งออกสินค้าไทยฟื้นตัวได้เข้มแข็งขึ้นสอดคล้องกับการนำเข้าที่เพิ่มขึ้นสะท้อนความต้องการสินค้าภายในประเทศจีนที่กำลังฟื้นตัวต่อเนื่อง ทั้งจากภาคธุรกิจที่นำไปผลิตสินค้าเพื่อส่งออกตามผลสำรวจภาวะภาคการผลิต (NBS) โดยภาวะคำสั่งซื้อสำหรับส่งออกและการสะสมสินค้าคงคลังของจีนเริ่มกลับมาขยายตัว และความต้องการสินค้าเพื่ออุปโภคบริโภคจากครัวเรือนจีนที่ฟื้นตัวต่อเนื่องเช่นกัน สะท้อนได้จากยอดค้าปลีกในเดือนกุมภาพันธ์และมีนาคมของปี 2566 นี้ ที่กลับมาขยายตัว 3.5% และ 10.6% ตามลำดับ
จากปัจจัยข้างต้น ttb analytics มองว่าความต้องการสินค้าของไทยจากประเทศจีนจะทยอยปรับตัวดีขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไปนับแต่ต้นปี 2566 นี้ แม้ครึ่งปีแรกจะยังหดตัวอยู่ที่10.8% แต่จะพลิกกลับมาขยายตัวได้ที่ 12.9% ในครึ่งปีหลัง ทำให้ทั้งปี 2566 มูลค่าส่งออกไปจีนจะอยู่ในระดับทรงตัวจากปีก่อนซึ่งหดตัว 7.7% ในด้านรายสินค้าที่ส่งออกไปจีน มูลค่าการส่งออกผลิตภัณฑ์ยางจะขยายตัวดีต่อเนื่อง โดยคาดว่าจะขยายตัว 6% สำหรับมูลค่าการส่งออกมันสำปะหลังจะขยายร้อยละ 4 อย่างไรก็ตาม การส่งออกสินค้าหมวดผลไม้ และเม็ดพลาสติกมีทิศทางชะลอตัวจากผลของฐานราคาที่สูงในปีก่อน แต่ในแง่ปริมาณมีแนวโน้มจะปรับตัวดีขึ้นตามการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจแต่ยังต้องใช้เวลา
โดยสรุปการเปิดประเทศของจีนในต้นปี 2566 นี้ ถือเป็นข่าวดีต่อความเชื่อมั่นทั่วโลกและช่วยส่งเสริมโมเมนตัมการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกท่ามกลางการชะลอตัวลงของกลุ่มประเทศเศรษฐกิจหลัก (สหรัฐฯ ยุโรป และอังกฤษ) แต่ด้วยปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจมหภาคของจีน โดยเฉพาะรายได้ที่แท้จริงที่ยังไม่เข้มแข็งมากนัก จึงอาจต้องรอเวลาถึงครึ่งหลังของปี 2566 จึงจะได้เห็นผลที่ชัดเจนขึ้น ทั้งต่อการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวจีนและการส่งออกสินค้าของไทย
ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ดคงคาดการณ์ครึ่งปีหลังเศรษฐกิจไทยเติบโตได้ดี มองเลือกตั้งและการฟื้นตัวของภาคท่องเที่ยวหนุน
ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ดคงคาดการณ์เศรษฐกิจไทยเติบโตได้ดีในครึ่งปีหลัง โดยมีปัจจัยหนุนจากรัฐบาลใหม่ออกมาตรการกระตุ้นการบริโภคและการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวที่ชัดเจนขึ้น
“บรรยากาศการเมืองและการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวที่ชัดเจนขึ้นจะเป็นปัจจัยหนุนเศรษฐกิจในครึ่งปีหลังของปีนี้” ดร.ทิม ลีฬหะพันธุ์ นักเศรษฐศาสตร์ ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย) กล่าว
“เราคิดว่าการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยเผชิญความไม่แน่นอนในไตรมาสที่ 2 อย่างไรก็ตาม เรายังมองว่าในครึ่งปีหลัง เศรษฐกิจไทยจะเติบโตได้ดี ทั้งนี้เราปรับลดประมาณการการเติบโตเศรษฐกิจไทยในปี 2566 ซึ่งสะท้อนตามตัวเลขเศรษฐกิจสำคัญที่ต่ำกว่าคาด ประกอบกับภาวะเศรษฐกิจโลกที่ยังคงไม่สดใส และโอกาสที่จะมีความล่าช้าในการดำเนินนโยบายทางเศรษฐกิจอันเนื่องมาจากมีการเลือกตั้ง”
ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด คาดเศรษฐกิจไทยในปี 2566 จะเติบโต 4.3% (เดิมคาดเติบโต 4.5%) อัตราเงินเฟ้อทั่วไปคาดจะอยู่ที่ 2.1% (เดิมคาดไว้ที่ 2.7%) อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานคาดจะอยู่ที่ 1.7% (เดิมคาดไว้ที่ 3.3%) ในขณะที่ดุลบัญชีเดินสะพัดจะอยู่ที่ 3.6% ของจีดีพี (เดิมคาดไว้ที่ 4.0%)
คาดเศรษฐกิจฟื้นตัวได้ดีในครึ่งปีหลัง
ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ดคาดว่ารัฐบาลใหม่จะเริ่มทำงานได้อย่างเต็มที่และออกมาตรการกระตุ้นการบริโภค ประกอบกับการฟื้นตัวที่ชัดเจนขึ้นของภาคการท่องเที่ยวจากอานิสงค์ของการกลับมาของนักท่องเที่ยวจีน
“เราคาดว่าเศรษฐกิจในครึ่งปีหลังจะเติบโต 5.7% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันในปีก่อน และปรับตัวดีขึ้นกว่าการเติบโตที่ 2.9% ในครึ่งปีแรก เราปรับคาดการณ์จำนวนนักท่องเที่ยวในปี 2566 ขึ้นเป็น 25 ล้านคน จากที่คาดไว้ก่อนหน้านี้ 15-20 ล้านคน อย่างไรก็ตาม จำนวนนักท่องเที่ยวยังต่ำกว่าปี 2562 ซึ่งมีนักท่องเที่ยวเข้ามาเยือน 40 ล้านคน ทั้งนี้ เราคาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวจากจีนประมาณ 5 ล้านคนในปีนี้ (เทียบกับ 11 ล้านคนในปี 2562) โดยนักท่องเที่ยวส่วนใหญ่น่าจะหนาแน่นขึ้นตั้งแต่ไตรมาส 3 เป็นต้นไป” ดร.ทิม กล่าว
เรายังคงมีมุมมองที่เฝ้าระวังต่อดุลบัญชีการค้า สาเหตุมาจากการส่งออกที่ชะลอตัวลงและการนำเข้าที่ยังคงมีมูลค่าสูง โดยความเคลื่อนไหวเหล่านี้ขึ้นอยู่กับสถานการณ์การค้าโลกในช่วงครึ่งปีหลังและการนำเข้าของไทย เนื่องจากเศรษฐกิจไทยเข้าสู่ภาวะการฟื้นตัวที่แข็งแกร่งขึ้น การส่งออกและนำเข้าที่สอดคล้องกันอาจช่วยลดการขาดดุลการค้า
ในส่วนของภาวะเงินเฟ้อ เรายังคงมีมุมมองว่าอัตราเงินเฟ้อจะยังคงเพิ่มขึ้นในช่วงที่เหลือของปี สอดคล้องกับคาดการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจ เรามองว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปน่าจะอยู่ในระดับต่ำที่สุดที่ 1.2% ในไตรมาสที่ 3 และปรับเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 1.6% ในไตรมาสที่ 4 เราคาดว่าอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานจะปรับเพิ่มขึ้นตั้งแต่ไตรมาส 3 เป็นต้นไป เนื่องจากประเทศไทยกำลังอยู่ในช่วงเศรษฐกิจขยายตัว โดยคาดว่าเงินเฟ้อและการบริโภคจะเพิ่มขึ้นจากนโยบายทางเศรษฐกิจและนโยบายกระตุ้นการใช้จ่ายจากรัฐบาลใหม่ ในส่วนของปัจจัยด้านอุปทาน ราคาพลังงานและราคาอาหารที่ยังคงอยู่ในระดับสูงอาจสร้างแรงกดดันต่อเงินเฟ้อ ซึ่งสนับสนุนมุมมองของเราที่มองว่าเงินเฟ้อจะกลับมาเพิ่มขึ้น
การปรับดอกเบี้ยนโยบายสู่ภาวะปรกติ
ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด คาดว่าธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายขึ้นอีก 0.25% ในการประชุมของคณะกรรมการนโยบายการเงินในวันที่ 31 พฤษภาคมนี้ โดยดอกเบี้ยนโยบายน่าจะอยู่ที่ร้อยละ 2 ในสิ้นปีนี้ แม้ว่ายังมีความไม่แน่นอนในเศรษฐกิจโลก แต่ดัชนีเศรษฐกิจที่เข้มแข็งของไทยประกอบกับมุมมองภาพรวมเศรษฐกิจเชิงบวกของธปท. เราจึงมองว่า ธปท. น่าจะยังดำเนินนโยบายการเงินเพื่อกลับสู่ภาวะปรกติเพื่อเพิ่มพื้นที่นโยบาย
ช่วงเปลี่ยนผ่านสู่การเมืองที่มีเสถียรภาพยิ่งขึ้น
ช่วงไตรมาส 2 น่าจะมีความเคลื่อนไหวทางการเมืองเพิ่มขึ้น ทั้งก่อนและหลังการเลือกตั้ง ซึ่งคาดว่าจะผ่านไปได้ด้วยดี เราคาดว่ารัฐบาลใหม่จะใช้เวลาอย่างน้อย 2 เดือนในการตั้งรัฐบาลและเลือกนายกรัฐมนตรี โดยคณะรัฐบาลน่าจะพร้อมทำงานอย่างเร็วที่สุดในเดือนกรกฎาคม
ภาพรวมตลาดเงิน – ดุลบัญชีเดินสะพัดช่วยหนุนค่าเงินบาท
ภาพรวมในระยะกลางสำหรับค่าเงินบาทยังคงดี แม้ว่าจะมีความผันผวนในระยะสั้น การปรับลดอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐอเมริกาประกอบกับราคาน้ำมันที่ลดลง และการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว น่าจะเป็นผลดีต่อบัญชีทุนและดุลบัญชีเดินสะพัดของไทย ซึ่งจะเป็นปัจจัยสนับสนุนให้ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้น
เกี่ยวกับธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด
เราเป็นกลุ่มธนาคารสากลชั้นนำระดับโลกที่ดำเนินธุรกิจใน 59 ตลาดที่มีการปรับตัวอย่างรวดเร็ว และให้บริการลูกค้าในอีก 64 ตลาด โดยมีเป้าหมายเพื่อขับเคลื่อนการค้า การลงทุนและการสร้างความมั่งคั่ง ผ่านความหลากหลายที่เป็นเอกลักษณ์ของเรา และหลักการที่สืบทอดมาและค่านิยมองค์กรของเราสะท้อนอยู่ในพันธกิจของสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ดที่ว่า Here for good
ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ดจำกัด มหาชน ได้จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ในลอนดอนและฮ่องกง