เลาะตะเข็บปัญหา ประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม

กลายเป็นประเด็นฮอตรอบสัปดาห์ เมื่อ ‘ชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ อดีตนักการเมืองชื่อดัง เจ้าของฉายาจอมแฉ ที่หลังจากเปิดศึกรบทุนจีนสีเทามานานแรมเดือน ล่าสุด เพิ่มโจทย์ให้กับชีวิต ด้วยการเปิดศึกกับกระทรวงคมนาคม เปิดโปงข้อพิรุธโครงการรถฟ้าสายสีส้ม มูลค่าโครงการ 140,000 ล้านบาท

แน่นอน ขี้นชื่อ ‘ชูวิทย์’ การออกมาแฉอะไรสักเรื่องย่อมไม่ธรรมดา เพราะสัปดาห์ที่ผ่านมา อดีตเจ้าพ่ออ่างทองคำบุกไปทำเนียบรัฐบาลก่อน ตั้งโต๊ะแถลงถึงความไม่ชอบมาพากลของโรงการภายใต้ธีม ‘5 สถานีโกง’ โดยตั้งข้อสังเกตถึงกระบวนการประกวดราคาโครงการ ที่มีการเปลี่ยนเกณฑ์จากใช้ราคาต่ำสุด เป็น Price Performance เอาคะแนนด้านเทคนิคมาใช้ด้วย ซึ่งชูวิทย์มองว่า มาจากการฮั้วกันของบางบริษัทที่เข้าร่วมประมูล
ก่อนทิ้งบอมบ์ด้วยการแฉว่า มีกระบวนการไปรับเงินทอนกันที่ต่างประเทศจำนวน 30,000 ล้านบาท ซึ่งมีเอกชนและพรรคการเมืองบางคนมีส่วนรู้เห็นกัน และมีการไปล็อบบี้กระบวนการยุติธรรมที่กำลังพิจารณาคดีความขณะนี้ด้วย

จนในที่สุด ‘พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค’ เลขาธิการนายกรัฐมนตรี เปิดประตูทำเนียบฯ ให้เข้าไปพูดคุยกัน 1 ชม. ก่อนออกมาถ่ายรูปหน้าตึกไทยคู่ฟ้า เปิดแถลงข่าวถึงความสำเร็จในฐานะ ‘ประชาชน’ ที่เข้าไปเหยียบพื้นที่บ้านนรสิงห์ ถิ่นนายกฯ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ในที่สุด

เมื่อเจ้าพ่อจอมแฉเปิดไพ่ตาย เจ้ากระทรวงต้องออกโรงโต้ โดยการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ชี้แจงว่า ทุกกระบวนการมีความโปร่งใส การเปลี่ยนหลักเกณฑ์การประมูล แม้มีการเปลี่ยนเกณฑ์จริง แต่ก็ได้ขยายระยะเวลาการยื่นซองข้อเสนอออกไปอีก 45 วันด้วย
ประเด็นการยกเลิกการคัดเลือกเอกชนครั้งแรก ประเด็นนี้มีคดีฟ้องร้องในศาลปกครอง โดยมีความคืบหน้าล่าสุดเมื่อวันที่ 16 ก.พ. 2566 ตุลาการผู้แถลงคดี ศาลปกครองสูงสุด ได้แถลงสรุปว่า การยกเลิกการคัดเลือกเอกชนฯ ครั้งแรก ชอบด้วยข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายแล้ว และเป็นการแก้ไขปัญหาอุปสรรคที่เกิดขึ้นอันเป็นไปเพื่อประโยชน์ของรัฐและประชาชน โดยเห็นควรให้ยกฟ้อง อย่างไรก็ตาม คดีดังกล่าวยังอยู่ระหว่างรอคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด
ขณะที่การล็อกสเปก ที่ประชุมใหญ่ตุลาการ ศาลปกครองกลาง พิจารณาแล้วมีความเห็นว่า การดำเนินการคัดเลือกดำเนินการตามกฎหมาย มีการเปิดกว้างให้เอกชนเข้าร่วมในการคัดเลือกมากขึ้น ทำให้เกิดการแข่งขันมากขึ้น และไม่มีลักษณะเป็นการตัดสิทธิหรือกีดกันผู้ใดมิให้เข้าร่วมยื่นข้อเสนอ จึงมีคำสั่งยกคำร้องคุ้มครองชั่วคราว ส่วนประเด็นการดำเนินการของ รฟม. และคณะกรรมการคัดเลือกฯ ถือเป็นการเอื้อประโยชน์ให้แก่ผู้ใดผู้หนึ่งและเป็นการปฏิบัติโดยไม่ชอบ หรือไม่ ประเด็นนี้มีคดีฟ้องร้องในศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ล่าสุด ศาลเห็นว่า ไม่มีการกลั่นแกล้งผู้ใดหรือกระทำนอกขอบเขตของกฎหมาย ไม่ได้ปฏิบัติหน้าที่หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต จึงไม่มีมูลความผิดตามฟ้อง พิพากษายกฟ้อง
ขณะที่เงินทอน 3 หมื่นล้านบาท ที่มีการโอนผ่านบัญชีธนาคารในต่างประเทศ รฟม. ท้าให้ชูวิทย์ งัดเอาหลักฐานเอกสารตามที่กล่าวอ้าง มาแสดงให้สาธารณชน และส่งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องตรวจสอบเพื่อเป็นที่ประจักษ์ด้วย ว่าเป็นการทำธุรกรรมที่ผิดกฎหมายหรือไม่จะดีกว่า

สำทับด้วย ‘ศักดิ์สยาม ชิดชอบ’ รมว.คมนาคมที่กรีดกลับว่า ไม่ได้ล้างหน้าหรือเปล่า และนอนไม่หลับหรือไม่ ถึงออกมาพูดแบบไม่มีหลักฐาน
หลังจากเจอดอกนี้เข้าไป ‘ชูวิทย์’ จึงไปเปิดการแสดงที่หน้ากระทรวงคมนาคมทันที โดยซ้ำเติมข้อมูลที่เคบให้ไว้ แต่คราวนี้ขยายความว่า มีการนัดเจอที่โรงแรมแห่งหนึ่งที่มีบริษัทใหญ่เป็นเจ้าของ ซึ่งบุคคลที่นัดเจอกันประกอบด้วย อดีตนักการเมือง น., เจ้าของตู้กดน้ำชื่อดัง และเจ้าของบริษัทรับเหมา ล็อบบี้โครงการกัน จนนำมาสู่การแก้เงื่อนไขการประมูลในที่สุด และในวันดังกล่าว นายชูวิทย์ก็ไปยื่นร้องเรียนที่ศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ ทำเนียบรัฐบาล

เลาะปัญหาแก้เกณฑ์ประมูล สายสีส้ม
ที่กล่าวมาทั้งหมด เป็นการสรุปเหตุการณ์ที่ผ่านมาตลอดสัปดาห์ ถ้าว่ากันเกี่ยวกับปัญหารถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ – มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ระยะทางประมาณ 35 กม. วงเงินประมาณ 140,000 ล้านบาท จริงๆแล้ว จุดเริ่มต้นเกิดขึ้นเมื่อเดือน ส.ค. 2563 หลังจาก บมจ.อิตตาเลี่ยนไทย ดีเวล๊อปเมนต์(ITD) 1 ใน 10 เอกชนที่เข้าซื้อซองประมูลโครงการ ส่งหนังสือถึงสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) ให้พิจารณาปรับปรุงการประเมินข้อเสนอเพื่อหาผู้ชนะการคัดเลือกของโครงการ

โดยให้พิจารณาถึงปัจจัยและผลประโยชน์ด้านอื่นที่เกี่ยวข้อง เช่น ข้อเสนอด้านเทคนิคการดําเนินงาน ความน่าเชื่อถือ ศักยภาพ และความสามารถของผู้ยื่นข้อเสนอ ไม่ใช่ข้อเสนอทางการเงินเพียงอย่างเดียว และขอให้นำเรื่องดังกล่าวเข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนรัฐตามมาตรา 36 ด้วย
จากจุดนี้ บานปลายออกเป็นความขัดแย้งทันที เพราะในเวลาต่อมา รฟม.ได้ขยายเวลายื่นซองประมูลจากวันที่ 23 ก.ย. 2563 ไปเป็นวันที่ 9 พ.ย. 2563 หรือประมาณ 45 วันแทน เพื่อใช้เวลาในส่วนนี้ปรับปรุงเกณฑ์การประมูลจากเดิมใช้ราคาต่ำสุด เป็นจะเปิดข้อเสนอเทคนิคและการเงินควบคู่กัน และนำคะแนนเทคนิค 30% พิจารณาร่วมกับการเงินอีก 70% ซึ่งในจำนวนนี้จะมีคะแนนความสมเหตุสมผลของราคาอีก 10% ซึ่งผู้ชนะคือผู้ที่ให้ผลประโยชน์รัฐดีที่สุด กลายเป็นข้อครหาที่แซ่ซ้องไปทั่วแดน เพราะเป็นการแก้เกณฑ์ประมูล หลังจากที่มีการปิดการขายซองทีโออาร์ไปแล้ว แถม ITD ในฐานะผู้ร้องเรียนให้เปลี่ยนเกณฑ์ กลับไม่ยื่นข้อเสนอใดๆ ในวันที่ 9 พ.ย. 2563 ทั้งๆที่ รฟม.ปรับเกณฑ์ไปแล้ว
จากภาวะทั้งหมด บมจ.บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้ง (BTS) แปรสภาพจากคู่ค้าเป็นคู่แค้นทันที ถือธงนำบู๊แหลกกับ รฟม. ยื่นฟ้องศาลปกครองและศาลอาญาทุจริตในหลายคดี โดยในช่วงแรก เมื่อ BTS ยื่นร้องศาลปกครองกลางคุ้มครองเกณฑ์ประมูลเดิม ซึ่งศาลก็รับคำร้องเอาไว้ แต่ รฟม.ชิงล้มการประมูลในที่สุด ทำให้ศาลปกครองกลางต้องจำหน่ายคดีดังกล่าวออกจากสารรบบ และเปิดประมูลใหม่
ซึ่งคราวนี้กำหนดหลักเกณฑ์ด้านเทตนิคใหม่ 2 จุด จุดแรก คุณสมบัติของผู้เสนอราคาที่เป็นผู้มีอาชีพเดินรถไฟฟ้า จากเดิมกำหนดต้องเป็นผู้เดินรถไฟฟ้าในประเทศไทย เปลี่ยนเป็นผู้เดินรถไฟฟ้าจากประเทศใดก็ได้ ทำให้มีผู้เสนอราคารายหนึ่ง เป็นผู้เดินรถไฟฟ้าจากประเทศเกาหลีใต้เข้ามาร่วมซื้อซอง แต่ในส่วนของผู้ก่อสร้างกลับไปกำหนดว่า ต้องเป็นบริษัทก่อสร้างที่มีผลงานกับรัฐบาลไทยเท่านั้น และต้องเป็นผลงานที่เสร็จสมบูรณ์แล้วด้วย

ทำให้มองว่าเป็นการกีดกัน เพราะจากคุณสมบัติดังกล่าว ทำให้เหลือผู้รับเหมาเพียง 2 เจ้าที่มีคุณสมบัติคือ บมจ.ช.การช่าง และบมจ.อิตาเลี่ยนไทย เท่านั้น ซึ่งในที่สุด โครงการนี้ก็เป็น BEM ที่ชนะประมูล และกำลังเตรียมการที่จะเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติผลการประกวดราคาอยู่ แต่ด้วยคดีความที่ยังไม่ถึงที่สุด จึงยังไม่สามารถเสนอให้ ครม.เห็นชอบได้ สำหรัยคดีที่ยังค้างอยู่ ประกอบด้วย
1.คดีเปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์และวิธีการพิจารณาผู้ชนะในการประมูลครั้งที่ 1 ขณะนี้อยู่ระหว่างรอนัดตัดสินคดี
2.คดียกเลิกการประกวดราคา และคำสั่งของผู้ว่าการ รฟม.ที่มีคำสั่งและออกประกาศยกเลิกการประกวดราคาโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม เมื่อวันที่ 3 ก.พ.2564 ปัจจุบันศาลปกครองกลางได้พิพากษาเมื่อวันที่ 7 ก.ค.2565 ชี้ว่าการยกเลิกประมูลผลจากการเปลี่ยนหลักเกณฑ์คัดเลือกในครั้งนั้นไม่ชอบด้วยกฎหมาย และปัจจุบัน รฟม.อยู่ระหว่างยื่นอุทธรณ์ไปยังศาลปกครองสูงสุด
3.คดีการกำหนดหลักเกณฑ์ประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้มครั้งที่ 2 ชอบหรือมิชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งเป็นคดีล่าสุดที่ศาลปกครองกลางรับไว้พิจารณา ปัจจุบันอยู่ในขั้นตอนพิจารณา ยังไม่มีกำหนดนัดไต่สวนเพิ่มเติม
แน่นอนว่า สงครามเศรษฐีนี้ระหว่างเจ้าพ่อรถไฟฟ้าอย่าง BTS ท้าชนกับ รฟม. และกระทรวงคมนาคมยังรอคอยบทสรุปอยู่ ซึ่งเราๆท่านๆก็ได้แต่นั่งมองตาปริบๆ ว่า การทะเลาะกันครั้งนี้ ประชาชนเต็มขั้นอย่างเรา ได้อะไรบ้าง และที่สำคัญคือ รถไฟฟ้าสายสีส้ม รถไฟฟ้าการเมืองสายนี้ จะต้องร้องเพลงรอใช้บริการอีกนานเท่าไหร่กันแน่?