จับตา 13 บิ๊กเอกชน ชิงชัย ‘ทางด่วนกะทู้ – ป่าตอง จ.ภูเก็ต’ หมื่นล้านบาท
เผลอไปไม่นานเดือนแรกของปี 2566 ก็เคลื่อนผ่านไปแล้ว แม้หลายคนจะบอกว่า เดือนมกราคมปีนี้ยาวนาน แต่ในที่สุดก็ล่วงผ่านไปแล้ว และหากจับเวลาทางการเมืองในยามนี้รัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ในเทอมที่ 2 หลังการเลือกตั้งปี 2562 ก็เหลือเวลาอีกเพียง 2 เดือนนิดๆเท่านั้นก็จะหมดวาระลงในวันที่ 23 มี.ค. 2566 นี้ หากไม่มีการยุบสภา
หันกลับมาดูกระทรวงหูกวาง – กระทรวงคมนาคม ตลอดเดือนที่ผ่านมา ก็เน้นไปที่การจัดทัพขบวนรถไฟเชิงพาณิชย์โยกไปใช้สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์เมื่อวันที่ 19 ม.ค. 2566 ที่ผ่านมา และการสะสางดราม่าเปลี่ยนป้าย 33 ล้านบาทเป็นพัลวัน จนแม้ว่าจะการเปิดผลสอบแล้ว แต่ก็ยังขจัดข้อกังขาของประชาชนโดยทั่วไปไม่ได้ ยิ่งไปกว่านั้น หากยังจำกันได้ เมื่อปีใหม่ที่ผ่านมา โปรเจ็กต์ 5 โครงการที่ตั้งธงไว้จะเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณา ตลอดเดือนมกราคมทุกอย่างก็นิ่งสงบทั้งหมด
อย่างไรก็ตาม ในสัปดาห์ที่ผ่านมา แม้ในภาพใหญ่จะยังไม่มีการขยับผลักดันโครงการมากนัก แต่ในระดับองค์กรหน่วยงานภายใต้กระทรวงคมนาคมก็มีความเคลื่อนไหวให้เห็นบ้างแล้ว
กล่าวถึงโครงการพัฒนาทางพิเศษ หรือทางด่วนในการกำกับของ ‘การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) ’ 1เส้นทางสำคัญที่จับตามองกันมานานคือ โครงการทางด่วนช่วงกะทู้ – ป่าตอง จ.ภูเก็ต ระยะทาง 3.98 กม. วงเงิน 17,811 ล้านบาท หลังจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติโครงการเมื่อเดือนมกราคม 2565 ล่าสุด ขั้นตอนการดำเนินการขณะนี้ได้เปิดให้เอกชนเข้ามาซื้อซองเอกสารเชิญชวนยื่นข้อเสนอ (Request For Proposal : RFP) แล้ว และได้ปิดขายการซื้อซองไปเมื่อวันที่ 25 ม.ค. 2566 ที่ผ่านมา โดยมีเอกชนเข้าชิงชัยจำนวน 13 ราย มีรายชื่อ ดังนี้
1. บมจ.ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่งแอนด์คอนสตรัคชั่น (STEC)
2. บจ.ไชน่า ฮาร์เบอร์ เอ็นจิเนียริ่ง
3. บมจ. อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ (ITD)
4. บมจ. ยูนิค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น (UNIQ)
5. บมจ. ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ (BEM)
6. บมจ. บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ (BTS)
7. บมจ. เนาวรัตน์พัฒนาการ
8. บมจ. ไร้ท์ทันเน็ลลิ่ง (RTCO)
9. บมจ. ช การช่าง
10. บมจ ทางยกระดับดอนเมือง (ดอนเมืองโทลล์เวย์)
11. Egis Group (ฝรั่งเศส)
12. SRBG Bridge Engineering (จีน)
13. บจ. ไชน่า เรลเวย์ คอนสตรั๊คชั่น (ประเทศไทย)
จากรายชื่อทั้งหมด แม้จะมีหน้าใหม่มาบ้าง แต่ส่วนมากก็เป็นเอกชนระดับบิ๊กรับเหมา บิ๊กรถไฟฟ้า และผู้เชี่ยวชาญด้านงานระบบทั้งทางด่วนและรถไฟมาพร้อมสรรพ โดยขั้นตอนหลังนี้ จะเปิดให้เอกชนทั้ง 13 รายเข้ามายื่นซองแข่งขันในวันที่ 7 เม.ย. 2566 โดยเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ‘สุรเชษฐ์ เหล่าพูนสุข’ ผู้ว่ากทพ. ได้นัดหมายเอกชนทั้ง 13 รายมารับฟังข้อมูลทั้งหมดอีกครั้ง ก่อนที่ในวันที่ 10 ก.พ. 2566 จะพาทัวร์พื้นที่ก่อสร้างจริง ณ จ.ภูเก็ตต่อไป
สรุปสาระสำคัญโครงการ
สำหรับโครงการนี้ แนวเส้นทาง เป็นทางพิเศษขนาด 4 ช่องจราจร จุดเริ่มต้นโครงการ จะเชื่อมกับถนนพระเมตตา พื้นที่ ต.ป่าตอง อ.กะทู้ จ.ภูเก็ต ยกระดับข้ามถนนพิศิษฐ์กรณีย์ จนถึงเขานาคเกิด ระยะทาง 0.9 กม. จากนั้นจะเป็นส่วนของอุโมงค์ลอดเขานาคเกิด ระยะทาง 1.85 กม. หลังผ่านช่วงภูเขาจะเป็นทางยกระดับ ระยะทาง 1.23 กม. ไปสิ้นสุดโครงการในพื้นที่ ต.กะทู้ อ.กะทู้ บริเวณจุดตัดทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 4029 มีทางขึ้นลง 2 แห่ง ที่ถนนพระเมตตา และที่จุดตัด ทล.4029 มีด่านเก็บเงิน 1 จุดบริเวณ ต.กะทู้ อ.กะทู้ จ.ภูเก็ต
วงเงินโครงการ 17,811 ล้านบาท ประกอบด้วย ค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดินและชดเชยสิ่งปลูกสร้าง ประมาณ 5,792 ล้านบาท, ค่าก่อสร้างประมาณ 8,662 ล้านบาท, ค่าควบคุมงานก่อสร้างประมาณ 215 ล้านบาท และค่าดำเนินงานและบำรุงรักษาประมาณ 3,142 ล้านบาท
ระยะเวลาโครงการ 35 ปี แบ่งเป็นออกแบบและก่อสร้างไม่เกิน 4 ปี นับจากวันที่ กทพ. ส่งมอบหนังสือให้เริ่มงาน (Notice to Profeed: NTP) และการบริหารจัดการและบำรุงรักษา เริ่มนับแต่วันที่เปิดให้บริการ จนถึงวันที่ครบกำหนด 35 ปี นับจาก กทพ. มีหนังสือให้เริ่มงาน
ขอบเขตของงาน ทาง กทพ. ดำเนินการจัดกรรมสิทธิ์ที่ดินให้ผู้ร่วมลงทุน และเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินที่เอกชนเป็นผู้ลงทุนก่อสร้าง และได้รับค่าตอบแทนจากผู้ร่วมลงทุน
ขณะที่ขอบข่ายของเอกชน จะต้องออกแบบและลงทุนก่อสร้าง รวมถึงเป็นผู้ดำเนินงานบริหารจัดการและบำรุงรักษา (Operation & Maintenance) มีระยะเวลาการดำเนินการเป็น 2 ระยะ ได้แก่
ระยะที่ 1 ออกแบบและก่อสร้าง ทั้งงานโยธา ได้แก่ งานถนน อุโมงค์ อาคาร ศูนย์ควบคุมและจัดเก็บค่าผ่านทาง สาธารณูปโภค ภูมิทัศน์ มาตรการอำนวยความปลอดภัย และมาตรการลดกระทบสิ่งแวดล้อม, งานระบบ และงานอื่นๆที่ทำให้การบริหารจัดเก็บและบำรุงรักษาทางพิเศษเป็นไปตามวัตถุประสงค์
ระยะที่ 2 การบำรุงรักษาและบริหารจัดการ โดยผู้ร่วมลงทุนมีกรรมสิทธิ์ในค่าผ่านทาง โดยจะต้องถ่ายทอดเทคโนโลยีและองค์ความรู้ที่เป็นรูปธรรมให้ กทพ. รวมถึงรับผิดชอบค่าใช้จ่ายทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับโครงการและค่าที่ปรึกษาคุมงานด้วย และต้องลงนามในข้อตกลงคุณธรรม
ทั้งนี้ หลังจากยื่นซองในวันที่ 7 เม.ย. 2566 คาดว่าจะเริ่มเปิดพิจารณาซองข้อเสนอในวันที่ 28 เม.ย. 2566 และคาดว่าจะมีการลงนามในสัญญาช่วงปลายปี 2566 ต่อไป โดยรัฐบาลคาดหวังว่าจะก่อสร้างแล้วเสร็จในปี 2570 ซึ่งน่าจะให้บริการได้ทันการจัดงาน Specialised Expo 2028 ซึ่งมีกำหนดจัดขึ้นในช่วงเดือน มีนาคม ถึง มิถุนายน 2571 โดยจ.ภูเก็ตจะเป็นเจ้าภาพด้วย
จากแผนงานต่างๆที่ปูมา ต้องจับตาดูกันต่อว่าจะไปตามนี้หรือไม่ …. หรือจะเจอโรคเลื่อนเหมือนกับหลายๆโครงการก่อนหน้านี้?