4 พรรคการเมือง ท้าชนดั๊มพ์ราคารถไฟฟ้า กทม. 20-50 บาทตลอดสาย
หลังจากเว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ พระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2566 ให้ถือวันประกาศราชกิจจานุเบกษา คือวันที่ 20 มี.ค. 2566 เป็นวันยุบสภา ก็ถือว่าเข้าสู่ฤดูกาลหาเสียงอย่างสมบูรณ์ โดยปลายทางคือวันหย่อนบัตรเลือกตั้ง 14 พ.ค. 2566
ในระหว่างนี้ยาวไปอีก 49 วัน พรรคการเมืองทุกพรรคก็งัดทั้งกระสุนและกระแสสาดซัดกันเต็มที่ รวมถึงการตระเวนลงพื้นที่ทุกภูมิภาคของประเทศ เพื่อเก็บเสียงทั้งใหญ่น้อยให้ได้มากที่สุด ซึ่งมีอีกสิ่งหนึ่งที่ประชาชนคนเดินดิน กินข้าวแกงอย่างเราๆอยากรู้ก็คือ นโยบายที่แต่ละพรรคจะสรรหามาซื้อใจ โดยเฉพาะนโยบายที่เกี่ยวกับเศรษฐกิจปากท้อง ที่ทุกวันี้ก็ผจญทุกข์กันถ้วนหน้า
หากโฟกัสลงมาในพื้นที่ กรุงเทพมหานคร (กทม.) เมืองฟ้าอมร เมืองหลวงของประเทศไทย ซึ่งคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้แบ่งเขตเรียบร้อยไปแล้ว โดยมีจำนวนเขตทั้งหมด 33 เขต จากเดิมที่เชื่อกันว่า เป็นพื้นที่ของฝ่ายอนุรักษ์นิยม แต่จากการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. เมื่อวันที่ 22 พ.ค. 2565 ก็ได้ลบล้างความเชื่อเดิมไปหมดสิ้น หลังคนกรุงฯเทใจเลือก ‘ชัชชาติ สิทธิพันธุ์’ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นผู้ว่าคนใหม่ แถมด้วยจำนวนสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (ส.ก.) ที่กลายเป็นว่าพรรคเพื่อไทยและพรรคก้าวไกลกวาดแทบทั้ง 50 เขต
ทำให้การเลือกตั้งใหญ่ครั้งนี้ สมรภูมิเมืองกรุงฯ จึงถูกจับตามองอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
และหนึ่งในนโยบายที่หลายพรรคเลือกหยิบขึ้นมาเอาใจคนกรุงเทพฯคือ นโยบายลดราคาค่าโดยสารรถไฟฟ้า ซึ่งปัจจุบัน กทม. มีรถไฟฟ้าให้บริการแล้ว 6 สายทาง ได้แก่
1.รถไฟฟ้าสายสีเขียว เส้นทางเคหะสมุทรปราการ – คูคต และสนามกีฬาแห่งชาติ – บางหว้า มีบมจ.ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ (BTSC) เป็นผู้รับสัมปทานถึงปี 2572 มีกรุงเทพมหานคร (กทม.) เป็นเจ้าของโครงการ
2.รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน เส้นทางบางซื่อ – หัวลำโพง, บางซื่อ – ท่าพระ และหัวลำโพง – หลักสอง มี บมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ (BEM) เป็นผู้รับสัมปทานถึงปี 2593 มีการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เป็นเจ้าของโครงการ
3.รถไฟฟ้าสายสีม่วง เส้นทางคลองบางไผ่ – เตาปูน มี บมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ (BEM) เป็นผู้รับจ้างเดินรถ และมีการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เป็นเจ้าของโครงการ
4.รถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิ้งก์ เส้นทางพญาไท – สนามบินสุวรรณภูมิ มี บจ.เอเชีย เอราวัณ (ซี.พี.) เป็นผู้เดินรถ โดยอยู่ระหว่างผ่อนจ่ายค่าใช้สิทธิ์ระบบรถไฟฟ้า 10,671 ล้านบาท ตามเงื่อนไขการร่วมทุนรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน มีการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เป็นเจ้าของโครงการ
5.รถไฟฟ้าสายสีทอง เส้นทางกรุงธนบุรี – คลองสาน มี บมจ.ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ (BTSC) เป็นผู้เดินรถ มีบจ.สยามพิวรรธน์ เป็นผู้สนับสนุนเงินทุก่อสร้าง 2,500 ล้านบาท เจ้าของโครงการคือ บจ.กรุงเทพธนาคม (KT) ซึ่งได้รับมอบหมายจาก กทม. อีกทีหนึ่ง
และ 6. รถไฟชานเมือสายสีแดง เส้นทางบางซื่อ – ตลิ่งชัน และบางซื่อ – รังสิต มี บจ.รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท.เป็นผู้เดินรถ การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เป็นเจ้าของโรงการ
สำหรับนโยบายหาเสียงเกี่ยวกับค่าโดยสารรถไฟฟ้า เท่าที่รวบรวมได้ตอนนี้มี 4 พรรคที่เริ่มหาเสียง
เพื่อไทย: รถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย
เริ่มต้นที่พรรคเพื่อไทย พรรคบ้านใหญ่แลนด์สไลด์ที่เมื่อวันที่ 23 มี.ค. 2566 ทีผ่านมา ในเวทีปราศรัย’คิดใหญ่ ทำเป็น เพื่อคนกรุงเทพฯ’ นางสาวแพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย ปราศรัยตอนหนึ่งว่า คุณภาพชีวิตของคนกรุงเทพฯ ต้องสะดวกและปลอดภัยภายใต้การดูแลของรัฐบาลพรรคเพื่อไทย โดยหนึ่งในนโยบายสำคัญคือ ‘ลดค่าโดยสารรถไฟฟ้าให้เหลือ 20 บาท ตลอดสาย’
อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีรายละเอียดว่า การจัดเก็บค่าโดยสารในอัตรา 20 บาทตลอดสายของพรรคเพื่อไทย เป็นการจัดเก็บทุกสาย ราคาเดียว หรือจะนำร่องในเส้นทางใดเป็นพิเศษ ยังไม่มีรายละเอียดแต่อย่างใด
ก้าวไกล: เริ่มต้น 15-45 บาท พ่วงรถเมล์ที่ 8-45 บาท
พรรคถัดมา ‘พรรคก้าวไกล’ ในงานเสวนา ‘เปิดนโยบายแก้ไขปัญหารถไฟฟ้าสายสีส้มและเขียว : หากท่านเป็นรัฐบาลจะแก้ไขปัญหาเรื่องนี้อย่างไร’ จัดโดยสภาองค์กรของผู้บริโภค นายสุรเชษฐ์ ประวีณวงศ์วุฒิ รองเลขาธิการพรรค กล่าวตอนหนึ่งว่า นโยบายที่พรรคกำหนดในการแก้ปัญหานี้คือ 1. ตั๋วร่วมและ 2. ค่าโดยสารร่วม ส่วนค่าโดยสารร่วม จะต้องดูรถเมล์ร่วมไปด้วย โดยจะกำหนดค่าโดยสารครอบคลุมทุกระบบการเดินทางคือ 8-45 บาท ขณะที่รถเมล์ค่าโดยสารจะอยู่ที่ 8-25 บาท ส่วนรถไฟฟ้าอยู่ที่ 15-45 บาท
ประชาธิปัตย์: รถไฟฟ้า 50 บาท /ทั้งวัน/ทุกสาย/ไม่จำกัดเที่ยว
ขณะที่พรรคประชาธิปัตย์ ในงานเสวนาเดียวกัน นายสามารถ ราชลสิทธิ์ รองหัวหน้าพรรคนำเสนอไอเดียนโยบายรถไฟฟ้า 50 บาทตลอดวัน/ทุกสาย/ไม่จำกัดเที่ยว เจ้าตัวระบุว่า นโยบายนี้จะช่วยแก้ปัญหาในเรื่องของการเดินทาง ลดการใช้พลังงานเชื้อเพลิงและลดมลภาวะโดยเฉพาะฝุ่น PM 2.5 และเป็นการใช้โครงการรถไฟฟ้าที่ก่อสร้างใน กทม.ทั้งหมดขึ้นมาอย่างคุ้มค่าที่สุด
ภูมิใจไทย: ตั๋ววัน 15-40 บาท
ปิดท้ายที่พรรคภูมิใจไทย แม้ปัจจุบันนโยบายด้านคมนาคมจะยังไม่ชัดเจน เพราะที่ผ่านมาต้องสละสติและสมาธิไปกับการตั้งรับการทำลายคะแนนเสียงจากนายชูวิทย์ กมลวิศิษฏ์ อดีตนักการเมืองคนดัง ทำให้ยังไม่ปรากฎว่ามีนโยบายเกี่ยวกับรการกำหนดราคาค่าโดยสารรถไฟฟ้า
ทั้งนี้ ในการลงพื้นที่ ช่วยนายประเดิมชัย บุญช่วยเหลือ ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.ระบบเขต กทม.หาเสียงเมื่อวันที่ 17 มี.ค. 2566 นายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรค เคยระบุถึงนโยบายลดราคารถไฟฟ้าไว้ว่า การลดเรื่องค่าครองชีพของคนกรุงเทพ ค่ารถโดยสาร รถไฟ รถเมล์ ต้องลด เรามีนโยบาย ตั๋ว One Day Pass การกำหนดค่าโดยสารสาธารณะ รถ เรือ เริ่มต้น 15 บาท ตลอดวัน ไม่เกิน 50 บาท, ส่วนรถไฟฟ้าเริ่ม 15 บาท ตลอดสายไม่เกิน 40 บาท
เหล่านี้คือ นโยบายลดราคารถไฟฟ้าที่ 4 พรรคการเมืองใหญ่ กำหนดมาคร่าวๆเท่านั้น ยังต้องรอดูในรายละเอียดว่า แต่ละพรรคมีแนวทางอย่างไร? เอาเงินมาจากไหน? เพราะการจะทำให้ราคาค่าโดยสารมีราคาถูกลง และให้คนทุกชนชั้นเข้าถึง หนีไม่พ้น ภาครัฐต้องนำเงินงบประมาณมาอุดหนุนช่วยด้วย และที่ผ่านมา มีบางพรรคการเมืองที่เคยหาเสียงทำนองนี้มาแล้ว ซึ่งสุดท้ายก็ลดราคาได้ในเวลาสั้นๆ เท่านั้น ก่อนจะล้มเหลวถอยกรูดกลับไปแทบไม่ทันทุกราย