ไทยขึ้นแท่นผู้นำผลิต ‘รถ EV’ ภูมิภาค ทุ่ม 2.4 หมื่นล้านหนุนโรงงานแบตเตอรี่
ประเทศไทยติดอันดับ 1 ใน 10 ประเทศที่เป็นฐานการผลิต และประกอบรถยนต์รายใหญ่ของโลก มียอดการผลิตรถประมาณปีละประมาณ 2 ล้านคัน โดยครึ่งหนึ่งของรถที่ผลิตได้มีการส่งออก อุตสาหกรรมรถยนต์ ชิ้นส่วนรถยนต์ เป็นสินค้าส่งออกที่สำคัญของประเทศมาอย่างยาวนานหลายปี
ข้อมูลจากสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ระบุว่าในระหว่างเดือนม.ค. – พ.ย. 2565 ที่ผ่านมาประเทศไทยส่งออกรถยนต์สำเร็จรูป 888,651 คัน เพิ่มขึ้นจากในช่วงเวลาเดียวกันในปี 3.59 % และมีมูลค่าการส่งออกสูงถึง 553,354.07 ล้านบาท
ปัจจุบันแม้ว่าประเทศไทยยังสามารถรักษาการเป็นผู้นำในการส่งออกรถยนต์ของภูมิภาคไว้ได้ แต่ตามเทรนด์ของโลกที่แนวโน้มการใช้รถยนต์ที่เป็นเครื่องยนต์สันดาป และการใช้รถน้ำมันจะลดน้อยถอยลง ความนิยมในการใช้รถยนต์ไฟฟ้า (EV) ที่เป็นพลังงานสะอาดค่อยๆมีความนิยมเพิ่มมากขึ้น ทำให้ไทยต้องปรับมุมคิดจากการรักษาการผลิตรถยนต์แบบเดิมมาเป็นการผลิตรถ EV แบบครบวงจร ตามแนวโน้มความนิยมของโลกที่ไปที่เทรนด์รถ EV มากขึ้น
ปรับนโยบายหนุนรถ EV รักษาฐานผลิตรถในประเทศ
รัฐบาลปัจจุบันมีแผนที่จะรักษาการเป็นฐานการผลิตรถยนต์ของเอเชีย ตามสมญานาม “ดีทรอยซ์ออฟเอเชีย” เอาไว้ให้ได้ โดยมีนโยบาย 30@30 คือเพิ่มสัดส่วนการผลิตรถ EV ในประเทศให้ได้ 30% ของการผลิตรถในประเทศทั้งหมดในปี 2030 หรือปี พ.ศ.2573
ที่ผ่านมารัฐบาลได้มีการตั้งคณะกรรมการยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ (บอร์ดEV) เพื่อขับเคลื่อนนโยบายรถ EV ของประเทศ โดยคณะกรรมการชุดนี้มีนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พลังงาน เป็นประธาน ในปี 2565 ที่ผ่านมาคณะกรรมการชุดนี้มีบทบาทในการทำงานร่วมกับหลายหน่วยงานจนได้มาตรการส่งเสริมความต้องการ (ดีมานต์) ใช้รถไฟฟ้าของคนในประเทศ โดยมาตรการที่ออกมาในปี 2564 เน้นไปที่การลดราคาภาษีสรรพสามิตให้กับรถ EV ที่มีการนำเข้ามาจำหน่ายประเทศไทยทำให้ราคารถ EV ลดลง ตามการลดภาษีรถ EV ซึ่งมาตรการนี้ทำให้ยอดจองรถ EV ในปี 2565 ที่ผ่านมามีความคึกคักมากโดยมียอดจองรถมากกว่า 2 หมื่นคัน
อย่างไรก็ตามแม้ว่าปริมาณการจดทะเบียน และยอดจองรถ EV ในประเทศไทยจะถือว่ามีดีมานต์สูงมากแต่ถ้าหากจะสร้างระบบนิเวศน์ให้ประเทศไทยเป็นฮับของการผลิตรถยนต์ EV ของภูมิภาคได้ สิ่งที่ประเทศไทยจะต้องเดินหน้าก็คือการดึงดูดการลงทุนให้ต่างชาติเข้ามาตั้งฐานการผลิตชิ้นส่วนสำคัญสำหรับรถ EV ในประเทศไทยโดยเป้าหมายของรัฐบาลที่ต้องการดึงการลงทุนเข้ามาในประเทศไทย
นอกจากการตั้งโรงงานผลิตรถ EV ยังต้องการให้มีการลงทุนตั้งโรงงานผลิตแบตเตอรี่ และการผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ที่สำคัญสำหรับรถยนต์ EV ซึ่งในสัปดาห์ที่ผ่านมามีความเคลื่อนไหวจากรัฐบาลในการออกมาตรการเพิ่มเติมเพื่อจูงใจให้เกิดการลงทุนโรงงานแบตเตอรี่สำหรับรถ EV รวมทั้งการเดินทางไปโรดโชว์ยังต่างประเทศของ “ทีมประเทศไทย”ที่สหรัฐฯเพื่อดึงการลงทุนในซัพพายเชนของรถ EV เพิ่มเติมในประเทศไทยด้วย
เตรียมงบฯ 2.4 หมื่นล้านอุดหนุนโรงงานแบตเตอรี่
ในส่วนของมาตรการสนับสนุนให้เอกชนลงทุนโรงงานแบตเตอรี่สำหรับรถ EV ในประเทศไทย ล่าสุด “บอร์ดอีวี” ได้เห็นชอบในหลักการของมาตรการสนับสนุนการผลิตแบตเตอรี่ด้วยการให้สิทธิประโยชน์ด้านภาษีสรรพสามิตจาก 8% ลดเหลือ 1% รวมทั้ง มาตรการที่สำคัญคือ การเตรียมวงเงินในการสนับสนุนอุตสาหกรรมแบตเตอรี่ในประเทศไทยกว่า 2.4 หมื่นล้านบาท สำหรับการผลิตแบตเตอรี่รถ EV ระดับเซลล์ โดยแบตเตอรี่ถือเป็นส่วนประกอบสำคัญในการผลิตแบตแตอรี่ของรถ EV
โดยเงินสนับสนุนจะขึ้นกับขนาดของโรงงานผลิตแบตเตอรี่ และความจุพลังงานจำเพาะของแบตเตอรี่ สำหรับโรงงานผลิตแบตเตอรี่ขนาดต่ำกว่า 8 กิกะวัตต์ชั่วโมง (GWh) จะได้รับเงินสนับสนุนระหว่าง 400-600 บาท ต่อกิโลวัตต์ชั่วโมง (kWh) หากเป็นโรงงานผลิตแบตเตอรี่ขนาดสูงกว่า 8 GWh จะได้รับเงินสนับสนุนระหว่าง 600-800 บาท/kWh
ทั้งนี้เนื่องจากวงเงินงบประมาณมีจำนวนจำกัด การให้เงินสนับสนุนจะอยู่บนหลักการ “ลงทุนผลิตก่อน ได้รับเงินสนับสนุนก่อน” โดยเงินสนับสนุนที่ภาครัฐให้กับผู้ผลิตแบตเตอรี่จะช่วยให้ต้นทุนการผลิตของรถยนต์ไฟฟ้าถูกลง ส่งผลให้รถยนต์ไฟฟ้าขายในตลาดมีราคาถูกลงด้วย
นอกจากนี้ บอร์ดอีวีได้มีการพิจารณาประเด็นสำคัญ เช่น มาตรการขับเคลื่อนการผลิตรถยนต์เครื่องยนต์สันดาปภายใน (ICE) ซึ่งเป็นรถยนต์กลุ่มใหญ่ของประเทศ ให้สามารถเปลี่ยนผ่านไปสู่การผลิตรถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าได้ การจัดตั้งคณะอนุกรรมการที่ดูแลเรื่องการดัดแปลงรถยนต์ใช้แล้วเป็นรถยนต์ไฟฟ้า (EV Conversion)
รวมทั้ง รับทราบความคืบหน้าของการส่งเสริมการใช้รถยนต์ไฟฟ้าของภาครัฐ ซึ่งในขณะนี้ ระเบียบสามารถเปิดให้หน่วยงานราชการจัดซื้อรถยนต์ไฟฟ้าเพื่อใช้ในหน่วยงานได้แล้ว ซึ่งมาตรการส่งเสริมในด้าน Demand-Supply ประกอบกับมาตรการสนับสนุนการสร้างสถานีอัดประจุไฟฟ้า (Charging Station)จะเป็นส่วนสำคัญที่ขับเคลื่อนให้อุตสาหกรรมยานยนต์ไทยสามารถเปลี่ยนผ่านไปสู่การเป็นฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าที่สำคัญแห่งหนึ่งของโลกได้
เอกชนรายใหญ่สนใจลงทุน “โรงงานผลิตแบตฯ EV”
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับบริษัทที่สนใจลงทุนโรงงานผลิตแบตเตอรี่สำหรับรถ EV ในไทย ได้แก่
1.บริษัท บีวายดี ออโต้ (ประเทศไทย) จำกัด โดยบริษัทได้มีการประกาศยืนยันว่าจะมีการก่อสร้างโรงงานผลิตแบตเตอรี่ชนิดพิเศษ (Blade Battery) ในประเทศไทย โดยจะเป็นครั้งแรกในการนำเทคโนโลยีดังกล่าวในฐานการผลิตนอกประเทศจีน ซึ่งเป็นโครงการในระยะถัดไป ซึ่งจะต้องมีการลงทุนและขอรับการส่งเสริมการลงทุนเพิ่มเติมนอกเหนือจากที่ได้รับบัตรส่งเสริมในระยะแรก โดยจะมีการพิจารณาความต้องการและความคุ้มค่าด้านการลงทุนเพื่อรองรับตลาดในภูมิภาคอาเซียนและประเทศไทยในอนาคต
โดยก่อนหน้านี้ได้รับบัตรส่งเสริมการลงทุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) มูลค่า 17,891 ล้านบาท โดยมีแผนการก่อสร้างโรงงานผลิตรถยนต์นั่งพลังงานไฟฟ้า 100% พวงมาลัยขวา ในประเทศไทย มีกำลังการผลิต 1.5 แสนคัน ซึ่งจะเริ่มเดินสายพานการผลิตอย่างเป็นทางการในช่วงไตรมาส 3/2567 ล่าสุด
2.บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) หรือ “EA” มีแผนการขยายการลงทุนโรงงานแบตเตอรี่สำหรับรถ EV ทั้งรถยนต์นั่ง และยานพาหนะขนาดใหญ่เพิ่มเติม สำหรับ EA มีโรงงานแบตเตอรี่ขนาด 1 กิกะวัตต์ชั่วโมง (Gwh)อยู่แล้ว และมีแผนที่จะขยายกำลังการผลิตเป็น 4 Gwh ภายในปี 2567 ด้วยวงเงินลงทุน 6 พันล้านบาท
อมร ทรัพย์ทวีกุล รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร EA ระบุว่าในส่วนของมาตรการของภาครัฐในการสนับสนุนการผลิตแบตเตอรี่ในครั้งนี้เป็นการส่งเสริมการผลิตแบตเตอรี่ในรูปแบบเทคโนโลยีระดับเซลล์ และยกเลิกการส่งเสริมการผลิตแบตเตอรี่ในรูปแบบโมดูล โดยฝ่ายนโยบายต้องการส่งสัญญาณว่าเป็นการสนับสนุนแบตเตอรี่ที่เป็นเทคโนโลยีระดับเซลล์ในระยะต่อไป
สำหรับโครงการลงทุนของ EA เกี่ยวกับการผลิตแบตเตอรี่สำหรับรถ EV มีแผนที่จะขยายการลงทุนเพิ่มประมาณ 6,000 ล้านบาท เพื่อเพิ่มกำลังการผลิตโรงงานแบตเตอรี่ของ EA จาก 1 GWh เป็น 4 Gwh โดยการเพิ่มไลน์การผลิตในโรงงานเดิมคาดว่าโครงการลงทุนจะแล้วเสร็จในช่วงต้นปี 2567
3.บริษัทบริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ “GPSC” ปัจจุบันมีกำลังการผลิตแบตเตอรี่ที่ 30 เมกะวัตต์ต่อชั่วโมง โดยบริษัทฯมีแผนที่ขยายกำลังการผลิตเป็น 1 กิกะวัตต์ต่อชั่วโมงภายในปี 2566
ก่อนหน้านี้ รวัฒน์ พิทยศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ GPSC เปิดเผยว่า บริษัทมีแผนขยายกำลังผลิตแบตเตอรี่ด้วยเทคโนโลยี SemiSolid เพิ่มเป็น 10 กิกะวัตต์ชั่วโมง ต่อปี ใน 10 ปีข้างหน้า ด้วยงบลงทุนประมาณ 3 หมื่นล้านบาท
และ 4.บริษัท อีวีโลโม จากสหรัฐฯ ได้เข้ามาลงทุนในโครงการผลิตแบตเตอรี่เก็บพลังงานไฟฟ้า กำลังการผลิต 8 กิกะวัตต์/ชั่วโมง หรือ 8,000 เมกะวัตต์ ซึ่งถือว่ามีขนาดใหญ่ใหญ่ที่สุดในอาเซียน เทียบกับการรองรับรถยนต์ไฟฟ้าได้รวม 150,000 คัน มูลค่าลงทุน 33,000 ล้านบาท โดยในเฟสที่ 1 มีการลงทุน 1 กิกะวัตต์/ชั่วโมง หรือ 1,000 เมกะวัตต์ ทำให้เกิดการจ้างแรงงานที่มีคุณภาพระดับสูงรวม 3,000 ตำแหน่ง
บีโอไอโรดโชว์สหรัฐฯดึงลงทุนชิ้นส่วน EV
นฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือ “บีโอไอ” เปิดเผยภายหลังการเดินสายโรดโชว์ครั้งแรกของปี 2566 ณ นครซีแอตเติล และนครซานฟรานซิสโก ประเทศสหรัฐอเมริการ่วมกับ ม.ล.ชโยทิต กฤดากร ผู้แทนการค้าไทย และเอกอัครราชทูต ณ กรุงวอชิงตัน กงสุลใหญ่ ณ นครลอสแอนเจลิส ผู้แทนจากสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ว่าจากการที่บีโอไอได้ประกาศยุทธศาสตร์ใหม่ โดยมุ่งเน้นการลงทุนใน 5 อุตสาหกรรมหลัก ได้แก่ BCG ยานยนต์ไฟฟ้า สมาร์ทอิเล็กทรอนิกส์ ดิจิทัล และอุตสาหกรรมสร้างสรรค์
โดยในอุตสาหกรรมยานยนต์ ซึ่งรัฐบาลมีนโยบายเปลี่ยนผ่านไปสู่การผลิตรถ EV โดยเป็นประเทศแรกในภูมิภาคที่ออกมาตรการสนับสนุนแบบครบวงจร โดยเฉพาะการให้เงินอุดหนุนการซื้อรถยนต์ EV เพื่อสร้างตลาดในประเทศ และจะก่อให้เกิดการขยายตัวของอุตสาหกรรมอื่น ๆ ที่เกี่ยวเนื่องตามมา โดยเฉพาะการผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์และการพัฒนาดิจิทัลแพลตฟอร์มต่าง ๆ สำหรับ EV
ซึ่งในส่วนของ EV รัฐยังมุ่งหวังให้มีฐานการผลิตชิ้นส่วนสำคัญของรถ EV เพื่อสนับสนุนให้เป็นฐานการผลิต EV โดยเฉพาะอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ต้นน้ำที่เป็นส่วนประกอบสำคัญของรถ EV ได้แก่ การผลิตเวเฟอร์ (Wafer Fabrication) การออกแบบทางอิเล็กทรอนิกส์ การวิจัยและพัฒนานอกเหนือจากการประกอบและทดสอบชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ต่าง ๆ ซึ่งประเทศไทยมีบริษัทรายใหญ่ตั้งฐานการผลิตอยู่แล้วซึ่งหากมีการดึงอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ในสาขาเหล่านี้เข้ามาลงทุนในประเทศไทยได้ก็จะทำให้ประเทศไทยสามารถเป็นฐานการผลิตรถEV ของภูมิภาคได้อย่างครบวงจร