ผ่าไส้ใน ทางด่วนฉลองรัชส่วนต่อขยาย ช่วงจตุโชติ – ถ.ลำลูกกา
![](https://aec10news.com/wp-content/uploads/2023/03/41E2574D-6BEE-4FCE-BAC6-F36EF375549B-1024x768.jpeg)
การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 14 มี.ค. 2566 ที่ผ่านมา ประเด็นใหญ่ที่ผู้สื่อข่าวจับตาคือ การเข็นโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มช่วงบางขุนนนท์ – มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ระยะทาง 35.9 กม. วงเงิน 142,000 ล้านบาท เข้าสู่ที่ประชุมเพื่อเห็นชอบร่างสัญญาและผลการประมูล
หลังการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ในฐานะเจ้าของโครงการ จัดการประมูลและได้ บมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ (BEM) เป็นผู้เสนอผลประโยชน์สุทธิตามมูลค่าปัจจุบัน: NPV เท่ากับ 78,287.95 ล้านบาทในที่สุด
แต่สุดท้ายหลังถกเถียงกันยาวนานกว่า 1 ชม. พล.อ.ประยุทธ์ เลือกที่จะขอถอนเรื่องออกไปก่อนในที่สุด
อย่างไรก็ตาม แม้ว่ารถไฟฟ้าสายสีส้มจะตกรางไม่ได้รับการพิจารณา แต่ยังมีอีกหนึ่งเมกะโปรเจ็กต์สำคัญของกระทรวงคมนาคม ที่ได้รับการพิจารณาในที่ประชุม ครม. เมื่อวันที่ 14 มี.ค. 2566 ที่ผ่านมา
![](https://aec10news.com/wp-content/uploads/2023/03/99A6499A-D68F-4215-B4E2-7802F3A7A8AE.jpeg)
โครงการนั้นก็คือ โครงการทางพิเศษฉลองรัชส่วนต่อขยาย ช่วงจตุโชติ – ถ.ลำลูกกา ระยะทาง 16.21 กม. มูลค่าโครงการ 24,060.04 ล้านบาท
![](https://aec10news.com/wp-content/uploads/2023/03/816970EE-162C-43E6-80E3-53CC3724E5B5-1024x707.jpeg)
นางสาวไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 14 มี.ค. 2566 อนุมัติให้การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) ดำเนินโครงการทางพิเศษฉลองรัชส่วนต่อขยาย (ช่วงจตุโชติ-ถนนลำลูกกา)
เพื่อรองรับการเดินทางและการขนส่งสินค้าระหว่างพื้นที่ กทม.และจังหวัดใกล้เคียง ช่วยบรรเทาปัญหาจราจรติดขัดบนถนนรังสิต-นครนายก และโครงข่ายถนนโดยรอบ รวมถึงเพิ่มทางเลือกการเดินทางของประชาชนระหว่างจังหวัดปทุมธานีและจังหวัดใกล้เคียงเข้าสู่กรุงเทพฯ ชั้นใน รองรับการขยายตัวของแหล่งชุมชน ที่อยู่อาศัย สถานศึกษาและนันทนาการของภาครัฐทั้งที่เปิดบริการแล้วและอยู่ระหว่างการพัฒนา
สำหรับมูลค่าการลงทุน 24,060.04 ล้านบาท แยกเป็น ค่าจัดกรรมสิทธิที่ดิน 3,726.81 ล้านบาท ส่วนนี้จะใช้จ่ายจากงบประมาณรัฐบาล และค่าก่อสร้างและค่าควบคุมงาน 20,333.23 ล้านบาท กทพ.จะระดมทุนผ่านกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออนาคตประเทศไทย (Thailand Future Fund : TFF) จำนวน 14,374 ล้านบาท และออกพันธบัตรในกรอบวงเงิน 5,960 ล้านบาท
![](https://aec10news.com/wp-content/uploads/2023/03/A3ABD2EA-A048-4B01-BA43-7D5E889F3897-1024x542.jpeg)
ลักษณะโครงการจะเป็นทางยกระดับขนาด 6 ช่องจราจร (ไป-กลับ) ระยะทาง 16.21 กม. มีจุดเริ่มต้นเชื่อมต่อกับทางพิเศษฉลองรัชที่ด่านเก็บค่าผ่านทางพิเศษจตุโชติบริเวณถนนวงแหวนรอบนอกกรุงเทพด้านตะวันออก (ถนนกาญจนาภิเษก) และมุ่งหน้าทางทิศตะวันออกตัดถนนหทัยราษฎร์และถนนนิมิตใหม่ แล้วเลี้ยวขึ้นไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ เพื่อเชื่อมต่อถนนลำลูกกา จังหวัดปทุมธานี
![](https://aec10news.com/wp-content/uploads/2023/03/1F4589C8-E44D-45D5-B9F6-9DB805A560CC.jpeg)
การก่อสร้างโครงการจะมีทางแยกต่างระดับ 1 แห่ง และทางขึ้นลง 3 แห่ง ได้แก่ 1)ทางแยกต่างระดับจตุโชติ 2)ทางขึ้นลงจตุโชติ1และหทัยราษฎร์ 1 3)ทางขึ้น-ลง หทัยราษฎร์ 2 และ 4)ทางขึ้น-ลง ถนนลำลูกกา มีด่านเก็บค่าผ่านทาง 3 ด่าน คือ ด่านจตุโชติ ด่านหทัยราษฎร์ และด่านลำลูกกา
ทั้งนี้ กทพ.จะใช้เวลาดำเนินการก่อสร้าง 5 ปี ระหว่าง 2566-2570 มีแผนงาน ดังนี้ เดือน มี.ค.-ก.ย.66 เสนอร่าง พรฎ.เพื่อจัดกรรมสิทธิที่ดิน คัดเลือกผู้ควบคุมงานก่อสร้างและคัดเลือกผู้รับจ้างก่อสร้างโครงการ ระหว่างเดือน ต.ค.66-ก.ย.68 ดำเนินการจัดกรรมสิทธิ และระหว่างเดือน ก.ย.67-ส.ค.70 ก่อสร้างโครงการ
สำหรับการดำเนินการจัดกรรมสิทธิ์ที่ดินตามโครงการฯ ที่ใช้งบประมาณ 3,726.81 ล้านบาทนั้น คำนวณตามราคาประเมิน ณ ปี 2564 ประกอบด้วย พื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากการเวนคืน 471 ไร่ 99 ตารางวา อาคารและสิ่งปลูกสร้างที่ได้รับผลกระทบ 134 หลัง
นอกจากนี้ รัฐบาลยังอนุมัติในหลักการให้ กทพ. ดำเนินโครงการส่วนต่อขยายไปเชื่อมต่อกับ ถ.วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร รอบที่ 3 เมื่อได้ข้อยุติเรื่องรูปแบบการก่อสร้างโครงการทางพิเศษสายฉลองรัช – นครนายก – สระบุรี กับโครงการวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครรอบที่ 3 ของกรมทางหลวง (ทล.) และโครงข่ายทางรถไฟร่วมกับทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (MR-MAP) เรียบร้อยแล้ว
กางแผนก่อสร้าง ก.ย. 67
![](https://aec10news.com/wp-content/uploads/2023/03/F2C27181-1AB3-41D7-8682-8870C63567C8.jpeg)
ด้านนายสุรเชษฐ์ เหล่าพูนสุข ผู้ว่าการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) ระบุเพิ่มเติมว่า หลังจากที่ประชุม ครม. เห็นชอบแล้ว ก็คาดว่าภายในเดือน มี.ค. 2566 นี้ จะสามารถประกาศขายซอง TOR ได้ และน่าจะได้ตัวเอกชนผู้รับจ้างในช่วงเดือน มิ.ย.-ก.ค. 2566 นี้
ส่วนการจัดทำร่างพ.ร.ฎ.เวนคืน คาดว่าจะมีผลบังคับใช้ไม่เกินเดือน ก.ย. 2566 นี้ ก่อนจะเริ่มดำเนินการจัดกรรมสิทธิ์ที่ดินเริ่มต้นในเดือน ต.ค. 2566 – ก.ย. 2568 ส่วนการก่อสร้างโครงการน่าจะเริ่มต้นได้ในช่วงเดือน ก.ย. 2567 แล้วเสร็จในเดือน ส.ค. 2570
และเนื่องจากโครงการนี้อยู่ในโครงการทางพิเศษสายฉลองรัช-นครนายก-สระบุรี ซึ่งจะไปเชื่อมโยงกับโครงการถนนวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครรอบที่ 3 และโครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองสายกาญจนาภิเษก – สระแก้ว (MR6) ของกรมทางหลวง (ทล.) ดังนั้น กทพ. จะบูรณาการศึกษาการจัดทำแผนการเชื่อมโยงโครงการให้มีจุดขึ้นลงเดียวกับโครงการทั้งสอง โดยเมื่อได้ข้อยุติเรื่องรูปแบบการก่อสร้างก็จะพัฒนาเส้นทางดังกล่าวเป็นส่วนต่อขยายของโครงการต่อไปในอนาคต
ทั้งนี้ กทพ.อยู่ระหว่างศึกษาและจัดทำรายงานการขอเปลี่ยนแปลงรายละเอียดโครงการในรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) และการศึกษาและการจัดทำรายงานการทบทวนการศึกษาความเหมาะสมด้านวิศวกรรมจราจรขนส่งเศรษฐกิจและการเงินของโครงการพิเศษสายฉลองรัช-นครนายก-สระบุรี เพิ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จในเดือนเมษายนนี้ เพื่อส่งต่อให้สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) เสนอต่อคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงาน EIA ต่อไป
![](https://aec10news.com/wp-content/uploads/2023/03/974DFFB4-ABAB-42FB-94B2-E8EC0B0853C9-1024x427.jpeg)
นี่คือรายละเอียดเบื้องต้นของทางด่วนเส้นสุดท้ายที่ได้รับการอนุมัติภายใต้รัฐบาล บิ๊กตู่-พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หลังจากนี้ ต้องจับตาดูว่า เมื่อเคลื่อนเข้าสู่รัฐบาลใหม่ หากเป็นพล.อ.ประยุทธ์ งานคงขับเคลื่อนต่อไป แต่หากมาจากอีกขั้วหนึ่ง ก็คงต้องลุ้นว่า จะถูกรื้อ ถูกเทหรือไม่ ต้องติดตาม