ส่อง 3 ปัจจัยหนุน ‘รถEV’ ในไทย หนุนยอดขายแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง
ทิศทางการเติบโตของรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ในประเทศไทยถือว่าเติบโตต่อเนื่องสอดคล้องกับทิศทางการใช้รถ EV ที่เพิ่มขึ้นทั่วโลก โดยในปี 2565 ที่ผ่านมายอดจำหน่ายรถ EV ทั่วโลกมีจำนวน 7.8 ล้านคันคิดเป็น 10% ของยอดขายทั้งหมดกว่า 80 ล้านคันทั่วโลก ขณะที่ยอดการจดทะเบียนรถ EV ในไทยมีจำนวน 9,729 คัน เพิ่มขึ้นมากถึง 402.8% จากปี 2564 ที่ผ่าน
ขณะที่ยอดจองรถ EV ในช่วงปลายปีเพิ่มสูงขึ้นนับหมื่นคันจากการเปิดตัวรถ EV ในไทยของค่ายรถชั้นนำคือเทสล่า และ BYD ที่สร้างปรากฎการณ์ขายถล่มทลายในช่วงที่ผ่านมาจากมาตรการสนับสนุนทั้งเรื่องภาษีนำเข้าที่ลดลง การอุดนหนุนส่วนต่างราคารถยนต์ และการลดค่าธรรมเนียมจดทะเบียนต่างๆช่วยหนุนให้มีการซื้อรถ EV มากขึ้น เห็นได้จากมาในเดือน ม.ค.ปีนี้ยอดจดทะเบียนรถ EV แตะ 3,000 คัน เพิ่มขึ้นกว่า 1,000% เมื่อเทียบกับปีก่อน
ยอดขายรถEV ในไทยจะเพิ่มเป็น 34% ในปี 2030
ทั้งนี้แนวโน้มของตลาดรถ EV ปี 2566 ยังมีทิศทางที่จะเติบโตได้ต่อเนื่องจากปีที่ผ่านมา โดย KKP Research โดยกลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร วิเคราะห์ว่า ภาพรวมตลาดรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยที่นับรวมเฉพาะ Battery EV (BEV) และ Plug-in Hybrid (PHEV) จะมีแนวโน้มการเติบโตในปี 2023 (2566)โดยยอดขายรถยนต์ไฟฟ้าในตลาดรถยนต์นั่งในไทยจะแตะระดับ 20,000 คัน หรือคิดเป็น 3% ของยอดขายรถยนต์นั่งรวมในประเทศ ก่อนที่ยอดขายจะเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจนเพิ่มขึ้นเป็น 15% – 34% ของตลาดรถยนต์ในปี 2030 หากภาครัฐมีมาตรการสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง
โดยทิศทางความต้องการรถ EV ในไทยเติบโตได้ต่อเนื่องแม้ในปี 2020 ที่ตลาดรถยนต์ใหม่ในไทย หดตัวถึง 21% จากผลกระทบของโควิด-19 แต่ตลาดรถพลังงาน ไฟฟ้ายังคงขยายตัวเป็นบวกถึง 13% และสัดส่วน รถยนต์พลังงานไฟฟ้าขยับขึ้นมาเป็น 5.5% ของยอดจดทะเบียน ใหม่ของรถยนต์นั่งไม่เกิน 7 ที่นั่งในปี 2020 ทั้งนี้แม้กว่า 90% ของรถยนต์พลังงานไฟฟ้าที่จดทะเบียนใหม่จะอยู่ในกลุ่มรถยนต์ ไฮบริดที่ไม่จัดอยู่ใน EV ตามความหมายสากล แต่ก็สะท้อนถึง ความสนใจรถยนต์พลังงานไฟฟ้าของผู้บริโภคไทยในแง่ของการ ประหยัดค่าใช้จ่ายด้านพลังงาน
3 ปัจจัยหนุนตลาด EV ไทย
สำหรับปัจจัยสำคัญ 3 ด้านที่จะสนับสนุนตลาดรถ EV ในประเทศไทย ได้แก่
1.ตัวเลือกรถ EV มีความหลากหลายมากขึ้น โดยเฉพาะรถ EV จากประเทศจีนจากข้อตกลงการค้าเสรีอาเซียน-จีน โดยเงื่อนไขภาษีเขตการค้าเสรีอาเซียน – จีน นั้นทำให้รถ EV จากจีนที่นำเข้าไทยจะไม่เสียภาษี ส่งผลให้รถ EV นำข้าจากจีนจะไหลเข้าสู่ไทยต่อเนื่อง โดยข้อตกลงระหว่าง อาเซียนและจีนที่ลงนามกันในปี 2005 ก่อนเทคโนโลยี EV จะ เริ่มเป็นที่รู้จัก ระบุให้ยกเว้นภาษีสำหรับการส่งออกและนำเข้า ระหว่างกันในหมวด “รถยนต์อื่น ๆ” (HS code: 870390) โดย มีผลตั้งแต่ปี 2010 เป็นต้นมา
ขณะที่อัตราภาษีศุลกากรปกติอยู่ ที่ 80% ส่วนรถ BEV ที่นำเข้าทั้งคัน (Completely BuiltUp: CBU) จากจีนจึงไม่ต้องเสียภาษีศุลกากรจากการได้รับสิทธิ ยกเว้นในหมวดดังกล่าว และมีเพียงภาระค่าขนส่ง ประกันภัย ภาษีสรรพสามิต ภาษีเพื่อมหาดไทย และภาษีมูลค่าเพิ่มเท่านั้น ดังนั้นตลาด EV ในไทยจะยังเชื่อมโยงแนบแน่นกับ อุตสาหกรรม EV และส่วนประกอบของจีน ในระยะสั้นและ ระยะกลาง และ BEV หลายรุ่นจากจีนจะทยอยเปิดตัวในไทย เพื่อเพิ่มทางเลือกแก่ผู้บริโภคมากขึ้น ซึ่งรวมถึง BEV จากค่าย รถยนต์ของสหรัฐอเมริกาและยุโรปที่มาตั้งฐานการผลิตในจีน และอาจมาทำตลาดในไทยผ่านการนำเข้าจากจีนในระยะแรก เช่น เทสล่าได้มีการนำเข้ารถจากโรงงานกิกะแฟกตอรี่ที่ประเทศจีนเข้ามาขายในไทย
2.ปัจจัยหนุนจากแบตเตอรี่รถ EV ที่มีการผลิตมากขึ้นและมีแนวโน้มที่ราคาถูกลง ราคาแบตเตอรี่ EV มีแนวโน้มลดลงจากต้นทุนแบตเตอรี่ที่เป็นต้นทุนหลักของ EV โดยต้นทุนจากแบตเตอรี่คิดเป็นถึง ประมาณ 40% ของราคารถ EV ในปัจจุบัน เทคโนโลยีด้านแบตเตอรี่ที่ล้ำหน้ามากขึ้นทั้งในแง่ความหนาแน่น (density) และสมรรถนะ ประกอบกับการประหยัดทางขนาด (economies of scale) จากการผลิตปริมาณมาก ส่งผลให้ราคาแบตเตอรี่ต่อ กิโลวัตต์ชั่วโมงในปัจจุบันถูกลงถึง 9 เท่านับจากปี 2010 ขณะที่คาดว่าราคาแบตเตอรี่จะทยอยลดลง9% ต่อปี
นอกจากนี้ ในบรรดาผู้ผลิตแบตเตอรี่สำหรับ EV 10 อันดับแรกล้วนแล้วแต่เป็นผู้ผลิตในฝั่งเอเชีย และเป็นผู้ผลิต จากจีนอยู่ถึง 4 ราย โดยการส่งผ่านจากราคาแบตเตอรี่ที่ลดลงไปสู่ผู้บริโภคในไทยผ่านการนำเข้า EV ทั้งคันจากจีนจึงมีแนวโน้มเกิดขึ้นได้เร็วมากขึ้น
นอกจากนั้นรัฐบาลไทยยังเอาจริงเอาจังในการส่งเสริมให้มีการลงทุนสร้างโรงงานผลิตแบตเตอรี่สำหรับรถ EVในประเทศไทยซึ่งคณะกรรมการยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ (บอร์ดEV) ที่มีนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ได้มีการอนุมัติวงเงินในการสนับสนุนการลงทุนโรงงานแบตเตอรี่ในวงเงินกว่า 2.4 หมื่นล้านบาท ณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการบอร์ดอีวี กล่าวว่า มาตรการสนับสนุนแบตเตอรี่ EV โดยจะเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาเพื่อมาตรการทั้งการลดภาษีสรรพสามิตแบตเตอรี่จาก 8% ลดเหลือ 1% รวมทั้งมีมาตรการสนับสนุนผู้ลงทุนผลิตแบตเตอรี่ วงเงิน 2.4 หมื่นล้านบาทเข้าสู่การพิจารณาของ ครม.ทันในรัฐบาลนี้อย่างแน่นอน
และ 3.การแก้ปัญหามลภาวะในเมือง การลด PM2.5 จะส่งเสริมการใช้รถ EV มากขึ้น PM2.5 ส่งผลกระทบต่อวิถี ชีวิตของชนชั้นกลางในเมืองอย่างมาก ในรอบไม่กี่ปีที่ผ่านมา ความตื่นตัว ต่อประเด็นทางสิ่งแวดล้อมเริ่มเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลที่เป็น แหล่งกำลังซื้อรถยนต์ที่สำคัญที่สุดของประเทศ โดยจากข้อมูล ของกรมควบคุมมลพิษกว่า 72% ของ PM2.5 ในเขต กรุงเทพมหานครมาจากการปล่อยไอเสียของรถยนต์ ขณะที่ไทย ติดอันดับ 3 ในด้านความรุนแรงของปัญหา PM2.5 จาก 15 ประเทศผู้ผลิตรถยนต์ที่ใหญ่ที่สุดของโลก
โดยการเรียกร้องให้มีมาตรการแก้ไขจากภาครัฐ ตลอดจนการเริ่มขยับ ตัวของภาคเอกชนไปสู่การสร้างองคาพยพที่จะประกอบขึ้นเป็น ระบบนิเวศน์ EV (EV ecosystem) ทั้งการนำเสนอรุ่นรถ EV ที่หลากหลายของค่ายรถยนต์ การสร้างสถานีอัดประจุไฟฟ้า การปรับเปลี่ยนรูปแบบสถานีบริการ การติดตั้งเครื่องประจุไฟตาม บ้านและสถานที่ต่าง ๆ รวมถึงการผลิตและติดตั้งระบบกักเก็บ พลังงาน (Energy storage system) จึงเป็นแรงหนุนสำคัญให้ ผู้บริโภคมีแนวโน้มเปลี่ยนจากการใช้รถยนต์ใช้น้ำมันมาใช้รถ EV เพื่อมลภาวะทางอากาศมากขึ้น
นอกจากนั้นยังมีปัจจัยสนับสนุนอื่นๆ เช่นการรับรู้ และเข้าใจ ด้านเทคโนโลยีการขับเคลื่อนไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้น รวมทั้งกระแสข่าวที่กำหนดเงื่อนเวลาที่จะยุติการ ขายรถเครื่องยนต์สันดาป (ICE) ในประเทศพัฒนาแล้วและจากฝั่งผู้ผลิตดั้งเดิม (traditional OEM manufacturers) และการขยายฐานการ ผลิตและการทำตลาดในเอเชียของผู้ผลิตรถ EV ล้วนอย่างเทสล่ารวมถึง การเปิดตัวรถที่ใช้แบตเตอรี่ และรถไฟฟ้านำเข้าทั้งคันในไทยโดยค่าย รถยนต์จากจีนในราคาที่พอจับต้องได้ และรถปลั๊กอินไฮบริด (PHEV) รุ่นใหม่จากค่ายรถยนต์ฝั่งยุโรป พัฒนาการดังกล่าวส่งผลให้ผู้บริโภคไทยที่มองว่า EV เป็นเรื่องที่ใกล้ตัวมากขึ้นและจะเป็นตัวเลือกสำคัญ ในการซื้อรถในครั้งต่อไป
โดยจากการสำรวจล่าสุดของ Frost & Sullivan ร่วมกับ Nissan พบว่า 43% ของกลุ่มตัวอย่างในไทย ตั้งใจจะซื้อรถคันใหม่เป็น EV ภายใน 3 ปีข้างหน้า และมีเพียง 6% เท่านั้นที่ยังไม่สนใจซื้อรถ EV และล่าสุด คณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติมีข้อเสนอให้รถที่จดทะเบียนใหม่ตั้งแต่ปี 2035 เป็นต้นไปต้องเป็นรถที่ไม่ปล่อยไอเสียออกสู่ชั้นบรรยากาศ100% (ZEV: Zero-Emissions Vehicles) เท่านั้น ซึ่งแม้จะเป็นเป้าหมายที่ท้าทายอย่างมาก แต่ก็สะท้อนถึงความสนใจ ของภาครัฐต่อการเปลี่ยนผ่านไปสู่รถ EV และอาจหนุนให้ความ ต้องการ EV ในประเทศเร่งตัวขึ้น
โดยส่วนแบ่งตลาดที่เพิ่มขึ้นในระยะแรกจะมาจากกลุ่มลูกค้าที่สนใจหรือครอบครองรถไฮบริด (HEV) อยู่เดิม โดยจำนวนรุ่นรถ EV (BEV และ PHEV) ที่มีตัวเลือกหลากหลายมากขึ้น กระทั่งยอดขาย EV แตะระดับ นัยสำคัญที่ 2 หมื่นคัน มากกว่ายอดขายรถตู้ (van) ในประเทศทั้งปี และเป็นระดับที่สามารถสร้างมวลชนสำคัญ(critical mass) ได้ในปี 2023
อย่างไรก็ตาม ภายหลังปี 2023 ซึ่งเป็นปีที่เข้าสู่รอบใหญ่ของการซื้อรถยนต์เพื่อทดแทนรถคันเดิม การขยายตัวของตลาดรถ EV อาจเป็นไปได้ทั้งในกรณีฐานที่ไม่มี ปัจจัยสนับสนุนเพิ่มเติมจากภาครัฐ สัดส่วน EV ในตลาดรถยนต์นั่ง (รย.1) จะทยอยเพิ่มขึ้นเป็น 15% ภายในปี 2030 หรือในกรณีที่ภาครัฐมีมาตรการสนับสนุนที่เป็นรูปธรรม สัดส่วนดังกล่าวจะเร่งตัวขึ้นเป็น 34% ได้ภายในปี 2030
จับตาปี 2566 จุดคุ้นทุนการใช้ ‘รถEV’
การเร่งตัวของตลาด EV จะเกิดขึ้นเมื่อค่าใช้จ่ายใช้งานปรับลงมาถึงจุดคุ้มค่าต่อผู้ใช้รถปกติได้ในปี 2566 แม้ว่าค่าใช้จ่ายของ EV ทั้งด้านพลังงานและการดูแลรักษาประจ าปีจะต่ำกว่ารถ ICE แต่ด้วยราคา EV ที่เฉลี่ยแล้วยังสูงกว่าราคารถ ICE ในกลุ่ม (segment) เดียวกันในปัจจุบัน จึงทำให้จุดคุ้มค่าของ EV จะเกิดขึ้นได้ต่อเมื่อใช้งานถึงเกือบ 3 แสนกิโลเมตรตลอดช่วงอายุ การครอบครอง ซึ่งเป็นไปได้ยากสำหรับผู้ใช้รถทั่วไปที่โดยเฉลี่ยใช้รถไม่เกิน25,000 กิโลเมตรต่อปี และครอบครองรถเฉลี่ย 6 ปี เท่านั้น การปรับราคาจำหน่ายของ รถ EV ลงทั้งจากความก้าวหน้าของเทคโนโลยีการผลิต EV และแบตเตอรี่ การลด อัตรากำไร (profit margin) จากฝั่งผู้ผลิต หรือเงินสนับสนุนการซื้อ (subsidy) หรือการยกเว้นภาษีบางประเภทจาก ภาครัฐเป็นปัจจัยสำคัญจะทำให้รถ EV สามารถำ ราคาสุทธิลงมาเพื่อให้เกิดความคุ้มค่าต่อการใช้งานได้ในปี 2566
‘บีโอไอ’ เร่งดึงต่างชาติลงทุน EV ในไทย
นฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือบีโอไอ เปิดเผยว่าได้หารือกับนักลงทุนต่างชาติหลายประเทศ และได้นำเสนอทิศทางการพัฒนาเศรษฐกิจของไทยไปสู่เศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) ซึ่งเป็นความสนใจของนักลงทุนตะวันตกทั้งยุโรป และสหรัฐฯ รวมทั้งการเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานหมุนเวียนในการผลิตไฟฟ้าถึง 50% การกำหนดเป้าหมายและแผนปฏิบัติในการลดการปล่อยคาร์บอน รวมทั้งการส่งเสริมเทคโนโลยีการดักจับ การใช้ประโยชน์ และการกักเก็บคาร์บอน (CCUS) อีกทั้งยังได้ชูนโยบายมุ่งเป้าใน 3 อุตสาหกรรมสำคัญ ได้แก่
1. อุตสาหกรรมยานยนต์ ซึ่งรัฐบาลมีนโยบายเปลี่ยนผ่านไปสู่การผลิตยานยนต์ไฟฟ้า (EV) โดยเป็นประเทศแรกในภูมิภาคที่ออกมาตรการสนับสนุนแบบครบวงจร โดยเฉพาะการให้เงินอุดหนุนการซื้อรถยนต์ EV เพื่อสร้างตลาดในประเทศ และจะก่อให้เกิดการขยายตัวของอุตสาหกรรมอื่น ๆ ที่เกี่ยวเนื่องตามมา โดยเฉพาะการผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์และการพัฒนาดิจิทัลแพลตฟอร์มต่าง ๆ สำหรับ EV
2. อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ รัฐบาลมีนโยบายสนับสนุนการยกระดับไปสู่อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ต้นน้ำ เช่น การผลิตเวเฟอร์ (Wafer Fabrication) การออกแบบทางอิเล็กทรอนิกส์ การวิจัยและพัฒนานอกเหนือจากการประกอบและทดสอบชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ต่าง ๆ ซึ่งประเทศไทยมีบริษัทรายใหญ่ตั้งฐานการผลิตอยู่แล้ว
และ 3.อุตสาหกรรมดิจิทัล เพื่อส่งเสริมการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล เช่น ดาต้าเซ็นเตอร์ขนาดใหญ่ บริการคลาวด์ที่มีคุณภาพสูง เพื่อสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านไปสู่เศรษฐกิจดิจิทัล
จะเห็นได้ว่ามาตรการและนโยบายการสนับสนุนรถ EV ที่ได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง ได้ส่งเสริมให้เกิดดีมานต์ของรถ EV ในประเทศไทย และการส่งเสริมการนำเข้ารถ EV ที่ได้รับการยกเว้นภาษีเพิ่มเติม ต้นทุนแบตเตอรี่ที่ถูกลง รวมทั้งต้นทุนแบตเตอรี่ถูกลง และมาตรการด้านสิ่งแวดล้อมที่ภาครัฐและภาคประชาชนให้ความสำคัญมากขึ้นมีส่วนทำให้เกิดตลาด และการลงทุนในประเทศไทยในสาขารถยนต์ไฟฟ้าและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องในประเทศไทยได้อีกมาก