เที่ยวแม่กลอง เมืองประวัติศาสตร์ ชมศิลปวัฒนธรรม อุทยาน ร.2
เมืองแม่กลอง หรือจังหวัดสมุทรสงคราม ในปัจจุบัน ถือเป็นหนึ่งจังหวัดของประเทศไทยที่มีประวัติศาสตร์ยาวนานมาหลายชั่วอายุคน โดยเฉพาะการเป็นเมืองหน้าด่านสำคัญสำหรับการเดินทาง การค้า และการทำศึกสงครามมาตั้งแต่ครั้งโบราณหลายร้อยปี
ที่สำคัญไปกว่านั้น เมืองแม่กลอง ยังเป็นเมืองสถานที่เกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์ไทยมาตั้งแต่ช่วงปลายสมัยกรุงศรีอยุธยาต่อเนื่องมาจนถึงช่วงต้นกรุงรัตนโกสินทร์ โดยเฉพาะเมืองอัมพวา ซึ่งถือเป็นสถานที่ที่พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย หรือในหลวงรัชกาลที่ 2 ทรงพระราชสมภพ
ปัจจุบันบริเวณดังกล่าว ได้มีการจัดตั้งเป็น อุทยานพระบรมราชานุสรณ์พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย (อุทยาน ร.2) เป็นสถานที่ที่พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ทรงพระราชสมภพ โดยคณะรัฐมนตรีได้มีมติ เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2544 เห็นชอบให้รัฐบาลรับงานถวายบังคมพระบรมราชานุสาวรีย์ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย วันที่ 24 กุมภาพันธ์ ของทุกปี เป็นวันรัฐพิธีโดยไม่ถือเป็นวันหยุดราชการ
อีกทั้งยังให้วันที่ 24 ก.พ. ของทุกปี เป็น “วันศิลปินแห่งชาติ” เพื่อแสดงความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ และส่งเสริมสนับสนุนยกย่องเชิดชูศิลปินให้เจริญรอยตามเบื้องพระยุคลบาท สิ่งที่เป็นมงคลอันสูงสุดของชาวเมืองแม่กลอง และชาวบ้านอัมพวา นั่นคือ ทุก ๆ ปี
สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ เสด็จพระราชดำเนินทรงเป็นประธานงานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ณ อุทยานร. 2
รู้จักความสำคัญของ อุทยาน ร. 2
อุทยาน ร.2 หรือ อุทยานพระบรมราชานุสรณ์ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย สถานที่สำคัญที่รวบรวมหัวใจของชาวจังหวัดสมุทรสงคราม ตั้งอยู่ริมแม่น้ำแม่กลอง ตำบลอัมพวา อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม มีเนื้อที่ 11 ไร่ บริเวณที่ก่อสร้างอุทยานพระบรมราชานุสรณ์นี้ พระราชสมุทรเมธี เจ้าอาวาสวัดอัมพวันเจติยาราม เป็นผู้น้อมเกล้าฯ ถวาย ซึ่งสถานที่แห่งนี้มี ความสำคัญเพราะเป็นที่พระราชสมภพของรัชกาลที่ 2
ภายในอุทยานพระบรมราชานุสรณ์มีสิ่งที่น่าสนใจ คือ มีเรือนไทยหมู่ 5 หลัง ใช้เป็นพิพิธภัณฑ์พระพุทธเลิศหล้านภาลัย 4 หลัง จัดแสดงศิลปวัตถุในสมัยต้นรัตนโกสินทร์ เครื่องใช้ส่วนพระองค์ของ ร.2 เช่น พระแท่นบรรทมศิลปะจีน นอกจากนี้ยังแสดงความเป็นอยู่ของชาวไทยในสมัย ร.2 จัดแสดงอาวุธสงครามโบราณและข้าวของเครื่องใช้ของสตรีมีฐานะในอดีต เรือนไทยอีกหลังใช้เป็นสถานที่ซ้อมโขนละคร
ในเดือนกุมภาพันธ์ของทุกปีจะมีการจัดแสดงโขนถวายหน้าพระที่นั่งในสวนของอุทยานฯ เนื่องในวันคล้ายวันพระราชสมภพของรัชกาลที่ 2 มีสิ่งที่น่าสนใจดังนี้หอกลาง ประดิษฐานพระบรมรูป ร.2 และโบราณวัตถุ หอนอนชาย แสดงให้เห็นลักษณะความเป็นอยู่ของชาวไทย หอนอนหญิงแสดงให้เห็นลักษณะความเป็นอยู่ของหญิงโบราณชานเรือน จัดแสดงตามแบบบ้านไทยโบราณห้องครัว และห้องน้ำ แสดงลักษณะครัวไทยและห้องน้ำของชนชั้นกลาง
นอกจากนี้ยังมีโรงละครกลางแจ้ง ซึ่งในโอกาสสำคัญต่าง ๆ จะมีการแสดงโขน และการแสดงวัฒนธรรมท้องถิ่นบริเวณนี้ ซึ่งมีความสวยงามและเต็มไปด้วยความน่าเกรงขามภายใต้บรรยากาศของพื้นที่แห่งประวัติศาสตร์ ขณะเดียวกันในพื้นที่อุทยานยังมีสวนพฤกษชาติ เป็นสวนพันธุ์ไม้ในวรรณคดีนานาชนิดกว่า 140 ชนิด เช่น ยี่สุ่น ช้างโน้ม ทับทิม หนู สารภี และมีมะพร้าว “พญาซอ” ซึ่งเป็นพันธุ์หายากที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามราชกุมารี โปรดเกล้าฯ ให้นำมาปลูกภายในอุทยาน ร.2 ด้วย
เที่ยวชมหมู่เรือนไทย อุทยาน ร.2
ผู้ที่เดินทางมาเที่ยวที่ อุทยาน ร.2 ต้องเข้าไปชมความงามของเรือนไทย เด่นสง่าบนผืนหญ้าและแมกไม้ งดงามจับใจ ภายในนี้เป็นพิพิธภัณฑ์พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ลักษณะเป็นอาคารทรงไทย 4 หลัง จัดพิพิธภัณฑ์แบบชาติพันธุ์วิทยา แสดงศิลปวัตถุในสมัยต้นรัตนโกสินทร์ที่จะสะท้อนให้เห็นลักษณะศิลปวัฒนธรรม ความเป็นอยู่และการดำรงชีวิตของชาวไทยในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย โดยแบ่งเป็นส่วนดังนี้
หอกลาง : ภายในประดิษฐานพระบรมรูปรัชกาลที่ 2 และจัดแสดงศิลปะโบราณวัตถุ สมัยต้นรัตนโกสินทร์ เช่น เครื่องเบญจรงค์ เครื่องถ้วย หัวโขน ซึ่งเป็นอุปกรณ์การแสดงนาฏกรรมตามบทวรรณคดีพระราชนิพนธ์ใน พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย หุ่นวรรณคดีเรื่องสังข์ทองและอิเหนา หนังใหญ่
ห้องชาย : จัดแสดง ให้เห็นลักษณะความเป็นอยู่ของชายไทยที่มีความกล้าหาญ พร้อมในการอาสาปกป้องผืนแผ่นดินตามลักษณะสังคมไทยสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น มีพระพุทธรูปสำหรับบูชา สมุดไทย เสื้อขุนนางไทยโบราณ ดาบ โล่ รวมทั้งพระแท่นบรรทมซึ่งเชื่อว่าเป็นของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย
ห้องหญิง : ตกแต่งให้เห็นลักษณะความเป็นอยู่ของหญิงไทยโบราณ มีเตียงนอน แบบไทย โต๊ะเครื่องแป้งคันฉ่อง ฉากปัก
ชานเรือน : จัดแสดงตามแบบบ้านไทยโบราณ ตกแต่งด้วยกระถางไม้ดัด ไม้ประดับ
ห้องครัวและห้องน้ำ : จัดแสดงลักษณะครัวไทยมีเครื่องหุงต้ม ถ้วยชามและห้องน้ำของชนชั้นกลาง
ชมเรือประพาสอุทยาน
เรือประพาสอุทยาน อยู่ริมแม่น้ำ (แม่น้ำแม่กลอง) เดินเข้าไปประมาณ 400 เมตรจากจุดจำหน่ายบัตรเข้าชม อยู่ใกล้กับศาลาเอนกประสงค์ สร้างเมื่อพ.ศ.2470 ก่อสร้างด้วยไม้สักทั้งลำ เป็นเรือ 2 ชั้น ขนาดกว้าง 4.35 เมตร ยาว 19.61 เมตร ลึก 1.07 เมตร กินน้ำลึก 1.25 เมตร น้ำหนัก 30 ตัน เครื่องยนต์ขนาด 120 แรงม้า ความเร็ว 6.5 นอตต่อชั่วโมง ชั้นบนเป็นห้องโถง ชั้นล่างมีห้องน้ำ ห้องพักผ่อน ห้องสมุด ห้องครัว ห้องเครื่องยนต์ และมีบันได 3 ทาง
เดิมเป็นของพระยาอุดมราชภักดี (โถ สุจริตกุล) ให้ชื่อเรือว่า “เชิด” เมื่อพ.ศ.2477 ได้ขายเรือให้แก่กระทรวงศึกษาธิการ เปลี่ยนชื่อเรือเป็น “ศึกษา ๓” ซึ่งได้ใช้เป็นเรือตรวจราชการและรับรองบุคคลสำคัญ ต่อมาพ.ศ.2528 กระทรวงศึกษาธิการได้มอบเรือลำนี้ให้แก่มูลนิธิพระบรมราชานุสรณ์ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์ และเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2530 สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ประธานมูลนิธิฯ เสด็จพระราชดำเนินทรงประกอบพิธีเจิมเรือ ณ อุทยานพระบรมราชานุสรณ์พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย และได้พระราชทานชื่อเรือว่า “ประพาสอุทยาน” และประทับเรือล่องไปตามลำน้ำแม่กลองทอดพระเนตรการแสดงสักวา เรื่องไกรทอง
หลังจากนั้น ได้นำเรือกลับมาฝากรักษาไว้ที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ต่อมาเมื่อพ.ศ. 2535 เรือประพาสอุทยานมีสภาพชำรุดทรุดโทรม คณะกรรมการมูลนิธิฯ ได้ดำเนินการให้ซ่อมแซมเรือ แล้วนำไปขึ้นคานไว้ที่บริเวณชายน้ำในอุทยานพระบรมราชานุสรณ์พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม เพื่อให้นักท่องเที่ยวได้ชมความงดงามและศึกษาลักษณะของเรือ
เรือประพาสอุทยานนี้ ในอดีตใช้เป็นเรือรับรองบุคคลสำคัญระดับสูงของประเทศและผู้เชี่ยวชาญต่างประเทศในระดับสูงของธนาคารแห่งประเทศไทย นอกจากนี้ยังใช้เป็นเรือรับรองพระราชอาคันตุกะและบุคคลสำคัญของประเทศต่างๆ อาทิ สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 แห่งสหราชอาณาจักร นายลินดอน บี. จอห์นสัน เมื่อดำรงตำแหน่งรองประธานาธิบดีแห่งสหรัฐอเมริกา ประธานาธิบดีซูการ์โน แห่งอินโดนีเซีย นายโรเบิร์ต แม็คนามารา ประธานธนาคารโลก
เที่ยววัดอัมพวันเจติยาราม
วัดอัมพวันเจติยาราม (พระอารามหลวง) อยู่ติดกับอุทยาน ร.2 และตลาดน้ำอัมพวา เป็นวัดของตระกูลราชินิกุลบางช้าง สันนิษฐานว่าสร้างในสมัยรัชกาลที่ 1 ปัจจุบันวัดอัมพวันเจติยารามเป็นพระอารามหลวงชั้นโท พระอุโบสถตลอดจนถาวรวัตถุในวัดนี้ ส่วนใหญ่เป็นศิลปะและสถาปัตยกรรมในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น ซึ่งนับเป็นพระอุโบสถที่มีความงดงาม นอกจากนี้ยังมีพระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยประดิษฐาน
สถาปัตยกรรมภายในวัดที่สำคัญ ได้แก่พระอุโบสถ สร้างขึ้นในสมัย ร.1 ภายในมีภาพจิตกรรมฝาผนังที่สวยงาม และยังมีพระบรมรูปรัชกาลที่ 2 ประดิษฐานอยู่หน้าพระปรางค์ เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2501 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ ทรงเสด็จพระราชดำเนินมาถวายผ้าพระกฐิน ณ วัดอัมพวันเจติยาราม พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงปลูกต้นศรีมหาโพธิ์และสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถทรงปลูกต้นจันทร์ไว้ในบริเวณวัดนี้อีกด้วย
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินมาวัดอัมพวันเจติยาราม เมื่อวันที่ 24 ก.พ. 2521 และเสด็จฯมาอย่างต่อเนื่องทุกเดือนกุมภาพันธ์ของทุกปีจวบจนปัจจุบัน