ผ่านโยบายรัฐ ‘ดึงกองถ่ายหนังต่างชาติ”’ เข้าไทย ปั๊มรายได้ขาย Soft Power
ภาพลักษณ์และชื่อเสียงของประเทศไทยขจรไกลไปในหลายประเทศทั่วโลก โดยเฉพาะในช่วงหลังการระบาดครั้งใหญ่ของไวรัสโควิด-19 ประเทศไทยได้ตกเป็นจุดมุ่งหมายอันดับต้น ๆ ที่นักท่องเที่ยวจากทั่วโลกต้องการเดินทางเข้ามาเยี่ยมเยือน สร้างรายได้ฟื้นภาคการท่องเที่ยวที่ต้องซึมเซามายาวนานหลายปี
ไม่เว้นแม้แต่กระทั่งบรรดากองถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศ ทั้งหนังสั้น โฆษณา สารคดี ซีรีส์ และหนังฟอร์มยักษ์จากค่ายหนังดังทั่วโลก ซึ่งยกกองเข้ามาถ่ายทำในประเทศไทยจำนวนมาก โดยเฉพาะค่ายหนังใหญ่ ๆ จากเอเชีย ทั้งจีน อินเดีย และอาเซียน รวมไปถึงชาติมหาอำนาจบนจอเงินอย่างยุโรป และสหรัฐอเมริกา
จากรายงานของกองกิจการภาพยนตร์และวีดิทัศน์ต่างประเทศ กรมการท่องเที่ยว กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ระบุข้อมูลชัดเจนว่า ในช่วงปี 2565 มีการถ่ายทำภาพยนต์ต่างประเทศในประเทศไทยถึง 348 เรื่อง โดยเฉพาะเดือนกันยายน และพฤศจิกายน 2565 มีการถ่ายทำสูงสุด 42 เรื่อง ล่าสุดในช่วงเดือนมกราคม 2566 ที่ผ่านมานี้เอง มีการเข้ามาถ่ายทำไปแล้วถึง 34 เรื่อง สร้างรายได้ให้ประเทศกว่า 298.11 ล้านบาท
ตลอดทั้งปี 2565 ยังมีการรายงานตัวเลขสถิติที่น่าสนใจ โดยเฉพาะเรื่องของโลเคชั่นของจังหวัดสถานที่ถ่ายทำยอดฮิตของกองถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศ ซึ่งจัดอันดับมารวม 5 อันดับแรก ประกอบไปด้วย กรุงเทพมหานคร ภูเก็ต สมุทรปราการ เชียงใหม่ และพังงา สะท้อนให้เห็นถึงศักยภาพของประเทศไทยจากความเชื่อมั่นตั้งแต่ครั้งอดีต โดยไทยมีศักยภาพของสถานที่ถ่ายทำภาพยนตร์ที่มีความหลากหลาย และความสามารถของบุคลากรในอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทย เสริมภาพลักษณ์ประเทศตามนโยบาย Soft Power ของรัฐบาลด้วย
รัฐจัดมาตรการกระตุ้นกองถ่ายต่างประเทศ
ข้อต่อหนึ่งที่ขายไปไม่ได้เลย และเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ทำให้ประเทศไทยได้รับความนิยมจากกองถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศ นั่นคือ มาตรการการส่งเสริมของทางภาครัฐ หลังจากรัฐบาลได้จัดเตรียมมาตรการสนับสนุนงบประมาณในการส่งเสริมการถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศในประเทศไทย รวมถึงในการจ่ายเงินคืนให้ผู้ผลิตภาพยนตร์ต่างชาติ
ส่งผลให้ในช่วง 7 ปีที่ผ่านมา นับตั้งแต่ปี 2560-2566 พบว่ามีภาพยนตร์จำนวนกว่า 45 เรื่องที่เข้าร่วมมาตรการส่งเสริมการถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศในประเทศไทย สามารถสร้างรายได้เข้าประเทศเกือบ 9,000 ล้านบาท ที่สำคัญยังช่วยสร้างเงินหมุนเวียนเศรษฐกิจในอัตราทวีคูณถึงกว่า 17,000 ล้านบาท แน่นอนว่าเงินทุกบาททุกสตางค์ได้ลงไปถึงมือชาวบ้าน และธุรกิจในพื้นที่เป็นจำนวนไม่น้อย
มาตรการส่งเสริมที่ว่านี้ได้ถูกปรับปรุงใหม่ให้มีความทันสมัย เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบันมากขึ้น โดยกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาได้เสนอเรื่องเข้ามาให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบไปเป็นที่เรียบร้อยแล้วเมื่อต้นเดือนก.พ.ที่ผ่านมา โดยการปรับเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขมาตรการส่งเสริมต่าง ๆ หลายเรื่อง สรุปได้ดังนี้
ปรับมาตรการส่งเสริมให้จูงในมากขึ้น
การปรับปรุงส่งเสริมการถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศในประเทศไทย เป็นการปรับปรุงใน 2 ส่วน ส่วนแรก เป็นการปรับอัตราการคืนเงิน (Cash Rebate) จากเดิม 15-20% เพิ่มขึ้นแบบเต็มเหนี่ยวเป็น 20-30%เป็นระยะเวลา 2 ปี โดยสิทธิประโยชน์หลักอยู่ที่ 20% เมื่อมีการลงทุนในประเทศไม่น้อยกว่า 100 ล้านบาท ส่วนสิทธิประโยชน์เพิ่มเติมรวมแล้วไม่เกิน 10%
หลังจากนี้ กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา หน่วยงานหลักที่ดูแลรับผิดชอบจะไปปรับปรุงประกาศกรมการท่องเที่ยวในส่วนของเงื่อนไขการรับสิทธิประโยชน์เพิ่มเติมดังกล่าว โดยให้คำนึงถึงปัจจัยที่ส่งผลต่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจไทยโดยตรงเป็นลำดับแรก เช่น การกระจายรายได้สู่เมืองรอง การเพิ่มการจ้างงานคนไทย การเพิ่มมูลค่า ค่าใช้จ่ายในประเทศ ซึ่งเป็นการสร้างรายได้ให้แก่ชุมชนและประชาชนโดยตรง
ส่วนที่สอง เป็นการปรับเพิ่มเพดานการคืนเงินจากเดิม 75 ล้านบาทต่อเรื่องเป็น 150 ล้านบาทต่อเรื่อง ซึ่งจะทำให้เพดานเงินลงทุนสร้างภาพยนต์ต่อเรื่องเพิ่มเป็น 750 ล้านบาท จากเดิม 375 ล้านบาท เพื่อเป็นการรับกับแนวโน้มที่คณะถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศที่เข้ามาในไทยเป็นผู้สร้างรายใหญ่ เงินทุนสูง โดยเฉพาะภาพยนตร์ชุดทางโทรทัศน์ โดยเรื่องที่เข้ามาถ่ายทำในไทยสูงสุดขณะนี้คือภาพยนตร์ชุดทางโทรทัศน์เรื่อง Thai Cave Rescue
หลายประเทศแข่งขันดึงกองถ่ายดุเดือด
ความจำเป็นที่ต้องมีการทบทวนมาตรการส่งเสริมการถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศ เนื่องมาจากปัจจุบันประเทศต่าง ๆ เห็นประโยชน์จากธุรกิจถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศ จึงได้ออกมาตรการส่งเสริมการถ่ายทำในรูปแบบการคืนเงิน (Cash Rebate) หรือคืนภาษี (Tax Rebate/Tax Credit) เพื่อดึงดูดผู้สร้างภาพยนตร์ให้เข้าไปถ่ายทำในประเทศตนอย่างต่อเนื่อง ประเทศไทยจึงจำเป็นต้องปรับเกณฑ์และเงื่อนไขให้สอดคล้องกับสภาพการณ์และการแข่งขันที่เปลี่ยนแปลงไป
โดยการปรับหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไข สำหรับมาตรการส่งเสริมการถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศในไทยทั้ง 2 ส่วน จะส่งผลต่อภาระงบประมาณในปี 2567-2568 เล็กน้อย ซึ่งมาตรการมีผลในปี 2566 แต่การคืนเงินจะเกิดขึ้นในปี 2567-2568
ทั้งนี้แม้ว่าโดยรวม 2 ปี จะส่งผลต่อภาระงบประมาณในปี 2567-2568 เพิ่มขึ้นจาก 821.82 ล้านบาท เป็น 1,845 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 44.54% แต่อย่างไรก็ดี การเข้ามาถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศในไทยจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจและสังคมในภาพกว้าง มีเงินจากการลงทุนของบริษัทภาพยนตร์หมุนเวียนในเศรษฐกิจไทยเพิ่มขึ้น 900-1,200 บาทต่อปี
ที่สำคัญไปกว่านั้น นั่นคือ การมีกองถ่ายเข้ามายังช่วยกระจายรายได้ไปสู่ภาคส่วนต่าง ๆ และการที่ชาวไทยได้ร่วมงานกับคณะถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศนอกจากจะให้คนไทยได้รับการจ้างงานเพิ่มกว่า 800อัตราต่อปี ขณะเดียวกันก็ได้เพิ่มทักษะและประสบการณ์ เป็นโอกาสในการพัฒนาอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทยสู่ระดับสากลด้วย
เงินรายได้กระจายลงไปในพื้นที่
“ไตรศุลี ไตรสรณกุล” รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ให้ความเห็นว่า ที่ผ่านมาประเทศไทยได้เริ่มมีมาตรการส่งเสริมการถ่ายทำภาพยนตร์ต่างชาติมาตั้งแต่ปี 2560 ซึ่งได้มีคณะถ่ายทำได้เข้ามาลงทุนเพิ่มขึ้นทุกปี โดยปี 2562 ก่อนเกิดโควิด-19 ประเทศไทยมีรายได้จากการถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศ 4,463.74 ล้านบาท ส่วนปี 2564 ที่ยังมีโควิด19 ผู้สร้างภาพยนตร์ก็ยังคงเข้ามาถ่ายทำในไทยสร้างรายได้ 5,007 ล้านบาท โดยเงินเหล่านี้กระจายไปยังภาคส่วนต่างๆ ในประเทศไทย เช่นค่าจ้างทีมงานชาวไทย ค่าเช่าเครื่องมืออุปกรณ์ ค่าเช่าที่พัก ค่าเช่าสถานที่ ค่าเช่ารถ ค่าใช้จ่ายตามมาตรการป้องกันโควิด และค่าอาหารและเครื่องดื่ม
อย่างไรก็ตามในช่วงนับจากนี้เป็นต้นไป ในเมื่อการท่องเที่ยวของไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวได้อย่างชัดเจนแล้วในปี 2566 หากมีบรรดากองถ่ายหนังจากต่างประเทศเข้ามาถ่ายในไทยควบคู่กันไปแล้ว เป้าหมายด้านการดึงดูดรายได้ และความพยายามปั้น Soft Power ก็อาจสำเร็จได้ในระยะเวลาอันใกล้นี้ก็เป็นได้